ฉบับที่ ๑๔ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

สัมภาษณ์พิเศษ พลังรักจาก MOMMY (แม่) โดย ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์

 

สัมภาษณ์พิเศษ
: ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์

 

                       ความรัก - ความเชื่อ

                       ลูก - ศาสนา

                       กับการรอนแรมมาใช้ชีวิต ภายหลังการแต่งงาน

                       ในแดนอารยธรรมที่แตกต่าง

                       ไม่ง่ายเลย..!!

                       กับบทบาทของความเป็นแม่

                       ที่ต้องผสมผสานทุกอย่าง

                       ให้ลงตัว เพื่อให้เกิด

                       ความเข้าใจกันที่สุด..!!

 

                       คงธรรมดาเกินไป หากเรื่องราวต่อไปนี้จะบอกคุณได้เพียงว่า "เธอ คือ แม่คนหนึ่งที่ต้องการให้ลูกเป็นคนดี"เพราะเรื่องของเธออาจให้อะไรคุณได้มากกว่ามุมมองทางความคิด ที่ไม่ใช่แค่วิถีชีวิตที่น่าสนใจในต่างแดนเท่านั้น แล้วคุณจะรู้ว่าความฉลาดของเธอ อาจทำให้คุณพบจุดเปลี่ยนของวิธีการเลี้ยงลูก-หลาน หรือวิธีการตอบคำถามกับใครก็ได้รอบตัวคุณ เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยอาศัยสิ่งที่เหมือนกันเป็นตัวเชื่อม และเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรดีๆ ที่กำลังจะตามมาอย่างเหนือความคาดหมาย

                       "อัญชลี นาทาสัน" หญิงไทยที่ข้ามทวีปไปใช้ชีวิตภายหลังการแต่งงานในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะสามีเป็นชาวอเมริกันนับถือศาสนายิว เธอและสามีมีบุตรชายที่น่ารักด้วยกัน ๒ คน คือ หนูน้อยอีลาน วัย ๘ ขวบ และ หนูน้อยจาชัวร์ วัย ๔ ขวบ ซึ่งต่อมาเธอได้มาปฏิบัติธรรมเป็นประจำที่วัดภาวนา นิวเจอร์ซีย์ (สาขาของวัดพระธรรมกายในต่างประเทศ) เมื่อมีโอกาสสนทนากัน เธอเล่าให้ฟังว่า

                       "..คือ ตัวเองเป็นคนพุทธก็จริง ถูกหล่อหลอมจากครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธมาแต่กำเนิด แต่ชีวิตก่อนจะมารู้จักวัด ต้องยอมรับค่ะว่า เราไม่มีหลักในการเลี้ยงลูก บางทีเราตีเขา เพราะเราไม่รู้จะทำยังไงให้เขาเชื่อเรา อยากให้เขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่พอเราตีเขาแล้ว เรารู้สึกเจ็บปวดเอง เราเสียใจ และรู้สึกลึกๆ ว่า ถ้าสอนลูกแบบนี้ ลูกจะไม่ได้ดีแน่นอน..."


จุดเปลี่ยนชีวิตหลังจากฝึกสมาธ

                       ได้รู้จักประโยชน์ของการทำสมาธิจริงๆ จากการลงมือปฏิบัติกับตัวเอง เพราะสมาธิเป็นสิ่งสากล ไม่ว่าศาสนาไหนต่างยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งสามีเองก็เข้าใจ เห็นด้วยกับประโยชน์ของสมาธิ แม้เขาจะนับถือศาสนายิว และอีกอย่างหนึ่งที่อเมริกา หมอจะแนะนำคนไข้ให้ใช้สมาธิในการบำบัดโรค ส่วนตัวเองหลังจากที่ได้หันมาฝึกสมาธิแล้วพบว่าสมาธิทำให้เราใจเย็นขึ้น เกิดความเข้าใจคนรอบข้าง คนในครอบครัวมากขึ้น


สิ่งแรกที่นึกถึงเกี่ยวกับลูก

                       พอเราเข้าใจถึงประโยชน์ของสมาธิแล้ว เรานึกถึงลูกเป็น อันดับแรก ว่าสมาธิจะสามารถเข้ามามีประโยชน์กับลูกในเรื่องของการเรียนนะ จะทำให้เขามีใจจรดจ่อในการเรียนรู้ที่จะได้รับการถ่ายทอดจากครูได้มากกว่าเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกสมาธิ...


แนะนำลูกอย่างไรให้เขาสนใจสมาธิ ทั้งๆ ที่เด็กวัยนี้น่าจะสนใจเรื่องเล่น เรื่องเพื่อนมากกว่า..

                      ถ้าเรารักเขา เราต้องมีวิธีการที่ฉลาด บวกกับความอดทน สองสิ่งนี้สำคัญมากที่จะต้องทำไปด้วยกัน แม้จะรักเขามากเพียงใด อยากจะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เขาแค่ไหน แต่ใช้วิธีการไม่ฉลาด เราก็จะให้เขาทำตามเราไม่ได้ บางคนอาจเข้าใจไปว่า การใช้ความรักอย่างเดียวเขาจะยอมทำตามเราได้ ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น ดังนั้นเราต้องมาเพิ่มความเข้าใจด้วยว่า เด็กในวัยนี้แท้จริง เขาต้องการคำอธิบายนะ.. ต้องการเหตุผล.. โดยที่เราต้องไม่คิดไปก่อนว่าเขายังเด็กเกินไป เกินกว่าการที่จะเข้าใจเรื่องราวที่ยากๆ

                      เช่นเรื่องของสมาธิ เราจะบอกถึงประโยชน์ให้ลูกฟังก่อนว่าเขาจะได้รับประโยชน์อะไรจากสิ่งนี้ เช่น สมาธิจะทำให้ลูกความจำดี ทำให้ลูกเรียนเก่ง ทำให้ใจสงบ เมื่อสงบก็จะสามารถรองรับสิ่งดีๆ ได้ง่ายได้เร็ว เมื่อแนะถึงประโยชน์ตรงนี้ ประกอบกับแม่เป็นผู้ทำเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นเองด้วย แล้วชวนลูกไปวัดกับเรา ซึ่งเขาก็ยอมทำตามเราโดยไม่ยาก...


วิธีการบริหารความขัดแย้ง ทางด้านศาสนาในครอบครัว

                      จะเอาความดีเป็นหลัก คือ จะเอาความดีเป็นจุดเชื่อมความแตกต่าง เช่น ในเรื่องของศีล ๕ ในศีลข้อ ๑ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ถ้าเราจะบอกสามีว่า ศาสนาพุทธ ห้ามทำมันผิดศีล ๕ นะ เราบอกอย่างนี้เขาจะไม่เข้าใจและยอมรับเราไม่ได้ เพราะสามีนับถือศาสนายิว เขาจะมีความเชื่อว่า การฆ่าสัตว์ใหญ่ๆ บาป แต่ฆ่าสัตว์เล็กๆ น้อยๆ เช่น มด แมลง ไม่บาป เราก็จะเปรียบเทียบให้สามีฟัง หรือสอนลูกว่า.. เขารักชีวิตตัวเองไหม..? สัตว์ทุกชนิดก็รักชีวิตตัวเองเหมือนกัน ถ้าสัตว์ใหญ่มีชีวิตและรักชีวิต..แล้วสัตว์เล็กไม่มีชีวิตหรือ..? ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสัตว์ใหญ่ สัตว์เล็ก เขาก็มีชีวิตและทุกชีวิตก็รักชีวิตตัวเอง อย่างมดนี่ เวลาเราจะไปทำร้ายเขา เขายังหนีเรา คือเขากลัวและรักชีวิต จะไปฆ่าเขาไม่สงสารเขาหรือ พออธิบายให้เข้าใจด้วยเหตุผลอย่างนี้ ก็จะยอมรับกันได้ หรืออย่างเรื่องของสมาธิ สามีจะเข้าใจในแง่ของ ถ้าฝึกแล้วจะดีต่อสุขภาพ ช่วยให้หายเครียด ซึ่งที่บ้านจะจัดให้มีการปฏิบัติธรรม โดยชวนคนมาสัปดาห์ละครั้ง โดยที่ลูกๆ ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน ซึ่งสามีก็ชอบเพราะบ้านสะอาด


วิธีถ่ายทอดธรรมะให้กับลูก

                     ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีเหตุผลมาก ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นคนพุทธเราน่าจะสามารถนำเหตุผลเหล่านี้บอกให้กับลูกได้ ซึ่งจะทำอย่างนี้ได้เราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า ธรรมะคืออะไร จะใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน อย่างจะสอนลูกให้เป็นคนดี ต้องรู้ว่าคนดีเป็นอย่างไร ต้องสอนให้เขารู้จักการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างเช่นในเรื่องศีล ๕ ก็จะแจกแจงถึงเหตุผลเป็นข้อๆ เช่น ศีลข้อ ๑) การไม่ฆ่า ซึ่งได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น ศีลข้อ ๒) การไม่ลักทรัพย์ จะอธิบายว่าทุกคนจะรักของของตัวเอง ถ้าใครมาเอาของของเราไป เราก็เดือดร้อน เราไม่ชอบให้ของหาย ถ้าเราไม่ชอบ เราก็อย่าทำกับคนอื่น ถ้าลูกทำอย่างนี้จะทำให้เราได้รับอานิสงส์คือ เราจะไม่ถูกแย่งสิ่งที่เรารักไป...ข้ออื่นๆ ก็จะอธิบายทำนองนี้ ลูกๆ ก็จะเข้าใจและยอมทำตาม

 

เด็กๆ ทั่วไปจะเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งได้ยาก มีวิธีการใด ที่ง่ายกว่านี้ไหม

                     วิธีที่ง่าย และสอนแล้วเขาเข้าใจและได้ผลมากที่ลองใช้มา คือ สอนในเรื่องของ Law of Kamma กฎแห่งกรรม ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้สอนเรา เพราะหากเรารักใครสักคน เราเองคงไม่อยากให้เขาทำผิดโดยที่เขาไม่รู้ แล้วในที่สุดเขาก็โดนทำโทษ ด้วยผลจากวิบากกรรม แม้ไม่รู้ ไม่เจตนา ก็มีผล... ซึ่งเราเองไม่อยากให้เขาเจออย่างนี้ เราก็จะใช้วิธีการเล่า Case Study ที่ฟังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ให้เขาฟังเสมอๆ แต่เราจะใช้วิธีการเล่าแบบเด็กๆ อย่างสนุกสนาน บางทีก็เอานิทานชาดกให้เขาอ่าน ซึ่งเรื่องในนิทานชาดก พอเขาอ่านเขาจะซึมซับได้เอง เข้าใจถึงเรื่องชาตินี้ชาติหน้า ว่าการกระทำแบบนี้จะทำให้ได้รับผลอย่างไรในชาติหน้า...


วิธีฝึกความรับผิดชอบให้แก่ลูก

                     กิจกรรมทุกอย่างในบ้านจะเป็นเวลาหมด ไม่ว่าจะไปโรงเรียน กลับบ้าน ทานอาหาร ทำการบ้าน อาบน้ำ อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ แล้วที่เพิ่มเติมมาก็คือเด็กๆ จะต้องอ่านหนังสือก่อนนอนจนเป็นนิสัย ซึ่งลูกทั้ง ๒ คน จะรักการอ่านมาก เห็นได้จากบางครั้งจาชัวร์ง่วงนอนมาก เราจะอนุญาตให้เขาไปนอนก่อน เขาก็จะบอกคุณแม่ว่า ยังไม่ได้อ่านหนังสือเลย และในการสร้างนิสัยรักการอ่านนี้ จะใช้วิธีให้เขาเลือกหนังสือที่เขาชอบก่อนช่วงเด็กๆ ที่เขายังอ่านเองไม่ได้ คุณพ่อจะเป็นผู้อ่านให้ฟัง พอเขารู้สึกสนุกอยากรู้ตอนต่อไป เขาก็จะเริ่มหัดอ่านเอง จนกระทั่งอ่านออกเขาก็จะยิ่งอยากอ่าน รักที่จะเรียนรู้

เมื่อลูกทะเลาะกันทำอย่างไร

                     บางทีเด็กๆ เล่นกัน ก็ทะเลาะกันเป็นธรรมดา อย่างบางครั้งอีลานตีน้อง เราจะไม่ใช้อารมณ์ เพื่อให้เด็กหยุดทะเลาะกัน แต่เราจะค่อยๆ ถามเหคตุผลเขาด้วยความใจเย็น ว่าเขาคิดยังไงหนูทำเพราะอะไร ตีน้อง แล้วน้องเจ็บไหม เขาจะยอมรับว่าเจ็บแล้วอีลานทำอย่างนี้ถูกไหม เขาจะตอบออกมาด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจในเหตุผลของเขา แล้วเขาก็จะเข้าใจด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เขาทำถูกหรือผิด เพียงแต่เราต้องให้เวลา และอาศัยความอดทน แล้วทุกอย่างก็จะออกมาดี...

มีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร เมื่อลูกเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ

                      จะอธิบายให้เขาฟังว่า ทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้มีความต่างกัน บางคนเกิดมาโง่ บางคนเกิดมาฉลาด บางคนรวย ทุกคนจะพิเศษไปกันคนละแบบ เช่น ลูกแต่ละคนก็มีความพิเศษกันคนละแบบ อย่างอีลานจะนั่งสมาธิได้ดีเป็นเด็กฉลาด ส่วนจาชัวร์จะร้องเพลงไทยได้เก่งชอบวาดภาพ ซึ่งความพิเศษต่างกัน ก็จะทำให้เขาได้รับผลลัพธ์หรือของอะไรที่ต่างกันเป้นธรรมดา ดังนั้นให้เขาใช้ความต่าง ความพิเศษที่เขามีกันคนละแบบมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำในสื่งที่เป็นส่วนรวมให้ดี ให้สำเร็จ ก็จะได้ความสำเร็จที่ยิ่งกว่า การอธิบายลูกแบบนี้เป็นการปลูกฝังความสามัคคี การทำงานเป็นทีมให้แก่เขา ความรัก การปกป้องช่วยเหลือกันและกันก็เกิดขึ้น


การช่วยลูกแก้ปัญหา

                      การให้เวลาในการซักถามพูดคุยเรื่องราวกับลูกเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งอีลานกับจาชัวร์จะต่างกันคนละแบบ อีลานจะไม่ค่อยเล่าเราจะต้องคอยถามว่าลูกคิดอย่างไรกับเรือ่งนี้ ทำไมคิดแบบนี้ต้องคอยถามเขาถึงจะบอก ส่วนจาชัวร์จะเล่า จะพูดหมดว่าเขาไปเจออะไรที่ไหนมาบาาง ซึ่งการใส่ใจกับเรื่องราวของเขาทำให้เราสามารถช่วยแก้ไขปัญหา และสอนให้เขาแก้ไขปัญหา และสอนให้เขาแก้ไขปัญหาเองได้ เมื่อเขาเจอปัญหาด้วยตัวเอง

                      เช่นอีลาน เขาเป็นเด็กที่รักกการอ่านมาก นั่งสมาธิดี เวลาครูสอนอะไร เขาจะรู้สึกว่าเขารู้แล้ว พอครูถามอะไร เขาจะเป็นเด็กที่ตอบได้ถูกหมด ซึ่งครูก็จะไม่ยอมถามเขา จะไปถามเด็กคนอื่นแทน เขาก็จะใช้วิธีตอบาขึ้นมาดังๆ ทั้งที่ครูไม่ได้เรียก จนเพื่อนชอบพูดว่า มีอะไรบ้างที่นายไม่รู้ จากสิ่งที่อีลานเล่าให้ฟัง ทำให้เรารู้ถึงปัญหาของเขา ว่าเกิดจากความไม่เข้าใจ เราก็ต้องอธิบายแนะเขาว่า การที่เราอยู่ในกลุ่ม ในสั่งคม เราจะต้องประคับประคองกันไปเป็นทีม เพราะฉะนั้นการที่อีลานอยู่ในกลุ่มนั่นหมายถึง คือทีมของลูก ลูกจะเด่นขึ้นมาคนเดียวไม่ได้ ลูกต้องให้โอกาสคนอื่นด้วย แม่เข้าใจว่าลูกรู้ ลูกเป็นเด็กฉลาดเพราะนำผลจากสมาธิมาใช้ในการเรียน รักการอ่าน แต่การที่อีลานตอบครูขึ้นมาโดยที่ครูไม่ได้เรียกทำให้คนอื่นเขาไม่มีโอกาสได้ฝึกคิดไม่มีโอกาสตอบคำถาม เราต้องให้โอกาสกับคนในทีมด้วย พออธิบายอย่างนี้เขายอมรับได้ แล้วก็ตอบกลับมาว่า ผมเข้าใจ ผมจะทำให้ดีที่สุด..

                      จากโจทย์ชีวิตแห่งความเป็น "แม่" ที่เธอทำ ชี้ให้เห็นว่า นอกจากพลังรักอันยิ่งใหญ่ (The endless love of mommy) ที่เธอมอบให้กับลูกเชื่อฟังและมีหลักในการดำเนินชีวิต ด้วยวิธีการที่ถูกต้องได้
สิ่งนี้ย่อมจะเกิดขึ้นกับคุณ หรือคนรอบข้างที่คุณรักได้เช่นกัน หากคุณได้มาศึกษาธรรมะ และฝึกสมาธิอย่างจริงจัง เพราะธรรมะจะช่วยให้เรามีหลักชีวิตที่ถูกต้อง ส่วนสมาธิ จะช่วยให้เรามีสติ มีใจที่ใส ทำให้ใจเย็น และสามารถนำความอดทนที่มีอยู่มาใช้ได้ ด้วยวิธีการที่ฉลาด อย่างที่เราเองก็นึกไม่ถึง..

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล