ฉบับที่ ๑๙๘ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒

หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๗)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกาย
ในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๔๗)

โพธิสัตวปิฏกสูตร : อีกข้อยืนยันที่ชี้ชัดว่า “กายธรรมนั้นมีอยู่จริง”

          ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่เพิ่งจะผ่านไปนั้น มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ “วันวิสาขบูชา” ซึ่งได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกว่า เป็นวันสำคัญสากลแห่งโลกโดยทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศมติอันสำคัญนี้มาครบ ๒๐ ปีแล้ว คือเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ (พ.ศ. ๒๕๔๒)

      สำหรับในออสเตรเลียเอง เมื่อถึงวันวิสาขบูชาของทุกปี พุทธศาสนิกชนในออสเตรเลียทุกนิกาย ทุกชุมชน นอกจากจะจัดการทำบุญเฉพาะวัดของตนเองเเล้ว นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๗ (พ.ศ. ๒๕๕๐) เป็นต้นมา องค์กร Buddhist Federation of Australia ก็ได้ร่วมกับผู้นำชาวพุทธทุกนิกายดังกล่าว ในการจัดงานเทศกาลฉลอง UN VESAK DAY เรื่อยมา โดยในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ได้รับเกียรติให้จัดงานในห้องประชุมกลางของ Parliament House of Australia ณ กรุง Canberra เป็นครั้งแรก ขณะที่ในปีนี้เอง ก็มีการจัดขึ้นที่ Parliament House of NSW (รัฐนิวเซาท์เวลล์) ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี Scott Morrison ได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม (The Hon.Victor Dominello, MLA.) มาเป็นผู้แทน ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านก็ได้มอบหมายให้ ส.ส. Tania Mihailuk, MP. มาเป็นผู้แทนเข้าร่วมงานและนำสาสน์แสดงความยินดีมายังชุมชนชาวพุทธในประเทศออสเตรเลียด้วย นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีและแสดงให้เห็นถึงความมี “สาราณียธรรม” ต่อกันอย่างยิ่ง ซึ่งการที่สังคมของประเทศออสเตรเลียมีลักษณะของความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างกว้างขวาง มีปกติของสังคมที่แสดงมุทิตาจิตระหว่างกันอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการสร้างและสนับสนุนให้ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกความเชื่อ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามหลักการ Multi-Culture อย่างชัดเจนยิ่ง ทำให้เชื่อแน่ว่าสังคมในลักษณะเช่นนี้ย่อมจะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว

 

งานเทศกาลฉลอง UN VESAK DAY ณ ห้องประชุมกลางของ
Parliament House of NSW (รัฐนิวเซาท์เวลล์)

 

     ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนและคณะได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า บรรดาองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้ค้นพบนั้นเป็นเครื่องช่วยยืนยันอย่างหนักแน่นถึงความมีอยู่จริง ปฏิบัติได้จริงของวิชชาธรรมกายอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการค้นพบล่าสุดจากหลักฐาน New Collection ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมแบบเห็นพระโดยตรง1 อันเป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของวิชชาธรรมกาย นอกจากนี้ จากงานวิจัยเรื่อง “ร่องรอยวิชชาธรรมกายในคานธาระและเอเชียกลาง” (พุทธศักราช ๒๕๕๗) โดย ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล ยังได้ระบุไว้อีกด้วยว่า คำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายนั้นมีความสอดคล้องกับคำสอนดั้งเดิมในคัมภีร์พุทธโบราณหลาย ๆ ประการด้วยกันอย่างน่าอัศจรรย์ เช่นเดียวกับในงานวิจัยของพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญที่ทำการศึกษา เรื่อง “คัมภีร์ตุนหวง หมายเลข S.2585 : การศึกษาเนื้อหาและสหวิทยาการเกี่ยวกับเทคนิคการทำสมาธิและประสบการณ์การเห็นในสมาธิ ช่วงยุคกลางตอนต้นของจีน” ที่ระบุถึงเรื่องการทำสมาธิทางพระพุทธศาสนาที่เป็นการ รวมจิตให้ตั้งมั่นเป็นหนึ่งไว้ที่กลางสะดือ (yixin guanqi 一心觀齊) การมีแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับ “องค์พระภายใน”การรวมจิตให้เป็นเอกัคคตารมณ์แล้วนึกนิมิตพระพุทธเจ้า” (yixin guanfo 一心觀佛) เป็นต้น ซึ่งข้อค้นพบที่สำคัญอันนี้นั้น ได้ปรากฏว่ามีความสอดคล้องกันอย่างยิ่งกับคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย “อย่างมิได้นัดหมายกันมาก่อน” ทั้ง ๆ ที่ร่องรอยหลักฐานโบราณเหล่านี้ล้วนมีความเก่าแก่และอยู่ต่างยุคต่างสมัยต่างพื้นที่ ต่างวัฒนธรรมกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เป็นอย่างมาก แต่การมาบรรจบกันของหลักฐานทางโบราณคดีพระพุทธศาสนาหรือข้อค้นพบจากการศึกษาทางวิชาการเหล่านี้ ก็เท่ากับเป็นสิ่งยืนยันความจริงแท้หลาย ๆ ประการเกี่ยวกับวิชชาธรรมกายได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

          สำหรับในตอนที่ ๔๗ ผู้เขียนยังคงขอโอกาสที่จะนำเสนอประเด็นที่พบในงานวิจัยเรื่อง “ร่องรอยวิชชาธรรมกายในคานธาระและเอเชียกลาง” (พุทธศักราช ๒๕๕๗) โดย ดร.ชนิดาจันทราศรีไศล เพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย เนื่องจากงานวิจัยเรื่องนี้สำหรับผู้เขียนแล้ว ถือว่ามีความครบถ้วนและรอบด้านอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเชิงการวิเคราะห์เทียบเคียง การเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ และ “รหัสนัย” อันลึกซึ้งที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธโบราณให้เรารู้ว่า “ธรรมกาย”เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นมณีอันมีค่าอันจะนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้จริง โดยเฉพาะเมื่อผู้วิจัยได้นำมาเทียบเคียงกับคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายแล้ว ก็ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นว่า “ความเป็นอกาลิโก” หรือ “นำสมัยอยู่เสมอโดยไร้กาลเวลา” ของธรรมกายนั้นอยู่ตรงนี้เอง ซึ่งนับว่าคุ้มค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าอย่างไม่สิ้นสุดทีเดียว

 

พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

 

Kazunobu Matsuda is
Professor at Faculty of
Buddhist Studies, Bukkyo
University, Kyoto, Japan.
His research has been
focused on Sanskrit and
Tibetan texts of the Yogācāra school,
including discoveries of Sanskrit manuscript
fragments of Yogācāra treatises, such as the
Viniścayasaṃgrahaṇī and Paryāyasaṃgrahaṇī
sections of the Yogācārabhūmi.

 

พระพุทธรูปแห่งบามิยัน


         เกี่ยวกับประเด็นของ “โพธิสัตวปิฏกสูตร”2 ที่ยกมาเป็นหัวข้อในตอนนี้นั้น ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในงานวิจัยชิ้นนี้เช่นกัน โดยผู้วิจัยกล่าวว่าเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ ถือเป็นพระสูตรที่สำคัญและมีเนื้อความที่สนับสนุนคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อย่างชัดเจนอีกพระสูตรหนึ่งพระสูตรนี้มีเนื้อหาที่บันทึกไว้ทั้งในฉบับแปลภาษาจีนและภาษาทิเบตหลายฉบับ ส่วนต้นฉบับภาษาอินเดียเคยเชื่อกันว่าไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว จนกระทั่งมีการพบชิ้นส่วนของคัมภีร์นี้ทั้งในภาษาคานธารีและสันสกฤต ซึ่งสันนิษฐานว่าพบที่บามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ส่วนที่จารึกในภาษาคานธารีเป็นชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งมีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๐ ซึ่งศาสตราจารย์มัตสุดะ (Prof. Kazunobu Matsuda) ระบุว่ามีเนื้อหาตรงกับบทที่ ๙ ของโพธิสัตวปิฏกสูตร

          ข้อที่น่าสนใจของพระสูตรนี้ อยู่ที่ว่าในบทนี้ของพระสูตรซึ่งมีเนื้อความเต็มอยู่ในฉบับแปลภาษาจีนและทิเบต ทุกข้อความที่กล่าวถึงพระโพธิสัตว์จะมีคำว่า “ธรรมกาย” กำกับไว้เสมอ ซึ่งผู้ตรวจชำระจะแปลควบคู่กันเสมอว่า “พระโพธิสัตว์ผู้มีธรรมเป็นกาย” ดังเช่น ข้อความจากชิ้นส่วนภาษาสันสกฤตข้างบนนี้หากเติมเนื้อความที่แหว่งหายไปเพิ่มเข้ามาจากฉบับภาษาจีนและทิเบตแล้วจะได้ข้อความทั้งหมดว่า

          “สารีบุตร กายของพระโพธิสัตว์ผู้มีธรรมเป็นกาย ไม่จำต้องได้รับการหล่อเลี้ยงจากข้าวและน้ำ เขาไม่ได้ถูกหล่อเลี้ยงด้วยการบริโภคอาหาร แต่เขาปรับตัวกับเครื่องหล่อเลี้ยงและรับประทานอาหารด้วยมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ อนึ่ง แม้เขาจะบริโภคอาหารเขาก็ไม่ได้นำออกหรือนำเข้าในร่างกาย แต่กระนั้น กำลังของธรรมกายก็มิได้ลดทอนหรือสูญเสีย ไปแต่อย่างใด”3

          โดยผู้วิจัยได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในข้อความข้างบนนี้ ประเด็นที่ว่า กายของพระโพธิสัตว์ไม่ต้องการอาหารหล่อเลี้ยงนั้นอาจตีความได้ ๒ นัย คือ อาจหมายถึงกายเนื้อไม่ต้องการอาหาร หรืออาจหมายถึงกายธรรมไม่ต้องการอาหารหยาบหล่อเลี้ยง แต่โดยตรรกะของการให้เหตุผลมาตามลำดับว่า พระโพธิสัตว์มิได้นำธาตุอาหารออกหรือเข้าสู่ร่างกาย แต่กระนั้นกำลังของธรรมกายก็มิได้ลดทอนหรือสูญเสียไป ทำให้เข้าใจได้ว่า ข้อความนี้หมายถึงธรรมกายไม่ต้องการการหล่อเลี้ยงด้วยอาหารหยาบ ซึ่งเมื่อศึกษาจากฉบับแปลภาษาทิเบตและภาษาจีนเพิ่มขึ้น ก็ยังพบข้อความอื่น ๆ ในบทเดียวกันที่บ่งบอกว่า โดยนัยของพระสูตรนี้ต้องการอธิบายว่า กายเนื้อของพระโพธิสัตว์เป็นสิ่งที่เสกสรรปั้นแต่งได้ดังใจ (มีไว้) เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ ดังนั้นแม้กายเนื้อเองก็ไม่ต้องการอาหารหยาบหล่อเลี้ยงเพราะเป็นเพียงสิ่งที่เนรมิตขึ้นมา เป็นลักษณะเฉพาะของแนวคิดมหายานที่เริ่มต้นจากมหาสางฆิกะโลโกตตรวาท4

 

แล้วประเด็นที่ยกมานี้มีความสำคัญอย่างไร ?

        ในทัศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่า ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องธรรมกายนั้นสัมพันธ์กับเรื่องของความหมายและการมีอยู่จริงของ “กายธรรม” อย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรามักจะพบว่ายังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่าธรรมกายและการมีอยู่จริงของ “กายธรรม” เสมอมา การที่มีผู้ไม่รู้หรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของธรรมกาย จนอาจเข้าใจไปว่าคำว่าธรรมกายคือ “หมวดหมู่แห่งธรรม” หรือหมายถึง “คำสอนของพระพุทธเจ้า” เพียงอย่างเดียวนั้น ถือว่ามีส่วนอย่างยิ่งที่จะทำให้เรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายนั้นถูกลดทอนความสำคัญลงไปอย่างน่าเสียดาย

           ในแง่นี้ เมื่อเราศึกษาลงไปถึงพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายแล้ว เราจะพบว่าท่านได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกันดังความตอนหนึ่งว่า

           “... อาหาร แปลว่า ประมวลมา หรือเครื่องปรนปรือ และแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ ๑) กวฬิงการาหาร ๒) ผัสสาหาร ๓) มโนสัญเจตนาหาร ๔) วิญญาณาหารกวฬิงการาหาร หมายความว่าอาหารที่เป็นคำ ๆ เช่น คำข้าว ส่วนละเอียดของอาหารคือโอชะ หรือที่เรียกกันใหม่ ๆ ว่าวิตามินนั้นเข้าไปปรนปรือร่างกาย จึงเป็นปัจจัยให้สัตว์ดำรงชีวิตอยู่ได้”

         “...มนุษย์กินอาหารละเอียดกว่าสัตว์ที่กล่าวมาเป็นชั้น ๆ เช่น ราษฎรสามัญกินหยาบกว่าพระมหากษัตริย์ พวกเทวดากินอาหารละเอียดกว่ามนุษย์ อย่างที่เรียกว่าทิพย์ก็คือโอชะส่วนละเอียดของอาหาร พวกพรหมละเอียดยิ่งกว่าเทวดาอีก มีจักรพรรดิคอยปรนปรือ แม้เลยชั้นรูปพรหม อรูปพรหมขึ้นไป คือถึงชั้นนิพพานก็มีอาหารส่วนละเอียดไปหล่อเลี้ยงเช่นเดียวกันอาหารละเอียดเป็นที่สุดแต่อยู่นอกโลก นี่เป็นการสาวหาเหตุผลประกอบเป็นลำดับชั้นไป มิใช่ตำรับตำราโดยตรง... การกินอาหารของพวกเทวดามีอาการเหมือนเราฝัน แล้วก็มีความอิ่มเอิบไปตามระยะเวลา แต่ระยะเวลานานกว่ามนุษย์ต่างกันเป็นลำดับขึ้นไป...”

            จากพระธรรมเทศนานี้ จึงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในหลักการของวิชชาธรรมกายกายมนุษย์เองก็ยังต้องหล่อเลี้ยงด้วยอาหารหยาบ และกายทิพย์ยังต้องหล่อเลี้ยงด้วยโอชะของอาหาร ส่วนกายอื่น ๆ หลังจากนั้น แม้มิได้อาศัยอาหารหยาบหล่อเลี้ยง แต่ก็มีเครื่องหล่อเลี้ยงที่ละเอียดอย่างอื่นเป็นอาหาร ซึ่งประเด็นที่กล่าวถึงว่า กายต่าง ๆ นับตั้งแต่กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหมนั้นยังต้องการอาหาร แต่กายธรรมมีความแตกต่างออกไปนั้น ถือเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากย้อนไปพิจารณาในรายละเอียดที่กล่าวถึงหลักปฏิบัติและคุณสมบัติของพระโพธิสัตว์ที่แสดงไว้ในโพธิสัตวปิฏกสูตรให้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ การที่ในพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ได้มีการกล่าวระบุไว้ว่า “อาหารของกายธรรม” นั้นมีความแตกต่างจากกายหยาบ (หรือกายอื่น ๆ ที่ซ้อนกันอยู่ภายใน) นั้นเท่ากับเป็นการสนับสนุนข้อความที่ปรากฏในโพธิสัตวปิฏกสูตรไปด้วยในตัว (ทั้ง ๆ ที่ในประวัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เองก็ยังมิได้เคยถูกระบุว่าท่านได้เคยศึกษาตำราหรือพระสูตรเก่าแก่นี้ หรือได้เคยเห็นพระสูตรโบราณนี้มาก่อน) ขณะที่ตัวพระสูตรเองก็มีอายุเก่าแก่ก่อนยุคของเรานี้นับพันปี และเพิ่งจะได้มีการค้นพบและศึกษากันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้เอง

           ข้อนี้จึงยิ่งแน่ชัดว่า ตั้งแต่โบราณกาลมานั้น ผู้รู้และผู้ปฏิบัติในอดีตนั้นต่างมีความซาบซึ้งและเข้าใจไปในทางเดียวกันว่า “ธรรมกาย” (และกายธรรม) นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงมิใช่เป็นเพียงในเชิงของการอุปมา สิ่งที่หลักฐานในคัมภีร์พุทธโบราณต่างพื้นที่ ต่างสถานที่ต่างภาษา และต่างเวลาได้พยายามบอกเรานั้นมีให้เห็นอยู่อย่างไม่ขาดสาย กล่าวในเฉพาะส่วนของ “โพธิสัตวปิฏกสูตร” เองนั้น ก็ยังมีประเด็นที่น่าพิจารณาเทียบเคียงกับตำรับตำราอื่นในทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอยู่อีกพอสมควร ซึ่งหากมีการศึกษาอย่างเป็นวิชาการและเป็นกลางจริง ๆ ก็อาจให้คำตอบที่เป็นประโยชน์ในประเด็นนี้โดยกว้างขวางขึ้นไปอีก
ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป..

 

อัพเดทข่าวสาร DIRI

             ๑. นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ดร.สุชาดา ทองมาลัย ได้รับเชิญ/คัดเลือกให้ไปนำเสนอบทความทางวิชาการ ในงาน The 16th United Nations Day of Vesak 2019 (UNDV 2019 Conference) ณ ประเทศเวียดนาม

 

           ๒. การประชุมสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ ๓ คณะนักวิจัยสถาบันนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้บริจาคชุดอุปกรณ์การถ่ายภาพเอกสารโบราณ (DIGITIZATION) ให้แก่ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดย ดร.กิจชัย เอื้อเกษม ได้ถวายรายงานแด่คณะผู้บริหาร มจร.

 

 

 


1 ดูรายละเอียดใน : หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๔ และ ๔๕) วารสารอยู่ในบุญประจำเดือนมีนาคม-เมษายน ๒๕๖๒

2 คำว่า “โพธิสัตวปิฏก” มีทั้งที่ใช้ในฐานะที่เป็นชื่อพระสูตรมหายานพระสูตรหนึ่งและที่ใช้ในฐานะที่เป็นเสมือนกลุ่มคัมภีร์ที่ว่าด้วยข้อปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ซึ่งครอบคลุมพระสูตรมหายานหลายพระสูตรไว้ด้วยกัน ยิ่งกว่านั้นบางแหล่งข้อมูลยังระบุว่าคัมภีร์นี้เป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกของนิกายหลักบางนิกาย คือ ธรรมคุปต์และอาจจะพหุศรุตียะด้วย บางท่านว่าเป็นของมหาสางฆิกะ (BRAARVIG AND PAGEL 2006: 11; WERNER 1996; PREBISH 1999) : ดูคำอธิบายเพิ่มเติมใน : ชนิดา จันทราศรีไศล ร่องรอยวิชชาธรรมกายในคานธาระและเอเชียกลาง, ๒๕๕๗.

3 ดูใน : ชนิดา จันทราศรีไศล ร่องรอยวิชชาธรรมกายในคานธาระและเอเชียกลาง, ๒๕๕๗, หน้า ๑๐๘.

4 เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๙
 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล