ฉบับที่ ๒๑ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

หลวงพ่อตอบปัญหา "พ่อค้าสามารถรักษาศีลข้อ ๔ ได้อย่างไร" โดย : พระภาวนาวิริยคุณ

 





               หลวงพ่อครับ เมื่อพูดถึงศีลข้อ ๔ ไม่พูดโกหก ทุกคนจะบอกกันว่ารักษายาก โดยเฉพาะพวกพ่อค้าอย่างผมครับ อยากถามหลวงพ่อ ว่า มีทางใดบ้างที่จะรักษาศีลข้อนี้ ให้บริสุทธิ์ได้ครับ



              คุณโยมถามถูกคนเลย ก่อนที่ หลวงพ่อจะมาบวชก็เคยเป็น เซียนเก่าอยู่ในยุทธจักรการค้ามาพอสมควร แล้วก็พบด้วยตัวเองว่า พอเอาจริงๆ เข้าแล้ว พวกพ่อค้าที่ค้าของเป็นหลักเป็นฐาน มีกิจการการค้าใหญ่โต ยิ่งอยู่ในระดับโลกระดับชาติมากเท่าไร พวกนี้ยิ่งไม่โกหก ถ้าโกหกแสดงว่าเขาทำการค้าจิ๊บจ๊อย ซึ่งก็พอสมกับคนจิ๊บจ๊อย คนกระจอกเอาดีไม่ได้ หรือ ไม่หวังที่จะเอาดีกับการค้าจริง

               เราก็เห็นกันว่า สินค้าในท้องตลาดนั้น ในที่สุดแล้ว ถ้าสู้กันจริงๆ ก็สู้กันด้วยคุณภาพกับ สู้กันด้วยการบริการ แล้วสุดท้ายจึงค่อยมาสู้กันด้วยราคา แม้จะมีบางครั้งบางช่วงก็เอาแฟชั่นมาสู้กัน แต่ก็จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพ หรือจะลด แลก แจก แถม ก็เป็นบางครั้งบางคราว เท่านั้น ในที่สุดแล้วต้องบอกว่า "ความจริงใจ" นั่นแหละมีคุณค่ามากที่สุด

               มนุษย์เรานี่แปลก ไม่ว่าลูกรัก ภรรยารัก สามีรัก เพื่อนรักอะไรก็ตาม จะรักกันได้ตราบที่พบว่า ยังมีความจริงใจต่อกัน ถ้าหมดความจริงใจกันแล้ว ต่อให้เป็นเทวดาก็หมดรัก ดีไม่ดีจะเป็นศัตรูกันด้วย ความจริงใจจะทำให้คนเราคบกันยืด รักกันนาน

               เพราะฉะนั้น คนที่บอกว่าศีลข้อที่ ๔ รักษายากก็ฟ้องว่า เขาต้องไปเจอสิ่งเหล่านี้มา

               ๑. เขาเพาะอุปนิสัยที่ติดตัวมาข้ามชาติมาไม่ดี จึงมีความเห็นผิดอย่างนั้น

               ๒. เขาเกิดมาในสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยจะดี อยู่ท่ามกลางคนโกหกก็เลยพลาดไปโกหกด้วย

               ๓. เขาอาจจะได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีมา เช่น ตัวเองเป็นคนซื่อ แต่ไปเจอกับคนโกงเข้า หรือว่าการบริหารของเขาผิดพลาด เลยทำให้เกิดภาวะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ ก็เลยเอาตัวรอดด้วยการโกหก สิ่งที่ขอรอดไปแค่ชั่วคราว แต่นิสัยกลายเป็นชั่วถาวรนั้นไม่คุ้มเลย

               ในแง่มุมของหลวงพ่อ ถ้าจะทำการค้าขาย ยิ่งต้องเอาความจริง ต้องเอาความดี เอาคุณภาพ เข้าสู้ พูดง่ายๆ เอาสัจจะเป็นตัวตั้งแล้วจะ รักกันนาน

               หลวงพ่อเคยเตือนหลายๆ คนว่า คนโกหก คนอื่น ๑ ครั้ง มีความจำเป็นจะต้องโกหกตัวเองอย่างน้อย ๓ ครั้ง ส่วนอย่างมากนับไม่ไหว เพราะว่า

               ๑. เขาต้องเตรียมเรื่องมาโกหก ตอนเตรียมเรื่องก็คือโกหกตัวเองแล้ว

               ๒. ลงมือพูด ทันทีที่พอพูดเสร็จก็โกหกตัวเอง ๒ ครั้งแล้ว

               ๓. หลังจากนั้น ถ้าไปเจอคนที่เคยโกหกเขามาก่อนเมื่อไร ก็ต้องโกหกต่อ ต้องนึกทบทวนถามตัวเองว่า วันนั้นโกหกว่าอย่างไร นี่เป็นการโกหกครั้งที่ ๓

               เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่อยากจะต้องโกหกตัวเอง แล้วกลายเป็นคนสับสน ก็ต้องตั้งใจรักษาศีลข้อที่ ๔ ให้ดี

               ยิ่งกว่านั้น คุณโยมเคยสังเกตไหม บางคนอายุ ๘๐, ๙๐, ๑๐๐ ปีแล้ว ก็ยังไม่หลงลืมเลย ฟ้องว่าคนๆ นี้ตลอดชีวิตโกหกใครไม่เป็น เลยไม่มี เรื่องสับสนอยู่ในใจ แต่บางคนอายุ ๖๐, ๗๐ ปีเท่านั้น กลับหลงเสียแล้ว ฟ้องว่าพวกนี้ โกหกมาทั้งชาติ

               ถ้าไม่อยากจะเป็นคนหลงลืมก็อย่าไปโกหกใคร นี่คือโทษของการโกหกที่เห็นกันชัดๆ ในชาตินี้

               ยังไม่พอ คนที่โกหกมามากเท่าไร ความ เชื่อมั่นในตัวเองก็หดหายไปเท่านั้น

               นอกจากนี้ ใครโกหกเก่งๆ ในที่สุดเขาก็ต้องจับได้จนได้ ผลสุดท้าย แม้เด็กหัวเท่ากำปั้น หรือลูกตัวเอง หลานตัวเองก็ไม่เคารพ แล้วคุณค่าของเขาจะอยู่ตรงไหน

               มีคำพูดอยู่คำหนึ่ง "ผู้หลักผู้ใหญ่"

               "ผู้ใหญ่" คือ คนที่แก่ไปตามวัย อายุมากขึ้นก็ต้องเป็นผู้ใหญ่

               "ผู้หลัก" คือ คนที่ทำความดี เช่น ไม่โกหก เขาถึงจะเป็นหลักได้

               เพราะฉะนั้น จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ให้ ลูกหลานกราบไหว้ ก็อย่าไปโกหกเขาเชียว

               พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า คนที่พูดโกหกทั้งๆ ที่รู้ ไม่มีความชั่วอะไรในโลกที่เขาทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นรักษาความดีเอาไว้เถอะ แล้วจะศักดิ์สิทธิ์ข้ามชาติ


บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล