วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ความแตกต่างระหว่าง อกุศลกรรมบถและกุศลกรรมบถ

พระธรรมเทศนา

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาพระภาวนาวิริยคุณ(หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

พระธรรมเทศนา

 

ตอนที่๑

              สรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ล้วนมีอยู่มากมาย และมีอยู่คู่โลกนับแต่การเกิดขึ้นของโลก สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการดำรงชีวิตเนื่องจากมันจะคอยบงการให้เรากระทำการใดๆ ไม่ว่าทางกาย วาจา หรือใจ ภายใต้อำนาจของมันตลอดเวลา ดังนั้นบุคคลจึงควรทราบธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ซึ่งมีอยู่ ๓ ประการ คือ

            ๑. สิ่งที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเรียกว่า อธรรม
            ๒. สิ่งที่เป็นธรรม ซึ่งเรียกว่า ธรรม
            ๓. สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์

สิ่งดังกล่าวนี้สรุปได้เป็น ๒ นัยคือ อกุศลกรรมบถและกุศลกรรมบถ

            อกุศลกรรมบถ

            ความหมายของอกุศลกรรมบถ

             อกุศลกรรมบถ เป็นคำสมาส มาจากศัพท์ ๒ คำ คือ อกุศลกรรม + บถ
             อกุศลกรรม แปลว่า ความชั่วร้าย, บาป
             บถ แปลว่า ทาง, วิธี
            อกุศลกรรมบถ จึงแปลว่า ทางแห่งความชั่ว, ทางบาป

            อกุศลกรรมบถ หมายความว่า ทางแห่ง การกระทำความชั่ว ๓ ทางคือ กาย ๓ ประการ วาจา ๔ ประการ ใจ ๓ ประการ รวมเรียกว่า   อกุศลกรรมบถ ๑๐

           อกุศลกรรมบถนี้มีชื่อเรียกได้อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า อธรรม, ธรรมที่มีอาสวะ, ธรรมมีโทษ,ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน,อสัทธรรม ฯลฯ  ขอบเขตของอกุศลกรรมบถ


อกุศลกรรมบถ แบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมอกุศลกรรมบถทางกายกรรมมี ๓ ประการ คือ

             ๑. การฆ่าสัตว์
             ๒. การลักทรัพย์
             ๓. การประพฤติผิดในกาม

อกุศลกรรมบถทางวจีกรรม มี ๔ ประการ คือ

              ๑. การพูดเท็จ
              ๒. การพูดส่อเสียด
              ๓. การพูดคำหยาบ
              ๔. การพูดเพ้อเจ้อ

อกุศลกรรมบถทางมโนกรรม มี ๓ ประการ คือ

              ๑. การอยากได้ของผู้อื่น
              ๒. การมีจิตคิดร้าย
              ๓. การมีความเห็นผิด

อกุศลกรรมบถทางกายกรรม เช่นการฆ่าสัตว์อกุศลกรรมบถทางกายกรรม เช่นการลักทรัพย์

 

       

 

       

 

อกุศลกรรมบถทางกายกรรม เช่น การประพฤติในกาม อกุศลกรรมบถทางวจีกรรม เช่นการพูดเท็จ
 

การฆ่าสัตว์
               การฆ่าสัตว์ หมายถึง การที่บุคคลใดเป็นผู้มีนิสัยหยาบช้า ฆ่าสัตว์เป็นประจำจนมือชุ่มไปด้วยเลือด ชอบการฆ่าและการทุบตี
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ที่มีชีวิต ไม่มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง การฆ่าสัตว์นั้นครอบคลุมถึงการกระทำใน
๔ ลักษณะดังนี้ คือ

              ๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง
              ๒. ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์
              ๓. พอใจในการฆ่าสัตว์
              ๔. กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์

การลักทรัพย์
         การลักทรัพย์หมายถึง การที่บุคคลใดถือเอาทรัพย์สิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ได้ให้โดยทางทุจริต ในลักษณะต่างๆ ดังนี้ คือ
              ๑.ลัก คือ การขโมยเอาทรัพย์สิ่งของใน เวลาลับหลัง
              ๒.ฉก คือ การชิงเอาทรัพย์สิ่งของซึ่งๆ หน้า
              ๓.กรรโชก คือ การขู่เอาทรัพย์สิ่งของ
              ๔.ปล้น คือ การรวมกำลังกันแย่งเอาทรัพย์สิ่งของ
              ๕. ตู่ คือ การเถียงเพื่อเอาทรัพย์สิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตน
              ๖. ฉ้อ คือ การโกงเอาทรัพย์สิ่งของ
              ๗. หลอก คือ การทำให้เขาหลงเชื่อ แล้วให้ทรัพย์สิ่งของแก่ตน
              ๘. ลวง คือ การเบี่ยงบ่ายลวงตาเพื่อหลอกผู้อื่น
              ๙. ปลอม คือ การทำทรัพย์สิ่งของเลียนแบบของจริง
              ๑๐. ตระบัด คือ การปฏิเสธการให้ทรัพย์สิ่งของที่เป็นของผู้อื่น
              ๑๑. เบียดบัง คือ การซุกซ่อนเอาทรัพย์สิ่งของบางส่วนมาเป็นของตน
              ๑๒. สับเปลี่ยน คือ การแอบสับเปลี่ยนทรัพย์สิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตน
              ๑๓. ลักลอบ คือ การนำทรัพย์สิ่งของที่หนีภาษี เข้ามาในประเทศ
              ๑๔. ยักยอก คือ การเบียดบังเอาทรัพย์สิ่งของที่อยู่ในหน้าที่ดูแลมาเป็นของตนโดยมิชอบ

การลักทรัพย์นี้ครอบคลุมถึงการกระทำใน ๔ ลักษณะ คือ
               ๑. ลักทรัพย์ด้วยตนเอง
               ๒. ชักชวนผู้อื่นในการลักทรัพย์
               ๓. พอใจในการลักทรัพย์๔. กล่าวสรรเสริญการลักทรัพย์

การประพฤติผิดในกาม
การประพฤติผิดในกาม หมายถึง การที่บุคคลใดประพฤติล่วงเกินในสตรีที่อยู่ในความปกครอง ดูแลรักษาของมารดาบิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว ญาติ ศาสนา สตรีมีสามี สตรีที่มีคู่หมั้น

การประพฤติผิดในกามนี้ ครอบคลุมถึงการกระทำ ๔ ลักษณะ คือ

               ๑. ประพฤติผิดในกามด้วยตนเอง
               ๒. ชักชวนผู้อื่นประพฤติผิดในกาม
               ๓. พอใจในการประพฤติผิดในกาม
               ๔. กล่าวสรรเสริญการประพฤติผิดในกาม

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล