ฉบับที่ ๑๔๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗

อีกครั้งในแอฟริกา กับการแสวงหา “สันติสุขภายใน”

สร้างโลกแก้ว
เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 


อีกครั้งในแอฟริกา กับการแสวงหา
“สันติสุขภายใน”

 

    วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เครื่องบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าพาทีมงานพีซเรฟโวลูชันออกจากประเทศไนจีเรีย เดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐแคเมอรูน ตามด้วยประเทศยูกันดาและแทนซาเนียในลำดับถัดไป เพื่อตามหาผู้คนที่มีใจเดียวกัน คือใจรักในสันติภาพ 


    จากประสบการณ์ตรงเราพบว่า บุคคลเช่นนี้มีอยู่มากมาย และพวกเขากำลังรอเราอยู่ !!! อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พวกเขาจะยอมรับเรา ก็ต้องมีการทำความรู้จักกันสักเล็กน้อย ดังเช่น         บางครั้งทีมงานอาจต้องตอบคำถามในทำนองที่ว่า “องค์กรของคุณคือใคร? การที่เราเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรคุณเราจะได้อะไรบ้าง?” ซึ่งในขั้นแรกทีมงานก็ให้คำตอบไปประมาณว่า “องค์กรของเรามุ่งผลประโยชน์ของคุณเป็นหลัก คุณจะมีความจำดี สุขภาพดี หายเครียด เรียนเก่ง ฯลฯ ถ้าเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา” หลังจากได้นั่งสมาธิด้วยกันแล้ว ช่องว่างที่มีอยู่ก็สลายไป ตอนนี้คำถามมักจะกลายเป็น “จะตั้งชมรมสมาธิได้อย่างไร? จะมานำนั่งสมาธิอีกได้ไหม?” 


    ผลตอบรับดี ๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นกำลังใจที่หนุนเนื่องไม่ขาดสาย ให้ทีมงานสืบสานภารกิจสร้างสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุขตลอดมา...

 

 


    วันรุ่งขึ้น ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ทีมงาน ลงมือจัดปฏิบัติธรรมที่ประเทศแคเมอรูนทันที ในแคเมอรูนเรามีพีซเอเจนต์เพียงคนเดียว คือเจ้าชายโมลิงเกะ ซึ่งเป็นบุตรของหัวหน้าเผ่าที่เปรียบเสมือนกษัตริย์องค์หนึ่ง ทำให้โมลิงเกะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนสำคัญของประเทศได้ และประสานงานได้ยอดเยี่ยมมาก  
    สำหรับการจัดกิจกรรมในแคเมอรูนครั้งนี้ใช้เวลาเพียง ๒ วัน จัดนั่งสมาธิได้ ๖ รอบ    และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึง ๗๘๔ คน โดยมี อาสาสมัครช่วยงาน ๑๐ คน ซึ่งถือเป็นทีมงานที่ใหญ่และพร้อมมาก ๆ

 



    วันที่ ๘ นี้ เราจัดกิจกรรมถึง ๔ รอบ    รอบแรก โมลิงเกะชวนอาสาสมัครมาลองนั่งสมาธิเพื่อชิมรสชาติของความสุขก่อนที่จะไปช่วยจัดกิจกรรมให้คนอื่น ซึ่งวันนี้พวกเขามากัน ๕ คน พระอาจารย์นำนั่งประมาณ ๑ ชั่วโมง ทุกคนนั่งได้ดี มีบางคนถึงกับน้ำตาไหลเพราะมีความสุขมาก 


    รอบที่ ๒ จัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยบัว (University of Buea) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของแคเมอรูน รอบนี้มีนักศึกษา เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และสื่อมวลชนจาก Cameroon       Tribune เข้าร่วมกิจกรรมถึง ๔๒๘ คน โดยมีรองอธิการบดีมากล่าวเปิดและปิดงาน


    ที่นี่พระอาจารย์นำนั่งสมาธิ ๓๐ นาที    ปิดท้ายด้วยการถาม-ตอบ ซึ่งมีคำถามเยอะมาก เนื่องจากไม่เคยมีใครเห็นพระมาก่อน 


    กิจกรรมในวันนี้ทำให้ทุกคนต่างประทับใจ ใน Concept ของ PIPO มาก (สันติสุขภายใน สู่การสร้างสันติภาพโลก) เพราะต่างได้สัมผัสกับสันติสุขภายในด้วยตนเองแล้ว        


    รอบที่ ๓ จัดที่โรงแรม Residence     Carlos-Muea ที่นี่เป็นแหล่งที่พวกศิลปิน       นักแสดง ชอบมารวมตัวกัน โมลิงเกะบอกว่า  คนพวกนี้มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่มาก ถ้าทำให้   พวกเขาเข้าใจสมาธิได้ จะมีผลต่อเยาวชนด้วย 


    วันนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๓๑ คน นั่งสมาธิกันประมาณ ๓๐ นาที แล้วจึงเปิดโอกาสให้ ถาม-ตอบ ศิลปินคนหนึ่งบอกว่า “ผมรู้สึก   ผ่อนคลาย สบาย และสัมผัสได้ว่าเกิดสันติภาพขึ้นภายในตัวผม ผมเชื่อว่า เราต้องมีสันติสุขภายในก่อนจะขยายสู่ภายนอก” 


    วันนี้ประธานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของแคเมอรูนก็มาฟังการเทศน์สอนของพระอาจารย์ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง


    รอบที่ ๔ จัดกิจกรรมที่โรงเรียน Baptist High School โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำที่เก่าแก่และดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ แต่เพิ่งเกิดกรณีรุ่นพี่ทำร้ายรุ่นน้องจนกระทั่งเสียชีวิต       โมลิงเกะจึงอยากแนะนำการทำสมาธิให้พวกเขา จะได้ช่วยลดความรุนแรงในจิตใจลงบ้าง


    วันนี้มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมถึง ๑๔๗ คน หลายคนให้สัมภาษณ์ว่ามีความสุขและรู้สึกผ่อนคลายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 



    วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ รอบแรก จัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย St. Monica          University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนสไตล์อเมริกันเพียงแห่งเดียวในแคเมอรูน รอบนี้ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง มีนักศึกษาเข้าร่วมประมาณ    ๓๐ คน ทุกคนตั้งใจนั่งมาก มีคนหนึ่งบอกว่า “รู้สึกสงบ สดชื่น และผ่อนคลายมาก ผมตั้งใจจะทำสมาธิต่อไป” อีกคนบอกว่า “ผมปล่อยวางได้ เราควรทำสมาธิสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้ชีวิตเกิดสมดุลและควบคุมอารมณ์โกรธได้ดี ผมคิดว่าโลกต้องการโครงการพีซเรฟฯ มาก เพราะโลกต้องการมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม พวกคุณให้สิ่งที่แปลกใหม่กับพวกเรา”


    รอบที่ ๒ จัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย Catholic University Institute of Buea มหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัยคาทอลิกที่ดีที่สุดของประเทศ ในรอบนี้มีนักศึกษาและคณาจารย์เข้าร่วมกิจกรรม ๑๒๕ คน 


    นักศึกษาชายคนหนึ่งบอกว่า “ผมเพิ่งรู้ว่าสมาธิคือการทำความรู้จักกับตัวเอง สมาธิคือการทำให้ตัวเรามีความสุข ผ่อนคลาย สมาธิสอนให้เราลืมอดีตที่เราไม่สามารถแก้ไขได้  สอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน และไม่กังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง”


    อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า “ฉันเชื่อว่าสมาธิจะทำให้เราทำอะไรได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ขอบคุณมาก ๆ ที่แวะมาที่มหาวิทยาลัยของเรา” 

 



    ออกจากแคเมอรูนแล้ว พวกเราไปจัดปฏิบัติธรรมกันที่ประเทศยูกันดา ที่ยูกันดาเรามี      พีซเอเจนต์ทั้งหมด ๘ คน กิจกรรมในครั้งนี้     ผู้ประสานงานหลักคือ พีซเอเจนต์โซโลนี อเทนยี และวิลสัน เซบูลิบา 


    ทีมงานจัดปฏิบัติธรรมในโรงเรียน ๔ แห่ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๗๙๐ คน   

     
    รอบแรก วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมาทูกามิกซ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนมุสลิม แต่ทางโรงเรียนให้ความร่วมมือ ดีมาก ให้เด็กทั้งโรงเรียนมาร่วมนั่งสมาธิ แต่เนื่องจากไม่มีห้องใหญ่พอสำหรับคนทั้งหมด จึงต้องออกมานั่งสมาธิกันที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน 


    กิจกรรมในวันนี้มีอุปสรรคอยู่บ้าง คือเรื่องภาษาอังกฤษ และเรื่องความกลัวคนขาว (คนเอเชียเขาก็ถือว่าเป็นคนขาว) พระอาจารย์จึงให้นั่งสมาธิ ๒ ครั้ง จะได้คุ้นเคยกัน ปรากฏว่าครั้งที่ ๒ ได้ผลดีขึ้น ดังนั้นจึงกลายเป็นสูตรไปแล้วว่าที่ยูกันดาต้องนั่งสมาธิแห่งละ ๒ ครั้ง 


    ผลการปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ดี บางคน  ตัวหาย ตัวลอยได้ บางคนเห็นพระอาทิตย์เป็นดวงสว่างอยู่ในท้อง มีความสุข ผ่อนคลาย และหายเครียด


    รอบที่ ๒ ช่วงบ่ายของวันที่ ๒๕ เมษายน จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมัธยมปลายตะวันออก โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำของเด็กที่เตรียมจะเข้ามหาวิทยาลัย วันนี้มีนักเรียนมาร่วม

กิจกรรมนับร้อยคน เมื่อนั่งจบครั้งแรก หลายคนบอกว่านั่งดี และรู้สึกมีความสุขมาก ครั้งที่ ๒    หลาย ๆ คน นั่งได้ดียิ่งขึ้น 


     รอบที่ ๓ วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมัธยมปลายอิมโบโก โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนมุสลิมล้วน วันนี้มี       รองผู้อำนวยการโรงเรียนมานั่งสมาธิด้วย 


    ตอนแรกเด็ก ๆ รู้สึกเกร็งกับพระมากกว่า ๒ โรงเรียนที่ผ่านมา ซึ่งอาจเนื่องมาจากเป็นโรงเรียนมุสลิมล้วนก็ได้ แต่หลังจากนั่งสมาธิแล้ว รอยยิ้มของพวกเขาเป็นสัญญาณให้เราเห็นสภาวะของใจที่เปลี่ยนไปได้อย่างชัดเจน


    ก่อนทีมงานเดินทางกลับ ผู้อำนวยการโรงเรียนออกมาคุยกับทีมงาน เมื่อทราบความรู้สึกในเชิงบวกของเด็ก ๆ และรองผู้อำนวยการแล้ว ผู้อำนวยการก็เชิญทีมงานให้กลับมาจัดปฏิบัติธรรมอีก และอยากให้เรามาตั้งชมรมพีซเรฟโวลูชันด้วย


      รอบที่ ๔ วันที่ ๒๖ เมษายน จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมุสลิมกินนาวา พระอาจารย์นำนั่ง สมาธิ ๒ ครั้ง หลาย ๆ คนนั่งดี และบอกว่า ผ่อนคลายมาก เหมือนอยู่ในสวรรค์ที่ปราศจากปัญหาและความเครียด บางคนมาสอบถาม    รายละเอียดกับทีมงานว่า จะตั้งชมรมสมาธิได้อย่างไร มานำนั่งสมาธิอีกได้ไหม ทีมงานจึงมอบ DVD ให้ไปเปิดในเวลาว่าง จะได้นั่งสมาธิ      ร่วมกัน 

 



    จากการสรุปผลการจัดปฏิบัติธรรมที่ประเทศยูกันดาทั้ง ๔ โรงเรียน พบว่า ศาสนาหรือความเชื่อที่ต่างกันไม่สามารถขวางกั้นความรู้สึกที่ดีต่อสมาธิได้ ทั้งครูและนักเรียนหลายคนอยากนั่งสมาธิทุกวัน บางคนบอกว่าสมาธิเปลี่ยนชีวิตของเขา เพราะว่าเขาไม่เคยมีความรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขขนาดนี้มาก่อนเลย 


    การไปยูกันดาครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งชมรมสมาธิที่ยั่งยืนได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะหลาย ๆ โรงเรียนเริ่มเข้าใจประโยชน์ของสมาธิแล้ว นอกจากนี้ทีมงานยังเชื่อว่า ความทุ่มเทของโซโลนีและวิลสันจะเป็นแรงบันดาลใจให้พีซเอเจนต์ในแอฟริกาอีกหลาย ประเทศหันมาทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนในแอฟริกาต่อไป

 



    ประเทศสุดท้ายในการเดินทางไปจัดปฏิบัติธรรมในแอฟริกาครั้งนี้ของทีมงาน         พีซเรฟโวลูชัน คือประเทศแทนซาเนีย ในประเทศนี้เราจัดกิจกรรม ๒ วัน ทั้งหมด ๔ รอบ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๒๐๐ กว่าคน โดยมีพีซเอเจนต์หนึ่งเดียวของแทนซาเนีย คือ อาอูนี อามินี      มิกิดาดี เป็นแกนนำ อายาเป็นผู้ประสานงาน  ครูเกอร์จากมาลาวีมาช่วยงาน และสังเกตการณ์เพื่อเตรียมจัดงานที่ประเทศมาลาวีต่อไป


    รอบแรก วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมัธยมปลายจัมฮูรี ซึ่งเป็นโรงเรียนมุสลิมระดับมัธยมปลาย ที่นี่พระอาจารย์ ใช้สูตรเดียวกับที่ยูกันดา คือนั่ง ๒ ครั้ง ผลการปฏิบัติธรรมพบว่า เด็ก ๑๐๐ คน มีประมาณ  ๓๐ คนเท่านั้น ที่มีประสบการณ์ที่ดี เนื่องจาก มีอุปสรรคเรื่องภาษา และไม่มีเครื่องขยายเสียง ทำให้เสียงของพระอาจารย์ไปไม่ถึงหลังห้อง หลายคนจึงนั่งคุยกันขณะที่มีการปฏิบัติธรรม


    รอบที่ ๒ จัดกิจกรรมที่โรงเรียนวิวันดานี รอบนี้พระอาจารย์แก้ปัญหาด้วยการให้ต่อลำโพงเล็กซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงของทีมงานให้อาอูนี และให้เขาช่วยแปลทุก ๆ ประโยค


    รอบนี้มีนักเรียนมาร่วมกิจกรรม ๔๐ คน เด็ก ๆ ให้ความร่วมมือดีมาก เมื่อเริ่มนั่งสมาธิก็นั่งนิ่ง เงียบ และมีประสบการณ์ที่ดี รู้สึกเบา สบายเกือบทั้งห้องแม้ในครั้งแรก พระอาจารย์จึงนำนั่งครั้งที่ ๒ ต่อทันที 


    ขณะที่บรรยากาศกำลังเงียบสงบ เสียงออดก็ดังขึ้น เด็กทั้งโรงเรียนส่งเสียงดีใจที่จะได้กลับบ้าน แต่ทุกคนในห้องนี้ยังนั่งสมาธิต่อ เมื่อครบ ๒๐ นาที เด็ก ๆ ต่างประหลาดใจว่า เวลาผ่านไปไวมาก วันนี้หลายคนนั่งดีจนอายาเลือกไม่ถูกว่าจะสัมภาษณ์ใคร    


    รอบที่ ๓ จัดกิจกรรมที่ UMATI (Youth Action Movement) กลุ่ม “ยูมาติ” เป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมกับเยาวชน และมีเครือข่ายทั่วทั้งประเทศแทนซาเนีย 


    พระอาจารย์นำนั่ง ๒ ครั้ง และใช้คำว่า “ฮากูนา มาตาตา” (อย่ากังวล) เป็นคำภาวนา ซึ่งดูเหมือนพวกเขารู้สึกผ่อนคลายมากเมื่อ ได้ยินคำนี้ หลายคนมีประสบการณ์ที่ดี บางคนบอกว่าเหมือนตัวหายไปอยู่ที่อื่น เป็นที่โล่ง ๆ กว้าง ๆ มีคนหนึ่งบอกว่าเห็นพระอาทิตย์สว่าง แล้วตรงกลางก็กลายเป็นจุดที่สว่างขึ้นมา เป็นต้น


    รอบที่ ๔ วันที่ ๓๐ เมษายน จัดกิจกรรมที่เมืองโดโดมา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ วันนี้อาอูนีชวนเพื่อน ๆ มานั่งสมาธิ ๑๐ คน พระอาจารย์นำปฏิบัติธรรม ๒ ครั้ง พวกเขาต่างมีประสบการณ์ที่ดีและอยากให้จัดปฏิบัติธรรมอย่างนี้อีก พระอาจารย์จึงชวนให้เข้าเว็บไซต์   พีซเรฟโวลูชัน เพื่อพัฒนาพวกเขาให้เป็นกลุ่ม พีซเอเจนต์ต่อไป  

 


    จากการทำกิจกรรมในแต่ละประเทศจะเห็นได้ว่า ทุกรอบการนั่งสมาธิเรามีเวลาให้กันไม่มาก แต่เวลาอันน้อยนิดที่มีล้วนเปี่ยมด้วยคุณภาพ ที่สามารถจุดประกายความสว่าง      ในใจของหลาย ๆ คนให้ลุกโชนขึ้น และที่สำคัญหลายคนยังพร้อมที่จะจุดความสว่างต่อ ๆ ไป ให้สว่างไสวทั่วแผ่นดินถิ่นแอฟริกา 


    ทีมงานทุกคนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสไปร่วมทำภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ในทวีปแอฟริกากับพีซเอเจนต์ทุกคน และอยากบอกว่า “ตลอดการเดินทางในแอฟริกานั้น ซาฟารีสัตว์ป่า ทุ่งหญ้า หรือเนินเขา หาใช่สิ่งที่ทีมงานประทับใจไม่ แต่ความกระตือรือร้นของพี่น้องชาวแอฟริกันที่จะเปลี่ยนแปลงแอฟริกาทั้งทวีปให้เปี่ยมด้วยสันติสุขต่างหากที่สร้างความประทับใจให้พวกเราอย่างแท้จริง”.. 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล