ฉบับที่ ๒๐๑ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๖๒

หลวงพ่อตอบปัญหา : พระพุทธศาสนาสอนวิธีทำให้ตัวเองมีคุณค่าไว้อย่างไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

หลวงพ่อตอบปัญหา

         ถาม : พระพุทธศาสนาสอนวิธีทำให้ตัวเองมีคุณค่าไว้อย่างไร ?

     ตอบ : สมัยพุทธกาลก็มีคนสนใจเรื่องทำนองนี้กันมาก เขาสนใจว่าระหว่างที่มีชีวิตอยู่นี้ เขาจะต้องทำอะไร เขาจึงจะอยู่ได้ดี และเมื่อถึงคราวตายจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ชีวิตใหม่ของเขาก็จะไปดีด้วย เพื่อเป็นการเตรียมตัวที่ดี เขาจะต้องทำอะไรและทำอย่างไรไว้ตั้งแต่ในชาติปัจจุบัน

       คุณค่าของตัวเองคือได้ทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง และทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น แก่เพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย การทำประโยชน์ให้แก่ตนเองยังแบ่งได้อีก คือ ประโยชน์ในชีวิตชาติปัจจุบันและชาติหน้า

        เริ่มต้น ผู้ถามมีความเข้าใจถูกเรื่องกรรม ชีวิตเราไม่ว่าอยู่ในโลกนี้หรือโลกหน้ายังอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ซึ่งมีกติกาว่าใครทำกรรมใดไว้ ตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดังนั้นถ้าเราปรารถนาจะรับผลลัพธ์อย่างไร เราต้องเป็นผู้ประกอบเหตุเอง ใครอื่นหรือผู้วิเศษคนไหนจะดลบันดาลให้หรือมาทำเหตุแทน หรือรับผลแทนนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

      หลักกฎแห่งกรรม เหตุและผลแห่งกรรมนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะค้นพบได้ ชาวโลกได้อาศัยพระสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เองพระองค์ทรงเป็นผู้ค้นพบกฎแห่งกรรม ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว และบังคับมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ให้เป็นไปตามกฎนั้น เมื่อพระองค์ทรงค้นพบและทำลายกงล้อแห่งกรรมของพระองค์ไปได้แล้ว ก็มีพระมหากรุณาโปรดสัตว์โลกให้รู้ตาม เพื่อจะได้ปฏิบัติด้วยตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยภายใต้กฎแห่งกรรม พร้อมกับแผ้วถางหนทางเพื่อพ้นจากกฎแห่งกรรมตามพระองค์ไปได้

     ครั้งหนึ่งยักษ์ตนหนึ่งนามว่า “อาฬวกยักษ์” ได้โอกาสทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “บุคคลละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศกอย่างไร” คำตอบของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นที่มาของ “ฆราวาสธรรม” ธรรมพื้นฐานของผู้ครองเรือนให้ประสบสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า คือ ผู้ใดมีศรัทธาอยู่ครองเรือน มีธรรม ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ผู้นั้นแลละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก

    สรุปว่า บุคคลในโลกนี้ ที่จะทำตนให้มีคุณค่าทั้งในยามอยู่ในโลกนี้และยามที่ต้องละจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า และรับประกันได้ว่าจะไม่เสียใจในภายหลัง คือบุคคลที่มีคุณธรรมหรือคุณสมบัติ ดังนี้

        ๑. มีศรัทธา ๒. มีสัจจะ ๓. มีทมะ ๔. มีขันติ ๕. มีจาคะ

      ศรัทธา สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ เป็นคุณธรรมและนิสัยในใจคน เกิดจากการคิด พูดทำ ซํ้า ๆ บ่อย ๆ อย่างสมํ่าเสมอ จนกลายเป็นการกระทำตามปกติ และติดเป็นนิสัยของเราคุณธรรมประจำใจจึงเกิดจากการที่เราทำกิจวัตรประจำวันทุก ๆ วันด้วยตนเอง

         บุคคลผู้มีศรัทธาตรงนี้ ได้แก่ บุคคลผู้เชื่อธรรมของผู้หมดกิเลส คือ พระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทและมีปัญญา หมายถึง เมื่อเชื่อในธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เองและนำมาถ่ายทอด ผู้เชื่อย่อมเข้าไปหา ไปนั่งใกล้ ตั้งใจสดับตรับฟัง ศึกษาคำสอนของพุทธองค์จนเข้าใจแล้ว ก็ตั้งใจฝึก นำไปประพฤติปฏิบัติด้วยศรัทธา จึงนำมาซึ่งวิบากอันเป็นสุข นำมาซึ่งทรัพย์ ทั้งโลกียทรัพย์และโลกุตรทรัพย์ เมื่อปฏิบัติถูกต้องยิ่ง ๆ ขึ้นไปแล้ว ผู้นั้นก็จะได้ปัญญาเพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ

       เหตุแห่งการได้ปัญญาคือ ทมะ ไม่มีอะไรทำให้ได้ปัญญายิ่งกว่าทมะ ทมะ คือ การฝึกการหยุด และการข่ม ปัญญาได้จากการฝึก การหยุด การข่ม แน่นอนต้องศึกษาค้นคว้า แล้วพอรู้ว่าสิ่งนี้ดีแน่ ๆ ก็ตั้งใจฝึกเต็มที่ เมื่อศึกษาแล้วรู้ว่าสิ่งที่เคยทำนั้นไม่ดี ไม่ถูก ก็ต้องหยุดการกระทำที่เป็นนิสัยเดิมนั้นเสีย แม้แต่อะไรที่ไม่ถึงกับเสียหายมาก แต่เข้าข่ายสะดวกสบายเกินประมาณ จะเป็นเหตุให้เอาแต่ใจตัวเกินไป ต้องข่มใจเลิกให้ได้ ถ้ารู้จักอย่างนี้ ทั้งฝึก หยุดข่ม ซึ่งรวมแล้วคือ ทมะ เป็นต้นทางแห่งปัญญา แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าฝึกดีแล้ว หยุดดีแล้วข่มดีแล้ว มีทางเดียวคือ หมั่นมองเข้าไปในตัว แล้วจะรู้ด้วยตนเองว่าฝึกพอแล้วหรือยัง หยุดพอแล้วหรือยัง ข่มตัวเองพอแล้วหรือยัง

        สัจจะ ผู้ใดมีสัจจะ ผู้นั้นจะมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป คนจะมีชื่อเสียงได้มีทางเดียว คือ ต้องเป็นคนพูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คนที่พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คือ คนที่จริงจัง จริงใจ จริงจังกับทุกอย่างที่ทำ จริงใจกับทุกคนที่คบหา จริงแสนจริงกับการฝึกตัวเอง สัจจะคือเครดิตของคนเราและนำความน่าไว้เนื้อเชื่อใจมาให้แก่ผู้มีสัจจะนั้น

      ขันติ เป็นที่มาแห่งทรัพย์หรือความรวย บุคคลที่มีงานทำ ขยัน ก็หาทรัพย์ได้ ขันติหรือความอดทนเป็นที่มาของความขยัน ความขยันเป็นที่มาของความรวย ทรัพย์นั้นนำความปลื้มใจมาให้ได้ นำมาซึ่งความสุขทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งยังใช้ป้องกันและบรรเทาทุกข์ที่เกิดได้

      จาคะ เหตุแห่งการผูกมิตรยิ่งกว่าจาคะไม่มี การเป็นผู้ให้ในสิ่งที่ผู้อื่นปรารถนา ย่อมระงับทุกข์ที่เกิดแก่ผู้อื่นได้

         วิธีสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ให้ตัวเอง

      คุณธรรมเหล่านี้ จะเกิดขึ้นในใจและมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน จุดเริ่มต้นคือ ต้องฝึกศักยภาพของใจ เก็บใจที่มักวิ่งออกไปนอกตัวให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับตัวเองมองตัวเอง ฝึกให้ใจเชื่อง ฝึกจากเรื่องของตัวเอง ฝึกจากเรื่องใกล้ตัว ฝึกเอาจริง เป็นคนทำอะไรทำจริง นั่นก็คือ ต้องเริ่มที่ฝึกสัจจะ ถ้าฝึกสัจจะได้ดีเท่าไร ทมะก็ดีเป็นเงาตามตัวไปด้วยฝึกทมะได้ดีเท่าไร ขันติ จาคะ สมาธิ ก็จะดีเป็นเงาตามตัวไปด้วยเช่นกัน

         วิธีฝึกสัจจะ

         ๑. ทำงานด้วยความจริงจังกับงานที่ได้รับมอบหมาย หน้าที่การงานอย่าให้ขาดตกบกพร่อง

         ๒. จริงใจกับทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง พูดอย่างไรกับเขาก็ทำอย่างนั้น มีความรู้ความดีอะไรก็มาปันกันกับเพื่อนร่วมงาน

         ๓. จริงแสนจริงกับความดี ต่อการรักษาศีล นั่งสมาธิ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมปราบกิเลสของตัวเอง

         ถ้ามีสัจจะอย่างนี้ ทมะก็จะเกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง

        ทมะ แปลว่า ฝึกที่จะทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป การฝึกนั้นจำต้องฝืนใจทำก่อน คือฝืนนิสัยเดิมทั้งนั้น ข่มใจที่จะไม่ทำ เลิกที่เคยทำไม่เข้าท่าให้หมด เพราะฉะนั้น ขณะที่ฝึกสัจจะ จำต้องฝึกทมะในตัวไปด้วย

       เมื่อฝึกตัวเองมากเท่าไร ก็ต้องข่มใจไม่ให้ย้อนกลับไปทำนิสัยไม่ดีเดิม ๆ ต้องทิ้งให้หมดซึ่งการที่จะทำอย่างนั้นได้ ก็จะบังคับให้ต้องทั้งอดและทั้งทนต่อไปอีก เมื่อมีขันติ มีความทรหดอดทนแล้ว เราก็จะมีคุณธรรมอื่น ๆ ก้าวหน้าไปตามลำดับ

        พอเรามีสัจจะรักที่จะทำความดีเท่านั้น เราเลยฝึกตัวเองให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกวัน ๆ สร้างบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกวัน ขณะฝึกก็ต้องมีขันติ อดทนไปด้วย ในที่สุดแล้ว สิ่งที่จะได้ตามมาคือเราจะก้าวไปสู่การเป็นผู้ที่สละได้

       จาคะหรือสละนั้น กว่าจะสละทรัพย์ก็ว่ายาก สละความสะดวกสบายยังยากกว่าการสละทรัพย์ การสละทรัพย์เป็นเรื่องในส่วนของตน การสละความสะดวกสบายก็เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมกว่าจะก้าวข้ามตรงนี้ได้ก็ไม่หมู พอได้มาถึงจุดนี้เมื่อไร ธาตุทรหดได้ฝึกขึ้นมาอีกขั้นแล้วยังมีอีกขั้นหนึ่งคือสละอารมณ์ ถ้าสละอารมณ์ยังไม่ได้ ยากที่จะได้สมาธิ ถ้าสละอารมณ์ได้ตัดใจได้แล้ว วันนี้ใจก็พร้อมแล้วที่จะนิ่งอยู่ในตัว

        การฝึกในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการแก้นิสัย เพื่อการเป็นที่พึ่งของตนเอง เพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ พ้นจากกฎแห่งกรรม เพื่อจะไปนิพพาน เพื่อจะไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม การตัดใจ ฝืนใจ ที่จะแก้นิสัยต่าง ๆ กลายเป็นการเพิ่มคุณธรรมความดีให้แก่ตนเอง เราทำได้ดีเท่าไร ผู้อื่นที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เขาก็จะได้ต้นแบบในระดับที่เราทำได้เป็นแนวทาง เป็นแรงบันดาลใจ เพราะทุกคนต่างอยู่ในสายตาของกันและกัน หากจะช่วยกันให้ทุกคนได้ทำตนให้มีคุณค่า เราสามารถเริ่มได้ที่ตนเองตั้งแต่วินาทีนี้ได้เลย

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล