ฉบับที่ ๑๔๙ เดือนมีนาคม ๒๕๕๘

ธุดงค์ ธรรมชัย ธรรมยาตราเพื่อการ ฝึกพระแท้ - รวมพลังชาวพุทธ - สู้วิกฤตวัดร้าง

บทความพิเศษ
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

ธุดงค์

ธรรมชัย

ธรรมยาตราเพื่อการ
ฝึกพระแท้ - รวมพลังชาวพุทธ - สู้วิกฤตวัดร้าง

 

เรียบเรียงจากโอวาทพระราชภาวนาจารย์ วิ. (เผด็จ ทัตตชีโว)
วันอาทิตย์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘
ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี

 


    ตลอดสี่สิบกว่าปีมานี้ นับตั้งแต่วันแรกที่เราขุดดินก้อนแรกสร้างวัดพระธรรมกายกันมา ทุกกิจกรรมที่วัดพระธรรมกายจัดขึ้น ล้วนเอาบุญเป็นตัวตั้งในการจัดงาน สิ่งใดที่ไม่ใช่บุญ เราไม่เอามาเป็นตัวตั้งในการทำงานอย่างเด็ดขาด ขอให้ทุกท่านมั่นใจเถิดว่า ทุกบุญที่เราทำ ทุกกิจกรรมที่เราสร้างนั้น ไม่ผิดแผกไปจากร่องรอยเดิมของพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน แต่ทว่าในขณะนี้งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดเรา ขยายออกไปในวงกว้าง ย่อมอาจมีผู้ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดเกิดขึ้นบ้าง การถูกเข้าใจผิดก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะก่อนที่เราจะเข้าวัดก็เคยเข้าใจอะไรต่อมิอะไรผิด ๆ มาบ้าง แถมยังวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา


    ดังนั้น รอบนี้เราจัดโครงการธุดงค์ธรรมชัยขึ้นมา แล้วกลายเป็นผู้ถูกเข้าใจผิดบ้าง ก็ถือว่าได้ใช้กรรมเก่าในชาตินี้แล้ว เราจึงไม่ควรถือโทษโกรธใคร เพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทุกเสียงนั้น ต้องถือว่าเกิดขึ้นจากผู้ที่หวังดีเป็นห่วงเป็นใยต่อพระพุทธศาสนาด้วยกัน

 

คนเข้าวัดต้องหนักแน่นในธรรม


    ในฐานะที่เราเป็นคนเข้าวัดปฏิบัติธรรม ไม่ว่ามีเรื่องใดมากระทบกระทั่ง มีหลักปฏิบัติอยู่ว่า “ทุกอย่างที่คิด ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด จงถือหลักวิชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มั่น” นั่นคือถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ดังนั้น เวลาที่มีปัญหากระทบกระทั่งกับใคร เราต้องเอาหลักวิชาเป็นตัวตั้ง อย่าเอาอารมณ์เป็นตัวตั้ง ถ้าเราใช้อารมณ์กับใคร ถือว่าเสียศักดิ์ศรีของคนเข้าวัด


    สำหรับโครงการเดินธุดงค์ธรรมชัยประจำปีนี้ (พุทธศักราช ๒๕๕๘) มีพระเดินธุดงค์ ๑,๑๓๐ รูป ผ่าน ๗ จังหวัด เป็นระยะทาง ๔๘๕ กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งหมด ๓๐ วัน จึงเสร็จสิ้น


    ในช่วง ๓ วันสุดท้ายที่เราเดินกลับวัดพระธรรมกายโดยผ่านกรุงเทพมหานครนี้เอง ที่ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ลบแง่บวกอย่างมากมาย ทำให้มีทั้งผู้ทรงภูมิรู้ ผู้ที่ปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาออกมาให้ความคิดเห็นกันมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ธุดงค์คืออะไร การเดินผ่านเมืองนี้เป็นการธุดงค์หรือไม่

 

ธุดงค์คืออะไร


    ธุดงค์ คือ หลักการฝึกกำจัดกิเลสอย่างเข้มข้นของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๑๓ วิธี ด้วยกัน ได้แก่ 


    ๑) ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร       
    ๒) ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร 
    
    ๓) ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร 
    ๔) ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร
    ๕) ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร
    ๖) ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร
    ๗) ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 
    
    ๘) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
    ๙) ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร 
    ๑๐) ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร
    ๑๑) ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร 
    ๑๒) ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร 
    ๑๓) ถือการนั่งเป็นวัตร (ยืน เดิน นั่ง ไม่นอน)

 

    ธุดงควัตรทั้ง ๑๓ วิธีนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติเป็นพระวินัย แต่ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ทำได้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยถือเป็นความสมัครใจของพระภิกษุผู้ถือธุดงควัตรเอง โดยจะเลือกถือปฏิบัติเป็นวัตรเพียง ๑ ข้อ ๒ ข้อ ก็ได้ หรือจะถือกี่ข้อก็ได้ แล้วแต่ความสมัครใจ


    สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดของธุดงควัตรทั้ง ๑๓ วิธีนี้ สามารถศึกษาค้นคว้าได้จาก “คัมภีร์วิสุทธิมรรค” ซึ่งเป็นตำราเก่าแก่อายุพันกว่าปี มีการบันทึกรายละเอียดของธุดงค์แต่ละข้อไว้อย่างดีเยี่ยม สำหรับพระภิกษุที่เข้าร่วมโครงการเดินธุดงค์ธรรมชัย ๑,๑๓๐ รูป นี้ ได้ตั้งใจถือธุดงควัตรอยู่ ๒ ข้อ คือ ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร และ ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร

 

ธุดงค์ธรรมชัย คืนชีพกระแสพระธุดงค์กลับมาใหม่


    การทำงานทุกงานในโลกนี้ ก็เป็นธรรมดาที่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่เห็นด้วยก็ชื่นชมอนุโมทนา คนไม่เห็นด้วยก็โพนทะนาติเตียน โครงการของเราก็มิอาจหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ได้เช่นกันอันที่จริงแล้ว ก่อนที่เราจะจัดโครงการธุดงค์ธรรมชัยครั้งแรก(พุทธศักราช ๒๕๕๔) นั้น ต้องบอกว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเป็นสิบ ๆ ปี ไม่มีใครพูดถึงการเดินธุดงค์เลย ราวกับว่าธุดงค์ไม่เคยมีมาก่อนในโลก จนกระทั่งแม้แต่ชาวพุทธที่ทันเห็นขบวนพระธุดงค์ในสมัยก่อนบางท่านยังเข้าใจผิดว่าการเดินธุดงค์ได้ตายจากประเทศไทยไปหมดแล้ว 


    แต่หลังจากที่เราจัดโครงการธุดงค์ธรรมชัยขึ้นมา ความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์การ
เดินธุดงค์ในแง่มุมต่าง ๆ ก็ถูกเผยแผ่ออกมามากมาย ทำให้เราเองก็พลอยตกอยู่ในกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบตามมาอีกมากมาย 


    สำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี มิฉะนั้นแล้ว เรื่องการเดินธุดงค์ในเมืองไทย ก็จะถูกลืมไปจนหมด ไม่มีการพลิกตำรับตำรากลับมาศึกษากันใหม่ ไม่มีการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางเหมือนในขณะนี้ 


    ดังนั้น หากจะว่าไปแล้ว โครงการธุดงค์ธรรมชัยที่จัดขึ้นนี้ ก็มีส่วนอย่างมากที่ช่วยปลุกกระแสความสนใจเรื่องการปฏิบัติขัดเกลากิเลสอย่างเข้มข้น หรือการเดินธุดงค์ให้ฟื้นคืนชีพกลับมาใหม่ในประเทศไทยอีกครั้งอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่กล่าวขานทั่วทั้งสังคมเลยทีเดียว

 

กลุ่มคนที่ห่วงใยพระพุทธศาสนา


    สำหรับในกรณีที่เราต้องตอบคำถามจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบนั้น เราต้องทำใจให้หนักแน่นในธรรม อย่าใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ทั้งนี้เพราะผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นั้น เราต้องถือว่าเป็นผู้ที่ห่วงใยในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับเรา ซึ่งอาจแบ่งได้สามกลุ่มใหญ่ คือ


            กลุ่มที่ ๑ คนไม่เข้าใจ 
            กลุ่มที่ ๒ คนเข้าใจผิด 
            กลุ่มที่ ๓ คนจับผิด


    กลุ่มแรก เขาถามด้วยความไม่เข้าใจ เราก็อธิบายด้วยหลักวิชาให้เขาเข้าใจ 


    กลุ่มที่สอง เขาถามด้วยความเข้าใจผิด เราก็อาศัยหลักวิชาแก้ไขให้เข้าใจถูก 


    ส่วนกลุ่มที่สาม เขาถามด้วยความจับผิด ถ้าพิจารณาดูแล้ว เขาไม่ได้ต้องการเหตุผล ไม่ต้องการหลักวิชาอะไร ในสถานการณ์แบบนี้ เราก็อย่าไปโกรธ อย่าไปต่อล้อต่อเถียงด้วย เพราะไม่เกิดประโยชน์ เพราะเรื่องบางอย่างต้องให้เวลากัน ถึงจะเกิดความเข้าใจ 


    ประการสำคัญก็คือ เราต้องถือว่าผู้ที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์เราอยู่นี้ เป็นผู้ที่มีความห่วงใยในพระพุทธศาสนา เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องโกรธใคร เรามีหน้าที่เพียงอธิบายตามหลักวิชาที่คุณครูไม่ใหญ่ (หลวงพ่อธัมมชโย) สอนไว้ คืออธิบายด้วยท่าทางที่สุภาพ ด้วยถ้อยคำที่น่าฟัง ด้วยใจที่นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ มีความชุ่มเย็นอยู่ภายใน


    แต่ถ้าเราอธิบายจบแล้ว นอกจากเขาไม่เข้าใจ เขายังจับผิดเพิ่มอีกด้วย ก็ให้ยึดหลักวิชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำสั่งไว้ว่า “ไม่สู้ ไม่หนี ทำดีเรื่อยไป” นั่นคือเราต้องปล่อยวาง ต้องวางอุเบกขา อย่าไปเสียเวลาทะเลาะกับใคร แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำความดีของเราต่อไป

 

คุณของพระสงฆ์ที่มีต่อสังคมโลก


    ในการเดินธุดงค์ธรรมชัย ก็มีคำถามจากผู้ที่ไม่เข้าใจเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า พระธุดงค์มาเดินกลางเมืองหลวงให้คนโปรยดอกไม้แบบนี้เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามร่องรอยในพระพุทธศาสนาหรือไม่


    สำหรับคำตอบของเรื่องนี้ ประเด็นอยู่ที่ “คุณของพระสงฆ์” ที่มีต่อสังคมโลกนั้นคืออะไร   


    คุณ แปลว่า ความดีที่มีประจำอยู่ในสิ่งนั้น ๆ 


    คุณของพระสงฆ์ จึงแปลว่า ความดีที่มีอยู่ประจำตัวพระสงฆ์ การที่พระสงฆ์จะมีคุณความดีบังเกิดขึ้นประจำตนได้ ต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ ๒ ประการ 


    หน้าที่ข้อที่ ๑ คือ ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้า


    หน้าที่ข้อที่ ๒ คือ สอนผู้อื่นให้รู้ตาม


    การจะทำหน้าที่ข้อแรกได้ ก็ต้องเรียนด้วยและปฏิบัติตามให้ได้ด้วย จากนั้นจึงจะนำสิ่งที่ฝึกได้ไปสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ไม่ว่าจะบวชช่วงสั้นหรือช่วงยาว เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ทุกรูป  


    ชาวพุทธจำเป็นต้องรู้เรื่องนี้ ถ้าชาวพุทธไม่รู้เรื่องนี้จะเป็นอันตราย อันตรายทั้งต่อการทำหน้าที่ของพระสงฆ์เองด้วย และอันตรายต่อการรับผิดชอบพระพุทธศาสนาร่วมกันด้วย   

 

การสอนผู้อื่นให้รู้ตามของพระสงฆ์


    การสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มี ๒ วิธี คือ บอกให้รู้ และ ทำให้ดู


    พระภิกษุที่บวชในระยะยาว กว่าจะฝึกให้เทศน์ได้ ก็ต้องใช้เวลา ๕-๑๐ พรรษา แต่พระบวชใหม่ เพิ่งจะเรียนธรรมะได้ไม่กี่วัน ยังขึ้นธรรมาสน์เทศน์สอนไม่ได้ แถมบางรูปพอครบพรรษาแล้ว ก็มีภาระทางโลกจะต้องสึกออกไปอีก แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ญาติโยมที่ใส่บาตรบำรุงเลี้ยงอยู่ทุกวัน


    จริงอยู่แม้บวชใหม่จะยังเทศน์เป็นคำพูดไม่ได้ แต่สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือ เทศน์ด้วยการทำให้ดู 


    การเดินธุดงค์เป็นการเทศน์ด้วยการทำให้ดูว่า ตลอด ๑ พรรษา ที่บวชอยู่ในร่มเงาบวรพระพุทธศาสนานี้ ได้ฝึกหัดขัดเกลาตัวเองตามหลักธรรมที่เล่าเรียนศึกษามาอย่างไรบ้าง ตั้งแต่


    ๑) มีความสงบสำรวมกาย วาจา ใจ ในกิริยามารยาทของความเป็นพระมากเท่าไร


    ๒) มีความทรหดอดทนในการฝึกตนเองตามพระธรรมวินัยมากเท่าไร 


    โดยดูได้จากการเดินธุดงค์บนเส้นทางกว่า ๔๘๕ กิโลเมตร เป็นเวลา ๑ เดือนที่ผ่านมา 


    ญาติโยมเห็นแล้วปลื้มใจว่าพระที่บวชมาตลอดพรรษานี้ บวชแล้วฝึกหัดขัดเกลาตนเอง ไม่ได้กินแล้วนอน แต่ฉันภัตตาหารแล้วก็ฝึกหัดขัดเกลาตนเองอย่างเต็มที่ เมื่อครบกำหนดพรรษาแล้ว ก็ออกไปเยี่ยมญาติโยม แต่เนื่องจากไม่รู้ว่าบ้านญาติโยมอยู่ที่ไหนกันบ้าง ก็ใช้วิธีแต่โบราณมา นั่นคือเดินธุดงค์ปรากฏตัวในที่สาธารณะ ทางหนึ่งก็เป็นการออกไปขอบคุณญาติโยม ทางหนึ่งก็เป็นการรายงานผลการฝึกตนให้ประชาชนทราบ ทางหนึ่งก็เป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทำให้ญาติโยมทราบว่าข้าวปลาอาหารที่สนับสนุนมาตลอดทั้งพรรษานั้นไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน 


    ดังนั้น การเดินธุดงค์ท่ามกลางสาธารณชน จึงเป็นการเทศน์ด้วยการทำให้ดู จึงเป็นความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนา จึงเป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็สอนผู้อื่นให้รู้ตาม โดยเป็นการสอนตามกำลังที่ตนฝึกได้มาตลอดทั้งพรรษา จึงเป็นการทำหน้าที่ตามหลักธรรม “คุณของพระสงฆ์” ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดความรับผิดชอบของพระสงฆ์ต่อสังคมโลกไว้อย่างครบถ้วนนั่นเอง

 

การตอบคำถามผู้ที่เข้าใจผิด


    เวลาที่มีใครไม่เข้าใจหรือมีใครเข้าใจผิดในเจตนาดีที่เราตั้งใจทำเพื่อส่วนรวม มีข้อเตือนใจว่า อย่าไปโกรธเขา ให้เรายึดหลักวิชาของเรา แล้วก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาอธิบายขยายความให้เขาเข้าใจ ถ้าทำแบบนี้ เราจะได้ผู้ที่มาช่วยกันสนับสนุนงานพระพุทธศาสนา ช่วยกันสนับสนุนการฝึกฝนอบรมตนของพระภิกษุเพิ่มขึ้น เพราะผู้ที่ตั้งคำถามด้วยความสงสัยนั้น ต้องถือว่าท่านเป็นผู้ที่มีความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าท่านสงสัยแล้วไม่ถาม เราก็ต้องอธิบายให้เข้าใจ หรือถ้าท่านสงสัยเพราะเข้าใจผิด เรายิ่งต้องอธิบายให้ท่านเข้าใจ เราจะได้บุญเพิ่มขึ้นอีกต่อหนึ่ง

 

ธุดงค์ธรรมชัยทำให้การจราจรติดขัดจริงหรือ?


    กรณีแรก เรื่องที่ถูกเข้าใจผิดว่าธุดงค์ธรรมชัยทำให้รถติดหนักในกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็ทำให้วัดพระธรรมกายถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบอย่างหนักในช่วง ๓-๔ วันสุดท้ายของการเดินธุดงค์


    สำหรับเรื่องนี้ เราก็อย่าไปโกรธ อย่าไปทะเลาะกับใคร ให้ยึดหลักวิชาของเราไว้ คือไม่สู้ ไม่หนี ทำความดีเรื่อยไป แล้วก็หาข้อมูลด้านการจราจรมาอธิบายให้เขาเข้าใจ โดยดูได้จากตารางแสดงดัชนีค่าเฉลี่ยรถติดของกรุงเทพมหานครในช่วงเดือนมกราคม ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๕๕-๒๕๕๘ ดังต่อไปนี้ 

 

    ดัชนีรถติดรายเดือนระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๕๕-๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

 

    เดือน        ปี ๒๕๕๕    ปี ๒๕๕๖    ปี ๒๕๕๗    ปี ๒๕๕๘
มกราคม        ๒.๗๑        ๒.๔๖        ๓.๗๔        ๒.๔๐
กุมภาพันธ์        ๓.๐๙        ๒.๕๘        ๓.๙๙        ๒.๖๖
มีนาคม        ๓.๑๒        ๒.๖๙        ๓.๐๒        ?
เมษายน        ๒.๔๓        ๒.๑๗        -        ?
พฤษภาคม        ๒.๘๓        ๒.๔๖        -        ?
มิถุนายน        ๓.๐๕        ๒.๕๑        -        ?
...            …        …        …        ?
ธันวาคม        ๒.๑๕        ๒.๗๔        ๒.๓๖        ?
ค่าเฉลี่ย                      ๒.๗๑
หมายเหตุ : ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ Longdo Traffic (http://traffic.longdo.com)


    
    จากตารางนี้ เมื่อเราเทียบค่าเฉลี่ยรถติดเฉพาะเดือนมกราคมทั้งสี่ปีแล้ว ก็จะพบว่าในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ กรุงเทพมหานครมีค่าเฉลี่ยดัชนีรถติด ๒.๔๐ ซึ่งลดลงกว่าปี พ.ศ. ๒๕๕๕,๒๕๕๖, ๒๕๕๗ อยู่มาก นั่นก็หมายความว่าการจราจรในเดือนมกราคมของทุกปีมีสภาพติดขัดเป็นปกติอยู่แล้ว ดังนั้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบที่ว่าธุดงค์ธรรมชัยทำให้สภาพการจราจรติดขัด จึงไม่เป็นความจริง โดยมีข้อมูลดัชนีเฉลี่ย ๔ ปีย้อนหลังนี้ เป็นหลักฐานยืนยัน

 

วัดพระธรรมกายมีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาหรือไม่?


    กรณีที่สองเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีแรก หลังจากมีผู้กระจายข่าวเท็จเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายออกไปมากมาย ก็ทำให้มีผู้สงสัยว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่วัดพระธรรมกายจัดขึ้นนั้น มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาหรือไม่ 


    สำหรับในเรื่องนี้ เราคงต้องนำผลงานของวัดพระธรรมกายที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นสิบ ๆ ปี นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัย ๔ จังหวัดชายแดนใต้มารายงานให้ประชาชนทราบ 


    การรายงานผลงานครั้งนี้ มิใช่ต้องการอวดว่าตัวเองเก่ง แต่เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สังคม มิฉะนั้นการกระจายข่าวเท็จ จะด้วยความไม่รู้ จะด้วยความเข้าใจผิด หรือจะด้วยความหลงผิด ก็จะกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์พระพุทธศาสนาให้แย่ลงไปอีก


    เราทราบกันดีว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้พระภิกษุและชาวพุทธในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต พระสงฆ์ที่ภาคใต้ ชาวพุทธที่ภาคใต้เดือดร้อน จนมีทหารลงไปดูแลกันให้กลุ้มกลัดไปหมด


    ทันทีที่วัดพระธรรมกายได้รับทราบข่าวนี้ ก็ไม่ได้ดูดาย ไม่ได้นิ่งนอนใจ พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ท่านได้สั่งการให้สมาชิกวัดพระธรรมกายทั้งหมด ทั้งที่เป็นสมาชิกภายใน ทั้งที่เป็นญาติโยม ให้ช่วยกันรีบดำเนินการจัดโครงการตักบาตรพระล้านรูป ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อนำเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคลงไปช่วยเหลือพุทธบุตรในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างเร่งด่วนทันที


    ตลอดระยะเวลาสิบปีนี้ วัดพระธรรมกายได้ชวนชาวพุทธทั้งแผ่นดินตักบาตรพระครั้งละพันรูป หมื่นรูป ได้สิ่งของอุปโภคบริโภคมาเท่าไร ก็ส่งไปช่วยภาคใต้ ทำเป็นประจำทุกเดือน ทำต่อเนื่องกันมาสิบปีกว่าแล้ว หน่วยงานไหนต้องการส่งข้าวของเครื่องใช้ไปช่วย แต่ไม่มีรถขนส่ง เราก็จัดคนจัดรถดำเนินการขนส่งสิ่งของลงไปในพื้นที่เสี่ยงภัยเอง ซึ่งก็รู้ว่าอันตราย แต่ทั้งที่รู้ว่าอันตราย เจ้าหน้าที่ของเราก็ยังเสี่ยงอันตรายลงไปด้วยความเต็มใจ


    ในการลงไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยครั้งแรก เราได้จัดพิธีถวายสังฆทานครั้งที่ ๑ เพื่อช่วยเหลือพุทธบุตร ๒๓๘ วัด ๔ จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเวลา ๒ วัน 


    ในวันแรก คือวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ จัดพิธีขึ้นที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อ.เมือง จ.ปัตตานี


    ในวันที่สอง คือวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘  จัดพิธีที่่วัดทองดีประชาราม อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 


    หลังจากนั้น วัดพระธรรมกายกับการคณะสงฆ์ทั่วทั้งสังฆมณฑลและชาวพุทธทั่วประเทศ ก็ส่งตัวแทนลงไปจัดพิธีถวายสังฆทานในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ไม่เคยขาดเลยแม้แต่เดือนเดียว เป็นเวลาสิบปีแล้ว โดยพิธีถวายสังฆทานครั้งล่าสุด คือครั้งที่ ๑๐๘ จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ โรงเรียนพลวิทยา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้อาราธนาหลวงพ่อหลวงพี่ทั้งหลายมารับสังฆทานด้วยตัวของท่านเอง


    นี่คือความรับผิดชอบของวัดพระธรรมกายกับสมาชิกทั้งในวัดและนอกวัดที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกับการคณะสงฆ์และพี่น้องชาวพุทธที่มีอยู่
ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาสิบกว่าปี  

 

วัดพระธรรมกายมีความรับผิดชอบต่อวิกฤตปัญหาวัดร้างอย่างไร?


    มีอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวพุทธควรจะรับทราบถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของทุกศาสนาทั้งโลก นั่นคือสมาชิกของทุกศาสนาที่เข้าวัดนั้นมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งก็สะท้อนว่าคนในยุคนี้ศึกษาหลักธรรมในศาสนาของตัวเองน้อยลง เมื่อคนไม่มีหลักธรรมประจำใจ ก็เอาอารมณ์ตัวเองเป็นใหญ่ โลกจึงได้มีเรื่องเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่วทั้งโลก ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ตลอดระยะเวลา ๓๐-๔๐ ปีมานี้ สถานการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงก็คือ มีผู้บวชน้อยลงมีวัดร้างเพิ่มขึ้น 


    ถ้าเรามองแต่สถิติตัวเลข เราอาจคิดว่าจำนวนผู้บวชอาจไม่ได้ลดลง แต่ความจริงลด คือจากเดิมที่บวชครบพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน แต่เดี๋ยวนี้บวชเพียง ๓ วัน ๗ วัน ก็สึก ยิ่งกว่านั้นในระยะหลัง ๆ มานี้ บวชตอนเช้าแล้วก็สึกตอนเย็นเลย  


    เมื่อระยะเวลาการบวชสั้นลง บวชแล้วก็เลยไม่ได้ศึกษาธรรมะ ความศรัทธาที่จะบวชต่อไปนาน ๆ จึงไม่เกิดขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ พระรุ่นเก่าก็ทยอยลาโลกไป พระรุ่นใหม่ก็ไม่มีเพิ่มขึ้น ผู้บวชใหม่ก็ลดจำนวนลง ปัญหาวัดร้างในประเทศไทยจึงเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ และมีทีท่าจะเพิ่มสูงขึ้น ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขค่านิยมการบวชระยะสั้นเพียง ๑ วัน ๓ วัน ๗ วัน แล้วก็สึก ได้อย่างเป็นรูปธรรม 


    ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ การบวชก็จะเป็นเพียงประเพณี จะไม่มีผู้บวชในระยะยาว ปัญหาวัดร้างก็จะทวีความรุนแรงจนแก้ไขไม่ได้

 

ทางแก้จะต้องทำอย่างไร? 


    ทางแก้ก็คือ ต้องหาทางเลิกค่านิยมบวช ๓ วัน ๗ วันแล้วก็สึก เปลี่ยนมาเป็นบวช ๓ เดือน ๗ เดือน เหมือนอย่างที่ประเพณีโบราณทำกันมา 


    ทำอย่างไรถึงจะมีคนมาบวช ๓ เดือน ๗ เดือน เพิ่มขึ้น?


    สิ่งที่วัดพระธรรมกายช่วยกันทำก็คือ 


    ๑) ออกไปเชิญชวนคนมาบวชให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เราจึงได้ทำโครงการบวช ๑ แสนรูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทยขึ้นมา


    ๒) เมื่อมีผู้สมัครบวชครบทุกศูนย์สาขาทั่วประเทศแล้ว ก็พยายามเชียร์ให้ผู้บวชตัดสินใจบวชให้ครบ ๑ พรรษา เป็นเวลา ๓ เดือน เพื่อจะได้มีเวลาศึกษาธรรมะ มีเวลาขัดเกลากิเลสตัวเองมากขึ้น


    ๓) เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ก็เชียร์ให้บวชอยู่ต่อ แต่แล้วก็พบกับปัญหาที่น่าใจหาย แม้จะพยายามชวนบวชจนได้ยอดผู้สมัครบวชเป็นหลักหมื่นหลักแสนแล้วก็ตาม แต่เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ปรากฏว่าในแต่ละศูนย์สาขาเหลือจำนวนผู้บวชอยู่ต่อน้อยมาก บางศูนย์อบรมก็ไม่มีผู้บวชอยู่ต่อเลย

 

ทำอย่างไรหลังออกพรรษาจะมีผู้บวชอยู่ต่อเพิ่มขึ้น?


    ตั้งแต่โบราณมาแล้ว กุศโลบายที่จะทำให้พระบวชใหม่บวชอยู่ต่อหลังออกพรรษาก็คือ การเดินธุดงค์ เพราะเหตุนี้โครงการธุดงค์ธรรมชัยจึงต้องเกิดขึ้นมา


    หลังจากที่มีโครงการธุดงค์ธรรมชัยเกิดขึ้นมาแล้ว ก็มีผู้บวชอยู่ต่อหลังออกพรรษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะสมัครเข้าร่วมโครงการเดินธุดงค์ เมื่อสมัครเข้ามาแล้ว ก็ต้องมาฝึกอบรมเตรียมธุดงค์ให้ผ่านเกณฑ์อีก ๒ เดือน ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ก็จะได้ไปเดินธุดงค์ ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ก็บวชอยู่ต่อที่ศูนย์สาขา เพื่อจะกลับมาสมัครใหม่ในปีหน้าอีก ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่ใช่เพราะทำความผิด แต่เป็นเพราะว่า ๑) บางรูปความสำรวมยังไม่พอ ๒) บางรูปสุขภาพยังไม่พร้อม ๓) บางรูปยังฝึกสมาธิหย่อนไป 


    ในปีนี้ กว่าจะได้พระภิกษุแต่ละรูปมาเดินธุดงค์ธรรมชัยนั้น ก็ต้องฝึกแล้วฝึกอีก คัดแล้วคัดอีกเป็นเวลา ๒ เดือน จึงได้พระภิกษุที่ผ่านเกณฑ์เป็นจำนวน ๑,๑๓๐ รูป


    ดังนั้น เมื่อรวมระยะเวลาการฝึกฝนอบรมตนเองของพระภิกษุทุกรูป ตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจบวชจนกระทั่งผ่านการเดินธุดงค์ จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๘ เดือน


    เริ่มตั้งแต่  ๑) ฝึกตนเองเพื่อเตรียมบวช เป็นเวลา ๑ เดือน


           ๒) บวชเป็นพระภิกษุจนครบพรรษา เป็นเวลา ๓ เดือน


           ๓) ศึกษาธรรมะและสอบนักธรรม เป็นเวลา ๑ เดือน


           ๔) ฝึกซ้อมเดินธุดงค์และนั่งสมาธิอยู่ในวัด เป็นเวลา ๒ เดือน


           ๕) เดินธุดงค์ธรรมชัยผ่าน ๗ จังหวัด ๔๘๕ กิโลเมตร เป็นเวลา ๑ เดือน


    เมื่อจบโครงการธุดงค์ธรรมชัยแล้ว ผู้ที่ตั้งใจบวชอยู่ต่อก็คือผู้ที่มีอุดมการณ์จะช่วยกันฟื้นฟูศีลธรรมโลก ช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤตวัดร้าง จากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่เส้นทางการอบรมพระนวกะตามพระธรรมวินัยกำหนดเป็นเวลา ๕ ปี 


    สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คือความรับผิดชอบของวัดพระธรรมกายที่มีต่อการแก้ปัญหาวิกฤตวัดร้างอย่างเป็นรูปธรรม เราไม่ใช้แนวทางแก้ปัญหาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหา แต่เราแก้ปัญหาด้วยการลงมือทำงานแก้ปัญหา ซึ่งก็คือการออกไปชวนคนมาบวชให้เต็มแผ่นดิน บวชให้ทั่วทุกหมู่บ้านทั่วไทย ซึ่งโดยเจตนาของเราก็คือ ต้องการแก้วิกฤตปัญหาวัดร้างและฟื้นฟูประเพณีการบวชในระยะยาว อย่างน้อย ๓ เดือน ๗ เดือน ขึ้นมาใหม่ เพื่อผลดีระยะยาวคือความยั่งยืนของพระพุทธศาสนาสืบไป

 

คำถามที่ยังค้างคาใจต่อธุดงค์ธรรมชัย


    ๑) ทำไมถึงต้องเดินธุดงค์ผ่านใจกลางเมือง?


    เพราะต้องการให้พระบวชใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างจังหวัดได้รับทราบถึงสถานการณ์ของพระพุทธศาสนาทั้งในเมืองกรุงและต่างจังหวัดว่ามีบรรยากาศแตกต่างกันเหมือนกันอย่างไร ผู้คนมีศรัทธายินดีต้อนรับมากน้อยแค่ไหน คำพูดต้อนรับที่เปรียบเหมือนดอกไม้กับก้อนอิฐ ถ้อยคำอย่างใดมากกว่ากัน 


    เมื่อท่านมาเห็นเอง ท่านก็จะได้รับทราบสถานการณ์จริงด้วยตัวเอง แล้วจะได้ตัดสินใจให้ชัดเจนว่า จะบวชอยู่ต่อเพื่อช่วยกันทำให้สถานการณ์ของพระพุทธศาสนาดีขึ้น หรือว่าจะปล่อยให้วัดร้างเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ 


    ผลปรากฏว่า หลังจากเดินธุดงค์จบแล้ว ผู้ที่ตัดสินใจบวชอยู่ต่อมีจำนวนมากกว่าผู้ที่สึกออกไป ผู้ที่บวชต่อก็จะเข้าสู่เส้นทางพระนวกะ คือต้องไปฝึกเป็นพระพี่เลี้ยงสามเณรบวชภาคฤดูร้อนในปีนี้และลงพื้นที่ชวนชายแมน ๆ มาบวชในโครงการบวชแสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทยกันต่อไป


    ๒) ถ้าต้องการฝึกพระธุดงค์จริงๆ ทำไมถึงไม่ไปเดินธุดงค์ในป่า?


    เดี๋ยวนี้ป่าที่จะให้เดินธุดงค์ได้จริง ๆ ไม่มี เพราะผืนป่าส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ก็เป็นเขตอุทยานป่าสงวนกันหมดแล้ว ถ้าเข้าไปเดินในป่าสงวน ก็จะมีความผิดถึงขั้นบุกรุกทำลายป่า มีโทษถึงขั้นปรับเงินและจำคุกหลายสิบปี 


    การเดินธุดงค์ในป่าเวลานี้ จริง ๆ แล้วเป็นการเดินอยู่ชายไร่ชายสวนของชาวบ้านมากกว่าซึ่งถ้าหากเขาไม่ศรัทธา แล้วเราไปเดินผ่านที่ดินของเขา เขาก็มีโอกาสแจ้งจับโทษฐานบุกรุกพื้นที่ส่วนบุคคลได้


    นอกจากนั้น เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เจ้าหน้าที่ป่าสงวนของทางการเองยังออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวัง อย่าทำเสียงดังไปรบกวนสัตว์ป่า เพราะถ้าช้างป่าหงุดหงิดขึ้นมา มันจะออกมาอาละวาดทำร้ายนักท่องเที่ยว ทำร้ายคนที่เข้าไปรบกวนมัน เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นที่เขาใหญ่ ที่ช้างไปทุบรถนักท่องเที่ยว เพราะมันหงุดหงิดที่ไปกีดขวางทางเดินมัน แล้วยังไปบีบแตรไล่มัน


    ดังนั้น การเดินธุดงค์ในเวลานี้ นอกจากไม่มีป่าสาธารณะให้เดินธุดงค์แล้ว ถ้าเข้าไปเดินในป่าอุทยาน ก็จะเป็นการทำผิดกฎหมาย อาจโดนข้อหาบุกรุกป่าสงวน โดนคำครหาว่ารบกวนสัตว์ป่าให้ออกมาทำร้ายนักท่องเที่ยว ซึ่งมันก็จะกลายเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาทันที


    ๓) มาเดินธุดงค์กลางเมือง ทำไมต้องโปรยดอกไม้ต้อนรับตลอดเส้นทางเดินธุดงค์?


    ๑. เพราะต้องการให้ประชาชนสองข้างทางได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้พระท่านบวชต่อไปนาน ๆ หลังจากจบโครงการเดินธุดงค์


    ๒. เพราะต้องการให้ญาติโยมที่ไปชวนพระท่านมาบวช ได้มาช่วยโปรยดอกไม้ให้กำลังใจให้ท่านบวชอยู่ต่อไปนาน ๆ อย่าคิดสึกหลังจากจบโครงการธุดงค์


    ๓. เพราะต้องการให้พระท่านทราบถึงความสำคัญของตัวท่านเองที่มีต่ออนาคตพระพุทธศาสนา 


    เสียงสาธุดังลั่นของญาติโยมที่ดังไปตลอดเส้นทาง ๔๘๕ กิโลเมตร เป็นเวลา ๓๐ วัน


    ภาพการโปรยดอกไม้เพื่อบูชาคุณของพระสงฆ์ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินออกจากวัด จนก้าวสุดท้ายที่จบโครงการเดินธุดงค์ 


    ทั้งภาพและเสียงนี้ จะเป็นกำลังใจชั้นเยี่ยมที่จะทำให้เกิดความศรัทธาในตัวเอง เกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เกิดอุดมการณ์แรงกล้าที่จะบวชอยู่ต่อในระยะยาว 


    ดังนั้น ยิ่งมีเสียงสาธุการดังลั่นไปตลอดเส้นทางมากเท่าไร ยิ่งมีผู้มาโปรยดอกไม้ต้อนรับเนืองแน่นตลอดสองข้างทางมากเท่าไร ยิ่งทำให้ท่านเกิดจิตสำนึกที่ดีงาม ที่จะทำหน้าที่เป็นพุทธบุตรที่ดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะฝึกหัดขัดเกลาตัวเองให้บังเกิดคุณของพระสงฆ์ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จากนั้นเมื่อฝึกฝนอบรมตนเองได้ดีแล้ว ก็จะได้มาช่วยกันรับผิดชอบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและยืนยาวต่อไป

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล