ฉบับที่ ๑๕๑ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘

ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑ ตอนที่ ๑๗ จรรยาข้อที่ ๓๐-๓๑

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 


ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” 
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑


ตอนที่ ๑๗
จรรยาข้อที่ ๓๐-๓๑

 

“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ    ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”       โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๓๐
อย่าคิดว่าการที่ตนต้องทำเป็นของเลวทราม

 

คนเราหากรักความก้าวหน้า
ไม่ว่าจะทำงานอยู่ทางโลก
หรือมาบวชเป็นพระอยู่ทางธรรม
งานทุกชนิดถ้าไม่ผิดศีล
ถือว่าเป็นงานมีเกียรติทั้งสิ้น

 

๓๐. อย่าคิดว่าการที่ตนต้องทำเป็นของเลวทราม

 

    กับ อนึ่ง อย่าถือตัวเกินไป สิ่งใดควรทำต้องทำ อย่าเลือกว่าสิ่งนั้นเป็นของที่หยาบ เลวทรามทำไม่ได้ (เขาจะว่าขี้ค่า) ฤๅอายหน้าแก่เพื่อนทั้งหลาย ซึ่งจะติเตียนว่าทำการที่เลวนั้นเลย ควรคิดว่าการงานของเจ้านายที่จำเป็น ฤๅผู้ที่ควรทำสิ่งนั้นบกพร่อง ฤๅไม่สามารถ ไม่พอทันการ เราก็ควรทำให้สำเร็จประโยชน์ของนาย ไม่ควรถือเกียรติยศอันเกินการไปนัก


    เมื่อเราลงมือทำการเช่นนั้นได้ นายเราก็คงมีความยินดีและเห็นอกเห็นใจ เห็นความภักดีของเราเป็นอันมาก ฤๅกำลังการงานก็ดี แขกเหลื่อทั้งหลายและเพื่อน ฤๅคนเสมอชั้นเราก็ดี เมื่อได้เห็น       เราทำการที่ต่ำเลวอันไม่ควรที่เราจะพึงทำเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายแผนกท่านผู้ดีฤๅท่านผู้มีบรรดาศักดิ์จะสรรเสริญชมเชยเราว่ามีความจงรักภักดีและมีความอุสาหะรักเจ้าขุนมูลนาย ฝ่ายแผนกคนชั่ว คนสำรวย    ผิวเผิน ก็จะติฉินว่าเราทำการงานเลวทราม ยกโต๊ะเก้าอี้และอะไร ๆ ซึ่งเป็นของอันมิควรซึ่งเราจะกระทำ เป็นไพร่ทาษเต็มที คนที่กล่าวเช่นนี้และนึกเช่นนี้เป็นคนเลวเอง


    เพราะฉะนั้น เราไม่ควรจะถือเอาถ้อยคำคนเลวติเตียนมาเป็นอารมณ์ และเปรียบความให้เห็นได้ว่า คือเช่นทำงานการอะไรก็ดี  ท่านเจ้าของงานและพวกท่านผู้ดี ๆ ออกรับแขกยิ้มแย้มแจ่มใส    ยกโต๊ะ เก้าอี้ น้ำร้อน หมากบุหรี่สิ่งต่าง ๆ ซึ่งไม่จำเป็นแก่ตัวท่านต้องกระทำ ท่านทำให้ไม่มีความรังเกียจ อันเป็นที่สนิทชิดชมเช่นนั้น     แขกผู้ที่ได้รับปฏิบัติความเอื้อเฟื้อเป็นอันดีเช่นนั้น คนใดเลยจะปฏิเสธได้ว่า จะไม่มีความยินดีและชื่นชมโสมนัศเล่า ขอให้คิดดูเถิด ถึงแม้ว่าสิ่งของที่เลี้ยงนั้น ตลอดกระทั่งอาหารจะเลวทรามสักหน่อย ท่านผู้เป็นแขกรับเชิญทั้งหลายก็กลืนลง ฤๅบางทีทำให้อาหารนั้นโอชารสเป็นการพิเศษไปเสียอีก โดยความรับรองอันดีของเจ้าของงานฉะนั้นไม่ใช่ฤๅ

 

    คนเราหากรักที่จะมีความก้าวหน้า ไม่ว่าจะทำงานอยู่ทางโลก หรือมาบวชเป็นพระอยู่ทางธรรมก็ตาม งานทุกชนิดถ้าไม่ผิดศีลถือว่าเป็นงานมีเกียรติทั้งสิ้น


    หลวงพ่อเองมีความเคารพคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง อย่างจับใจ ตั้งแต่   วันแรกที่ได้พบท่าน ท่านบอกว่า ท่านเคารพบูชาธรรมความกตัญญูมาตลอด ดังนั้นพอได้ข่าวว่า หลวงปู่วัดปากน้ำสามารถสอนคนให้ปฏิบัติธรรมจนไปเห็นนรกสวรรค์ และไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ตาย    แล้วได้ ท่านจึงตัดสินใจออกจากบ้านโดยที่ไม่มีเงินทองติดตัวมาเลย ทั้ง ๆ ที่ฐานะทางบ้านของ คุณยายก็อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ท่านมุ่งมั่นที่จะไปเรียนวิชชาเพื่อพบพ่อที่ตายแล้วให้ได้ ท่านจึงคิดไปหาเงินช่วยเหลือตัวเองข้างหน้า โดยไม่ยอมรบกวนขอเงินจากทางบ้าน


    คุณยายเล่าให้ฟังต่อไปว่า ตลอดเวลาคุณยายหมั่นสอนตัวเองว่า
 

    “เราออกจากบ้านมาครั้งนี้ เราจะต้องลำบากอย่างแน่นอน เพราะไม่มีเงินติดตัวมาเลย แต่ว่าเมื่อเราจะไปเอาธรรมะแล้ว ถึงลำบากอย่างไรก็ต้องอดทน หางานทำรับจ้างเขาไป ดั้นด้นไปจนกว่า   จะได้พบหลวงปู่วัดปากน้ำ และให้ท่านรับเราเป็นลูกศิษย์ ระหว่างนี้ถึงแม้ไม่มีงานอะไรทำ รับจ้างเขาเทหม้อเมล์ก็ยังดี เพราะเป็นอาชีพที่บริสุทธิ์ไม่ได้คดโกงใคร แต่จะไม่ยอมไปขโมยเขากินเป็น       
อันขาด”


    พวกเรารุ่นหลังคงจะไม่รู้จักหม้อเมล์ สมัยก่อนในกรุงเทพฯ ยังไม่มีส้วมซึม มีแต่ส้วมถัง        ทำเป็นถังแล้วมีไม้พาดไว้สำหรับให้นั่งถ่ายบนถัง พอเช้าขึ้นเขาจะให้นักโทษไปรับเอาถังอุจจาระตามบ้านต่าง ๆ ไปทิ้งและนำถังใหม่มาใส่ไว้แทน ถังอุจจาระเคลื่อนที่นี้เขาเรียกว่า ถังเมล์หรือ       หม้อเมล์


    คุณยายท่านตั้งปณิธานไว้ดังกล่าว ท่านตัดสินใจละทิ้งความสุขความสะดวกสบายทางบ้าน เพื่อแสวงหาธรรม ท่านตัดใจลงไปว่า ถ้าหากเงินทองขาดมือก็เตรียมใจแล้วที่จะรับจ้างเทถังเมล์ ปณิธานอันนี้ย่อมแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวของคุณยายที่จะแสวงหาธรรม


    หลวงพ่อฟังคุณยายเล่าแล้วตื้นตันใจ ทำให้ความถือตัวของหลวงพ่อหมดไปได้ ขนาดท่านเป็นผู้หญิงและสมัยนั้นท่านยังเป็นสาว ท่านยังตัดใจเพื่อธรรมะ จะไปให้ถึงหลวงปู่วัดปากน้ำให้จงได้ หากจะต้องรับจ้างเทถังเมล์ก็ยอม หลวงพ่อจึงนึกถึงตัวเอง หากจะเข้าถึงธรรมะได้อย่าง     คุณยายก็จะต้องลดทิฐิมานะของตัวเองให้ได้


    ดังนั้น พอเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง เวลาไปเรียนธรรมะกับคุณยายที่วัดปากน้ำ เพื่อน ๆ ที่ไปวัดรุ่นเดียวกันมีหลายคน พวกที่เขามีความรู้ทางด้านการครัวก็ไปทำครัว พวกที่มีความสามารถ  จัดดอกไม้ก็จัดดอกไม้ พวกที่มีความสามารถทางด้านเย็บปักถักร้อย เขาก็ไปทำผ้าม่าน ผ้าบังตากัน ส่วนตัวเราไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลยก็เหลียวซ้ายแลขวาว่าจะหาบุญอะไรได้บ้าง หันไปเห็นรองเท้าของคนที่มาวัดวางเกลื่อนไปหมด คิดว่าคงจะเป็นบุญของเรา ถ้าได้จัดรองเท้าให้เป็นระเบียบ          จึงตัดสินใจรับบุญจัดรองเท้า


    แต่กว่าจะหยิบรองเท้าคู่แรกมาจัดได้นั้นยากจริง ๆ เพราะกว่าจะจัดรองเท้าได้ ต้องรอให้    คนอื่นเขาหลับตานั่งสมาธิกันก่อน เพราะกลัวว่าหากเขาเห็นเราจัดรองเท้า ก็จะมาดูถูกเราได้       เราเป็นถึงนักเรียนนอก พ่อแม่เราก็มีฐานะดี มีหน้ามีตา เราเองก็เป็นคนที่มีชื่อเสียง ล้วนแต่เป็นความคิดเข้าข้างตัวเองทั้งนั้น ความจริงแล้วไม่ได้มีใครรู้จักเราเท่าไรนัก แต่ก็เข้าข้างตัวเองก่อนว่า       ตัวเราสำคัญนัก ถ้าใครมาเห็นเราจัดรองเท้าก็จะดูถูกได้ หรือถ้าพ่อแม่มาเห็นเราทำอย่างนี้        ท่านคงจะเสียหน้า นึกไปกระทั่งว่า เจ้าของรองเท้าคู่นี้เป็นฮ่องกงฟุตหรือเปล่า เมื่อเอื้อมมือไปหยิบรองเท้าคู่แรกนั้นมือมันหดกลับ ต้องจด ๆ จ้อง ๆ อยู่ถึง ๓-๔ ครั้ง กว่าจะตัดใจหยิบรองเท้าขึ้นมาจัดได้ พอหยิบคู่แรกได้ มันก็ได้ตลอด ที่เหลืออีกกี่คู่ ๆ ก็จัดจนเรียบ จัดไปใจก็ฟูว่า วันนี้เราหมดทิฐิมานะแล้ว


    แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็รีบจัดให้เสร็จก่อนที่เขาจะลืมตาขึ้น กลัวใครเขาจะรู้ว่าเราจัด จะเป็น   การเสียหน้า จัดเสร็จเรียบร้อยไม่กล้าให้ใครรู้ จนกระทั่งเขาเลิกนั่งสมาธิลงมาจากบ้าน เห็นรองเท้าวางเป็นระเบียบ ได้ยินเสียงเขาพูดกันว่า


    “แหม...ดีจังเลย วันนี้รองเท้าไม่เกลื่อน ไม่รู้ใครจัด ขออนุโมทนาด้วยนะ”


    พอหลวงพ่อได้ยินเขาอนุโมทนาก็รู้สึกใจฟูขึ้นมาทันที ตระหนักว่าเราทำถูกแล้ว แต่ก็ไม่กล้าแสดงตัวให้ใครรู้ว่าเป็นฝีมือเราเอง การหักมานะลดความถือตัวได้สำเร็จในคราวนั้นเป็นความภูมิใจของหลวงพ่อตลอดมา


    การที่คนเราจะไม่เลือกว่างานต่ำหรือสูง โดยอาศัยความบริสุทธิ์เป็นเกณฑ์นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ข้อนี้เป็นความแตกต่างระหว่างคนไทยกับคนอินเดีย คนอินเดียแม้เป็นขอทานแต่จะไม่ยอมขโมย เพราะกลัวบาป ตรงกันข้ามกับคนไทย ยินดีจะปล้นเขากินแต่ไม่ยอมเป็นขอทาน อาชญากร      ในเมืองไทยจึงมีมากกว่าในอินเดีย โดยเฉพาะอาชญากรวัยรุ่นที่ไปทำโจรกรรมกันนั้นไม่ใช่เป็นเพราะความยากจน แต่เพราะความฟุ่มเฟือย เลือกงาน ดูถูกว่างานนั้นไม่มีเกียรติ แต่ที่ไปขโมย เขากินกลับไม่ดูถูกตัวเอง ความมีทิฐิมานะถือตัวอย่างไม่เข้าท่าด้วยการดูถูกงานเช่นนี้ ทำให้      คนไทยต้องตกงานกันมาก ไม่ใช่ไม่มีงานทำ แต่เลือกงานเกินไป แล้วจะมาโยนความผิดให้รัฐบาล      ก็ไม่ถูก ต้องตำหนิว่าขณะนี้คนไทยสอนลูกไม่เป็น สอนให้ลูกมีมิจฉาทิฐิ ดูถูกงาน นับว่าไม่ถูกต้อง           ควรแก้ไขค่านิยมกันเสียใหม่ว่า งานใดที่บริสุทธิ์ ไม่ได้โกงเขา ไม่ได้ผิดศีล ต้องถือว่างานนั้นมีเกียรติถึงแม้จะเป็นงานขัดส้วมขัดห้องน้ำก็ตาม


    เมื่อปีก่อน มีนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกผู้มีอันจะกิน อาจารย์เขา     ส่งมาอบรมที่วัด พวกนี้มาวันแรกอบรมยากจนหลวงพ่อต้องขอใช้คำว่า “ดัดสันดาน” คือเมื่อมา       ถึงวัด กินข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่มีใครสักคนที่จะยอมล้างจาน หลวงพ่อจึงถามเขาว่า


    “หนูทำไมไม่ล้างจานกันล่ะ”
    “หนูล้างไม่เป็น”
    “อ้าว! อยู่บ้านไม่เคยล้างเลยหรือ”
    “ไม่เคยค่ะ”
    “แล้วใครล้างล่ะ”
    “คนใช้ล้างให้”
    “แล้วถ้าคนใช้ไม่อยู่ ใครล้าง”
    “แม่ล้าง”


หลวงพ่อเลยนึกในใจว่า มันเห็นแม่เป็นคนใช้ จึงถามต่อไปว่า


    “แล้วถ้าคนใช้ไม่อยู่ แม่ก็ไม่อยู่ จะทำอย่างไรล่ะ”
    “ไม่เคยเลย ถ้าแม่ไม่อยู่ก็ต้องมีคนใช้อยู่ ถ้าคนใช้ไม่อยู่ก็ต้องมีแม่”
    “งั้นดีแล้ว วันนี้คนใช้ก็ไม่อยู่ แม่ก็ไม่อยู่ วันนี้ต้องล้างเอง”


ขนาดหลวงพ่อพูดอย่างนี้ แกก็ยังไม่ยอมล้าง หลวงพ่อจึงบอกไปว่า


    “ถ้าอย่างนั้นไม่เป็นไร ไม่ล้างก็ได้ แต่หลวงพ่อขอแรงอีกนิดเดียว ช่วยเอาจานที่กินแล้วไปวางเรียงไว้ข้างถนน เรียงไว้เป็นตับเลยนะหนู ขอแรงหน่อย อีกสักพักเดียวหมามันก็มาเลียเองแหละ พอหมามันเลียเกลี้ยงแล้ว พวกหนูก็เอาไปใช้ต่อก็แล้วกันนะ”


    คราวนี้จึงยอมล้างจานได้ ขนาดจานข้าวที่ตัวกินเองยังดูถูกไม่ยอมล้าง เห็นว่างานล้างจาน
เป็นงานต่ำ แล้วต่อไปจะทำอะไรได้ เด็กพวกนี้เกิดมาเพื่อดูถูกคน ดูถูกงาน เป็นเทวดามาจากไหนกัน เด็กเหล่านี้จะเอาดีไม่ได้ถ้าไม่แก้นิสัย หลวงพ่อจึงต้องดัดสันดานโดยวิธีนี้ ถ้าไม่ยอมล้างจานมื้อต่อไป ก็ต้องกินข้าวจากจานที่หมาเลีย เดี๋ยวเดียวก็เห็นเขาล้างกันเสร็จเรียบร้อย


    จำไว้ว่า อย่าสอนให้ลูกหลานหรือตัวเองเป็นคนดูถูกงาน เลือกงาน งานใดที่เป็นงานบริสุทธิ์ ถือว่าเป็นงานมีเกียรติทั้งสิ้น ใครจะว่าค่อนขอดอย่างไรไม่ต้องสนใจ ขอให้ตั้งใจทำไป แล้วเราจะประสบความสำเร็จก้าวหน้าในที่สุด
         

๓๑
ผู้ดีคืออะไร

 

มีอายุยืนร้อยปี แต่ไม่เคยรักษาศีล ๕
โบราณท่านกล่าวว่า ยังไม่นับเป็นผู้ดี
เพราะผู้ดี หมายถึง ผู้ที่ประเสริฐด้วยการกระทำความดี
ดั่งคำโคลงโลกนิติ ว่า

 

๏ มีอายุร้อยหนึ่ง     นานนัก
ศีลชื่อปัญจางค์จัก    ไป่รู้
ขวบเดียวเด็กรู้รัก-    ษานิจ ศีลนา
พระตรัสสรรเสริญผู้    เด็กนั้นเกิดศรีฯ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

 


๓๑. ผู้ดีคืออะไร

 

    อ้อ จะต้องอธิบายหรือแปลคำที่ว่าผู้ดีเสียสักหน่อย ไม่เช่นนั้นบางทีจะเข้าใจผิดไป ถ้าเข้าใจผิดไปแล้ว เนื้อความที่กล่าวมาก็จะไขว้เขว ไม่ตรงกับความประสงค์ในท้องเรื่อง เพราะคำพูดหรือเข้าใจในคำว่าผู้ดียังมัวอยู่ มักเข้าใจกันไม่ตรงความก็มีมาก คือไปเข้าใจเสียว่า ผู้ดีนั้นเป็นวงษ์ตระกูลไป ฤๅผู้มีบรรดาศักดิ์และมีทรัพย์ ที่ถูกอันแท้จริงไม่ใช่เช่นนั้น


    ผู้ดี หมายความว่า ผู้ที่มีจิตร์เป็นกุศล ประกอบไปด้วยเมตตากรุณาแก่สัตว์ และหลักถานมั่นคงในอารมณ์ ถือเอาซึ่งศีลห้าเป็นต้น (สัปปุรุษ) อย่างนี้แหละเป็นผู้ดี ลูกเจ้าขุนนางนับเนื่องมาเช่นนั้น เขาเรียกว่าผู้มีวงษ์ตระกูลต่างหาก คำที่ถูกไม่ได้ใช้ว่าผู้ดี ถ้าแม้ท่านปฏิบัติการดีดังที่กล่าวแล้ว ก็ได้สมบัติผู้ดีเข้าอีกกระทงหนึ่ง

 

    ข้อนี้มีความต้องการที่จะอธิบายให้เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ผู้ดี” ว่าหมายถึงผู้ที่กระทำความดี ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีฐานะร่ำรวย หรือมาจากตระกูลที่มีชื่อเสียง      หากแต่ผู้ใดมีจิตที่เป็นกุศล มีความเมตตากรุณาและรักษาศีล ๕ ได้ครบถ้วน ประกอบแต่กรรมดี ผู้นั้นคือ ผู้ดี 

 


(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล