อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๒๙ : พระพุทธดำรัส ๓ ประการ...ก่อนปัจฉิมโอวาท
ภายหลังจาก สุภัททปริพาชก ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเรียกพระอานนท์มา และรับสั่งถึงข้อปฏิบัติ ๓ ประการของหมู่สงฆ์ในภายภาคหน้า ได้แก่
๑. “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” (ที.มหา. ๑๐/๒๑๖/๑๖๔ ไทย.มจร) นั่นหมายถึง คำสอนและคำสั่งของพระพุทธองค์ที่ทรงแสดงมาตลอด ๔๕ พรรษา คำสอน หรือ พระธรรม นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงอันยิ่ง ที่ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรากฏขึ้นในโลกหรือไม่ก็ตาม ปรมัตถสัจจะนี้ยังคงมีอยู่เช่นนั้น ส่วน คำสั่ง หรือ พระวินัย กล่าวได้ว่า เป็น สมมติสัจจะ คือ ความจริงที่สมมติขึ้น ซึ่งสัจจะในส่วนนี้อาจแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละยุคสมัย กล่าวคือ ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ อาจมีการบัญญัติ
พระวินัยที่แตกต่างกันออกไป
๒. “เมื่อเราล่วงลับไป ภิกษุไม่ควรเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า ‘อาวุโส’ เหมือนดังที่เรียกกันตอนนี้ ภิกษุผู้แก่กว่าพึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือตระกูล โดยวาทะว่า ‘อาวุโส’ ก็ได้ ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ‘ภันเต’ หรือ ‘อายัสมา’ ก็ได้” (ที.มหา. ๑๐/๒๑๖/๑๖๔-๑๖๕ ไทย.มจร) จากพระพุทธดำรัสตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญกับการให้ความเคารพกันตามระดับอาวุโส เพราะเมื่อพระภิกษุบวชเข้ามาในพระศาสนาแล้ว ต่างละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง และเริ่มต้นชีวิตสมณะนับแต่วันที่บวชเข้ามา หมู่สงฆ์คงไม่อาจเป็นปึกแผ่นได้ถึงทุกวันนี้ หากขาดความเคารพซึ่งกันและกันในหมู่สงฆ์ ที่เรียกว่า สังฆคารวตา
๓. “เมื่อเราล่วงลับไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ถอนได้” (ที.มหา. ๑๐/๒๑๖/๑๖๕ ไทย.มจร) ด้วยความที่ สิกขาบท หรือ พระวินัย เป็น สมมติสัจจะ ซึ่งเกิดขึ้นตามบริบทที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ถอนในส่วนที่เรียกว่า สิกขาบทเล็กน้อย ออกไปได้ “ถ้าสงฆ์ปรารถนา” แต่ด้วยเหตุที่พระอานนท์มิได้ทูลถามถึงสิ่งที่สิกขาบทที่เรียกว่า “เล็กน้อย” และหมู่สงฆ์ผู้ทำการสังคายนา (รวบรวม) พระธรรมวินัยในครั้งนั้นไม่ปรารถนาจะถอดถอน จึงคงรักษาไว้เช่นเดิม
ข้อปฏิบัติทั้ง ๓ ประการนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นความเคารพในพระรัตนตรัย คือ ความเคารพในพระศาสดา (สัตถุคารวตา) ในฐานะบรมครูต้นแบบ แม้พระพุทธองค์จะดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม ความเคารพในพระธรรมวินัย (ธัมมคารวตา) ในฐานะธรรมนูญต้นแบบและตัวแทนพระศาสดา ความเคารพในพระสงฆ์ (สังฆคารวตา) ในฐานะกัลยาณมิตรต้นแบบ สิ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบัน