ฉบับที่ ๑๔๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๗

ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

ตำรับยอดเลขา

เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 


ตำรับยอดเลขา

จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”

วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

 

 

 


ตอนที่ ๖
จรรยาข้อที่ ๑๑-๑๒

 


   “ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 


๑๑

ของของนาย จงขอเสียก่อนจึงถือเอา


ไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตาม อย่าให้ใครระแวงสงสัยได้ว่า
เรามีนิสัยขี้ขโมย คนอย่างเราแม้จะเป็นผู้น้อย
ยากจนแสนเข็ญอย่างไร ก็ไม่เห็นแก่ได้ของของใคร
ไม่ยอมทำผิดศีลข้ออทินนาทานเด็ดขาด
ไปถึงไหนก็ยืดอกได้
เพราะไม่มีมลทินให้กินแหนงแคลงใจ

 

 

๑๑. ของของนาย จงขอเสียก่อน จึงถือเอา

 

   สิ่งของอันใดก็ดีของนาย จะเป็นของที่มีราคามาก ฤๅสิ่งที่ไม่สู้จะมีราคาก็ตาม เราไม่ควรคิดเบียดบังยักยอกเอามาเป็นประโยชน์ของเรา ซึ่งต้องด้วยองค์ศีลอทินนาทาน เมื่อเราพอใจอยากจะได้ก็ควรร่ำเรียนขอร้อง ให้เป็นกิจลักษณสุภาพอันดี อันสิ่งที่ควรที่เราจะขอได้ ฤๅควรที่ท่านจะให้ได้ เมื่ออนุญาตให้แล้วเราจึงรับเอา นายก็คงจะเห็นความดีความซื่อตรงของเรา และเป็นที่ไว้วางใจเราด้วย

 


   การที่เราจะไปอยู่กับเจ้านายคนใดก็ตาม แม้เขาจะเป็นญาติของเราก็ตามที ไม่ควรถือวิสาสะหยิบฉวยสิ่งของของเขามาเป็นประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าสิ่งของนั้นจะเป็นของส่วนตัวหรือเป็นส่วนรวมราคาจะมากจะน้อย ก็อย่าเอามาเป็นประมาณ เช่น ดินสอ ปากกา ราคาเพียงไม่กี่สตางค์ ก็อย่าได้ไปหยิบฉวยมา เพราะสิ่งของใดก็ตามที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ถือเป็นผิดศีลข้อที่ ๒ อทินนาทานทั้งสิ้น


   สำหรับเรื่องการรักษาของของส่วนรวมนี้ ผู้ใหญ่สมัยก่อนท่านเคร่งครัดในเรื่องนี้มากหลวงพ่อมีพี่สาวอยู่คนหนึ่ง ไม่ใช่พี่ตัวแต่นับถือเหมือนพี่ คุณพ่อของท่านเป็นข้าราชการผู้ใหญ่อยู่ในกรมแผนที่ เป็นหนึ่งในทีมงานทำแผนที่ประเทศไทย โยมพี่สาวคนนี้เล่าให้ฟังว่า เมื่อคุณพ่อกลับจากสำรวจทำแผนที่ ท่านจะนำเอกสารภาพวาดต่าง ๆ กลับมาทำต่อที่บ้าน และเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนนี้ยังไม่มีภาพถ่ายทางอากาศ จึงต้องใช้เอกสารมาก ลูกน้องของท่านสองคนที่ช่วยกันหาบแผนที่มาเดินขาสั่นเลย และการรวบรวมเอกสารในสมัยนั้นไม่สะดวกสบายเหมือนในสมัยนี้ ที่เย็บกระดาษก็ยังไม่มีใช้ มีแต่เข็มหมุดเท่านั้น ตอนนั้นก็ราว ๆ ๕๐ ปีที่แล้ว ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒เล็กน้อย เข็มหมุดซึ่งคุณผู้หญิงใช้ในการตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นของหายากในท้องตลาด มีใช้แต่ในหน่วยราชการเท่านั้น


   โยมพี่เล่าให้ฟังว่า ทันทีที่คุณพ่อกลับมาจากสำรวจทำแผนที่ต่างจังหวัด ก็ใช้ท่านให้จัดเอกสารใหม่ เอาเข็มหมุดที่กลัดกระดาษออกแล้วนำมาเข้ารูปเล่มในแฟ้ม เมื่อแกะเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่าได้เข็มหมุดมาตั้งกำมือหนึ่ง ความที่เป็นเด็กผู้หญิงรักการเย็บปักถักร้อย ก็เลยหยิบเข็มหมุดของคุณพ่อไว้หยิบมือหนึ่ง เผื่อจะตัดเสื้อผ้าจะได้มีกลัด เพราะของพวกนี้เมื่อเบิกเอามาใช้แล้ว ไม่ต้องคืนก็ได้ เพราะเป็นของเล็กน้อย


   วันหนึ่งคุณพ่อมาเห็นเข้า ว่ายังมีเข็มหมุดตกค้างอยู่ที่โยมพี่คนนี้อีกหยิบมือหนึ่ง ท่านโกรธมากเอ็ดเสียงลั่นบ้าน บอกว่านี่เป็นการโกงแผ่นดิน เอาเข็มหมุดมาตั้งหยิบมือหนึ่ง ก็เลยต้องเอาไปคืน


   นี่คือรุ่นปู่ ย่า ตา ยายของเรา ท่านมองสิ่งของใด ๆ ที่ไม่ใช่ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของราชการว่าเป็นของกลาง เป็นสมบัติของแผ่นดิน ดังนั้นเข็มสักเล่ม ด้ายสักคืบ ท่านก็ไม่ยอมเอาของใคร พยายามรักษาศีลอทินนาทานของท่านอย่างดี เพราะอย่างนี้แหละท่านถึงได้รักษาแผ่นดินไทยไว้ให้เราอยู่ได้จนทุกวันนี้


   แต่ในปัจจุบันนี้มโนธรรมเรื่องศีลข้อที่ ๒ ของเราหย่อนยานไปมาก อย่าว่าแต่เข็มหมุดเลยยิ่งกว่านั้นหลายเท่าก็โกงกันให้ยุ่บยั่บไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ข่าวคอร์รัปชันจึงขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน อย่างนี้ความมั่นคงของชาติก็คงเสื่อมตามไปด้วย


   ถ้าเป็นสิ่งของที่เราอยากได้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของเล็กน้อยเพียงใดก็ให้เอ่ยปากขอให้เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่งุบงิบหยิบเอามา ต่อไปในเบื้องหน้า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม อย่าทำให้ใครเขาระแวงสงสัยได้ว่า เรามีนิสัยขี้ขโมย เอาหัวใจตีแผ่ลงไปให้เห็นกันชัด ๆ ว่าคนอย่างเรา แม้จะเป็นผู้น้อย ยากจนแสนเข็ญอย่างไร ก็ไม่เห็นแก่ได้ของของใคร ไปถึงไหนก็ยืดอกได้ เพราะไม่มีมลทินให้กินแหนงแคลงใจ ไม่มีใครสามารถตำหนิเราได้


   สำหรับเรื่องนี้ มีอุทาหรณ์สำหรับคนที่เข้าวัด คือ เรื่องราวของพระเจ้าพิมพิสาร๑ ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาที่สำคัญในสมัยพุทธกาล ในอดีตชาติ ท่านได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ มาอย่างดี ส่วนพระญาติของท่านแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมาช่วยท่านทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ตั้งใจทำบุญสุนทาน เมื่อละโลกไปแล้วที่ยังไม่หมดกิเลสก็ไปเป็นเทวดาเสวยสุขในสวรรค์ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนประเภทเห็นเเก่ได้ ยักยอกเอาทรัพย์ตั้งแต่ข้าวปลาอาหารที่จะถวายพระ รวมไปถึงเครื่องใช้ไม้สอยอะไรต่าง ๆ นำกลับไปใช้เป็นของส่วนตัว พวกพระญาติที่เห็นแก่ได้เหล่านี้ ต้องไปเกิดเป็นเปรตเสียหลายกัป


   มาชาตินี้พระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาองค์สำคัญ พระญาติของท่านที่เป็นเปรตดังกล่าวก็มาขอส่วนบุญ เลยทำให้เกิดประเพณีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตต้นเหตุเพราะความที่เห็นแก่เล็กแก่น้อยนี่เอง


   คุณยายอาจารย์ฯ (คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง) เล่าให้หลวงพ่อฟังว่าที่วัดปากน้ำในสมัยที่หลวงปู่วัดปากน้ำยังมีชีวิตอยู่ มีมะม่วงพันธุ์ดีลูกโตหลายต้น เด็กวัดชอบมาขอหลวงปู่เสมอ ๆ ท่านก็ออกปากให้ แต่ว่าให้ไปบอกพระให้ครบสี่รูป ไม่ใช่บอกหลวงปู่องค์เดียวคือบอกให้ครบองค์สงฆ์เสียก่อน แล้วค่อยมาเก็บ เพราะมะม่วงนี้เป็นของสงฆ์ ต้องทำให้ถูกวินัย


   พวกเราที่มาวัดก็เช่นกัน ถ้าเป็นของที่เขาจัดไว้ให้ก็ไม่ต้องไปขอใครเขา เพราะคณะสงฆ์จัดไว้แล้ว ให้เป็นข้าวปลาอาหารสำหรับญาติโยมที่มาวัด แต่ของที่อยู่ตามต้นอย่าเพิ่งไปแตะต้อง ให้ไปบอกให้ครบองค์สงฆ์เสียก่อน ไม่อย่างนั้นจะไปเป็นเปรตเหมือนพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร


   เรื่องนี้ต้องระมัดระวังให้ดี หากเข้าวัดแล้วทำให้ถูกต้องก็ได้บุญมาก แต่ถ้าทำผิดพลาดก็กลายเป็นบาปไป

 


๑๒

จงระวังแต่งตัวให้สุภาพเรียบร้อย

 

การแต่งตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
ถือเป็นการให้เกียรติผู้ร่วมงานและสถานที่
ไม่เพียงแต่เป็นการรักษามารยาท
ยังเป็นการรักษาความปลอดภัยในชีวิต
หน้าที่การงาน และทรัพย์สิน
ตลอดจนการแสดงออกถึง
ความเป็นผู้รู้จักควรไม่ควรอีกด้วย

 


๑๒  จงระวังแต่งตัวให้สุภาพเรียบร้อย

 

   เราอยู่ในบ้านท่าน การอุปโภคนุ่งห่มก็จงให้เป็นสุภาพเรียบร้อยจึงจะดี เราเป็นไทยด้วยไม่ควรนุ่งโสร่งเลย โสร่งดูประหนึ่ง เช่น นุ่งผ้าลอยชายหาควรไม่ ที่เขาเป็นแขกเขาควรนุ่งก็เป็นประเพณีของเขา เราควรนุ่งอย่างโจงกระเบนตามประเพณีเรียบร้อย ฤๅกางเกงจีนก็ได้ ไม่น่าชังอะไรเพราะอยู่กับบ้าน


   ลอยชายและห่มผ้าสองบ่าเป็นอาการที่หมิ่นประมาทท่านเจ้าของบ้าน ไม่ควรกระทำ ถึงหากว่าท่านไม่เห็น ผู้อื่นเขาเห็นก็ไม่ดีเหมือนกันและพ่อเอ๋ย คนที่เขาเห็นเขาก็ติเตียนได้ว่าเราทำอาการหมิ่นประมาท เพราะเป็นที่ในบ้านของท่านและเราเป็นบ่าวท่าน แต่โบราณมาย่อมจะถือเกียรติยศอันนี้มาก เช่น วังเจ้าและบ้านขุนนางผู้ใหญ่ใครเดินลอยชายห่มผ้าสองบ่าผ่านหน้าวังหน้าบ้าน ย่อมจะต้องไม่แคล้วถูกเตะ ไม่ใช่ฤๅ มาบัดนี้ไม่ถึงเช่นนั้น เพียงแต่ในวังในบ้าน ไม่ลอยชายก็พอ

 


   การนุ่งห่มให้เรียบร้อยนี้เป็นไปตามกาลเทศะ สมมุติว่ามีนายเป็นฝรั่ง เราอยู่ในสำนักงานของเขา บ้านของเขา ก็แต่งตัวให้สมกับธรรมเนียม ซึ่งแตกต่างจากของไทยเรา หรือจะมาอยู่วัดอย่างที่วัดพระธรรมกาย ก็มีธรรมเนียมว่า อย่างน้อยเสื้อขอให้เป็นสีขาว เสื้อลายดอก ๆ ดวง ๆขอเถิดอย่าใส่มา ส่วนกางเกงก็เป็นไปตามความเหมาะสม เช่น บางครั้งทำงานที่ต้องคลุกดินคลุกทรายก็ใช้สีคล้ำ ๆ จะได้ดูไม่เลอะเทอะมาก แต่ก็อย่าให้ฉูดฉาดนัก


   ส่วนวันประกอบพิธีก็แน่นอน ใช้ชุดขาวกัน เมื่ออยู่ที่ใดก็ให้ประพฤติคล้อยตามนั้น และที่สำคัญให้เรียบร้อยด้วย ที่ว่าแต่งตัวให้เรียบร้อยนั้น แต่งอย่างไร ไม่มีใครให้หลัก หลวงพ่อให้หลักเอง


๑. สีสันอย่าให้ฉูดฉาดเกินไป เนื้อผ้าก็ให้พอสมควร หญิงผ้าซีทรูเนื้อบาง ๆ หรือเจาะเป็นรู ๆ อย่าใช้เลย


๒. แบบตัดเย็บ อย่าให้ล้ำยุคล้ำสมัยเกินไปนัก และอย่าให้ล้าสมัยจัด เพราะไม่เข้าท่าทั้งนั้นอย่างตอนนี้ถ้าใครนุ่งโจงกระเบนไปทำงาน ท่าจะแย่ อนุรักษ์ไทยจนเกินไปเดี๋ยวจะย่งุ พร้อมกันนั้นควรดูความเหมาะสมของงานนั้น ๆ ด้วย เช่น ชุดใส่ไปงานศพกับชุดไปงานแต่งงานอย่างไรก็คงไม่เหมือนกัน ถามว่าเดือดร้อนใครไหม? ก็ไม่เดือดร้อนใครหรอก แต่มันไม่เหมาะสม เห็นแล้วไม่สบายใจ..


 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล