ฉบับที่ 47 กันยายน ปี 2549

บวชเป็นทีม อีก step ที่ยิ่งใหญ่ของการสร้างบารมี

 

         ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ มีนักธุรกิจผู้มีบุญ กลุ่ม Network 21 ได้ชักชวนเพื่อนร่วมงาน หมู่ญาติ และสาธุชน มาบรรพชาอุปสมบทพร้อมๆ กันเป็นทีม เพื่อฝึกฝนตนเอง และถวาย บุญอันบริสุทธิ์ที่เกิดจาก การบวชแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี รวมทั้งอุทิศบุญกุศลจากการบวชให้บิดามารดา และบุพการี

 


 

 

 

         ผู้มีบุญกลุ่มนี้ได้มาขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ประธานสงฆ์วัดพระธรรมกาย ให้ช่วยเหลือในเรื่องการฝึกอบรมผู้เข้าบวชจำนวน ๕๙๐ ท่าน และขอใช้สถานที่เพื่อจัดงานบวช และฝึกอบรมตลอดโครงการ

             การบรรพชาในครั้งนี้นาคธรรมทายาท และญาติมิตรที่มาร่วมงาน ได้ไปเวียนประทักษิณรอบมหาธรรมกายเจดีย์ การบรรพชาเสร็จสิ้นลงในช่วงเช้า ช่วงบ่ายมีพิธีอุปสมบท ในอุโบสถ การอุปสมบทหมู่ครั้งนี้นอกจากจะจัดขึ้นที่ วัดพระธรรมกายแล้ว ทางวัดพระธรรมกายยังได้ขอความร่วมมือไปยังวัดต่างๆ อีก ๘ วัด เพื่อให้ช่วยจัดพิธีอุปสมบท แก่นาคธรรมทายาทบางส่วนอีกด้วย โดยใช้เวลาอุปสมบททั้งสิ้น ๔ วัน

 

 

 

         เวลาในการอบรมตลอดโครงการมี ๒๑ วัน ฝึกตัวก่อนบวช ๗ วัน อยู่ในเพศสมณะ ๑๔ วัน ธรรมทายาทที่บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุมี ๕๘๗ รูป บรรพชาเป็นสามเณร ๓ รูป รวมทั้งสิ้น ๕๙๐ รูป ผู้บวชที่อายุมากที่สุด ๖๙ ปี น้อยที่สุด ๑๗ ปี อายุเฉลี่ย ๓๗-๓๘ ปี

 

               การบวชพระธรรมทายาท รุ่นฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี ครั้งนี้สำเร็จลงด้วยดี ด้วยความเมตตาจาก เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ๘ วัด ที่กรุณาร่วมจัดพิธีอุปสมบทให้ และ ด้วยความเมตตาจากพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ให้ความช่วยเหลืออย่าง เต็มกำลังในทุกๆ ด้าน อาทิ สถานที่บรรพชาอุปสมบท พระอาจารย์ประจำโครงการ ที่พัก อาหาร ตลอดจนสถานที่ ปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมในการบำเพ็ญสมณธรรม

 

 


    ๑.วัดสุทัศนเทพวราราม พระอุปัชฌาย์ คือพระวิสุทธาธิบดี พระธรรมรัตนดิลก
จำนวน ๖๐ รูป วันที่ ๒๐-๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
 
 
    ๒. วัดไตรมิตรวิทยาราม พระอุปัชฌาย์ คือ พระเทพมุนีจำนวน ๕๙ รูป วันที่ ๒๐-๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

 

    ๓.วัดยานนาวา พระอุปัชฌาย์ คือพระพรหมวชิรญาณ พระราชโมลี พระราชวชิราภรณ์จำนวน ๖๐ รูป
วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

   ๔.วัดสามพระยา พระอุปัชฌาย์ คือพระธรรมคุณาภรณ์ จำนวน ๖๐ รูป วันที่ ๒๐-๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

   ๕.วัดปทุมคงคา พระอุปัชฌาย์ คือ พระเทพรัตนสุธี จำนวน ๔๘ รูป วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

    ๖.วัดราชนัดดา พระอุปัชฌาย์ คือ พระราชเมธีจำนวน ๖๐ รูป วันที่ ๒๐-๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

   ๗. วัดราชสิงขร พระอุปัชฌาย์ คือ พระพิสณฑ์ปริยัติวิธานจำนวน ๖๐ รูป วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

   ๘. วัดเขียนเขต พระอุปัชฌาย์ คือ พระราชปริยัติยาภรณ์จำนวน ๖๐ รูป วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

  
  ๙.วัดพระธรรมกาย พระอุปัชฌาย์ คือ พระธรรมกิตติวงศ์ จำนวน ๑๒๐ รูป วันที่ ๑๙-๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

 


          แสนประทับใจ   

            ประสบการณ์จากการบวชในครั้งนี้ ประทับใจผู้บวชเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความพร้อมของ สถานที่บุคลากร การจัดพิธีกรรม งานบวชการฝึกอบรมเตรียมบวช

 

รวมทั้งกิจวัตรกิจกรรมขณะที่เป็นพระ ทุกท่านมีความปลื้มปีติว่า ได้ใช้ชีวิตในเพศสมณะอย่างสมบูรณ์ อุดมไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เปี่ยมไปด้วยบุญกุศลทุกวัน ทุกคืน เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เป็นต้นบุญต้นแบบ และเป็นเนื้อนาบุญที่ดีแก่ญาติโยม แม้บวชเพียงวันแรกญาติโยม ก็สามารถกราบได้อย่างสนิทใจ

            การได้มีโอกาสมาบวชด้วยกันเป็นทีม ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากๆ เพราะทุกๆ ท่านต่างก็เป็นกำลังใจ ให้กันและกัน ทำให้รู้สึกคึกคัก กระตือรือร้นอยากทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น ทำให้มีกำลังใจลุกขึ้นมานั่งสมาธิตอนตี ๔ ได้ ทั้งๆ ที่เวลาอยู่บ้านไม่เคยทำ

             ตลอดโครงการผู้เข้าอบรมทุกท่าน ต้องผ่านการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างหนัก ต้องตื่นนอนตี ๔ เข้านอน ๔ ทุ่ม มีกิจกรรมทั้งวัน เพื่อฝึกตนให้เป็นพระแท้ ให้มีเสขิยวัตรที่งดงาม ตามพระธรรมวินัย และตั้งใจนั่งสมาธิเพื่อ ทำพระนิพพานให้แจ้ง ดังที่พระเดชพระคุณ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้อบรมสั่งสอน ดังนั้นตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ ทุกท่านจึงได้ใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่าสุดๆ

           นอกจากนี้การบวชยังทำให้มีโอกาส ได้ศึกษาหลักธรรม ทำให้มีสัมมาทิฏฐิมากขึ้น เข้าใจกฎแห่งกรรม มากขึ้น และตระหนัก ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร การได้ฝึกอบรมในภาคทฤษฎี การได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และการถือศีล ๒๒๗ ข้อ ทำให้ผู้บวชมีความอดทนพร้อมที่จะเผชิญโลก มีสติ รอบคอบ มีเหตุมีผลมากขึ้น และในช่วงที่บวชนี้ ผู้บวชมีเวลานั่งสมาธิ มาก ทำให้ผลการปฏิบัติธรรมดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อานิสงส์อันไพบูลย์ของการบวช

 

 

         สรรพสิ่งต่างๆ ในโลกเรานี้ ล้วนมีด้านตรงข้ามกันเสมอ เช่น มีมืด ก็มีสว่าง มีดี ก็มีชั่ว สิ่งใดมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นก็มักจะมีโทษมหันต์ แต่..พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสามัญญผลสูตรว่า มีอยู่ สิ่งหนึ่งที่มีแต่ด้านดีเพียงด้านเดียว ไม่มีด้านตรงข้ามเลย สิ่งนั้นก็คือ ผลของการเป็นนักบวชที่ดี ในพระพุทธศาสนาพระภิกษุ สามเณร ที่ครองชีวิตเป็นนักบวชที่บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างแท้จริง ประพฤติตนถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถึงพร้อมด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ มีสติสัมปชัญญะ มีความสันโดษ และหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ย่อมได้รับอานิสงส์ที่ดีงามนานัปการโดยไม่มีผลเสีย ใดๆ เลย

        ผลในเบื้องต้น คือ ได้ยกฐานะจากผู้นับถือพระรัตนตรัยไปเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย และมีสิทธิได้รับการบำรุงด้วยปัจจัย ๔ จากฆราวาส ผลในเบื้องกลาง ทำให้มีโอกาสได้อบรมจิตใจให้เป็นสมาธิยิ่งๆ ขึ้น จนกระทั่งบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ ผลในเบื้องสูง ทำให้บรรลุวิชชา ๘ ได้แก่การบรรลุมรรคผลนิพพาน พบสุขอันเกษม สิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง

 

 

     นอกจากผลดีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การบวชยังเป็นบุญที่มีอานิสงส์อันไพบูลย์ ที่จะคอยติดตามส่งผลให้ผู้บวชและผู้สนับสนุนการบวช ได้เกิดในร่มเงาของพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสสั่งสมบุญ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เวียนว่ายตายเกิดแต่ในมนุษยโลก และเทวโลก ตราบกระทั่งเข้าถึงพระนิพพาน

        ในเมื่อการบวชมีอานิสงส์ อันมากมายเช่นนี้ ผู้ที่ทราบถึงอานิสงส์ของ การบวชต่างก็ปรารถนาที่จะได้บุญนี้กันทั้งสิ้น ดังเช่นในอดีต หลังพุทธปรินิพพาน ๒๓๔ ปี พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง พระองค์ได้สร้างมหาวิหารถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ ประดับด้วยพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ประดิษฐานทั่วชมพูทวีป พระองค์ทรงมีมหาปีติในบุญอย่างยิ่ง เมื่อได้ทำบุญใหญ่ถึงเพียงนี้แล้ว จึงตรัสถามพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเป็นทายาทแห่งพระศาสนาหรือยัง" ท่านตอบว่า "มหาบพิตร ผู้ถวายปัจจัยได้ชื่อว่าเป็นผู้อุปัฏฐากเท่านั้น แม้ผู้ใดถวายปัจจัยกองตั้งแต่แผ่นดินจนถึงพรหมโลก ผู้นั้นก็ยังไม่นับว่าเป็นทายาทในพระศาสนา บุคคลใด จะเป็นผู้มั่งคั่งก็ตาม จะเป็นผู้ยากจนก็ตาม ให้บุตรของตน บวชในพระศาสนา จึงจะได้เป็นทายาทแห่งพระศาสนา" พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงให้ราชโอรสบวชเป็นพระภิกษุ และให้ราชธิดาบวชเป็นภิกษุณี ด้วยหวังที่จะได้เป็นทายาท แห่งพระศาสนา ซึ่งเป็นทางมาแห่งบุญที่ยากจะนับจะประมาณได้

        ถ้อยคำของพระมหาเถระเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า อานิสงส์ของการบวชมีมากมายมหาศาลเพียงใด แม้ใครจะถวายทรัพย์กองท่วมฟ้า ก็ยังไม่อาจมีบุญได้เป็นทายาทของพระศาสนา

โครงการต่อเนื่อง

        ผู้มีบุญกลุ่มนี้ได้ทราบถึงอานิสงส์ของการบวชและได้มาสัมผัสกับผลดีของการบวชด้วยตนเอง จึงทำให้พวกเขามั่นใจว่า การบวชเป็นวิธีที่สร้างคนให้เป็นคนดีได้มากที่สุดและง่ายที่สุด จึงอยากแบ่งปัน สิ่งดีๆ ให้แก่ผู้อื่นบ้าง ดังนั้นพวกเขาจึงวางแผนจะจัดงานบวชเป็นทีมขึ้นอีก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยตั้งเป้าว่าจะชวนคนมาบวชให้ได้ ๑,๐๐๐ คน ให้เป็นทีมที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เชื่อว่าความสำเร็จอย่างงดงามของโครงการนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายๆ ท่านอยากจะมาช่วยกันทำงานเพื่อสืบทอดและเผยแผ่พระศาสนา โดยจัดทำโครงการดีๆ แบบนี้ให้ขยายกว้างออกไป อันจะส่งผลให้สังคม และประเทศชาติ รวมไปถึงโลกของเรามีสันติสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล