อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ

พระมหาสิริราชธาตุ รุ่นดูดทรัพย์ สำหรับ ผู้สร้างพระธรรมกายประจำตัวภายในมหาธรรมกายเจดีย์นั้น จะได้รับของที่ระลึกเป็นพระธรรมกายของขวัญ

อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ เรื่องที่ ๔๒๐ เงาหยุดมรณะ

เรื่องที่ ๔๒๐ เงาหยุดมรณะ
ช่วงเสี้ยววินาทีที่เสากำลังจะล้มอยู่นั้น พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นเงาตะคุ่มๆ ทึมๆ ดำๆ รูปร่างสูงใหญ่ยืนอยู่ทางซ้ายมือ


 

 
 
คุณป้าวิไลวรรณ สุดสุด
เวลาเดินไปไหนมาไหนก็จะท่อง
"สัมมา อะระหัง" ในใจตลอดเวลา
 
 

รถจักรยานคู่ชีพพร้อมกับสารถีแก้วผู้มีใจรักการสร้างบารมี ไม่ย่อท้อต่อระยะทางที่ไกลหรือใกล้ ยอมเหน็ดเหนื่อยทางกาย แต่ทางใจนั้นเปี่ยมไปด้วยความสุขในการชักชวนคนไปทำความดี รถจักรยานวิ่งฉิวเข้าไปในซอยแห่งหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดระยอง เข้าไปเกือบสุดซอยจะมองเห็นบ้านเป็นห้องแถวเล็กๆ อยู่ติดกับชายทะเล เสียงลมและคลื่นทะเลพัดมาเป็นระลอกๆ เสียงดังซ่าๆ พร้อมกับเสียงแจ๋วๆ ของผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนเรียก “ป้าๆ อยู่หรือเปล่าจ๊ะ ฉันกรรณิการ์มาเยี่ยม จ๊ะ ว่าจะชวนป้าไปร่วมงานบวชอุบาสิกาแก้วที่วัดพระธรรมกาย งานนี้บวชกันเป็นแสนคนเชียวนะ” คุณป้าวิไลวรรณ สุดสุด อายุ ๕๓ ปี รูปร่างสมบูรณ์มีอาชีพรับจ้างตากปลาและปะอวน อยู่กันตามลำพัง ๒ คน สามีภรรยา ลูกๆ ต่างก็แยกย้ายไปมีครอบครัวกันไปหมด คุณป้าออกมาถามคุณกรรณิการ์ว่า “ว่าอะไรนะ บวชอะไรหรือ” “บวชอุบาสิกาแก้วที่วัดพระธรรมกายจ๊ะ งานนี้เป็นงานบุญใหญ่เชียวน่ะจ๊ะป้า เป็นการบวชเพื่อทดแทนคุณให้แม่ของเรา และแม่ของชาติด้วยนะ รวมทั้งตัวเราก็ได้รับอานิสงส์ส่วนนี้ด้วย เท่ากับได้บุญ ๓ ต่อเลยนะคะ”
พอคุณป้าได้ฟังก็อยากไปร่วมงานบุญที่วัดพระธรรมกายด้วย เพราะโดยส่วนตัวนั้นชอบสั่งสมบุญอยู่แล้ว คุณป้าจึงได้มาร่วมงานบวชอุบาสิกาแก้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ เป็นการมาวัดครั้งแรก เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและนำธรรมะที่ได้จากการมาบวชอุบาสิกาแก้วไปใช้ในชีิวิตประจำวัน จนกระทั่งในครั้งงานบวชอุบาสกแก้วก็ได้มาร่วมงานและได้รับพระมหาสิริราชธาตุ รุ่นพิชิตมาร คุณป้ามีความปีติและดีใจมากนึกว่าในชีวิตคงจะไม่มีโอกาสได้รับพระมหาสิิริราชธาตุเพราะปัญหาทางด้านการเงินของครอบครัว หลังจากได้รับมาแล้วก็รีบหาสร้อยสแตนเลสอาราธนาองค์พระคล้องคอเลย

 
รถจักรยานที่คุณกรรณิการ์
ใช้ขี่ไปชักชวนคนมาทำความดี
 

คุณป้าวิไลวรรณจะสวดสรรเสริญพระมหาสิริราชธาตุในตอนเช้า และเวลาออกจากบ้าน เดินไปไหนมาไหนก็จะท่อง “สัมมา อะระหัง” ในใจตลอดเวลา


คุณป้าเล่าถึงวันที่เกิดเหตุการณ์ว่า วันนั้นคุณป้าออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อไปรับจ้างตากปลาที่โรงงานผลิตน้ำปลาที่ใหญ่แห่งหนึ่งของ อ.เมือง จ.ระยอง ลักษณะที่ตากปลาจะมีเสาไม้ท่อนใหญ่ๆ จำนวน ๖ เสา พาดไม้ด้านบนคล้ายๆ ราวตากผ้า แต่ละเสาจะมีตะปูตัวใหญ่ตอกห่างกันทุกๆ ๒-๓ เซนติเมตร และจะใช้เหล็กแหลมเสียบปากปลาแขวนผึ่งลมให้แห้ง โดยมีพัดลมขนาดใหญ่คอยพัดให้แห้งในห้องทึบสี่เหลี่ยมขนาด ๓x๖ เมตร ภายในห้องยังมีตู้แช่ขนาด ๒x๔ เมตร สำหรับเก็บปลาไว้ เป็นปลาตัวโตๆ จำพวกปลาอินทรีย์บ้าง และปลาอื่นๆ อีกที่ตัวยาวๆ น้ำหนักประมาณตัวละ ๔-๕ กิโลกรัม


คุณป้าเริ่มตากปลาตั้งแต่ตัวแรก ตากไปเรื่อยๆ พร้อมกับเสียงภาวนา สัมมา อะระหัง ที่ติดอยู่ในใจตลอดเวลา สักพักได้ยินเสียงดังเอี๊ยด.. ก็ไม่ได้สนใจอะไรยังคงตากปลาต่อไป คิดว่าเป็นเสียงพัดลม กำลังคิดรำพึงอยู่ในใจว่า “เฮ้อ..อีกตัวเดียวก็จะหมดแล้วนะ” คราวนี้เสียงดังลั่น “เอี๊ยด...” ยาวมาเป็นสาย เสียงดังสนั่นหวั่นไหว คุณป้าแหงนหน้าไปมองยังจุดต้นเสียง ตกใจจนแทบจะเป็นลมล้มพับอยู่ตรงนั้นเมื่อเห็นเสาแต่ละท่อนเอนลงมาพร้อมกับปลาตัวโตๆ จำนวนหลายร้อยตัวซึ่งน้ำหนักปลารวมกันแล้วหนักประมาณสามพันกว่ากิโลกรัม เสานั้นเอนตัวมายังคุณป้าอย่างรวดเร็ว คุณป้ามองไม่กระพริบตาตกใจสุดขีด
คุณป้าเล่าว่า ช่วงเสี้ยววินาทีที่เสากำลังจะล้มอยู่นั้น พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นเงาตะคุ่มๆ ทึมๆ ดำๆ รูปร่างสูงใหญ่ยืนอยู่ทางซ้ายมือของป้า ทำให้สะดุ้งตกใจเพราะกำลังขวัญผวาอยู่แล้ว คุณป้ารีบกระโจนหลบไปอยู่ทางขวา และทันใดนั้นเองท่อนเสาพร้อมๆ กับปลาทั้งหมดก็ล้มโครมลงมา ซึ่งแต่ละเสาจะมีตะปูตัวโตๆ ตะปูเฉี่ยวศีรษะคุณป้าไปนิดเดียว หวุดหวิดจะเจาะเข้ากลางกะโหลก และช่างเป็นความบังเอิญที่เสาล้มลงมาถูกพัดลมเครื่องใหญ่ พอมีช่องเล็กๆ ให้คุณป้าค่อยๆ คลาน ลอดออกมาอย่างทุลักทุเล คุณป้ายืนอยู่ตรงนั้นเพียงลำพังผู้เดียว ทุกๆ คนที่อยู่บริเวณนั้นต่างพากันส่งเสียงร้องดังลั่นด้วยความตกใจว่า “ตายแล้ว ป้าอู๊ด แกตายแน่ๆ เลย ตายๆ ป้าอู๊ด ไม่เหลือแน่แล้ว”

 
เสาที่ใช้ตากปลา
 
 

ทันทีที่เสาล้มลงมา ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงต่างพากันวิ่งกรูเข้ามาพร้อมกับตะโกนเรียก “ป้าอู๊ดอยู่ไหนๆ” ป้าขานรับด้วยเสียงอันสั่นเทาว่า “อยู่นี่ๆ” คุณป้าออกมายืนตัวสั่นงันงกด้วยอาการขวัญเสีย ชาวบ้านก็ถามว่า “ป้าเป็นอะไรหรือเปล่า” เจ้าของบ้านที่จ้างคุณป้าตากปลารีบเข้ามาจับตามเนื้อตัวป้า ป้าออกมายืนตัวสั่นเพราะ ตกใจมาก สักพักพอค่อยคลายความตกใจ ชาวบ้านที่วิ่งมามุงดูก็ถามคุณป้าด้วยความรู้สึกทึ่งที่คุณป้ารอดพ้นภัยมาอย่างหวุดหวิดจนเกือบเอาชีวิตมาทิ้งไว้ ณ ที่นี่ พวกเขาต่างก็ถามด้วยความอยากรู้ว่า “ป้าๆ คล้องพระอะไรหรือ ถึงได้รอดมาได้” ป้าบอกว่า “ก็มีแต่พระของขวัญนี่แหล่ะ” เจ้าของโรงงานจับดูองค์พระมหาสิริราชธาตุมองดูอย่างพินิจพิเคราะห์ และถามว่า “นี่พระที่ไหนหรือครับ” คุณป้าพูดอย่างเต็มปาก และภูมิใจว่า “พระจากวัดพระธรรมกายไงหล่ะคุณ” พอทุกคนได้ฟังว่าเป็นพระจากที่ไหนก็นิ่งอึ้งกันไปหมด

เจ้าของโรงงานได้ให้ชายฉกรรจ์แข็งแรงสิบกว่าคนมาช่วยกันยกเสา ก็ยกไม่ไหวต้องนำปลาที่ตากออกจนหมดก่อน แล้วจึงจะยกเสาขึ้นได้ จนคนหนุ่มเหล่านั้นถึงกับเอ่ยปากออกมาว่า “เสาและปลาหนักขนาดนี้ ถ้าทับคนก็แบนเละแน่ๆ เลย ไม่รู้ป้าแกรอดมาได้ไง” เจ้าของโรงงานต้องทำการซ่อมแซม ขนานใหญ่ พร้อมกับพาคุณป้าไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกายอีกถึงสองครั้ง คุณหมอเอ็กซเรย์ดูบอกว่าไม่เป็นอะไรมาก เจ้าของโรงงานยังได้ให้ค่าทำขวัญกับคุณป้าในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

 
ซากพัดลมที่โดนเสาหล่นมาทับ
 

คุณป้ากล่าวว่า “นี่ถ้าเราไม่คล้องพระ ไม่มีบุญติดตัวมา เราต้องตายแน่ๆ เลย” ด้วยบุญที่คุณป้าสั่งสมมาในการประพฤติธรรม รักษาศีลทุกวันพระ ทำทานเท่าที่ตนสามารถทำได้ตามกำลังบุญ บุญจึงติดตามคุ้มครองคุณป้า เสาขนาดใหญ่ และน้ำหนักปลาจำนวนหลายร้อยตัวที่ล้มลงมาอย่างแรง แม้แต่พัดลมที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ยังหักงอจนเจ้าของต้องเก็บรักษาไว้เตือนสติ และเป็นอุทาหรณ์สอนใจไว้เลยทีเดียว ถ้าเหตุการณ์นี้ล้มทับคน ถ้าไม่ตายก็อาจต้องพิกลพิการไปเลยก็ได้ และถ้าเป็นเช่นนี้คุณป้าคงต้องทรมานสังขารไปอีกนาน เพราะครอบครัวยากจนจะไปหาหมอที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็คงต้องเสียเงินเสียทองมาก นี่แหล่ะคือบุญที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้แต่ส่งผลให้ผู้ประพฤติธรรม ประกอบแต่กรรมดีบุญจึงส่งผลช่วยได้ในยามคับขัน คุณป้าเล่าพร้อมกับถอนหายใจอย่างโล่งอกเหตุการณ์นี้สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้างว่าคุณป้ารอดมาได้อย่างไร


คุณป้าวิไลวรรณนั้นเมื่อประสบเหตุการณ์นี้เข้ากับตัวเอง ถึงกับประกาศออกมาว่า “ใครไม่เชื่อก็ช่าง ป้าจะขอเชื่อของป้าอย่างนี้ตลอดไป” ขณะนี้คุณป้าได้เปิดบ้านกัลยาณมิตรด้วยหัวใจอันเด็ดเดี่ยว ถึงแม้จะมีอุปสรรคมากมายก็ตาม คุณป้ายังคงสวดมนต์ สวดสรรเสริญพระมหาสิริราชธาตุ และสัมมา อะระหัง ต่อไปแต่เพียงผู้เดียวอย่างไม่หวั่นไหว

 

 
คุณป้าเป็นกัลยาณมิตรให้กับหลานชาย
โดยชวนมาบวชอุบาสกแก้ว
 

จริงอยู่คุณวิไลวรรณไม่ใช่ผู้ทำบาป ปาณาติบาตโดยตรง เป็นเพียงคนรับจ้างตากปลา แต่โดยความจริง นับเป็นผู้โยงบาปกับผู้ทำเวรชนิดนั้น เช่นเดียวกับลูกจ้างในสถานที่ประกอบอาชีพบาปทั้งปวง เช่นลูกจ้างร้านขายเหล้า ลูกจ้างในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่จะถูกนำไปฆ่าขาย ฯลฯ ลูกจ้างเหล่านี้ไม่ใช่ผู้สั่งการหรือผู้ลงมือทำบาปก็จริง แต่ถือว่าเป็นคนสนับสนุนกิจการของคนที่เป็นนายจ้าง ทำให้นายจ้างทำบาปสะดวกยิ่งขึ้น เมื่อถึงคราวกรรมจะให้ผล จึงมักพลอยฟ้าพลอยฝนตามไปด้วย ไม่มากก็น้อย ดังนั้นผู้ที่เป็นลูกจ้างทั้งหลาย ควรพิจารณาอาชีพของนายจ้างในขณะทำงานด้วย ว่าเป็นอาชีพเป็นบาป เป็นภัยต่อผู้อื่นหรือไม่ หากมีโทษแฝงอยู่ ก็ไม่ควรสมัครเข้าทำ ไม่ว่ารายได้ดีเพียงใด เพราะนอกจากมีส่วนในการช่วยเหลือให้นายจ้างทำบาปสะดวกดังกล่าวแล้ว ยังทำให้จิตใจของตนคุ้นเคยกับบาปเหล่านั้น จนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทำให้ใจกระด้าง ไม่ละอายต่อบาปต่อความชั่ว
เรื่องความเคยชินของใจ เป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตของเราทุกคน เคยมีเหตุการณ์ พี่น้องคู่หนึ่งขายเนื้อหมูอยู่ที่ตลาดสำโรง ใจคุ้นกับการแล่เนื้อหมูอยู่เป็นสิบๆ ปี พอมีเรื่องทะเลาะกันแทนที่จะตบตีกันด้วยมือด้วยเท้า กลับใช้มีดชำแหละหมูนั่นเอง เข้าไล่ฟันกันบาดเจ็บเหวอะหวะ เห็นอีกฝ่ายเป็นเนื้อหมูไปเสีย ทั้งที่ทั้งสองคนไม่เคยฆ่าหมูด้วยตนเอง เพียงแต่ไปซื้อหมูที่ตายแล้วจากโรงฆ่ามาชำแหละขาย ใจก็เหี้ยมเกรียมขึ้นมาได้
อาชีพใดที่ทำให้ใจเสียคุณภาพ เราจำต้องระมัดระวังให้ดี 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล