ฉบับที่ ๑๗๖ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐

สังคายนา เชื่อมกาลสานธรรม

บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

 สังคายนา  เชื่อมกาลสานธรรม

สังคายนา  เชื่อมกาลสานธรรม,เนื้อนาใน,อยู่ในบุญ

   ใกล้รุ่งของคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ณ สาลวโนทยาน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน ยังความเศร้าเสียใจให้แก่เหล่าพุทธบริษัท ๔ ทว่ากลับมีภิกษุนามว่า    พระสุภัททะ ได้กล่าวจาบจ้วงดูหมิ่นพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระมหากัสสปเถระเรียกประชุมสงฆ์ เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ หลังพุทธปรินิพพาน ได้ ๓ เดือน

   อีกร้อยปีต่อมา ราว พ.ศ. ๑๐๐ ได้เกิดกรณีพิพาทเมื่อภิกษุวัชชีบุตรเมืองเวสาลีได้บัญญัติและประพฤติตามวัตถุ ๑๐ ประการ ซึ่งขัดต่อพุทธบัญญัติ จึงเป็นเหตุให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ขึ้น ถัดมาอีกร้อยกว่าปี ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาทำให้มีเดียรถีย์จำนวนมากปลอมเข้ามาบวช เพื่อหวังลาภสักการะ เป็นเหตุให้พระเจ้าอโศกมหาราชเห็นภัยที่เกิดขึ้น จึงทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร

  การสังคายนา ๓ ครั้งดังกล่าว ณ ดินแดนชมพูทวีป เป็นที่ยอมรับตรงกันของนักวิชาการและพระภิกษุในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ ไทย เมียนมา และศรีลังกา แต่วิธีนับการสังคายนาตั้งแต่ครั้งที่ ๔ เป็นต้นไปของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เนื่องมาจากภายหลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูต จำนวน ๙ สาย ออกเผยแผ่ปักหลักพระพุทธศาสนายังดินแดนต่างๆทำให้เกิดการชำระพระธรรมคำสอนเฉพาะในดินแดนของตนในกาลต่อมา

 

    สำหรับประเทศไทยนับการสังคายนา ๓ ครั้งแรกที่ชมพูทวีปเช่นเดียวกับประเทศเมียนมาและศรีลังกา แต่เริ่มนับการสังคายนาณ ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ เกาะลังกาพ.ศ. ๒๓๘ ซึ่งพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔

    การสืบทอดพุทธธรรมตั้งแต่ปฐมสังคายนาจนถึงการสังคายนาครั้งที่ ๔ นี้ เป็นลักษณะท่องสวดแบบปากเปล่าต่อกันมาตั้งแต่สมัยปฐมสังคายนา โดยศิษย์สายพระอุบาลีทรงจำพระวินัยปิฎก ศิษย์สายพระอานนท์ทรงจำพระตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกสืบกันมาโดยมิได้ขาดสาย จนกระทั่งการสังคายนาครั้งที่ ๕ ราวพ.ศ. ๔๐๐ เศษ ได้มีการจารจารึกพระไตรปิฎก เป็นลายลักษณ์อักษรลงบนใบลานเป็นครั้งแรกณ อาโลกเลณสถานในลังกาทวีป นับจากนั้นวิธีสืบทอดพระไตรปิฎกในเกาะลังกา คือการสังคายนาครั้งที่ ๖ และครั้งที่ ๗ จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการจารจารึกลงในคัมภีร์ใบลานและธรรมเนียมการสืบทอดพุทธธรรมลงบนแผ่นใบลานนี้ได้ขยายอิทธิพลมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ

 

 พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ จัดทำขึ้นในพ.ศ. ๒๓๓๑ เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๙

  ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๘ ซึ่งนับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในแผ่นดินไทย พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งล้านนาโปรดเกล้าฯ ให้จารพระไตรปิฎกบาลีด้วยอักษรธรรมล้านนาลงบนแผ่นลาน เพื่อชำระคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่คลาดเคลื่อนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้จารจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นลานด้วยอักษรขอม เมื่อคราวกระทำสังคายนาครั้งที่ ๙ ณ กรุงเทพมหานคร วิธีสืบทอดพุทธธรรมตั้งแต่การสังคายนาครั้งที่ ๕จนถึงครั้งที่ ๙ นี้ จึงเป็นแบบการจารจารึกลงบนแผ่นลานทั้งสิ้น

 ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เจริญก้าวหน้า วิธีสืบทอดพุทธธรรมจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการพิมพ์ลงบนกระดาษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๑๐ มีพระราชศรัทธาให้พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มแบบฝรั่งรวม ๓๙ เล่ม และต่อมาเมื่อมีการสังคายนาครั้งที่ ๑๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พิมพ์พระไตรปิฎกเพิ่มอีก ๖ เล่ม จนครบ ๔๕ เล่มในหนึ่งชุด

  นับแต่หลังพุทธปรินิพพานเมื่อ ๒,๕๐๐กว่าปีก่อนจนถึงปัจจุบัน การสังคายนาแต่ละยุคสมัยมีรูปแบบการสืบทอดแตกต่างกันไปทั้งแบบมุขปาฐะ การจารจารึก และพิมพ์เป็นหนังสือ เพื่อสืบทอดธำรงและเชื่อมคำสอนครั้งพุทธกาลให้ส่งผ่านกาลเวลามาสู่เราชาวพุทธในปัจจุบัน ให้คำสอนนั้นเป็นแสงนำทางในการดำรงชีวิตของเราต่อไปตราบนานเท่านาน

 

การนับครั้งสังคายนาในไทย

 สังคายนาครั้งที่ ๑

    กระทำหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน ณถ้ำสัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ พระมหากัสสปเถระเป็นประธานสงฆ์ และมีพระอรหันตขีณาสพจำนวน ๕๐๐ รูป เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จ

 

 สังคายนาครั้งที่ ๒

   กระทำประมาณ พ.ศ. ๑๐๐ ณ วาลิการามเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี พระยสกากัณฑกบุตรเถระเป็นผู้ชักชวนพระอรหันตขีณาสพ ๗๐๐ รูปเข้าร่วมสังคายนา พระเจ้ากาฬาโศกราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่ ๘ เดือน จึงสำเร็จ

 

 สังคายนาครั้งที่ ๓

   กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ ณ อโศการามเมืองปาฏลีบุตร พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานสงฆ์ มีพระอรหันตขีณาสพ ๑,๐๐๐รูป เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่ ๙ เดือนจึงสำเร็จ

 

สังคายนาครั้งที่ ๔

   กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘ ณ ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป พระมหินทเถระเป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่ ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ

 

สังคายนาครั้งที่ ๕

   กระทำเมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ ณ อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ในลังกาทวีป พระรักขิตมหาเถระเป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์กว่า๑,๐๐๐ รูป เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่๑ ปี จึงสำเร็จ

 

สังคายนาครั้งที่ ๖

   กระทำเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ ณ โลหะปราสาทเมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป พระพุทธโฆษาจารย์เป็นประธานสงฆ์ ไม่ระบุจำนวนพระสงฆ์ผู้เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้ามหานามะทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่ ๑ ปี จึงสำเร็จ

 

สังคายนาครั้งที่ ๗

   กระทำเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ ณ ลังกาทวีปพระกัสสปเถระเป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์๑,๐๐๐ รูป เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่๑ ปี จึงสำเร็จ

 

สังคายนาครั้งที่ ๘

  กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ ณ วัดโพธารามเมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย พระธรรมทินมหาเถระเป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์หลายร้อยรูปเข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่ ๑ ปี จึงสำเร็จ
 

สังคายนาครั้งที่ ๙

  กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานสงฆ์ และมีพระสงฆ์หลายร้อยรูปร่วมสังคายนา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่ ๕ เดือน จึงสำเร็จ

 

สังคายนาครั้งที่ ๑๐

  กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ - ๒๔๓๖ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราช (สาปุสสฺเทโว) ครั้งเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์ ๑๑๐ รูป เข้าร่วมสังคายนา พระ
บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทำอยู่ ๖ ปีจึงสำเร็จ

 

สังคายนาครั้งที่ ๑๑

   กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๓ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นประธานสงฆ์ และมีพระราชาคณะอีก ๘ รูป แบ่งกันรับหน้าที่ผู้ชำระ และสร้างพระไตรปิฎกด้วยพระราชทรัพย์และเงินโดยเสด็จพระราชกุศลจากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนโดยทั่วไป

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล