จบ
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก โดย พระภาวนาวิริยคุณ
ขทิรังคารชาดก
:: สาเหตุที่ตรัสชาดก ::
.....หลังจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างเชตวันมหาวิหารถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังคงเอาใจใส่บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ ทานทั้งหลายที่ท่านบริจาคนั้นมากมายจนมิอาจประมาณค่าได้ ณ ซุ้มประตูที่ ๔ ของเรือนท่าน มีเทวดามิจฉาทิฎฐิองค์หนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ ทุกครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพุทธสาวกเสด็จผ่านเข้าไปในเรือน เทวดาไม่พอใจเพราะต้องอุ้มลูกลงไปอยู่ที่พื้นดิน เนื่องจากมีคุณธรรมต่ำกว่า แต่เทวดาไม่กล้าจะไปบอกกับท่านเศรษฐีเอง
.....คืนหนึ่งจึงได้แผ่รัศมีปรากฏกายให้บุตรชายของท่านเศรษฐีเห็นพร้อมกับกล่าวว่า ให้เลิกทำทานเสียเถิดเพราะสมบัติอาจหมดไปได้ บุตรชายเศรษฐีโกรธที่เทวดาดูหมิ่นพระรัตนตรัยและไล่เทวดาให้ออกไป ท่านเศรษฐียังคงเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัยและให้ทานอยู่เป็นนิตย์ จนกระทั่งช่วงหนึ่งท่านถึงความยากจนลงโดยลำดับ เทวดาผู้มีมิจฉาทิฎฐิจึงเข้าไปในห้องเศรษฐี แล้วยุยงให้เลิกทำทาน แต่ถูกท่านเศรษฐีไล่ให้ออกจากบ้านของตน เทวดาจึงได้คิดและสำนึกผิด ไปหาท้าวสักกเทวราชขอร้องให้ท่านพูดกับท่านเศรษฐีให้ แต่ท้าวสักกเทวราชตอบว่าไม่อาจทำได้ เพราะท่านได้กล่าวถ้อยคำอันไม่สมควร แต่แนะให้ไปตามทรัพย์สมบัติของท่านเศรษฐีที่สูญหายไปกลับคืนมายังคลังให้หมด เป็นการทำคุณไถ่โทษ ท่านอาจยกโทษให้ เทวดามิจฉาทิฏฐิรับเทวโองการแล้ว ไปตามสมบัติจนเรียบร้อยแล้วจึงไปขอให้ท่านยกโทษให้ ท่านเศรษฐีกล่าวว่า ต้องให้พระบรมศาสดาอดโทษให้
..... รุ่งขึ้นจึงพาเทวดานั้นไปยังเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ เมื่อพระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ ดูก่อนคฤหบดี บุคคลผู้กระทำกรรมลามกในโลกนี้ เมื่อกรรมอันเป็นบาปนั้น ยังไม่ให้ผล บุคคลผู้นั้นยังได้รับความสุข ความเจริญอยู่ ต่อเมื่อใด กรรมอันเป็นบาปนั้นให้ผล ตนจึงได้รับผลแห่งบาปนั้น ” เมื่อจบพระคาถา เทวดานั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล
.....จากนั้นพระบรมศาสดาได้ตรัสยกย่องท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่าเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย และมีความเห็นอันบริสุทธิ์ แล้วจึงตรัสเรื่อง ขทิรังคารชาดก
:: ข้อคิดจากชาดก ::
..... ๑ . มิจฉาทิฏฐิมีทั้งในเทวดาและมนุษย์ ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวเดียวกันควรต่างเอาใจใส่ เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน
..... ๒ . การพักอาศัยอยู่กับผู้อื่นในฐานะใดก็ตาม อย่าได้นิ่งดูดาย ควรทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าบ้าน แม้ช่วยได้เพียงเล็กน้อยก็ควรทำ
..... ๓. ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
..... ๔. ในการทำความดี ควรมีจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เพราะบุญเท่านั้นที่ติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ