ทบทวนบุญ
เรื่อง : พระมหาศุภณัฐ จนฺทชโย ป.ธ.๙
ปลื้มบุญอาสาฬหบูชา
มีคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตคือการเดินทาง” แต่ใครเล่าจะทราบได้ว่า เส้นทางใดเป็นเส้นทางที่ถูกต้องและลัดตัดตรงที่สุดต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตในสังสารวัฏอันยาวไกล คำตอบของปริศนาข้างต้นได้ผ่านการแถลงไขให้แจ่มกระจ่างแล้ว จากการฝึกตน ทนหิว และบำเพ็ญตบะของเหล่าสามเณรเปรียญธรรมลูกตะวันธรรมทั้ง ๖ รูป ผู้เป็นหน่อเนื้อของพระชินสีห์เจ้า ซึ่งได้โอกาสในการสร้างบารมีตั้งแต่ยังเยาว์วัย โดยมิต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกในเส้นทางยาวคดเคี้ยวสายอื่น และในที่สุด สามเณรเปรียญธรรมทั้ง ๖ รูป ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตในวันอาสาฬหบูชา (วันอาทิตย์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓) สมใจหมาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้ อาจนับได้ว่า “ชีวิตสมณะ” คือเส้นทางที่ใช่ ที่ประเสริฐที่สุดที่นักสร้างบารมีและบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายล้วนเลือกที่จะก้าวเดิน
สำหรับพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตของสามเณรเปรียญธรรมลูกตะวันธรรมทั้ง ๖ รูป รุ่นที่ ๒๘ ในปีนี้ ได้รับความเมตตาจาก พระธรรมพุทธิมงคล (สอิ้ง สิรินนฺโท ป.ธ.๘, พธ.ด.กิตติ์) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร มาเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งบรรยากาศล้วนตลบอบอวลไปด้วยความปลาบปลื้มปีติของสาธุชนทุกท่านที่มาร่วมงานบุญ นอกจากนี้แล้ว ในวันเดียวกันนี้วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ยังมีกิจกรรมให้สั่งสมบุญกันอีกมากมาย อาทิ พิธีบูชาข้าวพระ พิธีถวายกองทุนแสงสว่างและผ้าอาบน้ำฝน พิธีมุทิตาพระบวชใหม่ และพิธีฉลองชัยชิตัง เม การสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร ครบ ๒,๔๗๗,๗๗๗,๗๗๗ จบ เป็นต้น ก็ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของคำว่า “บุญ” นี้เอง ท่านผู้มีดวงปัญญาทุกท่านจึงได้มาประชุมรวมกันสั่งสมกุศลบุญราศีให้พอกพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะกรรมหรือการกระทำทั้งที่เป็นกุศลและไม่ใช่กุศล ล้วนเป็นปัจจัยอำนวยอวยผลให้สรรพสัตว์ประสบสิ่งที่ดีเลวและประณีตแตกต่างกันออกไป สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในอรรถกถาแห่งขุททกนิกาย สุตตนิบาต ว่า
โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม
หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน
เปรียบเหมือนหมุดแห่งรถที่แล่นไปอยู่ ฉะนั้น
(ขุ.สุ.อ. (ไทย) ๔๗/ ๓๘๒/ ๕๘๑)
ในอวสานกาลสมัยนี้ ผู้เขียนพร้อมทั้งทีมงานทุกท่านจึงขอตั้งจิตอนุโมทนาบุญกับยอดนักบุญทุก ๆ ท่าน ที่ได้ดำเนินรอยตามแบบอย่างโบราณบัณฑิตทั้งหลายที่มิเคยหยุดในการสั่งสมบุญญาบารมี และขอให้ทุกท่านจงมีแต่ความสุขสมหวังและมีชัยชนะในทุกที่ทุกสถาน ดั่งคำท้ายฉายานามของพระมหาเปรียญธรรมบวชใหม่ทั้ง ๖ รูป ว่า “ชโย” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีชัยชนะ”