ฉบับที่ 128 มิถุนายน ปี2556

นักโทษแห่งวัฏสงสาร ตอนที่ ๒ ธรรมชาติแท้จริงของโลกและจักรวาล

 

พระธรรมเทศนา
 
นักโทษแห่งวัฏสงสาร ตอนที่ ๒
 
ธรรมชาติแท้จริงของโลกและจักรวาล
 
นักโทษแห่งวัฏสงสาร ตอนที่ ๒  ธรรมชาติแท้จริงของโลกและจักรวาล
 
นักโทษแห่งวัฏสงสาร
พระธรรมเทศนาโดยพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
ในรายการ “โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง DMC
(Dhammakaya Media Channel) วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
 
ธรรมชาติแท้จริงของโลกและจักรวาล
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า แท้จริงแล้วโลกและจักรวาลก็คือ คุกขังสรรพสัตว์ที่ใหญ่โตมหาศาลสุดประมาณ จนกระทั่งนักโทษไม่เฉลียวใจว่าตนกำลังติดคุกอยู่ 
 
   นอกจากใหญ่โตจนเกินประมาณแล้ว คุกนี้ยังมีความสลับซับซ้อนมากมาย เพราะไม่ได้มีแต่เฉพาะโลกมนุษย์เท่านั้นที่เป็นคุก ยังมีสวรรค์ มีนรก ที่เป็นคุกซ้อนคุกอยู่อีกด้วย มิหนำซ้ำยังไม่ได้มีแค่จักรวาลเดียว แต่มีอนันตจักรวาล คือนับได้ไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย  
 
     นั่นคือ ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ติดคุก แม้แต่เทวดา นางฟ้า ก็ติดคุกเหมือนกัน แต่เป็นนักโทษชั้นดี พอหมดบุญบนสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องติดคุกเหมือนกับพวกเราอีกสัตว์นรกก็ติดคุกเช่นกัน แต่นรกเป็นคุกที่มีทุกข์สาหัส เพราะสัตว์นรกเป็นนักโทษชั้นเลว จึงมีวิธีการลงทัณฑ์แบบทรมานทรกรรมที่หนักหนาสาหัสกว่าคุกอื่น ๆ และหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าความทุกข์ใด ๆ ในโลกมนุษย์รวมกันเสียอีก
 
    ยิ่งกว่านั้น คุกนี้ยังมีกฎเกณฑ์ซ่อนเร้นเป็นความลับอยู่มากมาย โดยไม่มีการเปิดเผยให้เรารู้เกี่ยวกับกฎประจำคุก ชนิดของเครื่องพันธนาการ วิธีการลงโทษ วิธีการควบคุม และไม่ปรากฏว่าคุกนี้สร้างมานานเท่าไร ใครเป็นผู้สร้าง อีกทั้งไม่มีอาหารเลี้ยงอีกด้วย 
 
     จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ และทรงรู้เห็นความลับทั้งหมด จึงทรงนำมาเปิดเผยโดยย่อ ดังนี้
 
 
 
๑. กฎประจำคุก
 
       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า โลกและจักรวาลมีกฎประจำคุกอยู่ ๒ ประการ คือ
 
       ๑) กฎแห่งกรรม (Law of Karma)
 
      กฎแรกของคุกนี้ คือ กฎแห่งกรรม ใช้ควบคุมมนุษย์อยู่ตลอดเวลาโดยไม่ยอมให้รู้ตัว        กฎนี้มีหลักการสั้น ๆ ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” 
 
     แต่อย่าได้หลงคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติกฎแห่งกรรมขึ้น พระองค์ทรงเป็นเพียงผู้ค้นพบเท่านั้น
 
      เจ้าของคุกนี้ ไม่เคยบอกให้นักโทษรู้เลยว่า มีกฎแห่งกรรมเป็นกฎเหล็กประจำคุก ถ้าใครทำผิดกฎจะต้องโดนลงโทษสถานหนัก 
 
      สิ่งที่เจ้าของคุกนี้กลัวที่สุดก็คือ กลัวนักโทษจะรู้ว่ามีกฎแห่งกรรมซ่อนอยู่ เพราะถ้านักโทษพากันรู้ความจริงนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็จะหาทางหนีออกจากคุกไปได้ เขาจึงพยายามปิดบังความจริงนี้ไว้ ไม่ยอมให้นักโทษรู้อย่างเด็ดขาด
 
     ๒) กฎไตรลักษณ์
 
       กฎที่สองของคุกนี้ คือ กฎไตรลักษณ์ ใช้ควบคุมในลักษณะแอบซ่อน มีเนื้อความที่เราท่องกันได้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
 
      อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน ความไม่จีรังยั่งยืน
 
      ทุกขัง  คือ ความเป็นทุกข์ ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลายบีบคั้น จนกระทั่งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
 
     อนัตตา คือ ความไม่เป็นตัวตนของตัวเอง ไม่มีใครควบคุมบังคับบัญชาได้ 
 
     กลไกของกฎไตรลักษณ์นี้อยู่ที่ “เวลา” สิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นก็คือ เร่งเวลาเดี๋ยววันเดี๋ยวคืน ให้รีบแก่ รีบเจ็บ รีบตาย
 
     ยิ่งแก่ก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งเจ็บก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งจะตายก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งกลับมาเกิดใหม่ก็ยิ่งทุกข์ ทุกข์กันต่อไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนได้คำสรุปว่า “ชีวิตนี้เป็นทุกข์” 
 
     กฎไตรลักษณ์จึงเป็นเครื่องมือบีบคั้นให้นักโทษเดือดเนื้อร้อนใจ แล้วทำผิดกฎแห่งกรรม เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบกฎแห่งกรรมและกฎไตรลักษณ์ ก็ทรงรีบตรัสสอนชาวโลกให้รู้ความจริงนี้ เพื่อมิให้ประมาท ตั้งใจระมัดระวังความประพฤติของตัวเอง แต่มนุษย์ก็เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง พระพุทธองค์ก็ทรงต้องจำใจปล่อยให้มนุษย์เป็นนักโทษอยู่ในคุก คือ โลกและจักรวาลนี้ต่อไป ถ้าได้คิดกันเมื่อไร ก็คงจะตะเกียกตะกายหาหนทางออกจากคุกเหมือนกับพระองค์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์อยู่
 
๒. ร่างกายเป็นคุกเคลื่อนที่ประจำตัวนักโทษ
 
     นอกจากโลกและจักรวาลที่เป็นคุกขังสรรพสัตว์แล้ว ยังมีคุกอีกประเภทหนึ่งเป็น               คุกเคลื่อนที่ติดตัวนักโทษไปตลอดเวลา ได้แก่ รูปแบบของกายสัตว์ต่าง ๆ ที่ครอบเอาไว้ เช่น  เสือ ช้าง กวาง เก้ง สุนัข สุกร เป็นต้น 
 
        ในทางพระศาสนามีศัพท์เรียกร่างกายของสรรพสัตว์ว่า “ขันธโลก” ส่วนโลกและจักรวาลมีศัพท์เรียกว่า “โอกาสโลก” 
 
      โลกทั้งสองประเภทนี้ ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นคุกคุมขังสรรพสัตว์ไว้ในวัฏสงสาร เพราะยังตกอยู่ในสภาพแตกดับตามกฎไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ต่างกันตรงที่ว่า ขันธโลกเป็น              คุกเคลื่อนที่ประจำตัวนักโทษ ไม่ว่านักโทษไปที่ใด คุกก็ติดตามตัวไปด้วย ส่วนโอกาสโลกเป็น        คุกสำหรับอยู่อาศัยของนักโทษ ที่มีความกว้างใหญ่จนดูไม่ออกว่าเป็นคุก 
 
      ขันธโลกหรือรูปกายของสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อยังถูกคุมขังให้ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ นอกจากขาดอิสรภาพในการทำความดีแล้ว  ยังต้องประสบทุกข์จากสภาพแตกดับของร่างกายอีกด้วย ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จบสิ้น
 
      ยิ่งกว่านั้น เมื่อรูปกายในชาตินี้แตกทำลายไปแล้ว การไปเกิดในภพภูมิใหม่ด้วยรูปกายใหม่ ก็ยังไม่พ้นสภาพกฎไตรลักษณ์อยู่ดี อาจจะเปลี่ยนเป็นเลวทรามลงหรือประณีตขึ้น               ก็ขึ้นอยู่กับวิบากกรรมดีและชั่วที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป 
 
      ลองนึกเปรียบเทียบดูด้วยสติปัญญาอย่างที่เรามีอยู่ขณะนี้ว่า ถ้าเกิดมาแล้วไม่ได้รูปร่าง         ที่เป็นมนุษย์ แต่ได้รูปร่างเป็นควายเสียแล้ว ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร อย่างดีที่สุดเราก็           เป็นได้แค่ควายแสนรู้ แต่จะฉลาดแสนรู้มากเพียงแค่ไหน ข้อจำกัดก็คือยังเป็นควายอยู่ดีนั่นเอง           ทำอะไรอย่างมนุษย์ไม่ได้
 
      ในขณะที่มีความฉลาดเท่าเดิม แต่ได้เกิดในรูปร่างที่เป็นกายมนุษย์ เราย่อมสามารถใช้ความฉลาดที่มีอยู่ไปประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ ได้มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน และยังทำประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างมากมายมหาศาล
 
     ด้วยเหตุนี้ การเกิดมาเป็นนักโทษที่ถูกครอบหรือถูกพันธนาการด้วยรูปร่างของกายสัตว์นั้น แม้จะฉลาดปราดเปรื่องเท่าไร ก็จะไม่สามารถทำความดีได้ มิหนำซ้ำยังมีโอกาสถูกธรรมชาติของร่างกายบังคับให้ทำความชั่วได้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกด้วย 
 
      ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไปเกิดเป็นเสือ ก็ต้องล่าเนื้อเป็นอาหาร ต้องก่อวิบากกรรมปาณาติบาต ตามประเภทอาหารที่ร่างกายบังคับเจาะจง เพราะถ้าเสือจะต้องกินหญ้าเป็นอาหาร เสือก็คง  มีชีวิตอยู่ไม่ได้ 
 
     เพียงแค่การถูกพันธนาการด้วยรูปร่างของสัตว์เดรัจฉาน ยังถูกบีบคั้นปิดกั้นจนยากที่จะมีโอกาสทำความดีได้ คงไม่ต้องเสียเวลากล่าวถึงการถูกพันธนาการด้วยรูปกายของสัตว์อื่น ๆ ในอบายภูมิอีก ๓ ประเภท คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ซึ่งนอกจากจะสุดแสนอัปลักษณ์แล้ว ยังต้องถูกทารุณกรรมให้ทุกข์ทรมานอย่างสาหัสสากรรจ์แทบไม่มีเวลาหยุดหย่อน จะมีโอกาสทำความดีได้อย่างไร
 
๓. ความพิการเป็นเครื่องทรมานนักโทษ
 
       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบอีกว่า นักโทษทุกคนมีเครื่องลงทัณฑ์ทรมานที่ไม่มีใครรู้และมองไม่ออกติดตัวอยู่ด้วยกันทุกคน นั่นคือ ความพิการต่างๆ ของร่างกาย เช่น อ้วนไป  ผอมไป ตาบอด หูหนวก ขาเป๋ เป็นต้น ซึ่งเจ้าตัวไม่รู้ว่าสารพัดความพิการในร่างกายเหล่านั้น เป็นเสมือนหนึ่งโซ่ตรวนที่ตนมองไม่ออก จึงไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเป็นนักโทษ ที่ถูกล่ามโซ่อยู่กับเครื่องทรมาน
 
๔. ไม่มีอาหารเลี้ยงนักโทษ
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบอีกว่า คุกนี้ไม่มีอาหารเลี้ยงนักโทษ  
 
     คุกหรือเรือนจำในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ล้วนมีอาหารเลี้ยงนักโทษอย่างทั่วถึง แต่คุกขังสรรพสัตว์คือโลกนี้ ไม่มีอาหารเลี้ยง นักโทษต้องหากินเอง ใครอยากจะหากินอย่างไรก็ได้
 
     ตามความพอใจ ไม่เคยบอกวิธีหรือกฎกติกา แต่มีข้อแม้ว่าห้ามผิดกฎแห่งกรรม ถ้าพลั้งพลาด         ทำผิดกฎแห่งกรรมก็มีโทษทันที ยิ่งทำผิดมากเท่าไรโทษก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่ามีกฎก็ไม่มีการละเว้นโทษ  
 
    เมื่อมนุษย์ทั้งโลกตกอยู่ในสภาพที่มีแต่โทษเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างนี้แล้ว สัตวโลกจะต้องติดคุกไปอีกนานเท่าไร เมื่อไรจึงจะได้ออกจากคุก 
 
    เราต้องรู้จักสงสารตัวเองให้มาก ๆ ต้องรีบตั้งสติให้รอบคอบ ก่อนจะทำอะไรต้องพิจารณาให้มาก ๆ ด้วยว่า จะต้องทำอย่างไรทุกลมหายใจเข้าออกจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ทำผิด กฎแห่งกรรม มิฉะนั้นเราจะไม่มีวันได้ออกจากคุกเลย จำต้องเป็นนักโทษรอประหารไปตลอดกาล
 
๕. วิธีการลงทัณฑ์นักโทษ
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบอีกว่า นอกจากคุกนี้จะไม่ยอมให้อาหารเลี้ยงนักโทษแล้ว ยังไม่เคยบอกวิธีการลงโทษให้นักโทษทราบในระหว่างที่ติดคุกอีกด้วย พยายามปิดบังทุกอย่างให้อยู่ในความมืดมิด  
 
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นวิธีการลงโทษต่าง ๆ นานาแล้ว ก็ทรงเอาความจริงมาบอกให้ทราบ ครั้นแล้วพระอรหันต์ต่างก็ช่วยกันนำความจริงเหล่านั้นมารวบรวมเป็นพระไตรปิฎก เมื่อความรู้นี้ตกทอดมาถึงบรรพบุรุษไทยของเรา ท่านก็พยายามถ่ายทอดวิธีลงโทษผู้ทำ             ผิดกฎแห่งกรรมสืบต่อ ๆ กันมา  
 
     ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ทำผิดศีลข้อห้า คือดื่มสุราเมรัย จะต้องถูกน้ำทองแดงกรอกปาก         ถ้าทำผิดศีลข้อสาม คือคบชู้สู่สาวหรือคบชู้สู่ชาย ต้องไปปีนต้นงิ้วในนรก ถูกอีกาปากเหล็ก       จิกตีจนเนื้อหลุด เป็นต้น 
 
     เหล่านี้คือสภาพของคุกขังสัตวโลกที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาจากปู่ย่า ตายาย ซึ่งเป็นความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผยให้เราทราบถึงวิธีการลงโทษ         ต่าง ๆ นานาที่ผู้สร้างคุกปิดบังเอาไว้ แต่คนเรามักไม่เชื่อเรื่องนี้กัน
 
๖. วิธีการควบคุมนักโทษ
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบอีกว่า คุกนี้ยังปิดบังวิธีการควบคุมและบีบคั้นนักโทษให้ทำผิดกฎอีกด้วย 
 
วิธีการก็คือ การฝังกิเลสไว้ในใจ 
 
       การฝังกิเลสไว้ในใจสัตวโลกอาจดูคล้าย ๆ การฝังไมโครชิป (Microchip) ไว้ในตัวสัตว์   ของนักวิทยาศาสตร์ยุคนี้ 
 
      ถ้าใครเคยติดตามดูสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ จะพบว่ามีการฝังไมโครชิป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ บรรจุอยู่ในครอบแก้ว มีหมายเลขรหัสติดอยู่ ฝังไว้ในตัวสัตว์โดยไม่ทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อของร่างกายสัตว์ และฝังครั้งเดียวอยู่ได้ตลอดชีวิต 
 
     ถ้านักวิทยาศาสตร์อยากรู้วิถีทางสัญจรของพวกวาฬ (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาศัยอยู่ในทะเล ชาวไทยนิยมเรียกว่า ปลาวาฬ) เขาก็เอาไมโครชิปฝังลงไปใต้ผิวหนังวาฬ แล้วก็ปล่อยวาฬออกสู่ทะเลไป 
 
     จากนั้นเขาก็นั่งดูในจอคอมพิวเตอร์ ว่ามันว่ายไปถึงไหน ไปอาศัยอยู่ที่ใดในท้องทะเล
 
     ถ้านักวิทยาศาสตร์อยากจะรู้วิถีทางสัญจรของเสือหรือสิงโต ก็เอาไมโครชิปติดเข้าไป     ในตัวเสือหรือตัวสิงโตที่ต้องการติดตามดูวิถีทางสัญจรและพฤติการณ์ แล้วปล่อยไป
 
    อยากจะรู้วิถีสัญจรของนก ก็เอาไมโครชิปติดไว้ในตัวนกแล้วก็ปล่อยมันไป แล้วก็นั่งดู           ในจอคอมพิวเตอร์ 
 
   ดังนั้น ไม่ว่านก เสือ สิงโต หรือสัตว์ประเภทใด เมื่อถูกฝังไมโครชิป หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ชิป’ เข้าไปในตัวแล้ว ไม่ว่าสัตว์ตัวนั้นจะไปหากินที่ไหนก็จะไม่พ้นหูพ้นตาของผู้เฝ้าติดตาม โดยที่สัตว์ไม่รู้ตัวเลยว่ามีใครเฝ้าติดตามสะกดรอยอยู่ทุกอิริยาบถ 
 
   การควบคุมมนุษย์หรือการควบคุมนักโทษก็ใช้วิธีคล้าย ๆ การฝังไมโครชิปในตัวสัตว์ ตามที่เราเห็นในโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการติดตามสังเกตวิถีชีวิตโดยสัตว์ไม่รู้ตัว แต่ทว่า    ไมโครชิปที่ฝังอยู่ในตัวสัตว์นั้น นักวิทยาศาสตร์มิได้มีจุดมุ่งหมายจะทำอันตรายสัตว์                แต่ประการใด แต่ไมโครชิปที่ฝังอยู่ในตัวมนุษย์นั้น ผู้ฝังมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายล้างผลาญสัตวโลกอย่างเหี้ยมโหด 
 
    กล่าวคือ เมื่อกิเลสซึ่งเป็นธาตุละเอียดถูกฝังเข้าไปอยู่ในใจแล้ว ก็จะออกฤทธิ์ควบคุมใจ โดยบีบคั้นใจให้ขุ่น เมื่อใจขุ่นก็จะแสดงอาการของกิเลสออกมาด้วยความคิด การพูด               การกระทำร้าย ๆ 
 
    อาการที่ใจขุ่นนั้น อุปมาเหมือนน้ำใส ๆ ในอ่าง ซึ่งมีตะกอนนอนนิ่งอยู่ที่ก้นอ่าง ถ้ามีใครไปกวนน้ำ ตะกอนก็จะลอยขึ้นมา น้ำใสๆ ก็กลายเป็นน้ำขุ่นมองไม่เห็นก้นอ่าง 
 
      ในทำนองเดียวกัน กิเลสก็เหมือนตะกอนที่นอนนิ่งอยู่ก้นอ่างน้ำ ครั้นเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปกระทบกับอะไร กิเลสก็จะลอยตัวขึ้นมา ห่อหุ้มใจให้ขุ่นมัว เป็นเหตุให้เกิดความคิดโลภ โกรธ หรือหลง หรือทั้ง ๓ อย่าง แล้วก็แปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมร้าย ๆ ทางกาย          ทางวาจา ทางใจขึ้นมา
 
         คนที่ใจขุ่นไปตามอำนาจกิเลสนั้น ย่อมจะมองปัญหาต่าง ๆ ไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงทำให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด
 
     ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคิดโลภขึ้นมา ของที่ตนไม่ควรจะได้ก็อยากได้มาเป็นของตน อะไรมาขวางก็ไม่ยอม พยายามตะเกียกตะกายเพื่อเอามาเป็นของตัวให้ได้ ถ้าคิดโกรธขึ้นมา ของดี ๆ ก็ว่าไม่ดี อยากจะทำลายให้พินาศไปต่อหน้าต่อตา ถ้าคิดหลงขึ้นมา คนที่ฉลาดก็กลับโง่ ทำให้เห็นความจริงไม่ชัดเจน ก็เลยหลง ๆ เดา ๆ ไปแบบโง่ ๆ ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด จึงเกิดความเสียหายตามมา 
 
     เมื่อใจคิดร้าย ๆ ก็พูดร้าย ๆ ทำร้าย ๆ ตามมา ซึ่งเป็นการทำชั่ว ย่อมต้องถูกลงโทษ  คือได้ชั่วตามกฎแห่งกรรม ตราบใดที่ใจยังถูกกิเลสควบคุมอยู่ ตราบนั้นมนุษย์ก็ย่อมจะทำชั่วทำผิดอยู่ร่ำไป นั่นคือ จะต้องถูกจองจำอยู่ในคุกอย่างทุกข์ทรมานโดยไม่มีวันพ้นโทษ มีสภาพไม่ต่างกับนักโทษรอประหารอยู่ชั่วนิรันดร
 
     นี่คือความโหดร้ายของการฝังกิเลสไว้ในใจมนุษย์ เพราะกิเลสทั้งควบคุมทั้งบีบคั้นใจ              ให้ขุ่นตลอดเวลา เป็นการบังคับมนุษย์ให้ทำผิดกฎแห่งกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงต้องตกเป็นบ่าว       เป็นทาสของกิเลสไปตราบชั่วนิรันดร
 
    อุปมาเหมือนกับเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ย่อมไม่ต้องการให้สัตว์ในคอกในเล้าหนีออกไปจากที่คุมขังได้เลยแม้แต่ตัวเดียวฉันใด คุก คือ วัฏสงสารนี้ ก็ย่อมไม่ต้องการให้สรรพสัตว์หลุดพ้นจากการคุมขังไว้ในวัฏสงสารได้เลยแม้แต่บุคคลเดียวฉันนั้น 
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล