ฉบับที่ 129 กรกฏาคม ปี2556

เดือนนี้มี ๒ วันสำคัญ ไปทำบุญกันให้ใจเบิกบาน

 บทความบุญ

เรื่อง : พระมหามนต์ชัย มนฺตาคโม

 

อาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา

 

เดือนนี้มี ๒ วันสำคัญ

ไปทำบุญกันให้ใจเบิกบาน

 

       ในเดือนกรกฎาคมนี้ เรามีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาถึง ๒ วันคู่กัน คือ “วันอาสาฬหบูชา” (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) เป็นวันที่พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ทั้งพระศาสดา หลักคำสอน และศาสนทายาท ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม และ “วันเข้าพรรษา” (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ทั้ง ๒ วันเป็นวันที่มีส่วนสำคัญในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวมั่นคงมาถึงปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นชาวพุทธพวกเราจึงควรศึกษาประวัติความเป็นมาของทั้ง ๒ วันนี้อย่างแจ่มแจ้งจะได้เกิดกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติตามรอยบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

วันอาสาฬหบูชา

       วันอาสาฬหบูชา แปลว่า วันแห่งการบูชาในเดือน ๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย

       พระพุทธองค์ทรงเป็นธรรมราชา ผู้ยังจักรแห่งธรรมให้เคลื่อนหมุนไป นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่มวลสรรพสัตว์ พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงเป็นครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนจักรแห่งธรรม พระสูตรนี้เป็นแม่บทของพระธรรมคำสอน ทั้งหมดที่มีในพระพุทธศาสนา ที่แสดงทั้งหนทางปฏิบัติซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม ที่ไม่นำไปสู่การพ้นทุกข์ใด ๆ เลย แต่กลับนำความทุกข์มาสู่ผู้ปฏิบัติ อันได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค คือ การลุ่มหลงมัวเมาในกามและอัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตนเอง และแสดงถึงหนทางปฏิบัติที่นำไปสู่การพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ซึ่งพระองค์ทรงค้นพบ คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางเอกสายเดียวที่นำผู้ปฏิบัติอย่างจริงจังไปสู่การบรรลุธรรมภายใน อาศัยธรรมจักขุภายในตามเห็นอริยสัจ ๔ ภายในไปตามลำดับ ๆ จนกระทั่งกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นเด็ดขาด

       หลังจากพระพุทธองค์ตรัสพระปฐมเทศนาจบลง หัวหน้านักบวชปัญจวัคคีย์ คือท่านโกณฑัญญะได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้รู้แจ้งแทงตลอด กลายเป็นพยานยืนยันการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปในทันที พระองค์ได้ประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่าน ทำให้ท่านเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา และพระพุทธศาสนาก็บังเกิดขึ้นในโลกนี้อย่างสมบูรณ์แบบเพราะพระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เกิดขึ้นครบถ้วนบริบูรณ์ ซึ่งหมายถึงว่าดวงตะวันแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารได้ส่องสว่างแก่มวลสรรพสัตว์แล้ว

ประเพณีนิยมในวันอาสาฬหบูชา

       เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชา ปู่ย่าตายายของเราต่างขวนขวายไปวัด เพื่อฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพื่อเป็นการทบทวนแม่บทธรรมะทั้งหมดในพระพุทธศาสนาให้เข้าใจและซาบซึ้ง ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังนำมาประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งหลักการที่ดีเหล่านั้นกลายเป็นนิสัยประจำตัว นิสัย ประจำชาติ ซึ่งส่งผลให้ตนเอง หมู่คณะ และประเทศชาติเจริญขึ้น และสงบสุขอย่างยั่งยืน 

วันเข้าพรรษา

       ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีพระภิกษุ ๖ รูป (ฉัพพัคคีย์) แม้เมื่อถึง ฤดูฝนก็ยังพากันจาริกไปมา เที่ยวย่ำข้าวกล้าวิบัติเสียหาย และเหยียบสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ตายไปประชาชนจึงพากันติเตียนว่า ไฉนพระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ ตลอดจนสัตว์จำนวนมาก แม้พวกเดียรถีย์และปริพาชกก็ยังหยุดพักในฤดูฝน พวกพ่อค้าก็หยุดเดินทางไปมาชั่วคราว เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทางเป็นหลุมเป็นโคลน หรือแม้แต่นกก็ยังรู้จักทำรัง เพื่อพักหลบฝน

       อาจเป็นไปได้ว่า มีพระภิกษุรูปอื่นนอกจากพวกฉัพพัคคีย์ไม่ได้หยุดการจาริกในพรรษา แต่ที่ว่าพระภิกษุเหล่านั้นเผลอไผลไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านโดยไม่รู้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความที่ว่าพากันเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านเป็นสำนวนพูด ซึ่งหมายถึง หากพระภิกษุเที่ยวจาริกไปที่ไหนในฤดูฝน ชาวบ้านที่มีศรัทธาก็จะต้องมาคอยถวายความอุปถัมภ์ ทำให้ไม่สามารถจะดูแลพืชผล เรือกสวนไร่นาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่ดีนัก จึงเหมือนกับว่า พระภิกษุเดินเหยียบย่ำข้าวกล้า

อาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา

 

       เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงทรงวางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา ๓ เดือน ก่อนเข้าจำพรรษา พระสงฆ์ในวัดจะเตรียมตัวโดยการซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้อยู่ในสภาพที่ดี และจัดการปัดกวาดหยากไย่เช็ดถูให้สะอาด เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญสมณกิจในช่วงเทศกาลเข้าพรรษากิจกรรมในวันเข้าพรรษานั้นถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ โดยจะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ เสร็จแล้วประกอบพิธีเข้าพรรษา ซึ่งภิกษุจะอธิษฐานในใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ ตนเองจะไม่ไปไหนหลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้ว ก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น 

       วันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียนไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ การอยู่จำพรรษา ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด ๓เดือนนั้น นอกจากมีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกออกเผยแผ่พระศาสนาตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝนแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ตามพระธรรมวินัยให้แก่กัน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่สงฆ์ด้วย

 

อาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา บรรพชาอุปสมบท บวช

 

       การเข้าพรรษานอกจากเป็นเรื่องของพระภิกษุแล้ว สำหรับพุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำทาน รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส โดยในวันนี้หรือก่อนวันนี้ พุทธศาสนิกชนมักไปถวายหลอดไฟ หรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ด้วย เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา และมักจัดเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน หรือเครื่องใช้อย่าง สบู่ ยาสีฟัน ไปถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ หรือ ไปช่วยพระทำความสะอาด ซ่อมแซมกุฏิหรือวิหาร เมื่อถึงวันเข้าพรรษาก็ไปร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมกันที่วัด

       ก่อนจะถึงเทศกาลเข้าพรรษา ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช นิยมบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดพรรษากาลทั้ง ๓ เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า “บวชเอาพรรษา” ส่วนท่านที่ไม่ได้บวชทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชาย นิยมไปวัด ถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่ว บำเพ็ญความดี ชำระจิตให้สะอาดแจ่มใส นอกจากนี้บางท่านยังปฏิบัติให้เคร่งครัดยิ่งขึ้นด้วยการอธิษฐานตัดใจหักดิบเลิกอบายมุขทุกชนิดอย่างเด็ดขาด บางท่านอธิษฐานรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ ตลอดทั้งพรรษา บางท่านอธิษฐานนั่งสมาธิวันละ ๑ ชั่วโมง ตลอดทั้งพรรษา บางท่านเมื่องดเว้นบาป ความชั่ว และอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป ไม่กลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก

       ศาสนิกชนไทยเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า “บวชเอาพรรษา” ส่วนท่านที่ไม่ได้บวชทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชาย นิยมไปวัด ถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่ว บำเพ็ญความดี ชำระจิตให้สะอาดแจ่มใส นอกจากนี้บางท่านยังปฏิบัติให้เคร่งครัดยิ่งขึ้นด้วยการอธิษฐานตัดใจหักดิบเลิกอบายมุขทุกชนิดอย่างเด็ดขาด บางท่านอธิษฐานรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ ตลอดทั้งพรรษา บางท่านอธิษฐานนั่งสมาธิวันละ ๑ ชั่วโมง ตลอดทั้งพรรษา บางท่านเมื่องดเว้นบาป ความชั่ว และอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป ไม่กลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก

       หากใครยังไม่เคยเข้าวัดไปทำกิจกรรมในวันเข้าพรรษาหรือช่วงเข้าพรรษา ขอแนะนำให้ไปลองดูเพราะนอกจากจะได้ทำบุญแล้ว ยังจะช่วยชำระล้างจิตใจให้ปลอดโปร่ง พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาได้อีกด้วย..

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล