ฉบับที่ ๒๑๗ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๖๔

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๔)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๔)

6401-035.jpg

๑๓๖ ปี พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) : ความจริงแท้ของหลักฐานธรรมกายที่ไร้กาลเวลา

        (ต่อจากฉบับที่แล้ว) ก่อนอื่นต้องขออนุโมทนาบุญกับคณะผู้จัดงานทุก ๆ ท่าน ที่แม้ในยาม COVID-19 ก็ได้จัดงานพิธีกรรมอย่างสมบูรณ์และมีการป้องกันด้วยมาตรการสาธารณสุขเป็นอย่างดี โดยกระจายกำลังนำคณะสามเณรกว่า ๓,๐๐๐ รูป ไปจัดงานอุปสมบทรุ่นบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ ณ พัทธสีมา จำนวน ๒๒๒ วัด ซึ่งบุญนี้ถือเป็นบุญใหญ่ในช่วงท้ายปีเก่า ดังนั้นเราควรที่จะทบทวนบุญตลอดปีที่สั่งสมมา จะได้เพิ่มบุญบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยออกแบบชีวิตของเราให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย และได้พบครูดี ได้ฟังคำสอนของมหาปูชนียาจารย์ทุกท่าน ได้ไตร่ตรองคำสอนอันมีคุณค่านั้น เเล้วได้ลงมือทำตามคำสอนของท่าน ซึ่งเป็นวุฒิธรรม ๔ ประการ อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความเจริญ ดังเช่น "นักสร้างบารมีที่ไม่ว่างเว้นในการทำความดี"

 

6401-036.jpg

พิธีเวียนประทักษิณ-อุปสมบทรุ่นบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ จำนวน ๑๔ รูป
สถานที่ : วัดบางนา ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
จัดพิธีกรรมโดยคณะทำงานภาคพื้นโอเชียเนีย และสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI)
ภาพ : สุเทพ ชลเวกสุวรรณ และพุทธพล ภูมิพุทธ


          จากฉบับที่ผ่านมา คณะทำงานศึกษาวิจัยได้กล่าวถึงการรวบรวมผลงานศึกษาค้นคว้าหลักฐานธรรมกายของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) จำนวน ๕๐ หัวข้อ ซึ่งสามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มได้ ๔ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในสุวรรณภูมิ ๒) กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในเอเชียกลาง-ใต้ ๓) กลุ่มหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์จีนพุทธโบราณ และ ๔) กลุ่มหลักฐานธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลี ซึ่งในฉบับนี้จะได้กล่าวถึง กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในเอเชียกลาง-ใต้ เพิ่มเติม ดังนี้


6401-037.jpg

           ๑๑. คัมภีร์วัชรเฉทิกาปรัชญาปารมิตา เนื้อหาคัมภีร์มีอายุก่อนปีพุทธศักราช ๙๔๓ จารึกด้วยภาษาโขตานโบราณ อักษรโขตานพราหมี (คุปตะตัวตรง) พบที่ถ้ำโม่วกาว เมืองตุนหวง เนื้อหากล่าวว่า พระตถาคตคือธรรมกาย กายของพระองค์ประกอบด้วยธรรม

 

           ๑๒. คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร เนื้อหาก่อนปีพุทธศักราช ๗๙๓ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี สาระสำคัญคือ “เราเห็นธรรมกายอันไม่มีส่วนเหลือด้วยมหาปัญญา”

 

6401-038.jpg

           ๑๓. คัมภีร์มหายานสูตราลังการะ เนื้อหาคัมภีร์ พ.ศ. ๘๑๓-๘๙๓ ตัวจารึกคัมภีร์ พ.ศ. ๒๔๕๐ สาระสำคัญมีว่า... “โพธิสัตว์มีขุมสมบัติใหญ่อันเนื่องมาจากมหาอภิญญาและธรรมกายอันประกอบด้วยสมาธิอันไม่มีประมาณ ผู้ซึ่งได้รับพุทธาภิเษกจากพระพุทธเจ้าทั้งหลาย...”

 

6401-039.jpg

          ๑๔. คัมภีร์มหาวัสตุอวทาน เนื้อหาคัมภีร์ พ.ศ. ๗๐๑-๘๐๐ ตัวจารึกคัมภีร์ พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๔๐ ภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี ปรากฏข้อความว่า “เมื่อได้ยินว่าธรรมกายแห่งบุรุษนั้นบังเกิดขึ้น (เข้าถึงธรรมกาย) สนัทกุมารดำริว่า เราจะขับเพลงสรรเสริญพระตถาคตพระองค์นั้น”

 

6401-040.jpg

          ๑๕. คัมภีร์อโศกาวทาน อายุเนื้อหาราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี ปรากฏข้อความว่า “พระอุปคุปต์ได้กล่าวแก่มารว่า ข้าพเจ้าได้เห็นแต่ธรรมกาย แต่ไม่เห็นรูปกาย ขอท่านจงบันดาลให้ข้าพเจ้าได้เห็นรูปกายของพระทศพลด้วย”

 

6401-041.jpg

          ๑๖. คัมภีร์อุครปริปฤจฉาสูตร คัมภีร์ใบลาน อายุกลางพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ จารึกเป็นภาษาคานธารี อักษรขโรษฐี พบที่บามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ใน DIRI Collection สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) กล่าวถึงศีลขันธ์ การละวางความยึดมั่นถือมั่นในอหังการ มนังการ การละทิ้งความคิดอันสุดโต่งทั้ง ๒ ด้าน การหยั่งจิตสู่ปฏิจจสมุปบาทธรรม มองสิ่งต่าง ๆ ไปตามเหตุปัจจัย

 

         ๑๗. พระสูตรไม่ปรากฏชื่อ แต่ลายมือที่จารึกคล้ายกับคัมภีร์อุครปริปฤจฉาสูตร จารึกเป็นภาษาคานธารี อักษรขโรษฐี พบที่บามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน เนื้อหาในพระสูตรกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา แต่ยังไม่ทราบชื่อและที่มาว่าอยู่ในคัมภีร์ใด

 

6401-042.jpg

         ๑๘. วาสิชฏสูตร เนื้อหาอายุก่อน พ.ศ. ๕๐๐ เป็นคัมภีร์ในเปลือกไม้เบิร์ช พบที่ฮาดดา ประเทศอัฟกานิสถาน จารึกด้วยอักษรขโรษฐี ภาษาคานธารี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสาระสำคัญว่า ...“ผู้ที่จะขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นได้ ต้อง “ทั้งรู้ทั้งเห็น” ขันธ์ห้า และความเกิดดับของขันธ์ห้าเท่านั้น ถ้าไม่รู้ไม่เห็น ก็จะไม่สามารถขจัดกิเลสอาสวะได้...”

 

6401-046.jpg

         ๑๙. สมาธิราชสูตร (๑) เนื้อหาคัมภีร์อยู่ในราวปี พ.ศ. ๖๔๔-๗๔๓ ชิ้นส่วนคัมภีร์พบที่บามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ใน SchØyen Collection ประเทศนอร์เวย์ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรกิลกิต-บามิยันพราหมี แบบที่ ๑ ดังข้อความว่า “หลังจากเข้าถึงความว่าง จะเห็นพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นคนละองค์กับที่บริกรรมนิมิต การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เห็นพระองค์ทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้จิตไม่หวั่นไหว ไม่มีความทุกข์หรือความกลัวแม้ในเวลาจะละสังขาร”

 

6401-043.jpg

         ๒๐. สมาธิราชสูตร (๒) เนื้อหาคัมภีร์อยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๗๐๑-๑๒๐๐ ศึกษาจากคัมภีร์ พ.ศ. ๒๕๐๔ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี สาระสำคัญมีว่า... “โพธิสัตว์ผู้มุ่งสู่โพธิญาณด้วยกำลังแห่งสมาธิ ต้องไม่ทำความเข้าใจกำลังอันแท้จริงของตถาคตด้วยรูปกาย เพราะกำลังอันแท้จริงของตถาคตอยู่ที่ธรรมกาย มิใช่รูปกาย”

 

6401-044.jpg

         ๒๑. คัมภีร์อัสฏสาหัสริกาปรัชญาปารมิตา เนื้อหาคัมภีร์อยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๔๔๓-๖๔๓ ตัวคัมภีร์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นคัมภีร์จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี สาระสำคัญมีว่า... “พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมกายคือพุทธะ คือภควันต์ เธอพึงเห็นเราจากการเข้าถึงธรรมกาย...”

 

6401-045.jpg

         ๒๒. ปรัตยุตปันนสมาธิสูตร เนื้อหาอายุก่อน พ.ศ. ๕๐๐ พบที่คาห์ดาลิค ในบริเวณ Domoko Oasis ในทะเลทรายทากลามากัน ใกล้โขตาน มณฑลซินเจียงของจีน ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ Hoernle Collection (เลขที่ ๑๔๓, SA.3) ใน British Library ประเทศอังกฤษ จารึกด้วยภาษาสันสกฤตลูกผสม อักษรคุปตะตัวตรง พระสูตรนี้ถือว่าเป็นพระสูตรมหายานที่มีความเก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่ง และเป็นพระสูตรที่เกี่ยวกับการทำสมาธิ ขณะเดียวกันก็พบชิ้นส่วนในคัมภีร์คานธารีด้วย ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. ๔๕๐-๗๐๐ สาระสำคัญของปรัตยุตปันนสมาธิสูตรนี้เป็นการกล่าวถึง การเห็นพระพุทธเจ้าแก้วใสหลังจากการเข้าถึงความว่าง และยังกล่าวว่า “พุทธานุสติเมื่อปฏิบัติด้วยดีแล้ว จะทำให้ได้รับการปกปักรักษา ดึงดูดแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา ขับไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไป มีญาณทัสนะกว้างไกล รู้แจ้งสัจธรรม เข้าถึงธรรมชาติสูงสุดของสรรพสิ่ง”


        ทั้งนี้ บรรดาหลักฐานธรรมกายที่เราได้ศึกษาและรวบรวมไว้ทั้ง ๒ กลุ่มข้างต้นนี้ ก็เป็นการกล่าวอธิบายถึงคุณลักษณะของ “พระธรรมกาย” ที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการสั่งสมบุญสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ หรือบุคคลผู้ปรารถนาพระโพธิญาณในภายหน้าเช่นเดียวกัน หลักฐานหลายชิ้นมีความเกี่ยวพันกับลักษณะของพุทธคุณของพระพุทธเจ้าที่เรารับรู้กันในพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป
 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล