DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
สัปปุริสทาน
เราทราบกันดีแล้วว่า “ทาน” เป็นทางมาของบุญที่จะเกิดขึ้นในใจของผู้ให้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว นอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพของจิตใจให้สูงขึ้น ยังจะนำสิ่งที่ดีงาม คือความสุขและความสำเร็จในทุก ๆ ด้านมาสู่ชีวิตด้วย
ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงลักษณะของการทำทานประเภทหนึ่ง ชื่อว่า “สัปปุริสทาน” ซึ่งแปลว่า “ทานของสัตบุรุษ” คือ เป็นการให้ของคนดี คนมีปัญญา ผู้ฉลาดในการดำเนินชีวิตนั้น จะให้ด้วยวิธีการที่ดี ซึ่งเมื่อให้แล้วจะไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ให้ให้ดีขึ้น ประณีตขึ้น
การให้แบบนี้จึงเป็นการให้ที่สมบูรณ์ทั้งผลและอานิสงส์ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สัปปุริสทานสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑”
๑. สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา คือ ให้ด้วยความเลื่อมใสในกรรมและผลของกรรมว่า ทำดีย่อมได้ผลที่ดี ทำชั่วก็ได้ผลเป็นทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน คือ เป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำ และเชื่อในปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า คนเราจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการประกอบความดี ด้วยกาย วาจา ใจที่บริสุทธิ์มาก และจะสามารถเข้าถึงธรรมะภายในตน ซึ่งมีอยู่แล้วในสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ การน้อมนำธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาปฏิบัติ จะทำให้ตนมีความบริสุทธิ์ขึ้น จนถึงขั้นตรัสรู้ธรรมได้
ผู้ที่ให้ทานด้วยความศรัทธา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดูน่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนักในที่ที่ทานนั้นส่งผล
๒. สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยความเคารพ คือ เคารพในตัวบุคคล มีความอ่อนน้อม เช่น การยกประเคนด้วยมือทั้งสอง รวมทั้งให้ด้วยกิริยาอาการที่เคารพในทาน เช่น ยกขึ้นจบเหนือหัวแล้วจึงให้ เป็นต้น
ผู้ที่ให้ทานด้วยความเคารพ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และจะเป็นผู้ที่มีบุตร ภรรยา ทาส คนรับใช้ หรือคนงาน อยู่ในโอวาท คอยฟังคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นส่งผล
๓. สัตบุรุษย่อมให้ทานตามกาล คือ ให้ในเวลาที่สมควร ซึ่งเป็นเวลาจำเพาะที่จะต้องให้ในช่วงนี้เท่านั้น เลยเวลานี้ไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์แล้ว เช่น การถวายผ้ากฐินแด่สงฆ์ เป็นต้น
ผู้ที่ให้ทานตามกาลอันควรแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมมีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ที่ทานนั้นส่งผล
๔. สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยจิตที่อนุเคราะห์ คือ เมื่อเห็นคนตกทุกข์ได้ยากขาดแคลนปัจจัย ๔ ก็มีจิตอนุเคราะห์ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน
ผู้ที่ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น ในที่ที่ทานนั้นส่งผล
๕. สัตบุรุษย่อมให้ทานโดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่น คือ การให้โดยไม่ทำลายคุณความดีของตนและผู้อื่น สัตบุรุษไม่ผิดศีลไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนเพื่อถวายทาน เช่น ฆ่าสัตว์ทำอาหารเพื่อถวายพระ เพราะการให้ทานอย่างนี้เป็นการทำลายคุณงามความดีของตนเอง
อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษไม่ทำทานด้วยการทำให้คนอื่นเดือดร้อน หมดกำลังใจ เกิดการกระทบกระเทือนใจ เช่น ทำบุญข่มคนอื่นดูถูกดูแคลนคนที่ทำน้อยกว่า เป็นต้น
ผู้ที่ให้ทานโดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหน ๆ คือจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท ในที่ที่ทานนั้นส่งผล
การให้ทานนับว่าเป็นบุญกิริยา และหากให้ทานอย่างถูกหลักวิชชา ทานที่กระทำนั้นย่อมมีอานิสงส์มาก การให้ทานที่เป็นสัปปุริสทานเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทั้งหลายควรนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในการให้ทานของตน โดยเฉพาะในช่วงนี้ เป็นช่วงเทศกาลสำคัญ คือ เทศกาลออกพรรษา ซึ่งจะมาถึงในวันที่ ๕ ตุลาคม ก็เป็นโอกาสดีที่ชาวพุทธจะได้สร้างสัปปุริสทาน คือ การสั่งสมบุญกฐินอันเป็นกาลทาน ซึ่งจำกัดกาลในการให้ทานเฉพาะในช่วงหลังออกพรรษาเพียง ๑ เดือน ซึ่งเราสามารถสั่งสมบุญนี้ได้โดยการจองเป็นเจ้าภาพกฐิน เพื่อถวายผ้าไตรจีวรพร้อมกับบริวารกฐินแก่วัดต่าง ๆ และในการถวายกฐินทานนั้น เราก็สามารถทำให้กฐินทานนั้นเป็นทานที่ครบองค์ประกอบในการเป็นสัปปุริสทาน คือ ทั้งให้ด้วยใจศรัทธาเคารพ ทั้งประกอบไปด้วยจิตอนุเคราะห์ และไม่กระทบตนและผู้อื่น อีกทั้งยังเป็นกาลทาน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะได้อานิสงส์มากจากการถวายกฐินทาน ดังนั้นจึงขอเชิญทุก ๆ ท่านร่วมเป็นเจ้าภาพถวายกฐินทานทั้งที่วัดพระธรรมกาย ศูนย์สาขาทั่วโลก และวัดใกล้บ้าน รวมถึงวัดที่ยังไม่มีผู้ปวารณากฐินเพื่อบุญของตัวเรา และยังเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอีกด้วย