ทบทวนบุญบวช
บทกลอน : ปริญดา วัฒนจึงโรจน์
ปลื้มบุญบวชรุ่นบูชาธรรม
มหาปูชนียาจารย์ ๕,๕๕๕ รูป
ยี่สิบห้ากรกฎามหาฤกษ์ |
อรุณเบิกส่องฟ้าบุญญาสรร |
ดั่งขุนศึกพระศาสดากล้าตะวัน |
พร้อมใจกันเป็นส่วนพระรัตน์ไตร |
ปลงเกศา ณ เพลาอันศักดิ์สิทธิ์ |
น้อมชีวิตเพื่อธรรม์อันสดใส |
ปอยผมร่วงค่อยละห่วงจากดวงใจ |
เพื่อคว้าชัยถวายองค์พระศาสดา |
ดิถีฤกษ์เจ็ดสิงหาขมาญาติ |
ทั้งมอบบาตรถวายไตรในศาสนา |
จัดกระบวนล้วนธรรมทายาทมา |
เป็นนักรบแกร่งกล้าคว้าธงธรรม์ |
สิบสิงหาบรรพชาอันศักดิ์สิทธิ์ |
ขออุทิศแด่ธงชัยพระอรหันต์ |
ดั่งแสงทองส่องฟ้ากล้าตะวัน |
บูชาธรรม์ด้วยชีวิตและวิญญาณ |
ที่สิบห้าสิงหาคมอุดมคุณ |
กุศลหนุนบุญญามหาศาล |
อุปสัมปทาบารมีล้นพ้นเปรียบปาน |
เป็นพระแท้ผู้สืบสานแห่งสายบุญ |
ด้วยบุญญาบารมีที่ท่วมฟ้า |
อนุโมทนาด้วยดวงใจให้บุญหนุน |
ธำรงศาสน์ธำรงธรรมธำรงคุณ |
ช่วยคํ้าจุนหนุนศาสน์สันต์นิรันดร์เอย |
*************************************************
โอวาทพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช, ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต)
เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
บัดนี้ เธอทั้งหลายได้เป็นสามเณร เป็นโอรสของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเบื้องต้น ก่อนที่จะได้เป็นพระภิกษุในโอกาสต่อไป เธอได้เป็นสามเณรถูกต้องตามพระวินัย สามเณร หมายถึง บุตรของสมณะหรือเหล่ากอของสมณะ สมณะ หมายถึง ผู้สงบเสงี่ยม เรียบร้อยสง่างาม
บวชคราวนี้เป็นประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ทำสำเร็จแล้ว จะเป็นสิ่งที่จารึกอยู่ในความทรงจำของเราตลอดชีวิต
เมื่อบวชแล้ว ก็ให้หมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย คือ บวชเพื่อละ บวชเพื่อรู้ และบวชเพื่อเริ่ม เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามละ พยายามเรียนรู้ พยายามในการที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในทางที่ดี ถูกต้องตามที่ได้เรียนรู้ เมื่อทำอย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์ จะได้อานิสงส์จากการบวชเต็มที่ และอานิสงส์นี้ก็จะติดตัวเราไปตลอด
จากการที่เธอทั้งหลายมาจากต่างที่ต่างถิ่น มาจากหลายจังหวัด หลายท่านมาจากต่างประเทศ เรียกว่ามากันทั่วโลก ไม่ได้รู้จักกัน ไม่เคยเห็นหน้ากัน แต่มาอยู่รวมกันไม่กี่วัน ก็หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ถือเป็นการแสดงถึงความสามัคคี ซึ่งถ้าสิ่งนี้ขยายวงกว้างออกไป ก็จะเกิดกายสามัคคี วาจาสามัคคี และจิตสามัคคี โลกเราก็สงบเย็นเป็นสุขได้แน่นอน