หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
เราจะปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่ชาวพุทธให้สมบูรณ์ได้อย่างไร?
ANSWER คำตอบ
ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระองค์ทรงมอบหน้าที่สำคัญยิ่งให้แก่ชาวพุทธไว้ ๔ ประการ โดยตรัสเรื่องนี้กับพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก เพื่อให้นำไปประกาศให้ชาวพุทธรับรู้รับทราบและปฏิบัติตามกันอย่างทั่วถึง
ประการที่ ๑ คือ หน้าที่ศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การศึกษาธรรมะของชาวพุทธ หากใครมีสติปัญญาอ่านออกเขียนได้ ก็ให้ศึกษาไปให้ถึงพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นพระคัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะพระไตรปิฏกเกิดขึ้นจากพระอรหันตสาวกรวบรวมพระธรรมและพระวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนประกาศศาสนาไว้ตลอด ๔๕ พรรษา มารวมเป็นหมวดหมู่ไว้ที่เดียวกัน เพื่อให้คนรุ่นหลังค้นคว้าได้สะดวกยิ่งขึ้น
การศึกษาจากพระไตรปิฎกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราจะได้ศึกษาไปให้ถึงต้นตอของคำสอนในพระพุทธ-ศาสนา หากจะอาศัยเพียงการฟังเทศน์ ฟังคำบอกเล่า หรือเพียงการทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีตั้งแต่โบราณมาเกรงว่าจะได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เพราะอาจมีการตกหล่นไปบ้าง
“แต่ไหนแต่ไรมา ถ้าใครจ้วงจาบกล่าววาจาหยาบช้า
ต่อพระพุทธศาสนา คนรุ่นปู่ย่าตาทวดของเราท่านไม่ยอม
ท่านต้องลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ไขทันที”
คนรุ่นก่อนที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ มีวิธีศึกษาจดจำธรรมะของพระพุทธองค์โดยการฟังพระสวดมนต์แล้วก็จำเอาไว้ในใจปู่ย่าตายายท่านจึงสวดมนต์กันได้คล่องเลยเพราะว่าท่านอาศัยความจำของท่าน อาศัยที่ใจท่านไม่คิดวุ่นวาย เมื่อใจไม่วุ่นวายใจจดจ่ออยู่กับการฟังเทศน์ อยู่กับการสวดมนต์ ฉะนั้นแม้ท่านอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ว่าท่านก็สวดมนต์ได้ เวลาพระเทศน์ท่านก็จำได้ เพราะใจจดจ่อจดจำ จึงจำได้ขึ้นใจ
ประการที่ ๒ คือ หน้าที่ลงมือปฏิบัติตามธรรมะที่ได้ศึกษามาอย่างจริงจัง
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้นั้นลงมือปฏิบัติ เพราะโลกนี้เป็นเรื่องของเหตุและผล ผลจะเกิดต่อเมื่อได้ทำเหตุไว้ก่อน ถ้าทำเหตุดีก็ได้ผลดี ถ้าทำ เหตุชั่วก็ได้ผลชั่ว
การเรียนธรรมะแบบปริยัติควบคู่ปฏิบัติคือเรียนไปด้วยลงมือทำไปด้วย ที่โบราณเรียกว่า “เรียนแบบเคี้ยวป้อน” คือ เมื่อครูบาอาจารย์สอนอะไร ศิษย์ก็ลงมือทำ ทำผิดทำถูกอย่างไรก็สังเกตกันไป เพราะเมื่อเรียนแล้วแต่ยังไม่เคยทำก็เป็นธรรมดาที่ยังทำไม่เป็น อาจมีส่วนที่ทำได้บ้างปะปนกับส่วนที่ทำไม่ได้บ้าง ส่วนที่ทำได้ก็ทำไป ส่วนที่ทำไม่ได้ก็ต้องอาศัยพึ่งพาครูบาอาจารย์
เรื่องใดที่ศิษย์เรียนแล้วทำไม่ได้ ติดขัดตรงไหน ครูบาอาจารย์ท่านก็เมตตานำธรรมะในพระไตรปิฎกมาย่อยแยกให้เข้าใจง่าย ๆแล้วก็อธิบายให้เข้าใจในเชิงปฏิบัติ เพื่อให้ศิษย์ตามทัน บางทีอาจจะต้องขยายความซ้ำแล้วซ้ำอีก จากเรื่องเข้าใจยากมาทำให้เข้าใจง่ายแม้ง่ายแล้วแต่ถ้ายังตามไม่ทันก็เพียรทำอีกหลาย ๆ หน จนกระทั่งศิษย์เข้าใจและทำได้
การที่ครูบาอาจารย์ต้องสอนธรรมะภาคปริยัติด้วยการขยายความในเชิงปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีกนี้เอง จึงเป็นที่มาของคำว่า เคี้ยวป้อน
ลูกศิษย์ในยุคนั้นเขาเอาจริงในการศึกษาธรรมะ ขวนขวายศึกษาธรรมะทั้งชายหญิงครูอาจารย์เลยมีกำลังใจไม่เบื่อที่จะพร่ำสอนเคี้ยวป้อน ลูกศิษย์ก็มีสัจจะต่อความดี ครูบาอาจารย์ก็มีสัจจะต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพราะฉะนั้นท่านจึงเคี้ยวป้อนส่งต่อกันมาเป็นทอด ๆ
ประการที่ ๓ คือ หน้าที่เผยแผ่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถึงชาวโลกทั้งปวง
เมื่อได้ศึกษาแล้ว ปฏิบัติแล้ว พบว่าธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกต้องจริง ดีจริงเป็นประโยชน์จริง ก็ระลึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาของพระบรมศาสดา จึงมีน้ำใจนึกถึงเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายที่ยังไม่รู้จักคุณของพระศาสนา มีความตั้งใจสืบทอดและเผยแผ่คำสอนที่มีคุณค่ามหาศาลเป็นประโยชน์แก่ชนทั้งปวง นำธรรมะไปเผยแผ่ให้รู้กันกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยไม่คิดหวงความรู้นั้นไว้กับตนเพียงลำพัง
การเผยแผ่นั้นก็ทำกันหลาย ๆ รูปแบบชักชวนลูกหลานบ้าง ชักชวนเพื่อนบ้านบ้างผู้ที่ยังเล็กอยู่ก็มาบวชเป็นสามเณร ผู้ที่มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไปแล้วก็มาบวชพระกัน นั้นก็เป็นการเผยแผ่ธรรมะอย่างหนึ่ง การช่วยกันสร้างวัดวาอารามก็ถือเป็นการเผยแผ่อีกรูปแบบหนึ่งการสร้างพระพุทธรูปไปประดิษฐานตามวัดวาอารามต่าง ๆ ก็เป็นการเผยแผ่ธรรมะ แม้การช่วยกันคัดลอกพระไตรปิฎกและแจกจ่ายกันไปก็เป็นการเผยแผ่รูปแบบหนึ่ง
ปู่ย่าตาทวดบรรพบุรุษของเราต่างร่วมแรงร่วมใจช่วยกันเผยแผ่ธรรมะกันมาในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยกันเผยแผ่อย่างสุดสติปัญญาความสามารถที่จะทำได้ แม้แต่การขยันตักบาตรพระทุกเช้า ทำให้พระมีอาหารขบฉันทุกเช้า มีเรี่ยวแรงไว้ศึกษาธรรมะก็จัดเป็นการเผยแผ่อย่างหนึ่ง คือสนับสนุนให้เกิดกองทัพธรรมในการเผยแผ่ธรรมะอีกชั้น
ประการที่ ๔ คือ หน้าที่ช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนา
การปกป้องพระพุทธศาสนามีหลายรูปแบบ แต่ไหนแต่ไรมา ถ้าใครจ้วงจาบกล่าววาจาหยาบช้าต่อพระพุทธศาสนา คนรุ่นปู่ย่าตาทวดของเราท่านไม่ยอม ท่านต้องลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ไขทันที หรือกำราบห้ามปรามลูกหลานที่ทำตัวไม่เหมาะสมทันที
เด็กบางคนดึงของสูงมาเป็นของต่ำ เอาธรรมะมาล้อเล่น เช่น พระให้ศีลข้อที่ ๕ ว่า “สุราเมระยะ มัชชะ ปะมา ทัฏฐานา เวระมะณี (งดเว้นจากการดื่มสุรา)” พวกไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ ชอบแกว่งปากไปหานรก เอามาล้อเล่นว่า สุราต้องกินเป็นระยะ ๆ ปู่ย่าตายายได้ยินเข้าเท่านั้นแหละ ท่านรีบปรามเลยว่า ถ้านำธรรมะมาล้อเล่นแบบนี้ เกิดชาติต่อไปสงสัยไม่ได้เป็นคนหรอก หรือถ้าได้เกิดเป็นคน ปากก็คงไม่เป็นปากคน แต่คงไปเหมือนอะไรสักอย่าง เพราะล้อเล่นกับธรรมะที่เป็นของสูง ล้อเล่นในสิ่งที่ไม่ควรล้อเล่น
“อาศัยความเคารพของปู่ย่าตายายที่มีต่อคำสั่ง
ของพระพุทธองค์ทั้ง ๔ ประการนี้ ทุ่มทำหน้าที่สำคัญยิ่งของชาวพุทธอย่างสุดชีวิต
ธรรมะของพระพุทธองค์จึงได้รับการสืบทอดและปฏิบัติส่งต่อกันมา
ตามลำดับ ๆ จนมาถึงยุคปัจจุบัน”
ปู่ย่าตาทวดท่านช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนามาอย่างนี้ จนกระทั่งสืบทอดพระพุทธศาสนามาถึงรุ่นของพวกเรา ซึ่งเป็นยุคที่ใช้กฎหมายปกป้องพระพุทธศาสนา แม้การออกกฎหมายไม่ให้ใครปฏิบัติต่อพระพุทธรูปอย่างไม่เหมาะสมก็ถือเป็นการปกป้องธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเป็นทางการ
การที่วันนี้พวกเรามีโอกาสรู้จักพระพุทธศาสนา ทั้ง ๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป ๒,๕๕๙ ปีแล้ว ก็เพราะอาศัยความเคารพของปู่ย่าตายายที่มีต่อคำสั่งของพระพุทธองค์ทั้ง ๔ ประการนี้ ทุ่มทำหน้าที่สำคัญยิ่งของชาวพุทธอย่างสุดชีวิต ธรรมะของพระพุทธองค์จึงได้รับการสืบทอดและปฏิบัติส่งต่อกันมาตามลำดับ ๆ จนมาถึงยุคปัจจุบัน พวกเราจึงมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มาเป็นหลักธรรมคำสอนประจำใจเอาไว้ปิดนรกเปิดสวรรค์ ถางทางไปนิพพานด้วยกันอยู่ทุกวันนี้
การที่พวกเราจะสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาส่งต่อไปให้อนุชนรุ่นหลังได้ ก็ต้องปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่ชาวพุทธทั้ง ๔ ประการนี้พวกเขาจึงจะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในชีวิต พระพุทธศาสนาจึงจะได้รับการสืบทอดรักษาต่อไปอีกยาวนานสมดังเจตนาบรรพชนชาวพุทธที่เอาชีวิตปกป้องรักษาเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนามาถึงยุคของเรา