ฉบับที่ ๑๗๐ เดือนธันวาคม ๒๕๕๙

พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

พระไตรปิฎก
มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย ,  พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ , บทความน่าอ่าน

 นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนา “กรุงเทพมหานคร” เป็นเมืองหลวงของราชธานี จวบจนปัจจุบันนับเป็นเวลา ๒๐๐ กว่าปี ที่ปวงชนชาวไทยอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้พระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้ครองแผ่นดินทั้ง ๙ พระองค์ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนและองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกผู้ยอยกให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ทรงใช้หลักธรรมในการบริหารปกครองประเทศให้ก้าวหน้าและรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ทั้งหลาย และทรงสนับสนุนให้มีการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนามาอย่างตลอดต่อเนื่อง เพื่อหยั่งรากพระธรรมคำสอนให้แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินธรรม

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย ,  พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ , บทความน่าอ่าน
พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ หลังเสร็จสิ้นการสังคายนา

      หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สานต่องานรวบรวมคัดลอกคัมภีร์พระไตรปิฎกที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงริเริ่มไว้แต่ครั้งกรุงธนบุรี แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวงเสร็จสมบูรณ์ แต่กระนั้นข้อความในพระไตรปิฎกฉบับหลวงที่รวบรวมขึ้นใหม่นี้ยังคลาดเคลื่อนอยู่มาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ณ วัดนิพพานาราม โดยนำคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวง ที่ทรงให้สร้างขึ้นก่อนหน้านั้นมาตรวจสอบ พระไตรปิฎกชุดนี้จึงเรียกว่าฉบับสังคายนา หรือ ฉบับครูเดิม และเรียกฉบับที่จารจารึกหลังการสังคายนาว่า ฉบับทองใหญ่


วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย ,  พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ , บทความน่าอ่าน
คัมภีร์ขนฺธวารวคฺคปาลิ สํยุตฺตนิกาย ฉบับรดน้ำแดงไม้ประกับลายทองจีนมีสัญลักษณ์ประจำรัชกาล
อยู่ที่ริมขวาและซ้ายของลานที่ใบปกรองและใบปกหลังของคัมภีร์แต่ละผูก

     ต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ รับสั่งให้สำรวจตรวจสอบคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ประดิษฐาน ณ หอพระมณเฑียรธรรม ทำให้พบว่าคัมภีร์พระไตรปิฎกหลวงบางชุดสูญหายไป จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกหลวงขึ้นซ่อมแซมฉบับที่สูญหายไปจนครบบริบูรณ์ และได้สร้างคัมภีร์ใหม่ขึ้นอีกฉบับ เรียกว่าฉบับรดน้ำแดง

      มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็นยุคที่มีการสร้างพระไตรปิฎกจำนวนมากและมีความประณีตงดงามยิ่งกว่าฉบับที่สร้างในรัชกาลก่อนๆ อีกทั้งอักขระก็มีความถูกต้องครบถ้วน เพราะเหตุที่ทรงให้การสนับสนุนทั้งการศึกษาภาษาบาลีและอักขระอื่นๆ ได้แก่ อักษรสิงหลและอักษรมอญไปควบคู่กัน เพื่อประโยชน์ในการปริวรรตถ่ายถอดภาษาบาลีที่จารลงในใบลานด้วยอักษรมอญและสิงหลให้เป็นอักษรขอมอย่างถูกต้องแม่นยำ


วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย ,  พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ , บทความน่าอ่าน
ฉบับรดน้ำเอกมีการตกแต่งหรือเขียนด้วยลวดลายรดน้ำบนพื้นรักดำที่ใบลานปกหน้า
และปกหลังด้วยความพิถีพิถันและเป็นคัมภีร์ที่ประณีตงดงาม


วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย ,  พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ , บทความน่าอ่าน
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคัมภีร์ทุกเล่มของพระไตรปิฎก
จุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒ และตัวอย่างหน้าแรกจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก

     
     เมื่อล่วงเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ตอนกลางพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีบทบาทในการสร้างพระไตรปิฎกตั้งแต่สมัยดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาพระไตรปิฎกอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทรงรับเป็นธุระตรวจสอบคัมภีร์พระไตรปิฎกที่มีในแผ่นดิน และโปรดเกล้าฯ ให้เสาะหาคัมภีร์จากต่างประเทศมาเทียบเคียงและเสริมส่วนที่ขาดหายให้สมบูรณ์ โปรดเกล้าฯ ให้สมณทูตไปอัญเชิญคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกามาสู่สยามขณะเดียวกัน หากคัมภีร์ใดไม่มีในลังกาก็ทรงให้พระภิกษุสงฆ์ชาวสิงหลแลกเปลี่ยนไปคัดลอกได้ เป็นการค้นคว้าแลกเปลี่ยนความรู้ทางพระพุทธศาสนาและเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง ๒ ประเทศให้แน่นแฟ้นขึ้น

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์ใบลานหลวงด้วยอักษรขอมตามธรรมเนียมปฏิบัติแห่งพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี และมีพระบรมราชโองการให้พิมพ์พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ชุดละ ๓๙ เล่มพระราชทานไปยังวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยและสถาบันการศึกษาทั่วโลก การเปลี่ยนวิธีการบันทึกพระไตรปิฎกจากการจารจารึกลงในใบลานเป็นการพิมพ์ด้วยกระดาษเย็บเข้าเล่มเป็นหนังสือ และเปลี่ยนอักษรที่บันทึกเนื้อความจากอักษรขอม ซึ่งถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาลมาเป็นอักษรสยาม นับว่ามีนัยสำคัญในการแสดงอำนาจทางอารยธรรมและภูมิปัญญาของชาวสยามให้เป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ เนื่องจากขณะนั้นสยามประเทศกำลังประสบปัญหาการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ดังนั้นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์จึงทรงคุณค่าแห่งการสืบทอดพระพุทธศาสนาและเป็นส่วนหนึ่งแห่งการรักษาอธิปไตยของชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

     ต่อมา สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้ทรงเป็นแม่กองชำระคัมภีร์อรรถกถา แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้จัดพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎกเป็นเล่มสมุดพระราชทานในราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ และพระราชทานในนานาประเทศ ๔๐๐ จบ ทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรและรับสั่งให้เปลี่ยนระบบการสอบบาลีสนามหลวงจากการสอบปากเปล่ามาเป็นการสอบด้วยวิธีเขียน ตั้งแต่ประโยค ๑-๙ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

      ยุครัตนโกสินทร์ตอนปลายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐสืบต่องานซึ่งพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ ๕ ทรงริเริ่มไว้ ๓๙ เล่ม ให้สมบูรณ์ครบทั้ง ๔๕ เล่ม เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช ทรงกราบอาราธนาพระภิกษุสงฆ์และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไปมีส่วนในการสถาปนา ตราสัญลักษณ์หน้าปกรูปช้างจึงสื่อความหมายว่าพระไตรปิฎกฉบับนี้เป็นของชาวไทยทุกคน
 

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย ,  พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ , บทความน่าอ่าน
พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ อักษรโรมัน


วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย ,  พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ , บทความน่าอ่าน

พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน มหามกุฏราชวิทยาลัย


       ต่อมา รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เริ่มมีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย มีทั้งพระไตรปิฎกแปลโดยอรรถและพระไตรปิฎกแปลโดยสำนวนเทศนา แต่กระทำได้ไม่เสร็จสมบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ จึงทรงสืบสานดำเนินงานแปลพระไตรปิฎกที่ค้างมาตั้งแต่สมัยพระบรมเชษฐาจนเสร็จสมบูรณ์ ฉบับแรก คือพระไตรปิฎกภาษาไทย เป็นพระไตรปิฎกแปลโดยอรรถ และพระไตรปิฎกฉบับหลวงแปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน นอกจากนี้ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีหลายหน่วยงานจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับต่างๆขึ้น เนื่องในวาระต่างๆ อาทิ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ อักษรโรมัน พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระไตรปิฎกบาลี-ไทย ฉบับภูมิพโลภิกขุ และพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น

     พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ทรงนำชาติให้พัฒนาและก้าวผ่านภยันตรายต่างๆ ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงนำหลักการทางพระพุทธศาสนามาบริหารแผ่นดินให้พสกนิกรชาวไทยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขทั้งยังทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดี นอกจากนี้ยังทรงมอบสมบัติล้ำค่า คือ พระไตรปิฎกที่บรรจุคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ เป็นตำรานำทางชีวิตที่มีทั้งความสวยงามเชิงศิลป์ แสดงถึงอารยธรรมของประเทศและเป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า แผ่นดินแหลมทองของไทยนั้นงดงามด้วยความเป็นไทยและแสงแห่งธรรม

 


อ้างอิง
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.

พระไตรปิฎกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว / แม่ชีวิมุตติยา (สุภาพรรณ ณ บางช้าง). กรุงเทพ : บริษัท คราฟแมนเพรส จำกัด, ๒๕๕๗.

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. พัฒนาการของอักษรไทย. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์พระพุทธศาสนา, ๒๕๕๖.

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. วิวัฒน์การอ่านไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๖.

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล