ฉบับที่ ๑๘๑ เดือนมกราคม ๒๕๖๑

ทำไมการสร้างบารมีเป็นทีมจึงมีความสำคัญ มากต่อการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

ทำไมการสร้างบารมีเป็นทีมจึงมีความสำคัญ
มากต่อการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย ?

อยู่ในบุญ , วัดพระธรรมกาย , ธรรมกาย , วารสาร , หนังสือ , หนังสืออยู่ในบุญ , หนังสือธรรมะ , บุญ , หลวงพ่อธัมมชโย , หลวงพ่อทัตตชีโว , พระมงคลเทพมุนี , case study , ฝันในฝัน , สื่อธรรมะ , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกายเจดีย์ , สวดธรรมจักร , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , world peace , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระพุทธเจ้า , พุทธพจน์ , คำสอนหลวงปู่ , คำสอนคุณยาย , คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย , อยู่ในบุญเดือนมกราคม2561 , สมาธิ , หยุดเป็นตัวสำเร็จ , พระพุทธศาสนา , 072  , หยุดใจ , ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 , หลวงพ่อตอบปัญหา , ทำไมการสร้างบารมีเป็นทีมจึงมีความสำคัญ มากต่อการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย ?

คำตอบ ANSWER

    การสร้างบารมีเป็นทีมเป็นประเพณีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ถ้าเราได้อ่านพุทธประวัติในแต่ละชาติที่พระโพธิสัตว์กำลังสร้างบารมีจนกระทั่งบารมีเต็มเปี่ยมทั้ง ๑๐ ทัศ พระชาติสุดท้ายนี้จึงได้มาบังเกิดและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสิ่งที่สะดุดใจก็คือ การสร้างบารมีของพระองค์เป็นการสร้างบารมีแบบเป็นทีม

       พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพุทธบิดา ก่อนหน้านั้นก็สร้างบารมีด้วยกันมาไม่รู้กี่ชาติ กว่าจะมาได้เป็นพุทธบิดา พระนางสิริมหามายาซึ่งเป็นพุทธมารดาก็เช่นกัน ภพชาติในอดีตก็เป็นแม่ของพระโพธิ์สัตว์มาตลอด ดังนั้นเมื่อการเป็นพุทธบิดาพุทธมารดาก็ยังต้องสร้างบารมีด้วยกันมาเป็นทีม บุคคลอื่น ๆ ก็ต้องสร้างบารมีเป็นทีมมาด้วยเช่นกัน ถึงได้มีโอกาสมาบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์จากการฟังเทศน์ของพระพุทธองค์

       พวกเราแต่ละคนกว่าจะสร้างบารมีจนกระทั่งมาพบพระพุทธศาสนาในชาตินี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ บางครั้งก็จับพลัดจับผลูไปเกิดเป็นสัตว์ บางครั้งไปตกนรกบางครั้งไปเป็นเทวดา บางครั้งก็มาเกิดเป็นคน

       ถ้าไปเกิดเป็นสัตว์หรือไปตกนรกละก็การจะได้กลับมาเกิดเป็นคนอีกมันยากแสนยาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาอุปไมยความยากตรงนี้ว่า มีเต่าตาบอดตัวหนึ่ง ดำผุดดำว่ายอยู่ในมหาสมุทรใหญ่ เต่าตัวนี้ดำน้ำลงไปร้อยปีแล้วโผล่ขึ้นมาหายใจสักครั้งหนึ่ง หายใจเสร็จก็ดำลงไปอีก ในมหาสมุทรนั้นมีห่วงกลม ๆ อยู่ห่วงหนึ่ง รูห่วงกว้างพอ ๆ กับหัวเต่าโอกาสที่เต่าตาบอดตัวนี้จะโผล่หัวขึ้นมาหายใจครั้งหนึ่งในรอบร้อยปีแล้วเอาหัวสอดเข้าไปในห่วงพอดียากขนาดไหน พระองค์ทรงใช้คำว่าโอกาสที่สัตว์เดรัจฉานหรือสัตว์นรกจะย้อนกลับมาเกิดเป็นคนยากยิ่งกว่า

     บัดนี้ พวกเราซึ่งเปรียบเสมือนเต่าตาบอดตัวนั้นได้เกิดเป็นคนแล้ว อย่าเสียเวลาไปทำอย่างอื่นที่ไม่เป็นสาระแก่นสารอยู่เลย รีบสั่งสมบุญเข้า บุญนั้นจะได้ประคับประคองให้ไปเกิดเป็นคน เพื่อสร้างความดีกันต่อไป ถ้าไม่ขยันสร้างความดี เดี๋ยวความร้ายตามมาทัน ทำให้ต้องกลับไปเป็นเต่าตาบอดอีกครั้ง จะทั้งเสียเวลาและเสียโอกาสทำความดีไปนานแสนนานอีก

        แล้วทำอย่างไรจึงจะสร้างความดีให้เต็มที่ เนื่องจากปุถุชนอย่างพวกเรายังมีอินทรีย์ไม่แก่กล้า สติของเรายังไม่ค่อยพอที่จะเตือนตัวเองได้ตลอดไป พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่าให้สร้างบารมีกันเป็นทีม จะได้อาศัยทีมช่วยประคับประคองไป

       การสร้างบารมีกันเป็นทีมนั้น ถ้าจะไปดูหลักฐาน ก็ไปดูได้ในวันที่สุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์ พระองค์ทรงมีพุทธพยากรณ์ว่าดาบสนี้อีก ๔ อสงไขยแสนมหากัปจะได้มาเป็นพระพุทธเจ้า ชื่อว่าพระโคตมพุทธเจ้า และทรงบอกรายละเอียดอื่น ๆ ในอนาคตให้ชัดเจนด้วย แล้วก็รับสั่งว่า พวกท่านทั้งหลายเมื่อรู้ตัวว่าถึงอย่างไรในชาตินี้ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์จงเกาะติดเป็นทีมกับดาบสนี้ไว้ให้ดี เพราะอีก ๔ อสงไขยแสนมหากัป ท่านทั้งหลายจะได้อาศัยดาบสนี้พาเข้านิพพาน จากคำพยากรณ์นั้นบรรดาคนยุคนั้นที่บรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้าทีปังกรไม่ทัน ก็อธิษฐานจิตขอตามติดสร้างบารมีกับสุเมธดาบส แล้วในที่สุดเมื่อมาถึงพุทธันดรนี้ ก็มาเป็นพระอรหันต์อยู่ทีมเดียวกับพระบรมศาสดาของเราเป็นจำนวนมากมาย

    ในทำนองเดียวกัน พวกเราชาวพุทธที่มาไม่ทันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ก็คงจะต้องใช้ตำราเล่มเดียวกัน คือ สร้างบารมีไปเป็นทีม ดังเราจะเห็นว่าในอดีตมีหลวงปู่ต่าง ๆที่ท่านตั้งใจสร้างบารมีเป็นทีมกันมา จึงเกิดเป็นสายนั้นสายนี้ขึ้น สำหรับหมู่คณะของเรานั้นพวกเราก็พอได้มาทันหลวงปู่ คุณยาย และหลวงพ่อครูไม่ใหญ่ คุณยายท่านก็มาทีมเดียวกับหลวงปู่ และมีคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น เป็นทั้งกัลยาณมิตร และเป็นทีมเดียวกับท่านทั้งสอง ท่านประคองกันมาจนกระทั่งมาทันหลวงปู่

      หลวงปู่ของเราค้นคว้าธรรมะได้แล้ว ท่านก็สอนลูกศิษย์ลูกหาในยุคของท่านให้สร้างบารมีเป็นทีมกันเต็มที่ ก่อนหลวงปู่มรณภาพในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๒ คุณยายของเรากับคุณยายทองสุขได้รับคำสั่งว่า “ให้อยู่ที่วัดปากน้ำ เด็กรุ่นหลังกำลังตามมา พอเขาโตขึ้น เดี๋ยวเขาก็มาหาเอ็ง ๒ คนนี้แหละ”

      วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ หลวงปู่ของเราลาพวกเราไปก่อน ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ คุณยายทองสุข สำแดงปั้นก็บอกลาคุณยายของเราว่า “ให้รอรุ่นหลังอยู่ที่นี่ก่อน มาพร้อมแล้วจะไปทำอะไรก็ไปทำ”คำว่า “จะไปทำอะไรก็ไปทำ” หมายถึง หลวงปู่สั่งเอาไว้ก่อนมรณภาพว่า “เอาวิชชาธรรมกายไปให้ทั่วโลก ให้รออยู่ที่นี่ เมื่อมาพร้อมแล้วจะทำอย่างไร จะวางแผนการเผยแผ่อย่างไรให้ไปว่ากันเอง” นี้คือคำว่า “จะไปทำอะไรก็ไปทำ”

     คุณยายรออยู่ถึงเดือนเมษายน ๒๕๐๖ หลวงพ่อครูไม่ใหญ่ก็ไปถึงคุณยาย คุณยายก็รับไว้เป็นลูกศิษย์ พร้อมกับลูกศิษย์อีกจำนวนมาก แต่ก็ยังรออยู่ พวกเรายังกระจัดกระจายกันอยู่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลวงพ่อครูไม่ใหญ่ก็ไปตามพรรคพวกตามคำสั่งของคุณยาย คุณยายบอกว่า “คุณไปตามเถอะ ทีมรุ่นเดียวกันกับคุณ เขาอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั่นแหละ ไปตามมาเดี๋ยวก็เจอ”

       พวกเราอาจสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใช่หรือไม่ใช่ทีมเดียวกัน สำหรับเรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนเราคบกันตามธาตุ” หมายความว่า ปลาก็ไปอยู่กับปลาเนื้อก็ไปอยู่กับเนื้อ นกก็ไปอยู่กับนก คนก็ไปอยู่กับคน นักสร้างบารมีก็เช่นกัน เดี๋ยวก็มารวมกันเองตามธาตุ คำว่าธาตุในที่นี้ หมายถึงธาตุธรรมในตัว ผู้ที่อบรมบ่มนิสัย มีบุญบารมีแก่กล้าขนาดไหน เคยอยู่ในระดับเป็นทีมเดียวกันมาก่อน เดี๋ยวมาเจอกันก็รู้เอง

        คุณยายรออยู่ที่วัดปากน้ำ หลวงพ่อครูไม่ใหญ่กับทีมงานก็ตระเวนออกไปตามนักสร้างบารมีที่อธิษฐานมากับหลวงปู่ในภพชาติที่แล้ว ๆ มา ครูไม่เล็กก็มาในยุคนั้น พ.ศ.๒๕๐๙ เจอครูไม่ใหญ่ ท่านก็หอบหิ้วไปเจอคุณยายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ตั้งแต่นั้นมาครูไม่เล็กช่วยครูไม่ใหญ่ตระเวนตามหมู่คณะ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๓ จึงได้ลงมือสร้างวัด แล้วคุณยายก็บอกครูไม่ใหญ่ว่า “ทีมที่มาพร้อม ๆ กันยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ให้ตั้งใจสร้างวัดรอท่าเขาไว้ให้ดี เดี๋ยวหมู่คณะที่ตามมาไม่ทันเขาก็มากัน”

      นอกจากนี้ คุณยายยังให้ทำหนังสือด้วยหนังสือเล่มแรกที่ทำคือ “เดินไปสู่ความสุข”แล้วคุณยายก็บอกหลวงพ่อครูไม่ใหญ่ว่า “สำหรับท่านต่อแต่นี้ไม่ต้องออกไปตามใครที่ไหน อยู่ที่วัดนี้แหละ” หลวงพ่อครูไม่ใหญ่ถามว่า “แล้วทำอย่างไรหมู่คณะจึงจะตามมาทัน ถ้าไม่ออกไปตาม” คุณยายบอกว่า “ส่งหนังสือเดินไปสู่ความสุขออกไปแล้ว มาช่วยกันนั่งสมาธิให้ใจใส ๆ เข้าไว้ จะได้เข้าถึงพระธรรมกายที่ประณีตยิ่งขึ้น แล้วใช้วิชชาธรรมกายไปตามคนที่ยังมาไม่ถึง เดี๋ยวเขาก็มารวมกันที่นี่เองแหละ”

       ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นปีที่หลวงพ่อบวชพรรษาแรก คุณยายบอกให้ออกไปตามหมู่คณะที่ยังมาไม่ถึงได้ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามออกไปเทศน์นอกวัด รอให้ครบ ๑๐ พรรษาแล้วค่อยออกไปหลวงพ่อยังถามท่านว่า “ทำไมถึงไม่ให้พระไปเทศน์นอกวัด” การที่หลวงพ่อถามนั้น ไม่ใช่เพราะว่าอยากออกไปนอกวัด แต่ถามเพื่อจะได้วางตัวถูก คุณยายท่านให้เหตุผลว่า “คนยุคนี้บุญหย่อนกว่ายุคพุทธกาล ๑) บางพวกแม้เกิดในเมืองพุทธ แต่ไม่ปรารถนาดีกับพระพุทธศาสนา วัน ๆ จ้องจับผิดพระ ท่านเป็นพระบวชใหม่ ยังศึกษาธรรมะไม่แตกฉานไปโดนเขาจับผิดมาก ๆ เข้า เดี๋ยวจะหมดกำลังใจเสียก่อน เพราะฉะนั้นเทศน์อยู่ในวัดนี้แหละ แล้วพวกนั้นเขาจะเกะกะเกเรอะไรก็เรื่องของเขา เราไม่พลอยฟ้าพลอยฝนมีตำหนิตามเขาไปด้วย ๒) อีกพวกหนึ่งตั้งใจเข้าวัดตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างดี แต่ว่าอ่อนในเรื่องหลักวิชา ไม่ได้ศึกษาธรรมวินัย เพราะฉะนั้นถึงมีศรัทธามาก แต่บางครั้งวางตัวไม่ค่อยถูกบางทีทำอะไรไม่เหมาะสม ถ้าท่านไปที่อโคจรตรงไหนเข้า เดี๋ยวจะถูกตำหนิในสิ่งเหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้นเทศน์อยู่ในวัดดีที่สุด จนกว่าจะครบ ๑๐ พรรษา”

      ใน ๑๐ พรรษาแรก ครูไม่เล็กแม้จะออกไปนอกสถานที่ แต่ไม่เคยเทศน์ข้างนอก นั่นก็เพราะอาศัยหลักการ ๒ ข้อ คือ ๑) ความเคารพที่มีต่อครูบาอาจารย์ ๒) การสร้างบารมีต้องไปกันเป็นทีม

     และเพราะว่าหมู่คณะวัดพระธรรมกายเราได้คุณยายคุมทีมมาตั้งแต่เริ่มสร้างวัด การสร้างวัดบนเนื้อที่ ๑๙๖ ไร่ จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แล้วคำว่าสร้างบุญกันเป็นทีมนี้เองที่คุณยายรับคำสั่งมาจากหลวงปู่แล้วส่งมอบไว้ให้กับหลวงพ่อครูไม่ใหญ่ว่าการสร้างบารมีต้องทำเป็นทีมนะ ทีมยิ่งใหญ่ยิ่งดี ต่อไปข้างหน้าจะได้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กันและกัน เพราะฉะนั้นเราจึงได้มาเจอกันได้มาสร้างบุญใหญ่ด้วยกัน ได้ตักบาตรเป็นทีมทีละเป็นพันเป็นหมื่นรูป เมื่อเป็นทีมอย่างนี้พลังในการทำความดีก็เยอะ แล้วก็ได้อาศัยการตักบาตรเป็นทีมนี้ไปหล่อเลี้ยงพระศาสนาภาคใต้ซึ่งกำลังเผชิญปัญหา ทำให้มีปัจจัย ๔ไปช่วยเหลือกันยามประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น

      ต่อมาพวกเราก็สร้างบุญใหญ่เป็นทีมอีกด้วยการเดินธุดงค์ในเส้นทางมหาปูชนียาจารย์เพื่อฝึกพระรุ่นใหม่ขึ้นมา พระรุ่นใหม่ท่านบวชทีหลัง ทำอย่างไรบารมีจะตามทันรุ่นก่อน ๆวิธีที่จะเร่งให้บารมีแก่กล้าได้เร็วขึ้นก็คือไปเดินธุดงค์ เพราะระยะทางกว่า ๔๐๐ กิโลเมตร เดินทำสมาธิ ภาวนา “สัมมาอะระหัง ๆ ๆ”ไปตลอดทาง ใจก็หยุดก็นิ่งได้เป็นพิเศษบุญบารมีก็ทับทวีตามติดกันเข้ามา ฤทธิ์ของการสร้างบารมีเป็นทีมทำให้ได้บุญใหญ่อย่างนี้แล้วในเวลาเดียวกันก็เลยเป็นโอกาสดีให้พวกเราที่ยังกระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆในทวีปต่าง ๆ ได้ทราบข่าวการเดินธุดงค์ แล้วมาสมทบร่วมสร้างบารมีเป็นทีมที่ใหญ่ขึ้นไปอีก

     ในปัจจุบันนี้ พวกเรากำลังสร้างบารมีกันเป็นทีมอยู่ ก็ขอให้ตั้งใจสร้างบารมีเป็นทีมให้ยิ่งขึ้นไป ตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ คือ ประการที่ ๑ ตัวเองก็ตั้งใจสร้างบุญบารมีให้เต็มที่ ประการที่ ๒ ชักชวนใครได้ก็ชักชวนมา ทีมจะได้ขยายขึ้นเร็วไว ประการที่ ๓ ให้ปลื้มใจต่อการที่ตัวเองได้สร้างบุญบารมีให้เต็มที่ ปลื้มใจต่อการที่ได้เป็นกัลยาณมิตรชักชวนคนอื่นเขามา และเมื่อเราเหนื่อยแล้วต้องปลื้มด้วย ไม่ปลื้มไม่ได้ เพราะเวลามีใครมาทำอะไรให้หงุดหงิด บางทีเราหงุดหงิดข้ามคืน ข้ามเดือน ข้ามปี เวลามีเรื่องให้หงุดหงิดยังหงุดหงิดได้เรื้อรัง แต่เวลาทำความดีไม่พยายามปลื้มข้ามวัน ข้ามคืนข้ามเดือน ข้ามปี อย่างนี้ขาดทุน หลวงพ่อครูไม่ใหญ่ท่านสั่งเอาไว้ว่า ถ้าทำบุญ ๑ บาทยังไม่ปลื้มเหมือนกับทำ ๑ พันล้านละก็ ถือว่าขาดทุน เพราะเวลามีเรื่องหงุดหงิดนิดเดียวหงุดหงิดได้ข้ามปี ไม่รู้บาปไปเท่าไร ถ้าทำบุญ ๑ บาท แล้วไม่ปลื้มเป็นพันล้านละก็ขาดทุนประการที่ ๔ นอกจากปลื้มแล้ว เมื่อไปถึงที่ไหนก็สรรเสริญการสร้างบารมีเป็นทีมไปถึงที่นั้นด้วย ชวนให้คนอื่นเขาปลื้มตามไปด้วยเวลาเห็นใครทำบุญ ทำความดี ควรสรรเสริญการทำบุญของเขาให้ชาวโลกรับรู้ไปด้วย จะได้เป็นบุญติดตัวไป และมีกำลังใจสร้างบารมีเป็นทีมยิ่ง ๆ ขึ้นไป

      เพราะฉะนั้น การสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนาจึงต้องสร้างกันเป็นทีม ทีมใหญ่มากเท่าไรก็ดีเท่านั้น จะได้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีทำให้เรามีความปลอดภัยมากเท่านั้น เราเองก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ทุก ๆ คน เขาก็ปลอดภัยเพราะเรา เราก็ปลอดภัยเพราะเขาจะได้ไม่มีใครตกใครหล่น การสร้างบารมีเป็นทีมใหญ่ดีอย่างนี้ เราทุกคนจะได้ติดตามมหาปูชนียาจารย์ไปถึงที่สุดแห่งธรรมพร้อมหน้ากันทุกคน

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล