ฉบับที่ ๑๕๕ เดือนกันยายน ๒๕๕๘

นักสร้างบารมีกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 


นักสร้างบารมีกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

 

อุปกรณ์สื่อสารมีผลดีผลเสียอย่างไร?


    ในดีมีเสีย ในเสียมีดี อยู่ที่ว่าเราฉลาดในการเลือกใช้หรือไม่ เทคโนโลยีเหล่านี้ในแง่หนึ่งทำให้ศักยภาพของมนุษย์เพิ่มขึ้น เปรียบเสมือนเป็นอุปกรณ์ช่วยให้   เรามีหูทิพย์ ตาทิพย์ หูทิพย์ ก็คือ สามารถคุยกับคนที่อยู่ไกล ๆ ได้ ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องเขียนจดหมาย กว่าจะส่งไปถึงต้องใช้เวลาหลายวัน แต่เดี๋ยวนี้จะอยู่มุมไหนของโลก แค่กดโทรศัพท์มือถือก็คุยกันได้หมด ส่วน     ตาทิพย์ก็คือ สามารถเห็นภาพที่อยู่ไกล ๆ ได้ 


    การมีหูทิพย์ ตาทิพย์ โดยภาพรวมน่าจะดี แต่ถ้าไปฟังหรือดูเรื่องที่ไม่เข้าท่า ก็ทำให้ใจเราตกต่ำได้ เพราะฉะนั้นการมีหูทิพย์ ตาทิพย์ มีฤทธิ์มากขึ้น ก็เป็นสิ่งดี แต่ถ้ามีฤทธิ์แล้วไปตกหลุมพรางของความมีฤทธิ์ เราจะแย่ เช่น ในครั้งก่อน มีดาบสบำเพ็ญฌานสมาบัติจนเหาะได้ ต่อมาเหาะข้ามพระราชอุทยานหลวงแล้วไม่สำรวมตา มองเห็นพระมเหสีนุ่งห่มรุ่ย ๆ ร่าย ๆ กิเลสกำเริบขึ้น ญาณเสื่อม ตกลงมาในอุทยานเลย เพราะฉะนั้นในความมีฤทธิ์นั้น เราจะต้องรู้จักการควบคุมให้มากขึ้น เหมือนคนที่ไม่มีฝีมือทางดาบ ถ้าเอามีดมาไว้ทำครัวก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีฝีมือใช้ดาบซามูไรได้คล่อง มีความสามารถเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีวินัย จะทำความเสียหายได้มาก เพราะว่ามีฤทธิ์เพิ่มขึ้น 


    เราเป็นเจ้าของฤทธิ์ เราต้องควบคุมฤทธิ์ได้ บางคนไปฝึกวิชาอยู่ยงคงกระพัน วิชาหนังเหนียว ฝึกแล้วร้อนวิชา รู้สึกว่าเราแน่กว่าคนอื่น คนทั่ว ๆ ไปเวลามีคนมองหน้าก็เฉย ๆ อย่างมากรำคาญ แต่พอหนังเหนียว ใครมองหน้าไม่ได้ ต้องเข้าไปถามเลยว่ามีปัญหาอะไร พร้อมจะมีเรื่องตลอดเวลา เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีดี บางคนหนังเหนียวถูกเขาแทงไม่เข้าก็จริง แต่โดนค้อนทุบกระดูกหักทั้งตัวก็มี 


    ในยุคปัจจุบัน คนมีฤทธิ์มากขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา บางคนเอาความสามารถไปใช้ในทางลบ ไปเป็นแฮกเกอร์เจาะระบบคนอื่น เจาะเข้าไปในระบบธนาคาร จะไปเอาเงินจากบัตรเครดิตก็มี สิ่งเหล่านี้ก็คือ ในดีมีเสีย แต่ถ้าเรามีฤทธิ์แล้วใช้ฤทธิ์ในทางที่ถูก เช่น ใช้เป็น           ช่องทางในการค้นคว้าหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำงาน เพื่อติดต่อสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว อย่างนี้ก็เป็นประโยชน์ 


เราจะมีวิธีเลือกรับข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไร?


    ข้อมูลแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ๒. ข้อมูลที่กลาง ๆ ๓. ข้อมูลที่เป็นโทษ 


    ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เป็นข้อมูลที่เป็นความรู้ซึ่งมีหลายระดับ ถ้าข้อมูลนั้นเกี่ยวกับงานที่เราทำ ก็เป็นประโยชน์โดยตรง บางเรื่องเป็นความรู้แวดล้อมที่ช่วยให้เรามีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ มีวิสัยทัศน์ในการมองโลก อันนี้ก็เป็นประโยชน์ถัดมา แต่บางอย่างเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ ไม่เกี่ยวกับเรา ก็กลายเป็นข้อมูลกลาง ๆ ถ้าเราไปหลงเพลินก็ไม่ถึงกับเป็นโทษ แต่ทำให้เสียเวลาและเสียสุขภาพ สมาธิที่จะทำการงานก็เสียไป ส่วนข้อมูลประเภทที่ ๓ คือ ข้อมูลที่เป็นโทษ เช่น เรื่องเกี่ยวกับทางเพศ ความรุนแรง เป็นต้น ถ้าเราไปจมอยู่กับข้อมูลแบบนี้ จะทำให้เราเสียทั้งสุขภาพและเวลา คุณภาพใจก็จะตกต่ำลงด้วย ใจคนยังมีกิเลส ถ้าไปจมอยู่กับข้อมูลที่เป็นโทษ มันจะดึงให้เราจมลง ๆ ชีวิตแย่ไปเลย เพราะฉะนั้นต้องรีบถอนตัวมาอยู่กับข้อมูลด้านบวก ตัดสิ่งเหล่านี้ให้หลุดไปจากใจ


มีวิธีส่งสารอย่างไรไม่ให้กระทบกระเทือนผู้อื่น และไม่เป็นภัยต่อตัวเราเอง?


    วิธีส่งสารมี ๒ แบบ คือ แบบที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น เรามีความรู้เรื่องอะไร เราก็ให้ความรู้เรื่องนั้นแก่โลก เช่น วิกิพีเดีย ซึ่งเป็นสารานุกรมเสรีที่เกิดจากคนมาช่วยกันแชร์ความรู้ ใครรู้เรื่องอะไรก็พยายามอัปโหลดข้อมูลขึ้นไปให้คนอื่นมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ของเรา แทนที่จะเก็บไว้กับตัวก็เอามาแบ่งปันกันโดยไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน แค่มีคนเข้ามาดูเราก็ชื่นใจ อย่างนี้ถือว่าเป็นวิทยาทาน ถ้าเป็นสมัยก่อน คนที่มีความรู้ ถ้าไม่ใช่ครูไปสอนลูกศิษย์ จะไปพูดให้คนอื่นฟัง ก็มีคนฟังไม่กี่คน แต่เดี๋ยวนี้พอนำเข้าไปในโลกไซเบอร์แล้ว ถ้าทำดี ๆ มีสิทธิ์ที่จะมีคนมาดู     เป็นแสนเป็นล้าน เป็นช่องทางในการแบ่งปันความรู้จากเราไปสู่คนอื่น อันนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นการให้ด้วยกุศลจิต 


    อีกแบบหนึ่งก็คือ เรื่องของความเห็น อันนี้ต้องระวังให้ดี อาจเป็นอันตรายได้ อย่างในชีวิตประจำวัน เวลาเราจะพูดจากับใครก็ต้องคอยระวังตัว เพราะถ้าพูดไม่ดีก็จะเสียภาพลักษณ์ เนื่องจากเห็นหน้ากันอยู่ กลัวเขาจะว่าเป็นคนหยาบคาย กระด้าง ก้าวร้าว แต่พอเข้าไปในโลกออนไลน์       ที่ไม่เห็นตัวกัน หรือเห็นก็ไม่ชัด ทำให้รู้สึกว่าพูดอะไรไปแล้วไม่ต้องรับผิดชอบเท่าไร ก็เลยไม่ห่วงว่าจะเสียภาพลักษณ์ บางทีใช้คำพูดหยาบ ๆ คาย ๆ ชนิดที่ในชีวิตจริงไม่ค่อยมีใครพูด


    ในโลกออนไลน์บางแห่งว่ากันแบบหนัก ๆ เสียหายมาก เราอย่าไปทำ เพราะไม่ได้แค่        เสียภาพลักษณ์ แต่โทษจริง ๆ เกิดขึ้นที่ใจของเรา ทันทีที่เราใช้คำหยาบออกไป ทุกอย่างที่เราคิด พูด ทำ จะเกิดเป็นภาพในใจ พอเราคิดเรื่องหยาบ ๆ ร้าย ๆ คิดปั๊บใจร้อนเลย แล้วพอจะสื่อออกไป ก็จะเป็นการตอกย้ำ ใจจะขุ่นเหมือนเอาขยะไปไว้ในใจ ทำให้คุณภาพใจตกต่ำ บาปเกิดขึ้นแล้วถ้าทำบ่อย ๆ ละโลกแล้วจะไปอบาย ตกนรกขุม ๔ น่ากลัวทีเดียว 


    บางคนพยายามหาคำที่เจ็บที่สุด ด่าให้เจ็บที่สุด เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งแสบเข้าไปถึงทรวง ทำแล้วรู้สึกสะใจ แบบนี้วิบากกรรมจะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีบุญช่วยเอาไว้จะตกนรก โดนเอาน้ำกรดมาราดแสบเข้าไปถึงทรวง ถึงกระดูก น้ำกรดมันกัดเนื้อถึงกระดูกจริง ๆ ทุกอย่างที่เราแสดงออกไป          จะย้อนกลับมาถึงตัวเราหมด แล้วแรงกว่าเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเท่า 


    เพราะฉะนั้นขอเตือน ถ้าใครทำอยู่ก็ให้ยึดหลัก “อดีตที่ผิดพลาดลืมให้หมด จากนี้ไปไม่ทำอีกเด็ดขาด” ส่วนคนที่ไม่ได้แสดงความเห็นก็พยายามอย่าไปอ่าน ตรงไหนที่เขาใช้คำหยาบ ๆ แรง ๆ อย่าไปกดไลค์ กดแชร์ เพราะการที่มีคนสนับสนุนเยอะ จะทำให้เขารู้สึกภูมิใจว่า คำแสบ ๆ ของเขามีคนชอบเยอะ เป็นการให้กำลังใจคนทำไม่ดีให้มีกำลังใจทำมากขึ้น เราก็มีส่วนอนุโมทนาบาป     ไปด้วย ขณะเดียวกันพอเราไปเสพคุ้นกับสิ่งเหล่านี้ ใจเราจะค่อย ๆ หยาบโดยไม่รู้ตัว ไม่เป็นผลดีต่อคุณภาพใจ เราต้องรู้เท่าทัน ไม่แสดงสิ่งที่หยาบคายออกไป แล้วก็ไม่ไปเสพสิ่งที่หยาบคายด้วย ถ้าจะนำเสนอ ก็นำเสนอข้อมูลที่ดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อโลก


มีวิธีใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างไรให้เกิดความพอดีและเหมาะสม?    


    ในบางอาชีพ บางหน้าที่การงาน การอัปเดตข้อมูลที่ทันการอาจมีความจำเป็น แต่ไม่ใช่     การคุยเรื่อยเปื่อยไร้สาระ ถ้าผู้ใหญ่ถามมา เพื่อนร่วมงานถามมา แบบนี้การเช็กอยู่เป็นระยะ ๆ เป็นประโยชน์ ทำให้งานเคลื่อนตัวได้เร็ว แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดีและความเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป วันหนึ่งเช็ก ๓-๔ ครั้งก็พอ ถ้าเช็กชั่วโมงละ ๓-๔ ครั้งมากเกินไป กลายเป็นนิสัยไปแล้ว ถ้าไม่ได้ทำรู้สึกมันขาดอะไรสักอย่าง ไม่มีอะไรก็เปิดดูไปเรื่อย ๆ แค่นั้นเอง อย่างนี้เสียประโยชน์ ทำให้มีแนวโน้มสมาธิสั้น พอทำอะไรแป๊บหันไปทำอย่างอื่นแล้ว นี้คือโทษอย่างหนึ่งของความมีฤทธิ์ ทำให้เสียสมาธิในการทำการงานต่าง ๆ สิ่งที่ช่วยได้มากก็คือ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ ระหว่างสวดมนต์ นั่งสมาธิ ปิดโทรศัพท์เลย พอเราทำแบบนี้ได้ จะเป็นการฝึกพื้นฐานว่าเรา         คุมมันได้ และทำให้ใจเรานิ่งด้วย


    ในยุคปัจจุบันพอฤทธิ์เรามากขึ้น สามารถไปเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ ผ่านโลกออนไลน์ แล้วสามารถพูดคุยกับคนได้มากมาย ทั้งโดยการพูดและการพิมพ์ ผลก็คือ มีเรื่องราวมาสู่ใจเรามากเหลือเกิน ทำให้ใจเรากระเพื่อม ไม่ค่อยนิ่ง แต่การนั่งสมาธิเป็นการฝึกให้ใจเรานิ่งเพียงพอที่จะรับมือกับกระแสข้อมูลที่ท่วมท้นมาทุก ๆ ทาง และยังช่วยฝึกวินัยในการใช้สื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย


บริษัทผลิตอุปกรณ์สื่อสารพยายามออกเครื่องใหม่ ๆ และเพิ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ ตัวเราในฐานะผู้ใช้ต้องเปลี่ยนเครื่องให้ทันสมัยทุกครั้งหรือไม่?  


    ให้ใช้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อหน้าที่การงานและความเป็นอยู่ของเรา ไม่ใช้เพราะเป็นแฟชั่น    คนอื่นมีเราต้องมีบ้าง บางคนของเก่าเพิ่งซื้อมา ยังผ่อนไม่หมดเลย ซื้อเครื่องใหม่อีกแล้ว อย่างนี้กลายเป็นทาสเทคโนโลยี ทาสแฟชั่น พอเห็นโฆษณาก็รู้สึกอยากได้ ที่จริงถ้าเขายังไม่ออกรุ่นใหม่ เราก็ใช้ของเก่าได้ ในเมื่อยังใช้ได้จะไปเปลี่ยนทำไม เพราะฉะนั้นให้ใช้นาน ๆ จนกว่าถึงคราว       จะต้องเปลี่ยน เช่น เครื่องหมดสภาพหรือเสียบ่อย แบบนี้ค่อยหาเครื่องใหม่มาทดแทน 


การใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ ถ้าใช้นาน ๆ อาจมีผลต่อสุขภาพ เราจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร?    


    เครื่องมือเหล่านี้จะเกิดปัญหาที่ ๑. ตา ๒. ถ้าพิมพ์ก็เป็นนิ้ว ๓. การนั่งอยู่บนเก้าอี้ อยู่หน้าจอบ่อย ๆ จะมีปัญหาที่กล้ามเนื้อบริเวณคอบ้าง ที่หลังบ้าง ช่วงเอวบ้าง ช่วงขาบ้าง เพราะฉะนั้นเราต้องบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น หาโอกาสเดินวันหนึ่งสัก ๒-๓ กิโลเมตร ให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหว ออกกำลังกายทางนิ้วบ้าง คอก็เอี้ยวไปเอี้ยวมา กล้ามเนื้อตาก็มีการบริหาร กลอกตาไปมา ไม่ใช่ให้ตาแข็งค้างจ้องอยู่ข้างหน้า มองขึ้นไปข้างบนบ้าง ทแยง     เฉียงบ้าง ซ้ายขวาบ้าง อย่างนี้ใช้เวลาประมาณนาทีเดียวเท่านั้นเอง กล้ามเนื้อตาก็จะแข็งแรงขึ้น จะใช้นาน ๆ ก็ยังพอรับมือไหว ดังนั้นเราต้องรู้จักการบริหารร่างกายให้พอดี และใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้แต่พอดี 


    เคยมีข่าวคนกดโทรศัพท์มือถือมากไปจนกระทั่งนิ้วล็อก ข้อล็อก ต้องผ่าตัด แต่แก้ไม่หายเพราะระหว่างเข้าเฝือกอยู่ก็ยังเอามือถือมากดต่อเพราะติด แต่เขาบอกว่าลดลงแล้ว เมื่อก่อนใช้ประมาณ ๒๐๐ ข้อความ หลังผ่าตัดมือเข้าเฝือกเหลือประมาณ ๕๐ ข้อความ อย่าปล่อยให้ถึงจุดนี้ ถ้ารู้สึกว่าท่าจะไม่ค่อยดีต้องเบรกตัวเอง สำรวจว่าอันไหนมีความจำเป็น อันไหนเรื่อยเปื่อยไร้สาระ ถ้าจะคุยยาวก็ยกหูโทรศัพท์คุยให้หมดเรื่องหมดราวไปเลย ไม่ต้องกดยาว ๆ


ในฐานะที่เราเป็นนักสร้างบารมี มีข้อควรระวังอะไรเป็นพิเศษบ้าง?


    อยากจะฝากไว้ ๒ ประเด็น ประเด็นแรก เทคโนโลยีจะดีเมื่อเราเป็นนาย มันเป็นบ่าว เรา เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมาเสริมการทำงานของเราให้สมบูรณ์ขึ้น อย่างนี้ดี แต่เมื่อไรเทคโนโลยีเป็นนาย เรากลายเป็นบ่าว อย่างนี้ไม่ดี สัญลักษณ์ที่บอกว่าเทคโนโลยีเป็นเจ้านายเราเสียแล้ว เราถูกมันควบคุมแล้วก็คือ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ควรทำก็ยังทำเพราะความเคยชิน อย่างนี้เรากลายเป็นทาสมัน   เสียแล้ว หรือว่าต้องหาทางดิ้นรนเปลี่ยนเครื่องใหม่ตลอดเวลา ทั้งที่เครื่องเก่ายังใช้ได้ แบบนี้เป็นทาสของเทคโนโลยีในแง่แฟชั่น อย่างนี้ไม่ดี ให้เลี่ยงออกมาจากการเป็นทาสเทคโนโลยีให้ได้ แล้วมาเป็นนายเพื่อเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้สนองการทำงานของเรา 


    ประเด็นที่สอง อะไรที่ทำให้เราเสียคุณภาพของใจ อะไรที่จะดึงใจเราให้ไหลลงไปสู่ที่ต่ำ ต้องหลีกเลี่ยง ยุคนี้เราต้องมีวินัยในตัวเอง เพราะไม่มีใครคุมเราได้ มือถือเครื่องเล็ก ๆ ก็เหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง มีทุกอย่างอยู่ในนั้น พ่อแม่จะคุมลูกยังไม่มีปัญญาคุมเลย สมัยก่อนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องโต ๆ ยังพอคุมได้ แต่เดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่มีปัญญาคุม สุดท้ายอยู่ที่ว่าทุกคนต้องควบคุมตัวเอง สิ่งใดทำให้คุณภาพใจเราตกต่ำต้องหลีกเลี่ยง แล้วเอาใจมาอยู่กับสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์ ที่สร้างสรรค์

 


ติดตามชมรายการ “ข้อคิดรอบตัว” ได้ทางช่อง DMC หรือ www.dmc.tv
 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล