ฉบับที่ ๒๘ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘

หลักในการสร้างเครือข่ายคนดี ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

hd_question.jpg


p2.jpg

hd59.gif


ask.jpg


หลวงพ่อครับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักในการสร้างเครือข่ายคนดีเอาไว้อย่างไรครับ ?

 

answer.jpg
หลักในการสร้างเครือข่ายคนดี ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้
มีย่อๆ อยู่ ๔ คำคือ ให้ ให้ ให้ แล้วก็ให้

เนื่องจากทุกคนในโลกนี้ล้วนมีความพร่องอยู่ในใจ แม้ตัวเราเองก็มีความพร่องอยู่ในใจ เช่นกัน ความพร่องที่อยู่ในใจของทุกคนนั้น มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน ได้แก่

               ๑. พร่องสมบัติ คือ มีทรัพย์สมบัติไม่ค่อยจะพอกันทั้งนั้น จนกระทั่งต้องทำมาหากิน ประกอบอาชีพกันตลอดชีวิตทีเดียว นี่เป็นธรรมชาติของคน

               ๒. พร่องกำลังใจ คือ ไม่ว่าจะเก่งกาจขนาดไหน เวลาทำงานก็จะต้องเจออุปสรรคเข้าบ้างเป็นธรรมดา ถ้ามีอุปสรรคแค่เพียงเล็กน้อยก็แล้วไป แต่พอเจออุปสรรคหนักๆ เข้า กำลังใจก็ชักจะถดถอยเหมือนกัน

               เมื่อกำลังใจพร่องก็ต้องไปหามาเติม ดูอย่างนักกีฬาก็แล้วกัน ถ้าไม่มีคนเชียร์ หรือว่าไม่มีคนแข่งขันด้วย ก็ไม่สนุกหรอกคุณเอ๋ย ไม่เชื่อลองไปวิ่งคนเดียวดูก็ได้ เพราะฉะนั้นพอกำลังใจพร่องก็ต้องมีคนเชียร์กันบ้าง

               ๓. พร่องความรู้ความสามารถ คือ มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความโง่ แล้วมาเรียนรู้กันในภายหลังทั้งนั้น แต่ว่าต่อให้มนุษย์มีอายุเป็นพันปี ก็ยังไม่สามารถเรียนความรู้ในโลกนี้ได้ทั้งหมด

               เพราะฉะนั้น ความรู้ความสามารถของคนเราถึงได้พร่องอยู่ตลอดเวลา ยิ่งการงานก้าวหน้า ความรู้ที่มีอยู่ยิ่งไม่ทันงาน ก็เลยต้องไปหาคนมาเพิ่มเติมความรู้ความสามารถให้

               ๔. พร่องความปลอดภัย คือ เวลาทำงานไป ก็ต้องคอยระมัดระวังความปลอดภัยไปด้วย ดังสุภาษิตที่ว่า จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน หรือว่าตัวเราเองก็ย่ำแย่อยู่แล้ว แถมยังมีภัยมาบีบคั้นให้ย่ำแย่หนักเข้าไปอีก

               ไม่เก่งก็มีภัยมาก เก่งมากนักก็ยิ่งมีภัยมาก เพราะฉะนั้นเมื่อความปลอดภัยพร่องไป ก็ต้องหามาเติมให้เต็ม จนกระทั่งภัยนั้นหมดไป

 

คาถาแห่งการสร้างเครือข่ายคนดี

               คาถาแห่งการสร้างเครือข่ายคนดีนี้ มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน ได้แก่

p1.jpg               ๑. ทาน คือ เมื่อถึงคราวทรัพย์สมบัติขาดมือ อะไรแบ่งปันกันได้ก็แบ่งปัน ช่วยเหลือ จุนเจือกันไป ถ้าเห็นพรรคพวกเพื่อนฝูงใกล้จะตาย แล้วยังไม่ช่วยเหลือ อย่างนี้จะคบกันได้อย่างไร สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ก็ขาดไป เพราะว่ากาวใจไม่มี

               ๒. ปิยวาจา คือ ให้คำพูดเป็นกำลังใจ เพราะแม้แต่มหาเศรษฐีบางทีก็ขาดกำลังใจได้เหมือนกัน หรือว่าคราวป่วยคราวไข้ คราวเจออุปสรรค คราวเจอการกระทบกระทั่งกันเองในครอบครัว ก็ต้องการกำลังใจ ไม่อย่างนั้นคงได้แตกหักกันแน่
ส่วนสิ่งที่จะทอนกำลังใจมนุษย์นั้น ไม่มีอะไรเกินคำพูดที่แสลงใจ และสิ่งที่จะเพิ่มพูนกำลังใจให้มนุษย์ ก็ไม่มีอะไรเกินคำพูดเพราะๆ คำพูดที่ให้กำลังใจกัน ของมนุษย์อีกนั่นแหละ

               ๓. อัตถจริยา คือ มีเรี่ยวแรง มีความรู้ มีความสามารถ ก็ไม่หวงกัน แนะนำอะไรกันได้ ก็ให้คำแนะนำกันไป ความสามารถอะไรที่มีอยู่ ถ้าสามารถทุ่มเทกำลังกาย ทุ่มเทศิลปะ ทุ่มเทเทคโนโลยี ไปช่วยใครได้ ก็ต้องทำ

               ยิ่งผู้ที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ยิ่งต้องช่วยกัน เพราะถ้ามัวแต่กีดกันกันเองในประเทศ สักวันต่างประเทศเขารวมกันได้ เขาเลยมาเหยียบเราตาย

               เพราะฉะนั้น ถ้าคนในอาชีพเดียวกันของประเทศไทยจับมือกันเสียอย่าง ห้างใหญ่ๆ จากต่างประเทศ ก็จะมาดูดเงินจากเมืองไทยของเรา ออกไปไม่ได้หรอก

               และปัจจุบันที่เรากำลังโดนดูด จนกระทั่งเลือดไหลทางเศรษฐกิจไม่หยุดอยู่ในขณะนี้ ถ้าคนไทยจับมือกันได้ เลือดคงหยุดไหลไปตั้งนานแล้ว

               ๔. สมานัตตตา คือ มีความจริงใจให้การสนับสนุนกัน อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่แทงกันข้างหลัง

               ถึงคราวเพื่อนได้ดี ก็ดีใจด้วย ไม่อิจฉา ตาร้อน มีจิตมุทิตา ดีใจด้วยเพื่อนเอ๋ย ที่ได้ตำแหน่งเพิ่มขึ้น

               หรือว่าดีใจด้วยที่เพื่อนได้กำไรมากกว่าเรา ปีหน้าจะได้มาร่วมหุ้นลงทุนกัน ถึงเพื่อนจะได้เป็นเจ้ามือใหญ่ ถือหุ้นใหญ่ ก็ไม่ว่ากัน เรามีกำลังทรัพย์น้อยก็เอาแรงกายเข้าช่วย

               เมื่อคบกันอย่างนี้ คือให้ทั้งสิ่งของ ให้คำพูด ให้กำลังกาย ให้กำลังใจ ทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย จึงถือว่าเป็นการให้ความปลอดภัยแก่กัน

               ซึ่งทั้งหมดนี้ คือคาถาแห่งการสร้างเครือข่ายคนดี แล้วจะทำให้เรามีกัลยาณมิตรรอบข้าง อย่างที่จะนับจะประมาณมิได้


bi_pho.jpg

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล