ทันโลก ทันธรรม
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ (M.D.,Ph.D.) จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC
พระภิกษุห้ามทำเรื่องนี้ ทรงกำหนดขึ้นมาทีละข้อๆ จนกระทั่งมาเป็น ๒๒๗ ข้อ เป็นศีลของพระในปัจจุบัน แล้วพระที่ท่าน กระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าทรงบัญญัติพระวินัยข้อใหม่ขึ้นแล้ว เช่น เดิมอาจจะมีอยู่ ๑๐ ข้อ พอถัดมาอีก ๓ เดือน ๖ เดือน อาจจะมีเพิ่มขึ้นมา ๔-๕ ข้อ เป็น ๑๕ ข้อถ้าพระที่นี่รู้ แต่ที่นั่นไม่รู้ สงฆ์แต่ละที่ ก็รักษาพระวินัยไม่เท่ากันสิ ถ้ามีพระวินัยไม่เท่ากันแล้วเอกภาพของสงฆ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถึงคราวจะลงพระปาติโมกข์ ท่องปาติโมกข์ก็ไม่เท่ากันคณะสงฆ์ก็คงจะสับสนวุ่นวายน่าดู คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่รู้ว่ามีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาบ้าง พระวินัยก็ไม่ทราบ และก็ไม่สามารถใช้วิธีการแบบสมัยใหม่ เช่น ถ้ามีพระวินัยบัญญัติข้อใหม่ ก็ประกาศทางวิทยุกระจายเสียง"ที่นี่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชมพูทวีป ขอให้คณะสงฆ์ใน แผ่นดินโปรดรับทราบ บัดนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มอีก ๑ ข้อแล้ว มีเนื้อหาสาระดังนี้... ขอสงฆ์ทั้งหลายพึงปฏิบัติโดยทั่วกัน จบข่าว" อย่างนี้ไม่มีใช่ไหมแล้วพระองค์ทรงมีเทคนิคอย่างไร ทำไมคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลจึงเป็นเอกภาพ แล้วสามารถรักษาเอกภาพได้ต่อเนื่อง ถึงหลังพุทธกาลเป็นร้อยปี ซึ่งไม่มีศาสนาไหนทำได้ขนาดนี้ พระองค์ทรงใช้ Know-how อะไร เทคนิคอะไร น่าสนใจไหม วันนี้จะมาเฉลยให้ฟังกัน
จริงๆ นี่เป็นเทคนิคเรื่องการสื่อสารไร้สายในครั้งพุทธกาล เป็นแบบ wireless แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก กระจายทั้งแผ่นดินได้ ไปค้นจากหลักฐานพระไตรปิฎก พบว่าในพรรษาต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงจาริกไปในที่ต่างๆ พรรษาที่ ๑ หลังจากตรัสรู้ธรรม จำพรรษาอยู่ที่เดียวกับชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะคยากัสสปะแล้วก็โปรดจนกระทั่งสำเร็จ ยอมมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตั้ง ๑,๐๐๐ รูป
พรรษาที่ ๒ ทรงจาริกไปเรื่อยๆ ในที่ต่างๆ แต่ว่า ๒๕ พรรษาท้าย พระองค์ทรงจำพรรษาอยู่ที่เมืองเดียว คือ เมืองสาวัตถี โดยประทับอยู่ที่เชตวัน มหาวิหาร ๑๙ พรรษา และที่บุพพาราม ที่นางวิสาขาสร้างถวายอีก ๖ พรรษา ทั้ง ๒ วัดนี้อยู่ในเมืองๆ เดียวกันสรุปแล้วประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ๒๕ พรรษารวด มีเว้นเฉพาะพรรษาสุดท้าย พรรษาที่ ๔๕ เท่านั้นเองที่พระองค์เสด็จจาริกไปจำพรรษา ที่ชานเมืองเวสาลี ก่อนจะไปปรินิพพานที่เมือง กุสินารา ก่อนหน้านั้น ๒๕ ปีรวดอยู่เมืองเดียว
ประทับ ๑๙ พรรษาที่เชตวันมหาวิหาร ซึ่งท่านเศรษฐี สร้างถวาย หมดทรัพย์ไป ๕๔ โกฏิกหาปณะ ก็คือ ๕๔๐ ล้านกหาปณะนั่นเอง ทั้งค่าสร้าง ค่าฉลอง เสร็จสรรพเรียบร้อย หมดไป ๕๔๐ ล้านกหาปณะ ๑กหาปณะนี่ยิ่งกว่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบันถ้าเทียบค่าเงินในปัจจุบัน อาตมาคิดว่าเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท อาจจะเป็นแสนล้านทีเดียว
ในการสร้างเชตวันมหาวิหาร ท่านเศรษฐีได้ไป สำรวจทั้งเมืองพบว่า สวนเจ้าเชต (เป็นเชื้อพระวงศ์) เหมาะที่สุดเลย ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป สงบร่มรื่นเหมาะสมมาก จะไปขอซื้อ เจ้าของเขาพูดแบบไม่ขาย บอกว่า "ถ้าอยากจะซื้อก็เอาเงินมาปูให้เต็มแผ่นดิน"นั่นคือค่าที่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ไม่ต่อสักคำเลย รับว่า ตกลง ให้คนกลับมาขนเงินมาเรียงกันบนแผ่นดินจนเจ้าเชตทึ่ง เอ๊ะ.. มีคนศรัทธาขนาดนี้ จริงๆ เลยหรือ ไม่น่าเชื่อเลย เรียงจนเต็มแผ่นดิน เหลือตรงซุ้มประตูอยู่หน่อยหนึ่ง เจ้าเชตก็เลยบอกตรงนี้ไม่ต้องเอาเงินมาเรียงหรอก ขอร่วมบุญด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าสร้างวัดแล้วให้ใช้ชื่อฉันนะ เจ้าของชื่อเดิมชื่อว่า เจ้าเชต ก็เลยได้ชื่อว่า เชตวัน วัน แปลว่า ป่า คือ ป่าของเจ้าที่ชื่อเชต
อนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญไม่เอาหน้า ไม่เอาชื่อ จะเอาบุญล้วนๆ ตัวเองไม่ต้องมีชื่อ เจ้าเชต เขาขอร่วมบุญด้วยก็ดี เขาจะได้มีส่วนบุญด้วย แล้วเจ้าเชตเป็นบุคคลมีชื่อเสียง มีอำนาจ ถ้ามีชื่อเข้ามา จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาสะดวกมากขึ้น อนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่ติดในชื่อ ยินดีให้ใช้ชื่อเชตวัน
แล้วเชตวันมหาวิหารที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีทุ่มสร้าง ก็กลายมาเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล จากจารึกใน พระไตรปิฎกพบว่า เชตวันมหาวิหารสามารถรองรับ พระภิกษุได้เป็นหมื่น พระอาคันตุกะมาเป็นพันๆ รับได้สบายเลย สาธุชน ญาติโยมทั้งหลายมา ฟังธรรมเป็นหมื่นเป็นแสน ไม่มีปัญหาเลย
แล้วในพระไตรปิฎกยังบันทึกว่า ในพระเชตวัน มหาวิหารมีการแบ่งพระภิกษุให้พักเป็นกลุ่ม เป็นโซน ตามความถนัดเช่น ถ้าเป็นศิษย์สาย พระอุบาลีชำนาญพระวินัย ให้พักอยู่ด้วยกันในแถบหนึ่ง ถ้าเป็นศิษย์สายพระอานนท์ชำนาญพระสูตร อยู่ด้วยกันอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการแสดงธรรม อภิปรายธรรม อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าสนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมก็อยู่อีกโซนหนึ่ง เป็นโซนที่สงบสงัดเป็นพิเศษ ถ้าใครสนใจเกี่ยวกับเรื่องการบำรุงร่างกายให้แข็งแรงการออกกำลังกาย อยู่อีกโซนหนึ่ง แบ่งตาม ความชอบ โดยผู้ที่ทำหน้าที่จัดโซนที่พักของพระ คือ พระทัพพมัลลบุตร ท่านเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เสร็จกิจแล้ว หมดกิเลสแล้ว ต้องการเอาบุญพิเศษ ก็เลยอาสาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับบุญเป็นคนจัดที่พักให้พระ ท่านมีฤทธิ์ด้วย พอยกนิ้วขึ้นเท่านั้นสว่างโพลง ไม่ต้องจุดคบจุดไต้เลย ไม่ต้องใช้ไฟฉายสปอตไลต์ สว่างทั้งเชตวัน พาพระ ไปที่พักได้สบาย
แล้วก็พบในพระไตรปิฎกอีกว่า เป็นธรรมเนียม สงฆ์ในครั้งพุทธกาล พอออกพรรษาแล้วพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในทิศต่างๆจะส่งตัวแทนมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครที่สะดวกพร้อมสุขภาพแข็งแรง ก็เป็นตัวแทนมา อย่างธรรมเนียมถวาย ผ้าทอดกฐิน ที่พระภิกษุเมืองปาเถยยรัฐ ๓๐ รูป ออกพรรษาแล้วรอนแรมตากแดดตากฝนกันมา เฝ้าพระพุทธเจ้าจนจีวรเปื่อยขาดไป พระองค์จึงอนุญาตให้รับผ้ากฐินได้ ก็มาจากธรรมเนียมนี้
มากราบพระพุทธเจ้า ถวายบังคมแล้วก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระพุทธองค์ท่านก็ทรงปราศรัยด้วย พอเสร็จเรียบร้อยก็กราบทูลลาไปพัก พระทัพพมัลลบุตรก็ถามเลยว่าสนใจเรื่องอะไร พระวินัยหรือ มาอยู่ตรงนี้ เป็นศิษย์สายพระอุบาลี สนใจพระสูตรหรือ ไปอยู่สายพระอานนท์ สนใจปฏิบัติธรรมมาตรงนี้ แยกกันไปตามความสนใจ
พอไปพักตรงนั้น รีบถามเลยว่า พรรษาที่ผ่านมาพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติม อะไรบ้าง รีบท่อง เพราะต้องจำด้วยมุขปาฐะ สมัยนั้นไม่มีการเขียนตัวอักษรใช้ท่องจำเอา ท่องจนจำได้หมด ถ้าเป็นผู้ที่สนใจพระสูตรก็ไปท่องกับสายพระอานนท์ พระพุทธเจ้าท่านเทศน์สอนอะไรบ้าง ก็ท่องจนได้หมด พอจำได้คล่องแคล่วแม่นยำดีแล้ว ก็มากราบทูลลากลับไปถิ่นของตัวเอง
(โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)