ฉบับที่ ๑๕๓ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘

ไขทุกปัญหาก่อนบวช โครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 

ไขทุกปัญหาก่อนบวช
โครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย

 

ใครเป็นผู้ดำริโครงการนี้? ทำเพื่ออะไร? หวังเงินค่าสมัครก็คงไม่ใช่ เพราะว่าบวชฟรี


    ที่มาของโครงการบวชแสนรูปเกิดจากพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ทราบข่าวว่า ปัจจุบันนี้พระบวชเข้าพรรษาลดลงมาก พระอารามหลวงขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ บางวัดมีพระบวช ๑ รูป บางวัดไม่มีเลย ขณะที่เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว บางวัดพระบวช        เต็มเลย ใครจะไปบวชต้องรีบไปจองแต่เนิ่น ๆ แต่ตอนนี้กุฏิว่างเป็นแถว พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านรำพึงว่า “นี่เป็นสัญญาณอันตรายแล้ว” เพราะว่าพระที่อยู่รักษาพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน           โดยทั่วไปมาจาก ๒ เส้นทาง คือ 


    ๑.    มาจากเด็กน้อยที่จบ ป.๖ แล้วก็มาบวชเป็นสามเณรเพื่อเป็นช่องทางในการร่ำเรียน     เขียนอ่าน โตขึ้นก็บวชเป็นพระ พอศึกษาจบแล้วบางส่วนก็ลาสิกขาออกไป แต่ปัจจุบันการศึกษาภาคบังคับขยายไปถึงจบ ม.ต้น แล้วให้เรียนฟรีไปถึง ม.ปลาย บางที่ยังมีแจกเสื้อผ้า สมุด หนังสือ พอเรียนจบ ม.ต้น อายุประมาณ ๑๕ ปี ถ้าทางบ้านฐานะไม่ดีจะไปทำงานโรงงานก็ได้ หรือจะเรียนต่อก็มีเงินกู้ยืมเรียน คนที่มาบวชเป็นสามเณรจึงลดลงอย่างฮวบฮาบ เห็นชัด ๆ ว่าในอนาคต      เส้นทางนี้จะมีเณรมาบวชพระน้อยลง 


    ๒.    มาจากคนที่บวชเข้าพรรษาตามธรรมเนียมไทยแต่โบราณ ออกพรรษาแล้วบางส่วนก็       ลาสิกขาไป บางส่วนมีศรัทธาก็ไม่สึก แต่ตอนนี้บวชเข้าพรรษาหายไปเกือบหมดทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ๆ ยังพอมีเหลือบ้างในชนบท ซึ่งอีกหน่อยก็คงจะตามอย่างกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ 


    เมื่อเป็นอย่างนี้เส้นทางหลักที่มาของพระภิกษุที่อยู่รักษาพระพุทธศาสนาจึงตีบตันลง ทั้ง     เส้นทางสามเณรและเส้นทางบวชเข้าพรรษา แล้วอะไรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าเราไปดูสถิติวัดร้าง ปัจจุบันมีวัดที่ร้างอย่างเป็นทางการถึง ๕,๙๐๐ วัด  มีสถิติรวบรวมอยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่วนวัดที่ยังไม่ร้างแต่ใกล้จะร้าง คือ เหลือพระอยู่แค่รูปสองรูป มีเป็นหมื่น ๆ วัด 


    ปกติหลวงพ่อท่านสอนว่า เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา แต่ถ้าเป็นเรื่องพระศาสนาท่านบอกว่าต้องเอาอุเบกขาวางแล้วลุยเลย ท่านคิดง่าย ๆ ว่า ในเมื่อวัดร้างเยอะ จะแก้วัดร้างก็ต้องบวชพระ แล้วคนมาบวชพระช่วงเข้าพรรษาน้อยจะทำอย่างไร ก็บวชพระเข้าพรรษาให้เยอะ ๆ แก้ตรง ๆ     แค่นี้แหละ แล้วทำอย่างไรจะให้เขาบวชเยอะ ๆ ก็ไปกราบขอความร่วมมือจากคณะสงฆ์ทั้งแผ่นดินในจังหวัดและในอำเภอต่าง ๆ ถ้าวัดไหนมีพื้นที่เพียงพอ มีที่พักอาศัยให้พระอยู่จำพรรษาได้         มีศาลาอบรมได้ เสนาสนะไม่อึกทึกจอแจจนเกินไป ก็ไปกราบขออนุญาตท่านเจ้าอาวาส แล้วก็     ร่วมมือกันทำงานกับคณะสงฆ์ทั้งแผ่นดิน และประสานกับสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การยุว-พุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เป็นต้น ทุกคนทุกฝ่ายเห็นว่าโครงการดีมากก็ร่วมแรงร่วมใจกัน พวกเราญาติโยมทั้งหลายก็ลุกขึ้นมาชวนบวช แต่การพลิกกระแสไม่ใช่ของง่าย อยู่ ๆ จะให้เขามาบวช      ๔ เดือน อาศัยว่าทุกคนตั้งใจจริง หลวงพ่อท่านเป็นผู้ให้นโยบายและเป้าหมาย ทุกคนก็ไปลุยชวนกันจริง ๆ ปรากฏว่าความสำเร็จเกิดขึ้น ภาพของชายไทยที่มาบวชเป็นหมื่นเป็นแสนบังเกิดขึ้น     จริง ๆ ก็เลยจัดปีละ ๒ ครั้ง  คือ ภาคฤดูร้อน ๒ เดือน ภาคเข้าพรรษา ๔ เดือน (ปัจจุบันจัดเป็นครั้งที่ ๑๒ แล้ว) ซึ่งเราพบว่ามีพระที่อยู่จนจบโครงการแล้วมีศรัทธาอยู่ต่อเป็นกำลังของพระพุทธ-ศาสนาประมาณ ๕,๐๐๐ รูป ทั้งที่วัดพระธรรมกายและวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไปช่วยกันฟื้นฟูวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง น่าชื่นใจทีเดียว 


การบวชระยะสั้น บวชตามประเพณี ต่างกับการบวชเข้าพรรษาอย่างไร?


    ในครั้งพุทธกาลไม่มีประเพณีบวชหน้าไฟ บวช ๒-๓ วันก็ไม่มี มีแต่ตั้งใจบวชเพื่อมุ่ง          พระนิพพาน แต่เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่าบวชแล้วได้บุญมหาศาล ฉะนั้นจึงเป็นธรรมเนียมว่า เวลาพ่อแม่เสีย ถ้าอยากให้พ่อแม่ได้บุญมาก ๆ ลูกชายหรือหลานชายก็ต้องบวชให้ เด็ก ๆ บวชเณร ผู้ใหญ่บวชพระ บวชหน้าไฟเพื่อเอาบุญให้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่เป็นพิเศษ ก็เลยเกิดเป็นกึ่ง ๆ ธรรมเนียมขึ้นมาในยุคหลัง 


    แต่ถ้ามองไปที่วัตถุประสงค์ของการบวช ถ้าบวชแค่ ๒-๓ วัน ก็ต้องดูว่าในระหว่างบวชได้บำเพ็ญสมณธรรมขนาดไหน ถ้ามีแต่เปลือก คือ ได้บวช บุญก็เกิดระดับหนึ่ง แต่ถ้าได้ศึกษา        พระธรรมวินัย ได้ปฏิบัติธรรมด้วย บุญจะมากขึ้น แต่การบวชเข้าพรรษาประมาณ ๔ เดือน แล้วตั้งใจศึกษาธรรมะ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม มีครูบาอาจารย์ และมีการจัดระบบการดูแลอย่างดี เช้าตื่นตีสี่ครึ่ง สวดมนต์ นั่งสมาธิ ออกบิณฑบาต เวลาฉันก็มีการสอนมารยาทบ้าง ฟังธรรมไปด้วยบ้าง และยังมีการอบรมเพิ่มเติม พระวินัยมีอะไรบ้าง เสขิยวัตรต่าง ๆ มีอย่างไรบ้าง สอนกระทั่งการซัก การตาก การพับจีวร การนั่ง การกราบ การลุก การไหว้ ฝึกกิริยามารยาท สีลาจารวัตรของสงฆ์ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการบวชแสนรูปจะได้ประโยชน์มาก และยังช่วยเสริมภาพลักษณ์    ที่ดีงามของสงฆ์ที่แท้จริงให้สังคมได้เห็น พระปฏิบัติธรรมรูปเดียวเวลาคนเห็นอาจจะเฉย ๆ แต่พอปฏิบัติธรรมเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน จะมีพลัง จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่     พระพุทธศาสนาด้วย 


การบวชพระครั้งละเป็นแสนรูปมีการตั้งรับหรือจัดระบบอย่างไร?


    เราทำมาหลายครั้งแล้ว ทุกอย่างเข้าที่พอสมควร มีการจัดศูนย์อบรมตามจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีหลักสูตรเป็นระบบระเบียบ ทำสื่อการสอนไว้ตลอด ๔ เดือน เช้า สาย บ่าย ค่ำ มีทั้งสื่อวิดีโอ ซีดี หนังสือ มีทุกอย่างครบเครื่อง พระอาจารย์บางรูปใช้สื่อสอน บางรูปสอนเอง และยังมีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมอีก โดยอาราธนาพระผู้ใหญ่มาให้โอวาทออกโทรทัศน์        ศูนย์อบรมทุกศูนย์ก็เปิดฟังโอวาทจากพระผู้ใหญ่พร้อม ๆ กัน ถือว่าทุกอย่างเป็นระบบระเบียบมาก 


คนมาบวชมาก ๆ ไม่วุ่นวายหรือ?


    นักเรียนไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน คนเรียนเยอะ ๆ วุ่นวายไหม ไม่วุ่นวาย เพราะเขามีการแบ่งเป็นชั้น เป็นห้อง ถึงเวลาก็เข้าแถวหน้าเสาธง แล้วเข้าเรียน ช่วงพักก็ไปทานข้าว ทุกอย่างวางระบบไว้ดี แม้คนเยอะก็เป็นระบบระเบียบ แล้วพลังหมู่จะเสริมพลังเดี่ยว ตอนเด็ก ๆ ถ้าเราไม่เข้าโรงเรียน นั่งดูหนังสือเองที่บ้าน ตั้งตารางสอนเลย ๘ โมงดูหนังสือวิชานี้ ๙ โมงดูวิชานั้น ไล่ไป   วันละ ๗ ชั่วโมง สุดท้ายวันหนึ่งจะได้ดูถึงชั่วโมงสองชั่วโมงหรือเปล่า แต่พอเข้าโรงเรียนแล้ว เราก็สามารถเรียนได้ เพราะมีพลังหมู่ช่วย มีระเบียบของโรงเรียนกำกับไว้ มีอาจารย์มาสอน ความรู้เราก็เพิ่มขึ้น ๆ การมาบวชแสนรูปก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ตื่นพร้อมกัน สวดมนต์ด้วยกัน ออกบิณฑบาตด้วยกัน นั่งฉันด้วยกัน ช่วยกันล้างบาตร ล้างภาชนะ เช็ดถูทำความสะอาดเสนาสนะ แล้วก็มา   สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรมตามหลักสูตร พอเห็นใคร ๆ เขาทำกัน เราก็ทำได้ ถ้าบวชคนเดียวใครจะมาสอนเรา จะมีครูบาอาจารย์มาสอนเราตั้งแต่ตี ๔ ครึ่งจนถึงเข้านอนไหม จะมี           พระอาจารย์สลับกัน ๓-๔ รูปมาดูแลเราคนเดียวไหม แต่พอมาบวชพร้อม ๆ กันก็จะเป็นระบบ  ทุกอย่างก็จะได้ผลและเป็นประโยชน์มาก ๆ     


การบวชมีความสำคัญขนาดไหน? ถ้าเราเป็นคนดี เราไม่บวชได้หรือไม่?      

 
    การบวชเป็นการยกฐานะของเราจากผู้นับถือพระรัตนตรัยขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นการก้าวออกจากภาวะฆราวาสผู้ครองเรือนไปสู่ความเป็นพระภิกษุผู้ไม่ครองเรือน แล้วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงแห่งการสร้างความดีแบบเข้มข้น เพราะมีกรอบของ          พระธรรมวินัยเป็นเครื่องร้อยรัดในการปฏิบัติเดินหน้าต่อไป ถ้าเทียบทางโลกก็เหมือนหลักสูตรเร่งรัด ที่บางคนบอกว่า ผมเป็นคนดีอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน กินเหล้าบ้าง สูบบุหรี่บ้าง เงินก็เงินผม แต่ว่าในแง่กฎแห่งกรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่คิดว่าเราดี บางทียังดีไม่จริง ศีลเราครบหรือเปล่า ธรรมะเราดีหรือเปล่า แต่ถ้าได้มาบวชในกรอบวินัยของพระพุทธเจ้าแล้วตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ ประโยชน์จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล 


บางคนหน้าที่การงานกำลังรุ่งเรือง จะทิ้งตรงนั้นไปบวชได้อย่างไร?


    อย่างนี้ต้องวางแผนล่วงหน้า ถ้าเราทำงานดีจริง ๆ จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับ ถึงคราวจะลาบวชเดี๋ยวจะมีลู่ทางตามมา เคยเจอผู้บริหารระดับสูงของธนาคารลามาบวช ความที่ทำงานดีมาก      หัวหน้าก็ยอม พอบวชแล้วเกิดศรัทธาอยู่ต่อจนถึง ๘ เดือน หัวหน้าก็ยังสงวนตำแหน่งไว้ให้ สุดท้าย ๘ เดือนจึงลาสิกขาไป นอกจากได้ทำงานเหมือนเดิมแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจนกระทั่งเป็น    รองประธานธนาคารเลย เพราะฉะนั้นขอให้เราเตรียมตัวล่วงหน้า ตั้งอกตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการบวชจริง ๆ แม้ต้องอาศัยเวลาบ้าง แต่เมื่อได้บวชแล้ว นอกจากการงานไม่กระทบกระเทือน ยังได้ผลแห่งการบวชเต็มที่ เพราะมีการเตรียมตัวเตรียมใจมาล่วงหน้านานแล้ว 


คนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องหาเลี้ยงคนในบ้าน จะทำอย่างไร?


    ต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกัน เราจะบวชเราต้องมีความรับผิดชอบ ตั้งใจทำงาน หางานพิเศษทำ จนกระทั่งภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวไม่เดือดร้อน พอพร้อมแล้วก็บวช ทุกอย่างต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า แต่จะให้สมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อย่าพึงคิด เอาเป็นว่าหลัก ๆ เรื่องเศรษฐกิจต้องอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน แล้วอีกแง่มุมหนึ่งให้เราคิดว่า ถ้าเราปุบปับเดินไปถูกรถชน       เสียชีวิต ครอบครัวจะอยู่ได้ไหม จริง ๆ ทุกคนอยู่ได้ แต่อาจจะลำบากหน่อย การไปครั้งนี้เราไม่ได้ไปบวชเอาสบาย แต่ไปบวชฝึกตัวเองอย่างจริงจัง กลับมาแล้วจะเป็นสามีที่ดีขึ้น เป็นพ่อที่ดีของลูก เป็นลูกที่ดีขึ้นของพ่อแม่ เป็นพนักงานที่ดีของบริษัท 


    ทางโลกเวลาข้าราชการจะขึ้นตำแหน่งสูง ๆ เขาก็มีการอบรม เช่น รองผู้ว่าฯ จะขึ้นเป็น       ผู้ว่าฯ รองอธิบดีจะขึ้นเป็นอธิบดี ต้องมีการอบรมหลักสูตร นบส. นักบริหารระดับสูง อบรม          ๔ เดือน วางงานหมดเลย ลองคิดดูสิคนที่รับผิดชอบขนาดเป็นรองผู้ว่าฯ เป็นรองอธิบดี บางกรมคุมลูกน้องเป็นหมื่น ๆ คน ยังมาอบรมตั้ง ๔ เดือน แสดงว่าเวลา ๔ เดือนที่ใช้ไปในการอบรม  ต้องเป็นประโยชน์คุ้มค่า คนเราขึ้นมาถึงซี ๙ อายุเฉลี่ยก็ ๕๐ ปีไปแล้ว ทำงานอีกไม่กี่ปีก็เกษียณ เขายังคิดว่าอบรมแล้วคุ้ม แล้วประโยชน์จากการบวชไม่ได้ใช้แค่ ๖๐ ปี แต่ใช้ตลอดชาติ ข้ามภพข้ามชาติด้วย คุ้มไหม?


    ถ้าใครคิดว่าทำไมต้องบวช ปกติก็เป็นคนดีอยู่แล้ว ลองดูก็แล้วกันว่า ทำไมข้าราชการ        ชั้นผู้ใหญ่ต้องไปอบรม นบส. ทำไมต้องไปเข้าหลักสูตร วปอ. เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าคนที่ไปอบรมจะมีความพร้อมมากกว่า เพราะฉะนั้นจะเป็นทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม หลักการไม่ต่างกัน จัดการตัวเองให้เรียบร้อยเถิด วางแผนให้ดีแล้วจะทำได้


หลายคนติดแฟน ถ้าไปบวชจะสงบหรือ?


    การบวชเป็นการละฆราวาสวิสัย ถึงแม้บวชชั่วคราวก็เป็นการฝึกตัดใจจากสิ่งเหล่านี้ ระหว่างบวชไม่ต้องนึกถึงเลยดีที่สุด ถึงคราวสึกกลับไปจะรู้สึกว่า เราเป็นหลักของครอบครัวได้ดีขึ้น คนที่ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่จะเป็นหลักจริง ๆ ไม่ได้ คนที่เป็นหลักได้จริง ๆ ใจต้องนิ่ง ต้องเป็นกลาง จึงจะเป็นหลักให้คนอื่นมาพึ่งพิงอาศัยได้ อย่างที่โบราณเรียกผู้หลักผู้ใหญ่ คือ เป็นผู้ใหญ่ที่มีหลัก          ในการดำเนินชีวิต ถามว่าหลักอะไร? ก็คือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ถ้ามานั่งนึก         แบบเด็ก ๆ ว่า เดี๋ยวคิดถึงแย่ คิดห่วงสารพัด ถ้าอย่างนี้เกิดเราจากโลกนี้ไป เราไม่ห่วงหรือว่า     เขาจะเป็นอย่างไร ตัดใจตั้งแต่ตอนนี้เลยจะได้รู้กัน 


    แล้วถ้าจะให้ดี เวลาเรามาบวช คู่ชีวิตก็ควรมาใส่บาตรด้วย แล้วตั้งใจสวดมนต์นั่งสมาธิทุกวัน เปิด DMC ดู อย่างนี้พ่อบ้านบวชกาย แม่บ้านบวชใจ ถ้าชวนกันอย่างนี้ ถึงคราวลาสิกขาออกไปเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งพ่อบ้านแม่บ้าน บ้านนั้นสงบร่มเย็น แล้วจะมีแต่ความเจริญก้าวหน้า 


คำว่า “ชายสามโบสถ์” ดูเหมือนไม่ค่อยดี ถ้าใครเคยบวชแล้ว เราจะพูดอย่างไรให้เขามาบวชอีก?


    ชายสามโบสถ์คบไม่ได้ที่โบราณบอกเป็นลักษณะที่ว่าตั้งใจจะบวช แต่บวชแล้วอดทนต่อ     คำสั่งสอนไม่ได้ อยู่ที่วัดนั้นไม่ได้ก็เลยสึกแล้วไปบวชที่วัดใหม่ บวชแล้วก็สึกอีก แล้วก็หาวัดอื่นบวชอีก ร่อนเร่ไปอย่างนี้ เขาบอกว่าคนอย่างนี้คบไม่ได้ เอาแต่ใจตัวเอง ไม่อยู่ในกรอบพระธรรมวินัย         ไม่อยู่ในกรอบของหมู่คณะ แต่ถ้ามาบวชระยะสั้นด้วยภารกิจของครอบครัว ของการงาน พอครบกำหนดก็ลาสิกขา ตอนหลังจัดเวลาได้ก็มาบวชอีก อย่างนี้อย่าว่าแต่ ๓ ครั้งเลย จะเป็น ๕ ครั้ง     ๗ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ยิ่งมากครั้งยิ่งดี เป็นการเสริมบุญเสริมบารมีให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป


เคยได้ยินข่าวด้านลบของวัดพระธรรมกาย จะให้มั่นใจกับการบวชครั้งนี้     ได้อย่างไร?


    มีสุภาษิตว่า “ไม้ใหญ่ต้องลมแรง” เมื่อทำงานใหญ่ก็ต้องมีทั้งคนชอบคนไม่ชอบเป็นธรรมดา      และคนที่ชอบก็มักจะอยู่เฉย ๆ ไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับใคร แต่คนที่ไม่ชอบหรือได้รับข้อมูลมาผิด ๆ ก็วิจารณ์กันไปเรื่อยเปื่อย และไม่มีใครไปแก้ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง จริง ๆ แล้วบางคนไม่ได้มีอะไร แต่ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมา เลยเกิดเป็นภาพที่ยังไม่ใช่อยู่ในใจเท่านั้นเอง แต่ถ้าได้มาสัมผัสแล้วทุกคนจะพบว่าโครงการนี้ดีมาก เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนามาก เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ต้องมาพิสูจน์


บวชพระต้องรักษาศีลถึง ๒๒๗ ข้อ บางคนก่อนมาบวช ศีล ๕ ยังไม่ครบเลย จะรักษาได้ไหม?


    ไม่มีปัญหา ในครั้งพุทธกาลเคยมีพระภิกษุมาบวชแล้วกังวลมาก พระวินัยมีเป็นร้อย ๆ ข้อ ต้องคอยระวังว่าจะผิดศีลข้อไหนหรือเปล่า รู้สึกเครียดไปหมด เลยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จะขอสึก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าให้เธอรักษาอย่างเดียวจะรักษาได้ไหม ท่านตอบว่า ได้ พระพุทธเจ้าทรงบอกให้รักษาอย่างเดียวก็คือรักษาใจ รักษาใจนิ่ง ๆ อยู่ในตัว อยู่ที่ศูนย์กลางกาย พระรูปนี้ก็ตั้งใจปฏิบัติ สุดท้ายเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวล ทุกท่านสามารถปฏิบัติได้ ขอให้คลายกังวลแล้วมาบวชเถิด


ก่อนบวชทำไมถึงต้องมีการฝึกตัวก่อน บวชเลยไม่ได้หรือ?


    อย่างที่บอกตอนต้น การบวช คือ การยกฐานะจากผู้นับถือพระรัตนตรัยขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นการยกที่สูงส่งมาก เราจะเห็นว่าก่อนบวชเรากราบพ่อแม่ แต่พอบวชแล้ว      พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่กราบเรา เพราะฉะนั้นถ้ามาถึงก็โกนหัวแล้วบวชเลยก็มีแต่เปลือก บางทียังขานนาคไม่เป็น เปล่งวาจาขอบวชยังไม่รู้เรื่องเลย ไม่ค่อยได้อะไร ได้แต่เปลือกไป บวชทั้งทีต้องเอาแก่นไปด้วย เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อบวชครองผ้าเหลืองแล้วพ่อแม่ท่านกราบเรา เราต้องไม่แหนงใจ ฉะนั้นจึงต้องมีช่วงเตรียมตัว รักษาศีล ๘ ฝึกสวดมนต์ ทำวัตร นั่งสมาธิ ฝึกกิริยามารยาท ฝึกท่องคำขานนาค ศึกษาพระวินัยข้อสำคัญ ๆ  


    การบวชไม่ใช่แค่ก้าวขึ้นบันไดแค่ขั้นสองขั้นจากคนทั่วไปขึ้นมาเป็นพระสงฆ์ มาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย แต่ก้าวขึ้นสูงลิ่วเลย ฉะนั้นถ้ากระโดดจากพื้นขึ้นชั้นสองเลยอาจจะกระโดด ไม่ถึง ต้องมีขั้นบันไดมาเสริม การเตรียมตัวก่อนบวชก็เหมือนกับว่ามีบันไดให้เราค่อย ๆ ไต่ จะได้พร้อมเข้าไปสู่ภาวะของความเป็นพระภิกษุ ทั้งกาย ทั้งใจ ในเบื้องต้น


ตอนมาบวชจะได้ฝึกอะไรบ้าง? ถ้าลาสิกขาออกไปจะได้อะไรติดตัวไปบ้าง?


    ถ้าหากกล่าวโดยย่อ จะได้ฝึกเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา ฝึกศีล ก็คือ ตอนก่อนบวชก็รักษาศีล พระอาจารย์จะสอนให้เข้าใจทั้งหมดว่าศีล ๘ มีรายละเอียดแต่ละข้ออย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะถูกต้อง แล้วขยับขึ้นไปถึงศีล ๒๒๗ ข้อ มีการศึกษาพระธรรมวินัยทั้ง ๒๒๗ ข้ออย่างละเอียด ฝึกสมาธิ ก็คือ ได้สวดมนต์นั่งสมาธิสม่ำเสมอ เช้า สาย บ่าย ค่ำ ในด้าน ปัญญา ก็ได้ตั้งแต่รู้จำ คือ จำธรรมะต่าง ๆ ได้ แล้วก็รู้คิด คือ จำได้แล้วต้องเข้าใจด้วย สามารถเชื่อมโยงหลักธรรม      มาปฏิบัติให้เป็น แล้วมุ่งไปสู่รู้แจ้ง คือ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดญาณทัสนะ ดังที่หลวงพ่อย้ำว่า “ให้บวช ๒ ชั้นนะลูก” คือ บวชภายนอกครองผ้าเหลืองแล้ว กายภายในก็ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในด้วย อย่างนี้ก็คือการบวช ๒ ชั้น ผู้บวชได้บุญมหาศาล โยมพ่อ โยมแม่ ญาติพี่น้อง ผู้อนุโมทนาทั้งหลายก็ได้บุญมหาศาล หลวงพ่อท่านมุ่งหวังให้ไปถึงจุดนี้ ถึงจุดนี้เมื่อไรเราจะเกิดความรู้แจ้งขึ้น และจะได้อานิสงส์ในการบวชอย่างเต็มที่


ผู้บวชเข้าวัดปฏิบัติธรรม ฝึกฝนอบรมตนเอง บุญส่งถึงพ่อแม่อย่างไรบ้าง?


    ต้องถามว่า ตัวเรามาจากไหน เราจะพบว่า ชีวิตของเราได้มาจากท่าน เลือดก็มาจากท่าน เนื้อก็มาจากท่าน เพราะฉะนั้นท่านเป็นผู้ลงทุนในตัวเรา ให้กำเนิดเรามา เมื่อเราไปบวชบุญจึงถึงพ่อแม่ครึ่งหนึ่งของที่เราได้รับ คือ ผู้บวชได้รับ ๖๔ กัป พ่อแม่ได้รับ ๓๒ กัป เปรียบเหมือนใคร     ตั้งบริษัทขึ้นมา ตัวเองเป็นผู้ถือหุ้น แล้วให้นักบริหารมืออาชีพมาบริหาร พอบริษัทมีกำไร ผู้ถือหุ้นก็ได้กำไรทั้งที่ไม่ได้ไปบริหารงาน นั่งอยู่เฉย ๆ  ก็ได้กำไร เพราะว่าเขาเป็นผู้ให้กำเนิดบริษัทนั้นมา เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ เวลามีกำไรเกิดขึ้นเขาก็ต้องมีส่วนได้ด้วย พ่อแม่ก็ได้บุญด้วยทำนองนี้       


บุญที่ได้รับจากการบวชแสนรูปกับบวชทีละรูปสองรูปต่างกันอย่างไร?


    มีความแตกต่างอย่างที่บอกไปแล้วว่า ถ้าเราบวชเป็นหมู่คณะจะมีพลังหมู่มาเสริมพลังเดี่ยว และมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอบรมอย่างดี ถ้าบวชรูปเดียวส่วนใหญ่ก็มีพระมาเป็นพี่เลี้ยง         ทำตัวอย่างให้ดูสักวันสองวัน มาแนะนำการครองจีวร การบิณฑบาต บอกให้ลงไปสวดมนต์         ตอนนั้นตอนนี้ เช้าทำวัตร เย็นไปทำวัตรอีกที กลางวันอาจจะว่าง บางคนเลยพาลเข้าใจผิดว่า    บวชแล้วไม่เห็นได้อะไร ถ้ามาบวชแสนรูปรับรองมีกิจวัตรกิจกรรมแน่น ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า คล้ายกับการบวชในครั้งพุทธกาล ที่ออกบวชตั้งใจปฏิบัติธรรมมุ่งนิพพาน 


    ในแง่ของผู้ที่มาอนุโมทนาในการบวช ถ้าเราไปร่วมงานบวชของญาติพี่น้อง คนรู้จัก อย่างที่มีการแห่นาคกัน เราก็ได้บุญ ยกเว้นใครที่แห่นาคไป ถือขวดเหล้าอยู่ในมือไปด้วย เผลอ ๆ ส่งขวดเหล้าให้นาคฉลองปิดท้าย พอเข้าโบสถ์เมาแอ๋เลย อย่างนี้ได้บาป แต่คนที่ไปอนุโมทนาถูกต้องก็ได้บุญ แต่ถ้ามาอนุโมทนาบวชแสนรูป มีผู้มาบวชเป็นหมื่นเป็นแสนคน จากครองผ้าขาวเป็นนาคเต็ม          ลานธรรม เสร็จแล้วเวียนประทักษิณบูชาเจดีย์ แล้วมารับศีลจากพระอุปัชฌาย์ แล้วก็ครองผ้าเหลือง ถ้าเราเห็นเราจะปลื้มไหม ภาพที่เห็นนี้เป็นทัสนานุตริยะ แปลว่า การเห็นอันประเสริฐ ภาพนี้       จะติดตาตรึงใจ ถึงคราวหลับตาลาโลกภาพนี้จะปรากฏขึ้น ทำให้ปลื้มใจ พอใจปลื้ม ใจก็ใส ใจใสก็ไปสวรรค์เลย ถ้าไปนึกถึงภาพกินเหล้าเมายา ใจก็หมอง ใจหมองก็ต้องไปอบาย เพราะฉะนั้น     การมาอนุโมทนาการบวชจำนวนมากอย่างนี้ บุญเราทับทวี แล้วอนุโมทนาผู้บวชไม่ใช่คนเดียว บวชหมื่นคนแสนคนบุญมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไปทำหน้าที่ชวนคนมาบวชอย่างเอาชีวิต เป็นเดิมพัน ลุยตากแดดตากฝน เหงื่อไหลไคลย้อย ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ถ้าอย่างนี้ตอนมาร่วม      พิธีบวชจะปลื้มกว่าปกติ เพราะเราเป็นคนที่สร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรง เราคือเจ้าของงาน เจ้าของบุญ ความปลื้มจะทับทวี ตอนนี้ให้รีบไปชวนคนมาบวชก่อน แล้วมาอนุโมทนาความสำเร็จในวันบวชกัน

 

โครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย บวชฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย 
โทร. ๐๒-๘๓๑-๑๒๓๔ หรือ www.dmycenter.com

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล