ฉบับที่ 130 สิงหาคม ปี2556

นักโทษแห่งวัฏสงสาร

พระธรรมเทศนา

 

นักโทษแห่งวัฏสงสาร

ตอนที่ ๔
อริยสัจ ๔

 

พระธรรมเทศนา


นักโทษแห่งวัฏสงสาร
พระธรรมเทศนาโดยพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
ในรายการ “โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง DMC
(Dhammakaya Media Channel) วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

 

ความจริงประการที่ ๔ คือ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นวิธีเดียวที่สามารถกำจัดกิเลสและทุกข์ทั้งปวงได้สำเร็จ

          ใครก็ตามที่ได้รู้ความจริงของชีวิตข้อที่ ๔ ว่า การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ วิธีเดียวที่มวลมนุษยชาติจะใช้แหกคุกแห่งวัฏสงสารได้สำเร็จ ก็ต้องถือว่ามีโชคมหาศาล เพราะได้รู้ความจริงอันประเสริฐว่าจะต้องฝึกฝนอบรมตนอย่างไร จึงจะกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด สิ้นกิเลสเมื่อใดก็สิ้นทุกข์  เมื่อนั้น หลุดพ้นจากวัฏสงสารได้อย่างถาวรเหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ล้วนสามารถกำจัดกิเลสออกจากใจได้โดยเด็ดขาด และหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ ก็ด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้งสิ้น ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

          “มรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐนี้แล...ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ เคยเสด็จไปแล้ว เราก็ได้เดินตามหนทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันเป็นทางเก่านั้นเมื่อกำลังเดินตามหนทางนั้นไป ได้รู้ชัดซึ่งชราและมรณะ เหตุเกิดขึ้นแห่งชราและมรณะ ความดับ  แห่งชราและมรณะ และได้รู้ชัดซึ่งปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับชราและมรณะ…”

                ยิ่งกว่านั้น พระพุทธองค์ยังทรงยืนยันว่า วิธีปฏิบัติเพื่อดับกิเลสได้เด็ดขาด บรรลุภาวะแห่งนิพพาน มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่มีวิธีอื่นใด ดังที่ตรัสว่า

          “บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์ ๘ เป็นทางอันเกษม”

           หลังจากที่ทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงสามารถแหกคุกแห่งวัฏสงสารได้สำเร็จแล้ว พระพุทธองค์ก็ยังทรงปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เรื่อยไป โดยทรงยกย่องไว้ในฐานะของหลักธรรมที่ควรเคารพสักการะหลังการตรัสรู้ธรรมอีกด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้งก่อนการตรัสรู้และหลังการตรัสรู้ธรรม และเมื่อถึงคราวประกาศอริยสัจ ๔ พระองค์ก็ยังให้ความสำคัญว่า ธรรมวินัยที่ทรงเทศน์สอนตลอด ๔๕ ปีนั้น ประชุมรวมอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘

          ยิ่งกว่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า “มารมีหน้าที่ชี้ทางผิด” แต่ “พระพุทธเจ้ามี  หน้าที่ชี้ทางถูก” ดังที่ตรัสแสดงธรรมเรื่องนี้ไว้ใน “เทฺวธาวิตักกสูตร”๓ เป็นเชิงอุปมาว่า

           “ภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนมีเนื้อฝูงใหญ่พากันเข้าไปอาศัยบึงใหญ่ในป่าดง มีชายคนหนึ่ง   ผู้ปรารถนาความพินาศ ไม่ต้องการจะเกื้อกูล ไม่ประสงค์ความปลอดภัยแก่ฝูงเนื้อนั้น เขาปิดทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดีไปได้ตามชอบใจของฝูงเนื้อนั้น เปิดทางที่ไม่สะดวกผูกเนื้อต่อตัวผู้ ซุ่มนางเนื้อต่อไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยต่อมา เนื้อฝูงใหญ่ก็ต้องมาตายเหลือจำนวนน้อย”

 

           จากนั้นก็ทรงอธิบายความหมายของเนื้อความในอุปมาว่า

           “คำว่า บึงใหญ่ นี้ เป็นชื่อแห่ง กามทั้งหลาย คำว่า เนื้อฝูงใหญ่ นี้ เป็นชื่อของ หมู่สัตว์ทั้งหลาย  คำว่า ชายผู้ปรารถนาความพินาศ ไม่ต้องการจะเกื้อกูล ไม่ประสงค์ความปลอดภัย นี้ เป็นชื่อของ มารใจบาป

           คำว่า ทางที่ไม่สะดวก นี้ เป็นชื่อของ มิจฉามรรค (ทางผิด) มีองค์ ๘ คือ

                 ๑. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด)
                 ๒. มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
                 ๓. มิจฉาวาจา (เจรจาผิด)
                 ๔. มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด)
                 ๕. มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด)
                 ๖. มิจฉาวายามะ (พยายามผิด)
                 ๗. มิจฉาสติ (ระลึกผิด)
                 ๘. มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด)”

          จากพระดำรัสนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงชี้ชัดลงไปเลยว่า มารมีหน้าที่ชี้ทางผิด เรียกว่า มิจฉามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางบาปที่ทำให้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในอบายภูมิ ๔ ติดคุกอยู่ในวัฏสงสารอย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัสไปตลอดกาล

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงหน้าที่ของพระพุทธเจ้าเป็นเชิงอุปมาอีกว่า
          “...ยังมีชายคนหนึ่งผู้ปรารถนาประโยชน์ ต้องการจะเกื้อกูล ประสงค์ความปลอดภัยแก่ฝูงเนื้อนั้น เขาเปิดทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบใจของฝูงเนื้อนั้น ปิดทางที่ไม่สะดวก กำจัดเนื้อต่อตัวผู้ ทำลายนางเนื้อต่อแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้สมัยต่อมาเนื้อฝูงใหญ่ก็ต้องมีจำนวนมากขึ้น คับคั่ง ล้นหลาม”

 

          จากนั้นก็ทรงอธิบายความหมายของเนื้อความในอุปมาว่า

          “คำว่า เนื้อต่อตัวผู้ นี้ เป็นชื่อแห่ง ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน คำว่า นางเนื้อต่อ นี้ เป็นชื่อของ อวิชชา คำว่า ชายผู้ปรารถนาประโยชน์ ต้องการจะเกื้อกูล ประสงค์ความปลอดภัย  นี้ เป็นชื่อของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
 คำว่า ทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบใจ นี้ เป็นชื่อของ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

                  ๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นถูก)
                  ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริถูก)
                  ๓. สัมมาวาจา (เจรจาถูก)
                  ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำถูก)
                  ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพถูก)
                  ๖. สัมมาวายามะ (พยายามถูก)
                  ๗. สัมมาสติ (ระลึกถูก)
                  ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นถูก)”

          ครั้นแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงกล่าวสรุปเป็นเชิงเตือนสติให้เห็นความสำคัญของการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่า

          “ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมาแล้วนี้ เราได้เปิดทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ที่พวกเธอควรดำเนินไปได้ตามใจชอบให้แล้ว และปิดทางที่ไม่สะดวกให้ด้วย กำจัดเนื้อต่อตัวผู้ให้แล้ว และทำลายนางเนื้อต่อให้แล้ว กิจใดที่ศาสดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล เอื้อเฟื้อ อาศัยความอนุเคราะห์จะพึงกระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นตถาคตก็ได้กระทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอ ทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของตถาคตสำหรับเธอทั้งหลาย”

          จากพระดำรัสนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีหน้าที่ชี้ทางถูกให้แก่ชาวโลก เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นเส้นทางกำจัดทุกข์และกำจัดกิเลสอย่างเด็ดขาด ทำให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างถาวร ในฐานะที่พวกเราเป็นนักสร้างบารมี จะต้องเดินหน้าศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมให้เข้าใจชัดเจน จะได้ระมัดระวังตัวมิให้ประพฤติผิดพลาด ขณะเดียวกันก็เดินหน้าศึกษาและปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อเอามาถอนกิเลส สักวันหนึ่งเราก็จะถอนสลักโซ่ตรวนที่พันธนาการชีวิตเราออกได้อย่างถาวร สามารถทำลายคุกนี้ออกไปได้ ตามเส้นทางที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเดินมาก่อนหน้าแล้วนั่นเอง

         เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์ชัดว่า การตรัสรู้ความจริงทั้ง ๔ ประการ ของพระองค์สามารถช่วยให้พุทธสาวกหลุดพ้นจากคุกแห่งวัฏสงสารเป็นจำนวนมากมายมหาศาล พระองค์จึงทรงทุ่มชีวิตเผยแผ่หนทางตรัสรู้อริยสัจ ๔ นี้ ให้ขยายออกไปกว้างไกลได้มากที่สุด เพื่อให้ชาวโลกรู้ความจริงว่า

           ๑) ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เพราะเราคือนักโทษประหารที่กำลังติดคุกแห่งวัฏสงสารอยู่
           ๒) ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากกิเลสเป็นตัวบีบคั้นให้เกิดความทะยานอยากไม่สิ้นสุด กำจัดกิเลสได้เมื่อใด ก็หมดทุกข์เมื่อนั้น เพราะพ้นจากสภาพนักโทษแล้ว
           ๓) อริยสัจ ๔ เป็นสัจธรรมที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่ว่าจะมีผู้ค้นพบหรือไม่ก็ตาม
           ๔) การตรัสรู้อริยสัจ ๔ ไม่ใช่สิ่งที่ผูกขาดไว้เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นความจริงสากลที่มนุษย์ทุกคนสามารถตรัสรู้ได้ ผู้ที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ โดยไม่เคยเรียนรู้จากผู้อื่น มีคำศัพท์เรียกว่า “สัมมาสัมพุทโธ” หรือ “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
           ๕) การตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทำสำเร็จได้ด้วยการบำเพ็ญภาวนาเท่านั้น การคิดการไตร่ตรองสามารถช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เกิดกำลังใจมากขึ้น สงบใจได้มากขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ได้
           ๖) หากชาวโลกตั้งใจปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ย่อมสามารถตรัสรู้อริยสัจ ๔ ได้ กล่าวคือวันใดที่เราสามารถมองเห็นชัดด้วยอำนาจวิชชา ๓ ว่ากิเลสเป็นตัวบีบคั้นใจให้เป็นทุกข์ วันนั้นก็คือวันประกาศอิสรภาพของเราอย่างแท้จริง หลุดพ้นจากสภาพนักโทษในวัฏสงสารได้อย่างถาวร เพราะฉะนั้นการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้ทันที จะรอช้าอยู่ไม่ได้...

         (อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล