วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ช่วงเวลาที่ดีที่สุด

คอลัมน์ท้ายเล่ม
เรื่อง : โค๊ก อลงกรณ์
(ติดตามผลงานเขียนต่อเนี่ยง Coke@today ได้ที่www.banyaibooks.com)

 

 

         มีคนเคยพูดกับผมว่า การที่ได้มีโอกาสเข้าไปรับใช้ครูบาอาจารย์ นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของผม
         จากนั้นจึงถามผมว่า อยู่กับหลวงพ่อได้จดบันทึกไว้บ้างหรือเปล่า?
         ผมรู้สึกโชคดีที่ได้เริ่มจดบันทึกไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาช่วยรับบุญดูแลหลวงพ่อ
         ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ผมเคยจดบันทึกไว้แค่เพียงสองครั้ง
         ครั้งแรกสมัยเรียนมัธยม ผมจดเพราะพี่สาวให้สมุดบันทึกมาใช้ เพราะถ้าหาก ไม่จดเลยเธอจะเสียใจเป็นแน่
         ผมจดไปได้สัปดาห์กว่า คาดเดาว่าพ้นขีดที่เธอจะเสียใจแล้ว ผมก็เลยเลิก
         อีกหลายปีต่อมาเมื่อต้องออกเดินทางไปกับเรือฝึกในการฝึกภาคทะเล ผมจดบันทึกติดต่อกันได้ ๒ อาทิตย์ ที่จดบันทึก เพราะเป็นการบ้านที่ทุกคนต้องทำส่งอาจารย์ ใครไม่ส่งบันทึกจะไม่ได้คะแนน

ช่วงเริ่มต้นที่ผมเข้าไปรับบุญดูแลหลวงพ่อ

         หลวงพ่อถามถึงประสบการณ์ที่ผมไปฝึกภาคทางทะเลอย่างเช่นถามว่า เคยเจอพายุไหมและเป็นอย่างไรบ้าง?
         พอผมเล่าให้หลวงพ่อฟังแล้ว ท่านก็บอกว่าการใช้ชีวิตในทะเลเป็นเรื่องที่แปลกและน่าสนใจ
         แล้วจากนั้นหลวงพ่อก็ให้ผมไปเขียนเล่ามาให้ท่านฟัง
         ผมเขียนเล่าให้ท่านฟังด้วยลายมือโย้เย้แบบคนเมาเรือไป เขียนเสร็จแล้วนำไปวางแอบไว้ เพราะคิดว่างานหลวงพ่อเยอะอยู่แล้ว ท่านคงไม่มีเวลามาอ่าน แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างที่ผมคิด

หลวงพ่อนอกจากจะอ่านแล้วยังให้ผมเขียนเล่ามาให้ท่านอ่านอีก

         หลังจากนั้นผมเขียนเล่าส่งให้ท่านอีกสองสามครั้ง หลวงพ่อบอกให้เขียนไปเรื่อยๆ หลวงพ่อไม่เร่งเวลา
         เมื่อไม่เร่งเวลาผมก็เลยไม่ได้เล่าต่อ
         แต่ผมก็ได้นำเอาเหตุนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการจดบันทึกอย่างจริงจัง
          ผมมาคิดทบทวนอยู่หลายครั้งจนแน่ใจว่า อาจเป็นวิธีการที่หลวงพ่อต้องการแนะนำและฝึกบางอย่างให้แก่ผม
          เคยได้ยินมาว่า หลวงพ่อท่านมักมีวิธีฝึกคนตามอุปนิสัย อย่างพี่ท่านหนึ่งมีนิสัยหงุดหงิดง่าย ใจร้อนและมือหนัก ต่อมาหลวงพ่อได้ชวนให้พี่ท่านนั้นได้รับบุญจัดดอกไม้หอมไปถวายพระประธานในโบสถ์
    การจัดเรียงดอกไม้หอมใส่พานให้เป็นระเบียบ ซ้อนเป็นชั้นๆ สูงขึ้นไปโดยที่ดอกไม้ไม่ช้ำ เป็นเรื่องของความละเอียดอ่อน ที่ต้องทำด้วยความใจเย็น อดทน ประณีต และต้องเบามือเป็นที่สุด
          แน่นอนว่าต่อมาอุปนิสัยของพี่ท่านนั้นเปลี่ยนไป เหมือนมองดอกไม้แห้งกับดอกไม้สด เราสามารถมองเห็น ความแตกต่าง ได้อย่างชัดเจนอย่างนั้นเลย
          สำหรับผมก็คงเหมือนกับหลายๆ ท่านที่เวลาอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อแล้วพูดไม่ออก ความตื่นเต้นเกิดขึ้นมาอย่างกะทันหัน ทำให้ผมปรับปรุงและพัฒนาฝึกการเรียบเรียงความคิด และการจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล หลวงพ่อจึงเมตตา ที่จะฝึกผมโดยวิธีการถ่ายทอดผ่านการเขียน
         เมื่อเห็นประโยชน์จากการจดบันทึก ผมจึงเริ่มทำอย่างจริงจัง
         แล้วผมก็ค้นพบกับตัวเองว่า ช่วงเวลาที่เราได้จด ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงไปในสมุดส่วนตัวนั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดอีกช่วงหนึ่งของผม
         
ผมเคยอ่านพบในหนังสือว่า ความยากอย่างหนึ่งในการจดบันทึกนั่นคือการทำให้มัน ต่อเนื่อง ความยากต่อมาคือ การเก็บรักษาให้อยู่กับเราไปนานๆ
         สำหรับผมการจดบันทึกให้ต่อเนื่องหรือการเก็บรักษาให้คงอยู่แม้เป็นเรื่องยาก แต่ยังมีเรื่องที่ยากกว่านั้น
         หากเราสามารถเอาสิ่งที่บันทึกมาปรับใช้และพัฒนาฝึกฝนตัวเราให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและยากกว่า
         ความยากมันอยู่ที่เรากล้าพอที่จะเปิดใจยอมรับที่จะฝึกฝนตนให้ดีขึ้นกว่าเดิมไหม และจะตั้งใจอดทน จนประสบความสำเร็จ ได้หรือเปล่า
         ถ้าการจดบันทึกอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องยาก การแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองเป็นเรื่องยากกว่า ผมว่าเบื้องหลังสิ่งที่ยากนี้ ยังมีสิ่งที่ยากกว่าซ่อนอยู่อีก
        นั่นคือการที่จะมีครูบาอาจารย์สักคนหนึ่งพร่ำสอนให้รักการทำดี เคี่ยวเข็ญให้รักบุญกุศล พร่ำสอนให้ได้รู้จักวิชาชีวิต อยู่ทุกค่ำคืน และสอนอย่างมีศิลปะอีกด้วย 
         บางครั้งบอกสอนตรงๆ บางครั้งสอนโดยการทำเป็นตัวอย่างให้ดู บางทีสอนผ่านเรื่องเล่า ผ่านบทเพลง ผ่านบทกลอน สอนผ่านกำแพงอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้เข้าไปสู่จิตใจ
         และที่สอนมาทั้งหมดก็เพื่อมุ่งจูงให้ทุกคนได้รู้จักและเข้าถึงที่พึ่งภายใน 
         อาจเรียกได้ว่านี่เป็นสิ่งที่ยากที่สุดก็ว่าได้
         ที่ยากเพราะไม่ใช่แค่ต่อเนื่องปีสองปีหรือสิบปี
         แต่ท่านได้ทำตลอดต่อเนื่องมาทั้งชีวิต
         และจะทำไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
         นี่เป็นเรื่องที่ผมว่ายากที่สุด
         แต่เรื่องยากสุดนี้กลับเป็นเรื่องไม่ยากเลย หากร่วมมือกับท่านในการทำการบ้าน ๑๐ ข้อ โดยเฉพาะข้อสองที่ว่า ให้จดบันทึกผลการปฏิบัติธรรม
         รู้จักสังเกต แล้วหัดปรุงใจให้พอดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ ทำหยุดให้มันนิ่ง แล้วก็ดิ่งเข้าสู่ภายใน
         การได้มาเปิดอ่านบันทึก นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดอีกช่วงหนึ่ง
         บันทึกสามารถย้อนวันเวลาและความรู้สึกให้กลับไปอยู่ในตอนนั้นได้
         อย่างล่าสุดผมเปิดบันทึกไปเจอวันเสาร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ ตรงกับ วันวาเลนไทน์
         วันแห่งความรัก วันที่หลวงพ่อสอนให้รู้จักรักตัวเองก่อนที่จะแบ่งปันความรักให้กับคนอื่น
         วันนั้นหลวงพ่อได้ไปเยี่ยมหมู่กุฏิสามเณร ตรวจดูความเป็นอยู่ทั้งที่พักและการเรียน และเป็นกำลังใจในการสอบบาลี แล้วหลวงพ่อก็เห็นกระดานดำมีกลอนที่สามเณรเขียนไว้ว่า
          แม้บุญนิดหน่อยนั้น ควรทำ
        ทำบ่อยเป็นประจำไม่เว้น
        เหมือนฝนตกพรำๆ เต็มตุ่ม แลเฮย
        ทำบ่อยๆ ได้ Sense แผ่กว้างจักรวาล

อ่านแล้วหลวงพ่อจึงเขียนตอบเพื่อสอนสามเณรว่า
          บาปนั้นแม้หน่อยนั้น อย่าทำ จิตจักทุกข์ระกำ หม่นไหม้
        หากแม้นพลาดทำ รีบกลับ ตัวเฮย
        ตั้งหลักใจใหม่ไซร้ เร่งสร้างความดี

         จากนั้นก่อนที่หลวงพ่อจะกลับหลวงพ่อก็ให้พรรวมทั้งให้ลูกเณรสอบบาลีให้ได้ยกชั้นกันหมดทุกรูป
         เวลาผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว แต่ความรู้สึกเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อวาน
         ช่วงเวลาที่ดีที่สุดอีกช่วงหนึ่งของคนเรา คือการได้ทบทวนบุญที่เราได้ทำขณะที่เรายังแข็งแรง ยังมีชีวิตและมีลมหายใจอยู่ 
         ทุกครั้งที่เปิดอ่าน เรื่องราวต่างๆ รวมทั้งงานบุญที่ผมได้มาร่วมพิธีและได้ร่วมทำบุญจะกลับมาปรากฏอย่างแจ่มชัดอีกครั้ง
ซึ่งบางงานบุญเริ่มเลือนหายจากความทรงจำของผมไปแล้ว โชคดีที่บันทึกนี้ช่วยเรียกกลับคืนมาได้

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล