ฉบับที่ ๑๗๙ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐

กัลยาณมิตรกับความเป็นพระโพธิสัตว์

DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙

 

กัลยาณมิตรกับความเป็นพระโพธิสัตว์

อยู่ในบุญพฤศจิกายน2560 , อยู่ในบุญ , วัดพระธรรมกาย , ธรรมกาย , วารสาร , หนังสือ , หนังสืออยู่ในบุญ , หนังสือธรรมะ , บุญ , หลวงพ่อธัมมชโย , หลวงพ่อทัตตชีโว , พระมงคลเทพมุนี , case study , ฝันในฝัน , สื่อธรรมะ , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกายเจดีย์ , สวดธรรมจักร , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , world peace , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระพุทธเจ้า , พุทธพจน์ , คำสอนหลวงปู่ , คำสอนคุณยาย , คำสอน , กัลยาณมิตรกับความเป็นพระโพธิสัตว์

            พระบรมโพธิสัตว์แต่ละพระองค์กว่าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านต้องสร้างบารมีชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้แก่ตนเองและคนอื่นเรื่อยมาด้วยปณิธานอันยิ่งใหญ่และมุ่งมั่นนั้น ท่านจึงยอมสละได้ทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สินภายนอกและทรัพย์ภายใน คือ อวัยวะ เลือด เนื้อแม้กระทั่งชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ คือ ญาณหยั่งรู้ในสรรพศาสตร์ที่เป็นเหตุให้รู้แจ้งโลกทั้งปวง ถึงกับมีการอุปมาในการสร้างบารมีของท่านไว้ว่า ในเส้นทางการสร้างบารมี แม้จะมีถ่านเพลิงร้อนระอุตลอดเส้นทางมาขวางกั้น หรือจะมีทะเลเพลิงลุกโพลงโชติช่วงจนมองไม่เห็นฝั่ง แต่หากรู้ว่าจุดหมายปลายทางข้างหน้า คือ ฝั่งแห่งพระนิพพานอันเป็นบรมสุข ท่านก็จะอดทนฝ่าฟันข้ามไปเพื่อแลกกับการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

           การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งปรารถนาพุทธภูมิ อยากรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่พระนิพพานนั้น เพียงแค่คิดก็ยากแล้ว แต่การลงมือทำตามมโนปณิธานที่ตั้งไว้ยากยิ่ง กวาเพราะจะต้องทำ โดยไม่คำนึงถึงเวลาว่าจะอีกกี่เดือน กี่ปี กี่ภพกี่ชาติ จึงจะสมปรารถนา จะต้องสร้างบารมีอย่างไร้กาลเวลา บารมีแก่รอบเมื่อไรจึงจะสมปรารถนา และต้องสร้างบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อจะทำทานก็ทำแบบทุ่มเทสุดหัวใจ ชาวโลกส่วนใหญ่นั้นอยากได้ แต่พระโพธิสัตว์มีแต่อยากให้ ให้ได้กระทั่งเลือดเนื้อ และชีวิต จนกระทั่งเกิดอุปมาว่า ท่านได้สละเลือดมากกว่าน้ำในท้องทะเลมหาสมุทร สละเนื้อเป็นทานมากกว่าแผ่นดินบนชมพูทวีปที่ควักลูกนัยน์ตาก็มากกว่าดวงดาวบนท้องฟ้าและตัดศีรษะบูชาธรรมมากยิ่งกว่าผลมะพร้าวในชมพูทวีป และเมื่อจะรักษาศีลหรือเจริญภาวนา ก็ทุ่มเททำจนตลอดชีวิต เพียรพยายามนับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้รู้ว่าหนทางสู่ความเป็นพระพุทธเจ้ายังอีกยาวไกล พระโพธิสัตว์ จึงเป็นบุคคลที่มีใจเหนือกว่ามนุษย์ทั้งหลาย

 

"การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งปรารถนาพุทธภูมิ อยากรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่พระนิพพานนั้น
เพียงแค่คิดก็ยากแล้ว แต่การลงมือทำตามมโนปณิธานที่ตั้งไว้ยากยิ่งกว่า เพราะจะต้องทำโดย
ไม่คำนึงถึงเวลาว่าจะอีกกี่เดือน กี่ปี กี่ภพ กี่ชาติ จึงจะสมปรารถนาจะต้องสร้างบารมี
อย่างไร้กาลเวลาบารมีแก่รอบเมื่อไร จึงจะสมปรารถนา"

 

          อย่างไรก็ตาม ขณะที่พระโพธิสัตว์สร้างบารมีอยู่นั้น มีจำนวนไม่น้อยที่ท้อถอยในระหว่างทาง เพราะยังเป็นประเภทอนิยตโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า) เห็นว่าการรื้อสัตว์ขนสัตว์ช่างยากเย็นแสนเข็ญ จึงปรารถนาเป็นเพียงพระอัครสาวกบ้าง พระอริยสาวกบ้าง ซึ่งมีระยะเวลาการสร้างบารมีไม่ยาวนานมากนัก โดยพระอสีติมหาสาวกใช้เวลาอย่างน้อย ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป พระอัครสาวกก็ใช้เวลา ๑ อสงไขย กับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป ในขณะที่เมื่อปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ จะต้องสร้างบารมียาวนานถึง ๒๐ อสงไขย กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป สำหรับผู้ที่เป็นพระปัญญาธิกพุทธเจ้า, ๔๐ อสงไขย กับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป สำหรับพระสัทธาธิกพุทธเจ้า และ ๘๐ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป สำหรับพระวิริยาธิกพุทธเจ้า ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากจนนับภพนับชาติไม่ถ้วน

 

"ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์จะต้องมีใจรักในการทำหน้าที่
กัลยาณมิตรเป็นชีวิตจิตใจ และต้องมีใจที่ประกอบด้วยมหากรุณา
จึงจะสามารถยอมเสียสละประโยชน์ตนและใช้ช่วงระยะเวลายาวนาน
ท่ามกลางบททดสอบนานัปการเพื่อสั่งสมบารมีให้แก่รอบ เพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า"

 

อยู่ในบุญพฤศจิกายน2560 , อยู่ในบุญ , วัดพระธรรมกาย , ธรรมกาย , วารสาร , หนังสือ , หนังสืออยู่ในบุญ , หนังสือธรรมะ , บุญ , หลวงพ่อธัมมชโย , หลวงพ่อทัตตชีโว , พระมงคลเทพมุนี , case study , ฝันในฝัน , สื่อธรรมะ , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกายเจดีย์ , สวดธรรมจักร , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , world peace , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระพุทธเจ้า , พุทธพจน์ , คำสอนหลวงปู่ , คำสอนคุณยาย , คำสอน , กัลยาณมิตรกับความเป็นพระโพธิสัตว์

        ดังตัวอย่างของพระสมณโคดมพุทธเจ้า ต้องสั่งสมบารมีถึง ๒๐ อสงไขย กับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป ก็เพื่อจะสั่งสมวิชาครูในการเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก โดย ๗ อสงไขยแรกเพียงคิดอยากเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ยังไม่กล้าบอกใคร เมื่อความคิดดีติดแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายมากขึ้น ก็เปล่งวาจาบอกคนรอบข้าง เมื่อพบพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ท่านจะเข้าไปกราบนมัสการ ทำบุญกับพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วกราบทูลถึงความปรารถนาดีของตัวท่านเองว่า อยากจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็จะทรงชื่นชมอนุโมทนาและทรงอวยพรให้ท่านสมหวังดังใจปรารถนาเรื่อยมา ในช่วง ๙ อสงไขยต่อมา ซึ่งท่านได้พบพระพุทธเจ้ามามากมายหลายพระองค์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำยืนยันหรือคำพยากรณ์ใด ๆ อย่างไรก็ตามท่านก็ยังสร้างบารมีอย่างไม่ย่อท้อ ครั้นครบ ๑๖ อสงไขย ในสมัยที่ท่านเป็นสุเมธดาบสท่านได้นอนทอดร่างเป็นสะพาน เพื่อให้พระทีปังกรพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์เดินข้ามโคลนตมไป ท่านจึงได้รับคำพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าว่า อีก ๔ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป สุเมธดาบสจะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า “สมณโคดม” และหลังจากนั้นมาอีก ๔ อสงไขย กับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป เมื่อบารมีของท่านเต็มเปี่ยมบริบูรณ์
ก็สมปรารถนา ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายอดกัลยาณมิตรของโลก สมดังพุทธพยากรณ์ทุกประการ

      อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์จะต้องมีใจรักในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรเป็นชีวิตจิตใจ และต้องมีใจที่ประกอบด้วยมหากรุณา จึงจะสามารถยอมเสียสละประโยชน์ตนและใช้ช่วงระยะเวลายาวนาน ท่ามกลางบททดสอบนานัปการเพื่อสั่งสมบารมีให้แก่รอบ เพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า

      ในยามนี้ที่โลกกำลังวุ่นวายด้วยกระแสกิเลสในใจของมวลมนุษย์  จนปรากฏเป็นปัญหาทั้งในระดับครอบครัว สังคม จนถึงระดับโลกชาวโลกกำลังต้องการและโหยหาธรรมะเพื่อมาบรรเทาทุกข์ ผู้ที่มีอัธยาศัยชอบช่วยเหลือผู้อื่นคอยทำหน้าที่แนะนำมหาชนให้เดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง ชักชวนให้ละบาปอกุศล ทำความดีทุกอย่าง และชักชวนให้ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยการนั่งสมาธิเจริญภาวนา ถือได้ว่ากำลังดำเนินตามปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน เป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลกใบนี้ถือว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้ “เป็นยอดกัลยาณมิตรผู้มีหัวใจของพระโพธิสัตว์” ที่นำประโยชน์ใหญ่ให้เกิดขึ้นแก่โลกใบนี้

 

 


จากวิชา DF 101 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น
กิจกรรมประจำภาคเรียนที่ ๒/๒๕๖๐
รับข้อสอบปลายภาค ๑๙ - ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐
สัมมนา “ศาสตร์การเป็นพระพุทธเจ้า” ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐
อบรมเชิงปฏิบัติการ “ศิลปะศาสนทูต” เพื่อพัฒนาการพูดและบุคลิกภาพในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร โดย ดร.จอมพล สุภาพ ณ จังหวัดชลบุรี ๑๐ - ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ สนใจติดต่อ โทร. ๐๘-๒๗๗๙-๕๔๔๕

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล