ฉบับที่ ๑๕๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๘

พระพี่เลี้ยง

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ?านวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

พระพี่เลี้ยง

 

 

โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย มีความเป็นมาและวัตถุประสงค์อย่างไร?


    วัตถุประสงค์หลักก็คือ เพื่อให้ผู้บวชได้ศึกษาธรรมะสมกับเป็นชาวพุทธจริง ๆ และเป็นการฟื้นธรรมเนียมไทยแต่โบราณที่ชายไทยเกิดมาชาติหนึ่งต้องบวช การบวชเป็นตัวรักษาศีลธรรม       ในสังคมไทย แต่หลัง ๆ มาธรรมเนียมนี้เริ่มจางลง อาจเป็นเพราะคนมีงานยุ่งขึ้นและภารกิจมากขึ้น สมัยก่อนทำไร่ไถนาอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ อย่างไรก็ต้องบวช ถ้าไม่บวชสังคมไม่ยอมรับ ช่วงบวช      คนอื่นก็รับช่วงงานแทน ถือว่าเป็นงานในครอบครัว ช่วยกันได้ แต่ปัจจุบันไปทำงานตามบริษัท      ห้างร้านต่าง ๆ บางทีก็เกรงใจเพื่อนร่วมงาน หลัง ๆ เลยกลายเป็นบวช ๗ วัน ๑๕ วัน ว่างตอนไหน ก็บวชตอนนั้น ธรรมเนียมบวชเข้าพรรษาในเมืองจึงเริ่มจางลง นี้อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนห่างพระพุทธศาสนา ศีลธรรมในสังคมก็เลยลดระดับต่ำลงมา ทำให้มีปัญหาสังคมมากมายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เราจึงต้องฟื้นธรรมเนียมนี้ขึ้นมา ซึ่งผู้บวชก็ได้ประโยชน์ ได้ธรรมะกลับไป และอนาคตก็จะเป็นหลักของครอบครัวได้ คนโบราณถ้ายังไม่บวชเขาไม่ให้แต่งงาน ไปขอลูกสาวใครเขาก็ไม่ให้ เพราะว่ายังไว้ใจไม่ได้ ยังเป็นคนดิบอยู่ ถ้าบวชแล้วเขาเรียกว่า “ทิด” (คนสุก) บวชแล้วแม้กิเลส  ยังไม่หมด แต่อย่างน้อยกิเลสก็สุก คือ ถูกย่างด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ที่ปฏิบัติระหว่างบวช           ทำให้พอจะอุ่นใจได้ว่า ถ้ายกลูกสาวให้แล้วจะดูแลคุ้มครองลูกเขาได้ และมีหลักธรรมยึดเหนี่ยวประจำใจ ส่วนในแง่ที่สังคมได้ก็คือ ความสงบร่มเย็น มาตรฐานศีลธรรมในสังคมสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่พระพุทธศาสนาด้วย บวชแล้วทุกระดับชั้นได้ประโยชน์หมด ฉะนั้นจึงต้องฟื้นธรรมเนียมบวชขึ้นมา 


    พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านทราบข่าวว่าหลาย ๆ วัด โดยเฉพาะวัดในกรุงเทพฯ แต่ก่อน     เมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่แล้ว ก่อนเข้าพรรษาคนต้องมาจองกุฏิกันเลย เพราะว่ากรุงเทพฯ มีคนเยอะ ใครมาจองก่อนได้ก่อน ถ้าจองช้ากุฏิเต็มก็หมดสิทธิ์บวช ต้องไปหาวัดอื่น ปีหนึ่งมีพระบวชเข้าพรรษา ๔๐-๕๐ รูป ตอนนี้เหลือ ๒ รูป บางวัดไม่มีเลย กุฏิว่างเป็นแถว หลวงพ่อบอกว่านี้คือสัญญาณอันตราย ต้องฟื้นธรรมเนียมการบวชกลับมาให้ได้ ขืนปล่อยอย่างนี้ต่อไปจำนวนพระจะลดลง      เรื่อย ๆ ชาวบ้านจะห่างวัดไปเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร สังคมไทยจะเป็นอย่างไร 

 

ทำไมต้องมีพระพี่เลี้ยง? โครงการบวชพระ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ต้องใช้พระพี่เลี้ยงกี่รูป?


    “พระพี่เลี้ยง” พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านบอกว่าเหมือน “พระพี่ชาย” นั่นเอง เพราะผู้บวชเพิ่งมาบวชใหม่ ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรบ้าง จึงต้องมีพระพี่เลี้ยงคอยแนะนำดูแลอย่างใกล้ชิด พระอาจารย์ท่านจะได้สอนภาพรวม สมมุติว่าศูนย์อบรมหนึ่งมีพระประมาณ ๑๐๐ รูป พระอาจารย์มีประมาณ ๒-๓ รูป พระพี่เลี้ยงอีกประมาณ ๔-๕ รูป อัตราส่วนราว ๆ ๑ ต่อ ๒๐ ช่วยกันดูแล แนะนำรายละเอียดทุกอย่าง เช่น การครองจีวร การวิกัปจีวร วินัยสงฆ์ ใครสงสัยอะไรจะได้ถามจากพระพี่เลี้ยง อัตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐ ถ้าบวช ๑๐๐,๐๐๐ รูป พระพี่เลี้ยงก็ประมาณ ๕,๐๐๐ รูป 

 

พระพี่เลี้ยงจะต้องผ่านการฝึกฝนอบรมต่างจากพระธรรมทายาททั่วไปอย่างไรบ้าง? 


    เนื่องจากจะต้องไปเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำผู้อื่น ดังนั้นจึงต้องอบรมก่อน เป็นธรรมทายาทก่อน และบวชก่อนราว ๆ หนึ่งเดือน จะได้มาฝึกฝนตัวเองก่อน ศึกษาพระวินัยก่อน เวลาที่ธรรมทายาท เข้ามาอบรมจะได้มีความรู้พอที่จะแนะนำได้ในเบื้องต้น แล้วในระหว่างพรรษาก็ฝึกไปด้วยกัน     เหมือนพี่กับน้องฝึกควบคู่กันไป แต่แปลกที่ว่าพอมีจิตสำนึกว่าเราคือพี่เลี้ยง ความตั้งใจจะมากขึ้น ถ้ามาบวชทั่วไปจะรู้สึกว่ารับผิดชอบแค่ตัวเองก็พอ แต่ถ้าเป็นพระพี่เลี้ยงจะรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ    ตัวเองและพระที่ตัวเองดูแลอยู่ด้วย ฉะนั้นความตื่นตัวผิดกัน สำนึกความรับผิดชอบตรงนี้จะทำให้พระพี่เลี้ยงสำรวมเป็นพิเศษ เพราะว่ามีพระน้อง ๆ คอยดูอยู่ เพราะฉะนั้นพระพี่เลี้ยงจะมีการฝึกตัวเองแบบก้าวกระโดด เพราะสติและความตื่นตัวจะมากเป็นพิเศษ และจะมีพระธรรมทายาท     รูปนั้นรูปนี้ถามคำถาม พระพี่เลี้ยงก็ต้องตอบ ถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องไปถามพระอาจารย์ ทำให้มี     ความเข้าใจธรรมะมากขึ้นไปอีก


    ฉะนั้นพระพี่เลี้ยงจะมีการฝึกตัวที่เข้มข้นกว่าธรรมทายาททั่วไปอย่างน้อย ๒ เท่า เรียกว่าใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เวลาที่พระพี่เลี้ยงอบรมทั้งหมดจริง ๆ ประมาณ ๖ เดือน อบรมก่อนเดือนกว่า ธรรมทายาทมาบวชอีก ๔ เดือน รวมได้ประมาณ ๕ เดือนครึ่ง เสร็จจากอบรมแล้วสรุปงานอีก     ครึ่งเดือน รวมแล้วประมาณ ๖ เดือน ซึ่ง ๖ เดือนนี้จะได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เหมือนกับเข้าหลักสูตรเร่งรัด ได้บุญไปมหาศาล ผู้มาบวชธรรมทายาทได้บุญในการฝึกอบรมตัวเองก็มหาศาลแล้ว แต่    พระพี่เลี้ยงได้ ๒ ต่อ ฝึกตัวเองแล้วต้องดูแลพระรูปอื่นด้วย อานิสงส์ในปัจจุบัน คือ ความรู้       ความเข้าใจธรรมะจะมีมากกว่า รวมเอาความเข้าใจของพระ ๒๐ รูปไว้ เพราะเวลาสงสัยทุกรูปจะมาถาม      พระพี่เลี้ยง พระพี่เลี้ยงก็จะต้องรู้อะไรให้มากกว่า แล้วยังมีผลบุญก็คือ ทำให้ภพต่อไปจะเป็นคนที่มีพวกพ้องบริวารมาก ทำอะไรมีคนสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลเต็มไปหมด แล้วพวกพ้องแต่ละคนเป็นคนเก่งและดีทั้งนั้น เพราะว่าตัวเองเกื้อกูลพระธรรมทายาทที่ตั้งใจมาปฏิบัติธรรม ทำเหตุอย่างไรก็จะได้ผลอย่างนั้น ดูแลเขาเป็นอย่างดี แน่นอนว่าตัวเองก็ต้องมีพวกพ้องบริวารที่เป็นคนดี มีฝีมือ          มีกำลังบุญมาก แล้วก็เกื้อกูลกันทำความดีไปตลอดทุกภพทุกชาติ เพราะฉะนั้นการบวชเป็น           พระพี่เลี้ยงคุ้มมาก ๆ มาบวชเถิด ไม่อย่างนั้นจะเสียดาย และขอฝากไว้ว่า เรามีประมาณ ๑,๐๐๐ ศูนย์อบรม ศูนย์อบรมหนึ่งต้องการพระพี่เลี้ยงประมาณ ๕ รูป ขอฝากภารกิจแห่งประวัติศาสตร์นี้ไว้กับพระอาจารย์หัวหน้าศูนย์อบรม พระธรรมทายาทรุ่นที่ผ่าน ๆ มา และผู้นำบุญทั้งหลาย ให้ช่วยกันชวนพระพี่เลี้ยงให้ได้อย่างน้อยศูนย์อบรมละ ๕ รูป เพื่อทำให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จด้วยดี

 

มาศึกษาธรรมะในช่วงอายุมากลำบากไหม? คนบวชเยอะวุ่นวายไหม? 


    อายุบวชพระถือตามพระวินัยก็คือ ๒๐ ปีขึ้นไป จนถึงประมาณ ๖๐ ปี บางท่านเกษียณ แล้วอยากจะบวช มาได้เลย อายุถึง ๖๕ ปีก็ได้ ถ้าสุขภาพแข็งแรงก็มาได้ ถือตามพระวินัยเป็นหลัก พอบวชแล้ว อายุ ๕๐-๖๐ ปี ก็ดูหนุ่มขึ้น เพราะฉะนั้นมาเถิด รุ่นที่ผ่าน ๆ มาเขาก็ไหวกัน ขอแค่เป็นผู้ที่สุขภาพพื้นฐานแข็งแรง ไม่เป็นภาระของส่วนรวมในการดูแล 


    การมาบวชด้วยกันเป็นหมู่ใหญ่ ๆ มีข้อดีเหมือนเวลาเราเรียนหนังสือ ถามว่าเราดูหนังสือเองที่บ้านคนเดียวกับมาเข้าห้องเรียน เรียนกันทีละ ๔๐-๕๐ คน อย่างไหนดีกว่า ตอบว่าเรียนในห้องเรียนได้ผลกว่า เพราะว่ามีความพร้อมเพรียง มีวินัย ถ้าดูหนังสือเองที่บ้าน เดี๋ยวก็ไปเดินเล่น เดี๋ยวก็  เข้าเน็ต บางทีก็ไปเล่นเกม ความตั้งใจจะหย่อนเพราะไม่มีวินัยหมู่คณะ ไม่มีพลังหมู่มาช่วย ถ้าบวชคนเดียวก็เหมือนกัน ประโยชน์ที่ได้ก็ไม่ค่อยเต็มที่ แต่ถ้ามาทีหนึ่งเป็นร้อย มีพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง มีระบบ มีหลักสูตรทุกอย่างชัดเจน ถึงเวลาสวดมนต์มาพร้อมกันหมด กิจวัตรลงตัวเหมือนโรงเรียน เพราะฉะนั้นผลของการปฏิบัติและการศึกษาจะดีกว่า ไม่ต้องกลัวว่ามาเยอะ แล้วจะวุ่นวาย ที่ยุ่งเป็นเพราะไม่มีวินัย ถ้ามีวินัยไม่ยุ่ง โรงเรียนมีนักเรียน ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คน ยังไม่ยุ่งเลย เขาแบ่งเป็นชั้นเป็นห้อง ทุกอย่างเป็นระบบระเบียบ 


    อยากจะฝากทุก ๆ ท่านว่า เคยไหมที่อยากจะปรับปรุงนิสัยตัวเอง อยากตื่นเช้า อยากเป็นคนตรงต่อเวลา บางคนเคยสูบบุหรี่ เคยติดเหล้า ติดเกม ก็อยากจะเลิก อยากจะทำสิ่งที่ดี ๆ แต่ตั้งใจอยู่ได้วันสองวันก็เลิก รู้สึกว่าสภาวะไม่เอื้ออำนวย ทำให้ล้มลุกคลุกคลาน ทำไม่ได้สักที       ถ้ามาบวชโอกาสเหมาะที่สุดเลย เพราะว่าสิ่งแวดล้อมที่ดึงไปในทางเสียไม่มี รอบ ๆ ตัวมีแต่      สิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งนั้น ถ้าใครอยากปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ จังหวะโอกาส     ไม่ให้ บวชครั้งนี้ขอบอกว่าโอกาสดีที่สุด เพราะเราได้สวดมนต์ นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมทุกวัน ใจเราก็จะละเอียด อยู่ในบุญ สิ่งแวดล้อมดี ไม่มีใครชวนเราไปในทางเสียเลย มีแต่เรื่องดี ๆ แล้วเรื่องตรงต่อเวลาก็แก้ได้ เพราะต้องตื่นเช้าอยู่แล้ว เราจะได้ตื่นตี ๔ ครึ่งทุกวัน ตลอด ๑๒๐ วัน กลับบ้านไป ก็แค่รักษาสิ่งดี ๆ นี้ไว้เท่านั้น เราจะได้ทำความดีอย่างต่อเนื่อง ๑๒๐ วัน ถือเป็นการปฏิรูปตัวเองครั้งใหญ่ เพราะฉะนั้นบวชครั้งนี้จะให้ประโยชน์แก่ตัวเราอย่างมหาศาล ใครตั้งใจจะพัฒนาตัวเอง จะยกเครื่องครั้งใหญ่ มาเถิดไม่ผิดหวัง 


    ตอนไปเดินธุดงค์มีธรรมทายาทหลายรูปเล่าให้ฟังว่าเกิดความเข้าใจในพระพุทธศาสนา      มากขึ้น บางทีเดิน ๆ ไปมีโยมเห็นพระเดินมาแดดกำลังร้อน เขาอาราธนามาพักแล้วก็รีบขวนขวายไปหาน้ำมาเลี้ยง เขาเป็นชาวบ้านชาวสวน ฐานะไม่ได้ร่ำรวย แต่เขาไปหาพวกน้ำอัดลมอะไร        ต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้มาเลี้ยงพระเป็นร้อยเลย คิดเป็นมูลค่าหลายบาทเหมือนกัน แต่เขาทำ         ด้วยความเบิกบาน แล้วอาราธนาว่า “ปีหน้ามาอีกนะครับ” เขาปลื้มใจที่ได้ทำบุญ พระที่มาเล่าบอกว่าฐานะเราดีกว่าเขา แต่ยังไม่เคยคิดจะทำบุญแบบเขาเลย ทำให้เกิดความรู้สึกว่า จากนี้ไปเราจะต้องมีน้ำใจต่อทุกคนให้มากกว่านี้ จะต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มากกว่านี้ 


    บางรูปไปเดินธุดงค์เจอทีเด็ด มีพระรูปหนึ่งชื่อพระกิตติพันธ์ คุณธโช ผ่านการอบรมธรรมทายาทเสร็จเรียบร้อย ท่านก็ไปเดินธุดงค์ ไปกันประมาณ ๕๐ รูป ไปพักที่วัดบุญบางสิงห์ จังหวัดปทุมธานี รุ่งเช้าก็แยกสายบิณฑบาต สายท่านมี ๕ รูป รองเจ้าอาวาสวัดนั้นเมตตานำให้ ออกไปแต่เช้ามืด รองเจ้าอาวาสท่านบอกว่า “ถ้าเห็นอะไรให้นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไว้นะ” พระธรรมทายาทก็บอก “ครับ” แล้วก็เดินกันไป 


    ออกจากวัดไม่นานมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง เห็นอุบาสิกาตั้งโต๊ะเตรียมใส่บาตรอยู่ใต้ต้นโพธิ์เป็นเจ้าแรกตั้งแต่ฟ้าสาง ไปถึงก็ใส่บาตร มีข้าวสวยถุงหนึ่ง ไข่เป็ดต้มฟองหนึ่ง แกงถุงหนึ่ง เตรียมไว้ ๖ ชุด ราวกับรู้ว่าจะมีพระ ๖ รูป ผู้หญิงใส่เสื้อสีขาว ผิวก็ขาว ปกติพระรับบาตรจะไม่มองหน้าโยม แต่วันนั้นบรรยากาศดูแปลก ๆ ท่านเลยเหลือบมอง ก็เห็นตากลมสวยแต่ไม่กะพริบเลย ท่านบอกว่าขนลุกซู่เลย พอรับบาตรเสร็จก็เดินไป พอเดินคล้อยหลังไปแค่ไม่กี่เมตร พระข้างหลังกระซิบบอกให้ลองเหลียวไปดูสิ พอเหลียวไปดูปรากฏว่าไม่มีใครแล้ว โต๊ะที่ใส่บาตรก็ไม่อยู่แล้ว หายไปหมดเลย แล้วมาเปิดดูในบาตร ปรากฏว่าทั้งข้าวสวย ทั้งไข่เป็ดต้ม และแกงก็หายไปด้วย เหลืออยู่แค่ข้าวสารถุงหนึ่ง เหลืออยู่ ๑ ถุงทุกรูปเหมือนกันหมดเลย ถามรองเจ้าอาวาสที่นำทางว่าทำไม   เป็นอย่างนี้ ท่านก็ยิ้ม ๆ แล้วบอกว่า “ธรรมดา”


    ธรรมทายาทกิตติพันธ์บอกว่า “โอ้โฮ! นี่เราตั้งใจปฏิบัติธรรมแล้วมาจาริกเดินธุดงค์ ขนาดเทพธิดายังมาใส่บาตรเลยหรือ” พอกลับมาถึงวัด ท่านก็มานั่งนับข้าวสารได้ ๒,๘๘๗ เม็ด พอดมดู        ปรากฏว่ามีกลิ่นหอมอ่อน ๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น มีประสบการณ์แปลก ๆ มากมายในหมู่ธรรมทายาทที่เดินธุดงค์ไปทั้งประเทศ เรียกว่าเป็นความประทับใจ เพราะฉะนั้นใครยังไม่ได้บวชขอให้มาเถิด โดยเฉพาะถ้ามาเป็นพระพี่เลี้ยง จะได้บุญอีกเป็น ๒ เท่า ไม่แน่อาจจะได้พาธรรมทายาทไปบิณฑบาต และอาจจะไปเจอสิ่งดี ๆ ด้วยตัวเองก็ได้

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล