ฉบับที่ 60 ตุลาคม ปี 2550

พระธรรมเทศนา :กัลยาณมิตร แสงแรกแห่งชีวิตนักสร้างบารมี

พระธรรมเทศนา

 

 

คุณค่าของกัลยาณมิตร

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เมื่อดวงอาทิตย์อุทัย ย่อมมีแสงอรุณนำขึ้นมาเป็นบุพนิมิต ก่อน ฉันใด ความมีกัลยาณมิตรย่อมเป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอริยมรรคมีองค์ ๘ แก่ผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ฉันนั้น

       พุทธพจน์บทนี้ยืนยันว่า ใครจะไปพระนิพพาน ได้ต้องมีกัลยาณมิตรเป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้ชักชวนเป็นผู้คอยประคับประคองให้กำลังใจ เพราะกัลยาณมิตร คือ มิตรที่ชี้ทางให้งามพร้อม ชี้ทางดีให้ชีวิตดำเนินไป ตั้งแต่ชาตินี้ไปถึงชาติสุดท้ายที่เข้าพระนิพพาน

      แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะตรัสรู้ เส้นทางการสร้างบารมีในแต่ละชาติของพระองค์ ก็ยัง ต้องอาศัยผู้มีบารมีแก่ๆหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาช่วยเป็นกัลยาณมิตรให้ คอยชี้แนะสั่งสอน ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ เช่นกัน

      เมื่อกัลยาณมิตรมีความสำคัญต่อการสร้างบารมีมากถึงขนาดนี้เราจึงควรมาศึกษาคุณสมบัติของกัลยาณมิตรให้ชัดเจนว่าแท้จริงแล้วกัลยาณมิตรที่ดี นั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อที่ตัวเราเองจะได้ใช้เป็นหลักในการพิจารณาผู้ที่มาเป็นกัลยาณมิตรให้เรา นั้นว่า เป็นมิตรแท้หรือมิตรเทียม แม้ตัวเราเอง เมื่อถึงคราวที่ต้องทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับผู้อื่น ก็จะได้รู้ว่าข้อบกพร่องของเรานั้นยังมีอะไรอีกบ้าง เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองให้สามารถทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรได้อย่างดีเยี่ยม

คุณสมบัติยอดกัลยาณมิตร 

        กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดขึ้นในตัว และตอกย้ำ ให้ฝังแน่นอยู่ในใจของเราอย่างมั่นคง ได้แก่

       ประการที่ ๑ ปิโย แปลว่า เป็นที่รักใคร่พอใจ หรือเป็นคนน่ารัก
       โดยปกติแล้ว แม้ใครจะมีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมมากน้อยเพียงใด ก็ไม่อาจแสดงให้เห็นได้ตั้งแต่แรกพบแต่สิ่งแรกที่จะดึงดูดสายตาคน ทำให้ผู้ที่พบเห็นรู้สึกว่าเป็นคนน่ารัก น่าเข้าใกล้ คือ ความสะอาด

        เริ่มตั้งแต่ความสะอาดของร่างกาย ไปจนถึงความสะอาดของเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ แต่ภายนอก จะสะอาดได้ต้องมาจากภายใน คือ ใจที่สะอาด

        การรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัดเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะสะท้อนความสะอาดจากภายในออกมายังบุคลิกภายนอก

        สิ่งที่ตามมาจากความสะอาด คือ ความสว่าง ความกระจ่าง ความสงบ อีกทั้งยังมีความสง่า มีมารยาทที่นุ่มนวล มีความเรียบง่ายไม่มีจริต ยิ้มแย้ม แจ่มใส สรุปคือ มีบุคลิกดี มีมารยาทงาม สุขภาพพลานามัยแข็งแรง ท่าทางกระปรี้กระเปร่า ไม่อืดอาด ยืดยาด อุปมาเหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ คือ มีทั้งความสว่างและความเย็นอยู่ในตัว

ประการที่ ๒ ครุ แปลว่า เป็นที่เคารพ 

       ลักษณะของคนที่น่าเคารพ คือ เป็นคนที่ประพฤติตนเหมาะสมกับฐานะที่ตนเองเป็น เช่น เป็นครูก็ประพฤติตนให้สมกับที่เป็นครู เป็นต้น เป็นคนมีเหตุมีผล หนักแน่นมั่นคงในคุณธรรมเหมือนขุนเขา คุณธรรมที่สำคัญคือ ไม่ลำเอียงและยังต้องประกอบ ด้วยพรหมวิหาร ๔ อีกด้วย นั่นคือ

เมตตา คือ การบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตร เพื่อหวังจะให้ผู้อื่นเป็นสุขกันทั้งบ้านทั้งเมือง

กรุณา คือ เมื่อเห็นใครตกทุกข์ได้ยากก็ไม่นิ่งดูดายต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ แก้ไข ประคับประคองกันขึ้นมา

มุทิตา คือ ดีใจเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี

อุเบกขา คือ ทั้งไม่ลำเอียง ทั้งมีความยุติธรรม รวมทั้งวางเฉยได้เมื่อถึงคราวที่ผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก แล้วเราได้พยายามช่วยเต็มที่แต่ช่วยไม่ได้ แทนที่จะเป็นทุกข์ใจ ก็วางเฉยได้ แล้วเดินหน้าทำความดีต่อไป

ประการที่ ๓ ภาวนีโย แปลว่า เป็นผู้ควรสรรเสริญ หรือน่าเทิดทูน 
       คนที่จะน่าเทิดทูนนั้น มีลักษณะชัดเจน คือ ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น และพูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม

       ในทางโลกนอกจากจะมีวิชาความรู้ในการใช้ประกอบอาชีพหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้แล้วเขายังสามารถเป็นที่พึ่งให้กับผู้อื่นได้ด้วย ไม่ว่าจะด้านฝีมือ การทำงาน ด้านความรู้ เป็นคลังความรู้ คือเป็นที่ปรึกษา หาวิธีแก้ปัญหาที่ติดขัดให้กับผู้อื่นได้

        ส่วนทางธรรมก็สามารถช่วยให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง โดยยึดหลักธรรมเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมไปถึงสามารถชี้แนะเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย

ประการที่ ๔ วัตตา แปลว่า เป็นผู้ฉลาดพูด หรือฉลาดในการตักเตือนพร่ำสอน

       คนส่วนมากในโลกนี้มักบ่นกันว่า สิ่งแวดล้อมไม่ดี ทำให้ไม่มีโอกาสทำความดี หรือจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด แต่ที่ถูกต้องนั้นเราต้องย้อนกลับมาดู ที่ตัวเราก่อน สิ่งแวดล้อมดีๆจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราไม่เริ่มต้นสร้างขึ้นมาและการสร้างนั้นก็ต้องอาศัยการสอนและการฝึกฝนคนรอบตัวเรา ให้เขาสามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ต่อมาบุคคลเหล่านั้นก็จะมาเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเราต่อไป เราเองก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เขา พึ่งพาอาศัยกันอย่างนี้จึงจะมีโอกาสสร้างคุณงามความดีได้อย่างเต็มที่

       ผู้ที่อ่านตำรามามาก หรือท่องจำหลักธรรมได้ ทั้งหมดนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้ฉลาดในการพร่ำเตือนสั่งสอนได้ทุกคน แต่ผู้ที่มีคุณสมบัติประการนี้ คือผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเห็นผลกับตัวเอง รู้ว่าอุปสรรคเวลาลงมือปฏิบัติจริงอยู่ตรงไหน เมื่อถึงคราวต้องสอนผู้อื่นก็สามารถบอกได้เป็นขั้นเป็นตอนชัดเจน ยิ่งถ้ามีความชำนาญมากเท่าไร พูด แล้วแทงทะลุเข้าไปในใจเลยทีเดียว เพราะเส้นทางนี้ ท่านเหล่านั้นได้ย่ำผ่านมาแล้ว

       ผู้ฉลาดในการตักเตือนพร่ำสอนนี้ จะต้องเป็น ผู้มากด้วยความเมตตากรุณา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ยิ่งใหญ่ของกัลยาณมิตรพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่นั้น ชาติใดที่เกิดเป็นคน พระองค์ก็ทรงสอนคน หาก ชาติใดวิบากกรรมมาตัดรอนให้ต้องไปเกิดเป็นสัตว์ พระองค์ก็ทรงสั่งสอนสัตว์ด้วยกัน บางครั้งแม้เป็นสัตว์ก็ยังสอนคนอีกด้วยนี่คือหัวใจกัลยาณมิตรที่แท้จริง นอกจากฝึกตัวเองแล้วยังฝึกผู้อื่นให้ทำ ความดีตามไปด้วย

ประการที่ ๕ วจนักขโม แปลว่า เป็นผู้ที่อดทนต่อถ้อยคำ 

       ผู้ที่จะเป็นกัลยาณมิตรได้นั้นต้องมีกรุณาธรรม อย่างยิ่งยวด อดทนทั้งถ้อยคำที่ยอกย้อนยั่วยุ ยียวน ของลูกศิษย์หรือของผู้ที่เราไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร เพราะการที่จะไปเปลี่ยนความเข้าใจของคนนั้น ไม่ใช่ เรื่องง่าย ต้องทนเขาให้ได้ แล้วจึงจะสอนและแนะนำเขาได้อุปมาการอดทนต่อถ้อยคำนี้เหมือนดังแผ่นดินที่ไม่สะเทือน ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าใครจะเอา

ของสกปรกหรือของหอมมาเทรด

ประการที่ ๖ คัมภีรัญจกถัง กัตตา แปลว่า เป็นผู้ที่สามารถแถลงเรื่องลึกล้ำ 

       การแถลงเรื่องลึกล้ำ คือ สามารถอธิบายเรื่อง ที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น นรก สวรรค์ นิพพาน เป็นต้น ก็สามารถหาอุปมาอุปไมยมาขยายความจนกระทั่งเข้าใจได้ง่าย สามารถเปลี่ยนเรื่องที่เป็นนามธรรม มาเป็นรูปธรรมให้เห็นเป็นภาพชัดเจนขึ้นมา

       ขอให้เรามีความเพียรที่จะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึง พระธรรมกายให้ได้ เมื่อเราเข้าถึงได้แล้วจะสามารถ ชี้แจงเรื่องลึกล้ำได้โดยอัตโนมัติ อุปมาเหมือนหงาย ภาชนะที่คว่ำ หรือเหมือนจุดคบเพลิงในที่มืด ให้คน ตาดีได้มองเห็นแจ่มแจ้ง

     ส่วนใครที่ปฏิบัติธรรมยังไม่เข้าถึงพระธรรมกาย งานในหน้าที่กัลยาณมิตรเราก็ทำกันไป ในขณะเดียวกันก็ต้องแบ่งเวลามานั่งภาวนาให้มากขึ้นด้วยเพื่อเราจะได้ฝึกความสามารถในการชี้แจงอธิบายนี้ให้ได้และใช้คุณสมบัตินี้เพื่อทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป

ประการที่ ๗ โน จัฏฐาเน นิโยชเย แปลว่า เป็นผู้ไม่ชักนำในทางผิด

       คุณสมบัติประการสุดท้ายนี้ถือว่าสำคัญที่สุดใน คุณสมบัติทุกประการที่กล่าวมา การที่จะตรวจสอบ ว่า ตัวเราเองหรือผู้ที่มาเป็นกัลยาณมิตรให้เรานั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ ให้เราใช้มรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักธรรมในการตรวจสอบ

       หากพบว่าใครมาดึง เราให้หลุดไปจากเส้นทางมรรคมีองค์ ๘ นี้ ให้เรา รู้ว่า บุคคลผู้นั้นไม่ใช่กัลยาณมิตร

มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฐิ คือ มีความเห็นถูกต้องตามความ เป็นจริง
มีความเข้าใจถูกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๒. สัมมาสังกัปปะ คือ มีความคิดที่ถูกต้อง
๓. สัมมาวาจา คือ พูดในสิ่งที่ควรพูด พูดใน สิ่งที่ถูกต้อง ได้แก่ ไม่โกหก
ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
๔. สัมมากัมมันตะ คือ มีการงานชอบ ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่เจ้าชู้
๕. สัมมาอาชีวะ คือ มีอาชีพที่ชอบ ถ้าอยู่
ทางโลกก็ไม่ไปค้าขายในสิ่งที่ผิดศีลธรรม แม้ไม่ผิดกฎหมายก็ตาม เช่น ไม่ค้าอาวุธ ไม่ค้ายาเสพติด เป็นต้น
๖. สัมมาวายามะ คือ มีความเพียรชอบ เช่น เพียรที่จะละความชั่ว
เพียรที่จะทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
๗. สัมมาสติ คือ มีใจระลึกชอบ เช่น ควบคุม สติให้ดี ไม่เผลอไผล
๘. สัมมาสมาธิ คือ มีจิตใจมั่นคง ตั้งมั่นดี เป็นสมาธิ

 

 

วิธีสร้างกำลังใจเพื่อให้ฝึกฝนตนเองได้ตลอดรอดฝั่ง

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คุณสมบัติกัลยาณมิตรทั้ง ๗ ประการนี้ มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นถือ ว่าเป็นมิตรแท้ การที่จะฝึกตัวเองให้มีคุณสมบัติทั้ง ๗ ประการนี้ได้ ในเรื่องวิธีการฝึกนั้นมีในคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นคุณสมบัติที่เราทุกคนต้องสร้างให้เกิดขึ้นในตัวเอง หากคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง หย่อนไป ความเป็นกัลยาณมิตรของเราก็จะหย่อนตามไปด้วย

       แต่การที่เราจะมีความเพียรในการฝึกตัวให้มีคุณสมบัติกัลยาณมิตรครบทุกประการนั้น เป็นเรื่อง ที่ต้องใช้กำลังใจอย่างสูง เพราะทุกคนก็ล้วนแล้วแต่อยากที่จะมีคุณสมบัติที่ดีนี้อยู่ในตัวกันทั้งนั้น แต่เมื่อฝึกไปนานๆ เข้า บางท่านก็คลายความเพียรหมดกำลังใจในระหว่างที่กำลังฝึก เกิดความล้า เกิดความท้อถอย บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า เราเองก็ทำ มาตั้งนานแล้วทำไมยังก้าวหน้าไปไม่ถึงไหนเมื่อต้องเจอภาวะขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้แล้ว ทำ อย่างไรจึงจะมีกำลังใจสูงพอที่จะเคี่ยวเข็ญตัวเองให้ฝึกตัวไปได้ตลอดรอดฝั่ง?

มีวิธีง่ายๆ อยู่ ๓ ประการ คือ

๑. หมั่นทำทานให้เต็มที่ และสม่ำเสมอ
๒. รักษาศีลให้เคร่งครัด
๓. ทำสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่อง ให้ถือว่านี่คือหน้าที่สำคัญของเรา

       นอกจากนี้ให้เราหมั่นพิจารณาตัวเอง ฝึกควบคุมกาย วาจา ใจของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี มีโอกาสเมื่อไรก็บำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตร แม้เราจะยังไม่เข้าถึงพระธรรมกายก็ตามแต่ก็ขอให้ทำอย่างเต็มกำลัง เพราะนั่นคือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นรอบตัว เมื่อสิ่งแวดล้อมดีก็จะส่งผลให้ การปฏิบัติธรรมของเราก้าวหน้าได้ง่ายตามไปด้วย

โลกสว่างไสว เริ่มต้นที่ใจของเรา

      ชาวโลกทั่วไปดำเนินชีวิตด้วยความวุ่นวาย สับสน เรียกร้องหาสันติภาพโดยที่ไม่รู้ว่าสันติภาพที่แท้จริงนั้นคืออะไรโลกจึงเฝ้ารอการเกิดขึ้นของกัลยาณมิตร ผู้ที่จะนำสันติภาพที่แท้จริงไปสู่ใจของ ทุกคน พวกเราเป็นผู้ได้โอกาที่ได้เกิดในร่มเงาของ พระพุทธศาสนา ได้มาศึกษาคำสอนของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงความสุขจากธรรมะภายในให้เราใช้โอกาสนี้ให้เกิด ประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเอง โดยการเร่งฝึกฝนตัวเรา ให้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นกัลยาณมิตร และใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวโลก โดยการ บำเพ็ญตนเป็นยอดกัลยาณมิตรเพื่อเป็นแสงสว่างให้กับชาวโลกที่ยังคงแสวงหาคำตอบว่า สิ่งใดคือแก่นสารที่แท้จริงของชีวิต ให้สมดังที่คุณครูไม่ใหญ่ท่านได้ให้เราท่องคำขวัญในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันว่า เมื่อเราสว่าง โลกก็สว่างด้วย

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล