ฉบับที่ 129 กรกฏาคม ปี2556

ความหมายของ กาย ในคำว่า ธรรมกาย

 บทความพิเศษ

เรื่อง : ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล

(ตอนที่ ๓)

ความหมายของ กาย  ในคำว่า ธรรมกาย

 

ความหมายของ กาย

ในคำว่า ธรรมกาย

 

      คำว่า ธรรมกาย เป็นศัพท์สมาส ที่อาจแปลเป็นคำคุณศัพท์ว่า ผู้มีธรรมเป็นกาย หรืออาจแปลเป็นคำนามก็ได้ว่า กายแห่งธรรม กายคือธรรมหรือ กายที่ประกอบด้วยธรรม

     เราได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์เนื้อหาของข้อความในอัคคัญญสูตรที่กล่าวถึงธรรมกายแล้วว่าธรรม หมายถึงโลกุตตรธรรม ซึ่งเป็น “องค์รวม” ของคุณธรรมในระดับของอริยบุคคล ตอนนี้เราจะมาศึกษาความหมายของ กาย กันต่อไป

       คำว่า กาย ในภาษาบาลี อาจใช้ในหลายความหมาย ซึ่งอาจจัดได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ หมวดหมู่ (กลุ่ม เหล่า พวก ฝูง เป็นต้น) หรือ ร่างกาย ก็ได้

        ทั้งสองความหมายของ “กาย” มีจุดร่วมที่เหมือนกันประการหนึ่ง คือ ต่างก็เป็นที่รวมของหน่วยย่อย หลาย ๆ หน่วยเหมือนกัน เช่น คำว่า “หมู่ชน” ก็ประกอบด้วยคนหลายคน หรือ “ร่างกาย” ก็ประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ เช่นกัน

        อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันระหว่าง“หมวดหมู่” กับ “ร่างกาย” คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “หน่วยย่อย” เหล่านั้น กับ “องค์รวม” กล่าวคือ

       หมวดหมู่ (หรือกลุ่ม เหล่า พวก ฝูง) เป็นเพียง คำเรียกชื่อรวม ของ “หน่วยย่อย” หรือ “สมาชิก” ประเภทเดียวกันไว้ด้วยกันเท่านั้น โดยที่“สมาชิก” แต่ละหน่วย ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์อันใดต่อกัน หรือต่อ “หมวดหมู่” นั้นแต่อย่างใด และการที่จะมี “หมวดหมู่” หรือไม่นั้น ก็มิได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันใดต่อหน้าที่ลักษณะ หรือคุณสมบัติของสมาชิกแต่อย่างใดตัวอย่างเช่น คำว่า “เหล่าเทวดา” เป็นเพียงคำเรียกรวมเทวดาหลายตนเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจะมี“เหล่า” หรือไม่ เทวดาแต่ละตนก็ยังคงเป็นเทวดาตนเดิม มีรูปร่างหน้าตา คุณสมบัติเหมือนเดิม และเสวยทิพยสมบัติแบบเดิม หรือหากจะมีสมาชิกตนใดจุติลงมาเป็นมนุษย์แล้ว ส่วนที่เหลือก็ยังคงเรียกว่า “เหล่าเทวดา” ได้อย่างสมบูรณ์เช่นเดิม

       คำว่า “หมวดหมู่แห่งธรรม” ก็เช่นเดียวกันเป็นเพียงคำเรียกรวม “ธรรมะ” ซึ่งอาจหมายถึง “คำสอน” หรือ “คุณสมบัติ” ที่หลากหลายเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่หาได้แสดงถึงความสัมพันธ์อันใดระหว่างธรรมเหล่านั้นไม่

        ส่วน ร่างกาย ประกอบขึ้นด้วยอวัยวะต่าง ๆ ที่ต้องทำงานผสานกันเป็น “องค์รวม” หากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งถูกตัดขาดออกจากกาย หรือ “องค์รวม” นั้น อวัยวะนั้นก็ทำงานต่อไปไม่ได้ และ “ร่างกาย” หรือ “องค์รวม” ดังกล่าวก็ได้ชื่อว่าพิการ ไม่ใช่กายที่สมบูรณ์อย่างเดิม

      อนึ่ง หาก “ร่างกาย” นั้นตายไป ซึ่งได้ชื่อว่า สูญเสีย “องค์รวม” ไปแล้ว แม้อวัยวะต่าง ๆ จะยังมีอยู่อย่างครบถ้วน ก็ไม่อาจทำงานได้ดังเดิมดังนั้นในความหมายของ “ร่างกาย” การทำงานของสมาชิกหน่วยย่อย คือ อวัยวะต่าง ๆ จึงขึ้นอยู่กับ “องค์รวมที่ทำหน้าที่ได้” หรือ “กายที่มีชีวิต” นั่นเอง

    กล่าวโดยสรุปคือ ในความหมายทั้งสองของ กาย อันได้แก่ “หมวดหมู่” และ “ร่างกาย” มีจุดร่วมที่เหมือนกันในแง่ขององค์ประกอบ แต่มีความแตกต่างกันในแง่ของการทำงาน

      เมื่อพิจารณามาถึงตรงนี้ และย้อนทบทวนถึงการทำงานของ ธรรม ใน ธรรมกาย แล้ว คงได้คำตอบที่ชัดเจน เพราะ ธรรม นั้น เป็นเสมือนธรรมที่มีชีวิต ที่ ทำหน้าที่ กำจัดกิเลส เปลี่ยนปุถุชนเป็นอริยบุคคล หรือเปลี่ยนอริยบุคคลเบื้องต่ำให้เป็นอริยบุคคลในภูมิที่สูงขึ้นได้ อีกทั้งการทำงานของธรรมนั้น ก็ขึ้นกับ “องค์รวม” เป็นสำคัญ กล่าวคือ การที่คุณธรรมแต่ละประการจะทำหน้าที่กำจัดกิเลสได้เด็ดขาดนั้น จำเป็นต้องเป็นองค์ประกอบของ “โลกุตตรมรรค” ที่บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติหรือคุณธรรมต่าง ๆ อันเปรียบเสมือนอวัยวะ ซึ่งเป็นความหมายของ กาย ในฐานะที่เป็น “ร่างกาย” มิใช่เพียงแค่ “หมวดหมู่” เท่านั้น

      บทวิเคราะห์คำว่า ธรรมกาย ที่เป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธองค์ ดังที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร จึงให้ข้อสรุปว่า เป็นความเหมาะสมมากกว่าที่จะเข้าใจความหมายของ ธรรมกาย ในฐานะที่เป็น กายแห่งการตรัสรู้ธรรม หรือกายคือธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงเข้าถึงในยามที่ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกายหรือธรรมที่มีชีวิต และมีฤทธานุภาพในการชำระล้างกิเลสอันเป็นเหตุเศร้าหมองให้มลายสิ้นไป และเมื่อทรงเข้าถึงและ “ได้เป็น” กายคือธรรม นี้ ดังที่พระองค์ตรัสเรียกตนเองว่า ธรรมภูต คือ ผู้ที่ได้ธรรม นั้นแล้ว กายคือธรรม นี้เอง ที่ได้กลายมาเป็น “ตัวตนใหม่” ของพระพุทธองค์ แทนพระรูปกายที่กลายเป็นเพียง “เปลือกหุ้ม” ตราบถึงวาระสุดท้ายที่ทรงดำรงอยู่ในโลกมนุษย์นี้

"ธรรมนั้นเป็นเสมือนธรรมที่มีชีวิต ที่ทำหน้าที่กำจัดกิเลส เปลี่ยนปุถุชนเป็นอริยบุคคล หรือเปลี่ยนอริยบุคคลเบื้องต่ำให้เป็นอริยบุคคลในภูมิที่สูงขึ้นได้"

     บทวิเคราะห์คำว่า ธรรมกาย ในคัมภีร์อปทาน อีก ๓ แห่ง มีความสอดคล้องและยืนยันรับรองความหมายของ ธรรมกาย ในอัคคัญญสูตร นี้ทั้งยังแสดงให้เห็นรายละเอียดบางอย่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน : ธรรมกายกับพระปัจเจกพุทธเจ้า

     หลักฐานชิ้นที่ ๒ ในพระไตรปิฎกบาลี ที่ปรากฏคำว่า ธรรมกาย อยู่ในคัมภีร์ส่วนที่เรียกว่า“ปัจเจกพุทธาปทาน” ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า โดยร้อยเรียงเป็นฉันทลักษณ์
 

     พระปัจเจกพุทธเจ้า คือผู้ที่มีบุญบารมีสูงส่งมีพื้นใจสะอาดบริสุทธิ์ และมีดวงปัญญาเป็นเลิศจึงสามารถตรัสรู้ธรรมและบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีครู เช่นเดียวกันกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ต่างกันแต่เพียงว่าพระปัจเจกพุทธเจ้ามิได้สั่งสอนคนหมู่มากให้บรรลุธรรมตามท่านไปด้วยอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำได้ ดังนั้นในความเป็นเนื้อนาบุญพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงจัดอยู่ในลำดับที่ ๒ รองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหนือกว่าพระอรหันตสาวกทั้งหมด

      ในคัมภีร์อปทาน พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญคุณธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้าให้พระอานนท์ฟัง โดยมีคำว่า ธรรมกาย ปรากฏอยู่ด้วย ดังนี้

     “ปราชญ์เหล่าใดมีศีลและปัญญาบริสุทธิ์อย่างยิ่ง มีจิตตั้งมั่น พากเพียร เห็นแจ้งธรรมอันวิเศษ รู้แจ้งธรรมอันประกอบด้วยองค์แห่งมรรค และองค์แห่งการตรัสรู้ หมั่นเจริญวิโมกข์ทั้งสาม ไม่เข้าถึงความเป็นสาวกในศาสนาของพระชินเจ้า ย่อมตรัสรู้ด้วยตนเองเป็นพระปัจเจกชินเจ้า

      ท่านเหล่านั้นมีธรรมยิ่งใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ข้ามพ้นห้วงทุกข์ทั้งปวงได้มีจิตแช่มชื่นเบิกบาน มองเห็นประโยชน์อันสูงสุด แกล้วกล้าดุจราชสีห์ และเที่ยวไปลำพังดังนอแรด”
(แปลจากพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ เล่มที่ ๓๒ ข้อ ๒ หน้า ๒๐)

      ข้อความนี้ สรรเสริญคุณธรรมและคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมของพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่ทำให้ท่านเหล่านั้นตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง และมีข้อความว่า พหุธมฺมกายา แปลว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย “มีธรรมกายมาก” หรืออาจแปลว่า “มีธรรมมากมายเป็นกาย”...

      คำแปลแบบหลังดูจะสอดคล้องกับความเห็นของอรรถกถามากกว่า ดังที่ท่านขยายความไว้ว่า “อเนกธมฺมสภาวสรีรา” ซึ่งแปลว่า “มีสภาวธรรมมากมายเป็นร่างกาย” หากข้อมูลในพระไตรปิฎกบาลีซึ่งปรากฏคำว่า ธรรมกาย ทั้งหมดเพียง ๔ แห่งนั้น มิได้เพียงพอที่จะให้สรุปได้ชัดเจนว่า คำแปลอย่างใดที่น่าจะถูกต้องมากกว่ากัน

      แต่ไม่ว่าจะแปลอย่างไรก็ยังคงให้ข้อสรุปเดียวกันนั่นเองว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ มีธรรมเป็นกาย เช่นเดียวกันกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ ธรรม ที่เป็น กาย ของท่านนั้น ไม่อาจหมายถึง “คำสอน” ได้ แต่ต้องหมายถึง “ธรรมที่เกี่ยวข้องกับการตรัสรู้” เท่านั้น เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม ท่านมิได้มีครูและมิได้เป็นครูผู้สอนใคร

       คำว่า ธรรมกาย ที่พบในปัจเจกพุทธาปทานจึงตอกย้ำความหมายของธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลีให้ชัดเจนขึ้นว่า หมายถึง กายแห่งการตรัสรู้ธรรม

      “แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าจะกล่าวสั่งสอนอยู่บ้าง แต่ก็สอนเฉพาะคน หาได้สั่งสอนคนหมู่มากให้บรรลุธรรมตามท่านไปด้วยดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำไม่ อนึ่ง เนื้อความที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวสอนนั้น ส่วนใหญ่เป็นการตักเตือน ให้แง่คิดให้เกิดความสังเวช และสรรเสริญการปลีกตัวอยู่ลำพังเพื่อทำความเพียร โดยมิได้แนะนำสั่งสอนถึงข้อปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมตามท่านไปด้วยอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำ ดังนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงไม่อาจนับว่าเป็น ‘ครู’ อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้”.. (อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล