หลวงพ่อเจ้าคะ เนื่องจากลูกทำธุรกิจส่วนตัวต้องดูแลลูกน้องจำนวนมาก ทำอย่างไรลูกถึงจะเป็นผู้บริหารที่สามารถครองใจลูกน้องได้ ?
การครองใจคนนั้นความจริงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ขอให้เราครองใจของเราเองให้ได้เสียก่อน เมื่อครองใจตนเองได้แล้ว จึงค่อยไปครองใจคนอื่น ตรงนี้จำไว้ให้ดี
การครองใจตนเอง คือ การรักษาใจให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราสามารถรักษาใจให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลาได้อย่างนั้น เรื่องครองใจคนอื่นก็ไม่ยาก ส่วนที่ถามว่า การครองใจลูกน้องจะทำอย่างไร ก็ต้องดูศัพท์คำว่า "ลูกน้อง" ให้ดี เพราะว่าผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเรานั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน
เรามีคำหลายคำตั้งแต่คำว่า "พนักงาน" "คนงาน" "คนรับใช้" หนักเข้าไปก็คำว่า "ข้าทาส" แย่หนักเข้าไปอีกก็คำว่า "ขี้ข้า"
สำหรับคำว่า "ขี้ข้า" กับคำว่า "ข้าทาส" นั้น ปู่ ย่า ตา ทวดเราไม่ใช้กันหรอก เพราะถือว่าเป็นคำที่ใช้จิกหัวเรียกกัน จนกระทั่งหมดความเป็นคนเลย
ท่านให้มีจิตเมตตามองว่า เขากับเราก็เป็นมนุษย์ด้วยกัน การที่เขามาอยู่กับเรา เขาก็เป็นบุคคลที่มาช่วยผ่อนแรง มาช่วยเราทำมาหากิน เราได้เขาเป็นแรงกาย ส่วนเราก็ออกแรงสติปัญญา พูดไปแล้วก็เหมือนอย่างกับมือซ้ายกับมือขวา หรือเท้าหน้ากับเท้าหลัง คิดอย่างนี้ถึงจะไปด้วยกันได้
เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะครองใจลูกน้อง ขั้นต้นเลยต้องมองคำว่า "ลูก" กับคำว่า "น้อง" ก่อน คือไม่ว่าใครมาอยู่กับเราก็ให้ความเมตตาเขา เรารักความสุข รักความสะดวกสบายอย่างไร คนอื่นเขาก็เป็นคน เขาก็รักความสุข รักความสะดวกสบายเหมือนเรานั่นแหละ
เพียงแต่ว่า วันนี้เรามีฐานะ มีความรู้ มีความสามารถมากกว่าเขา เขาเลยยอมมาอยู่ใต้บังคับบัญชาของเรา แล้วเราล่ะถือว่าเขาเป็นคนหรือเปล่า
ถ้าถือว่าเขาเป็นคน แต่เป็นแค่คนรับใช้ เป็นแค่คนงาน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา หรือถือว่าเขาไม่ใช่คน เพราะว่าเขาอยู่ต่ำกว่าเรา เป็นไอ้ขี้ข้า ไอ้ข้าทาส อย่างนี้ก็หมดสัมพันธไมตรีกันเลย
แต่ถ้าถือว่าเขาเหมือนลูก เหมือนน้อง อย่างนี้ใช้ได้ เพราะว่าลูกน้องก็คือลูก แต่ว่าเป็นลูกชนิดที่ต้องจ่ายเงินจ่ายทอง หรือจะเรียกว่าเป็นลูกจ้างก็ยังดี
แต่ไม่ว่าจะเป็นลูกน้องหรือลูกจ้างก็เท่ากับเรายอมรับว่า เขามีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนเช่นเดียวกับเรา เพียงแต่เขาด้อยโอกาสกว่าเราสักหน่อย เราก็ให้โอกาสเขา อย่าไปดูถูกดูหมิ่น แต่คิดว่าเขามาช่วยทำมาหากิน ไม่ใช่ทาส ไม่ใช่ขี้ข้า แล้วทำใจให้ได้อย่างนี้
ข้อที่ ๑ มีจิตเมตตา คือ สอนงานให้เขาทำเป็น ใช้งานให้พอเหมาะพอสม แล้วก็อบรมศีลธรรมให้เขาด้วย เพราะถึงแม้เขาด้อยโอกาสชาตินี้ แต่ถ้าชาติหน้าพอมีศีลมีธรรมติดตัวไป เขาก็จะได้ไม่ด้อยโอกาสอีก ถ้ายกระดับชีวิตให้เขาได้อย่างนี้ เขาก็เหมือนลูก เหมือนน้องเราแล้ว
ข้อที่ ๒ มีความกรุณา คือ ถึงคราวดีก็ใช้ ถึงคราวไข้ก็รักษา เจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษา หอบหิ้วกันไปไม่ทอดทิ้ง เรียกว่าเอาใจซื้อใจกันนั่นเอง
ข้อที่ ๓ มีมุทิตาจิต คือ คนไหนฝีมือดีกว่าก็ส่งเสริมให้เขาก้าวหน้าไป อย่าไปกัก อย่าไปกดเขาเอาไว้ แล้วเอาแต่พวก เอาแต่ลูกหลานของตัว ใครฝีมือดีไม่ดีก็ต้องว่ากันตามผลงาน
อย่าเอาคำว่า "คนอื่น" คำว่า "ญาติ" มาปนเปกัน เพราะว่าถึงตอนนี้ต้องถือว่าจะเป็นญาติหรือไม่ใช่ญาติ จะเป็นสายเลือดหรือไม่ใช่สายเลือด เมื่อมาเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นพี่ร่วมงาน เป็นน้องร่วมงานกันแล้วอย่าไปเกี่ยง ใครมีฝีมือดีกว่าก็ต้องส่งเสริมให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป มีมุทิตาจิตกับเขาไม่กักกันเอาไว้
ในเวลาเดียวกันใครย่ำแย่ ฝีมือยังไม่ถึง ถ้าบ่ายหน้ามาพึ่งเราแล้ว ก็อย่าไปทอดทิ้งเขา อย่างน้อยที่สุดถ้าพบว่า ยังมีแววรักดี มีแววซื่ออยู่ละก็ ใครล้าหลังก็ลากก็จูงกันไปไม่ ทอดทิ้ง
ถ้าทำกันอย่างนี้ ถึงจะครองใจคนได้ ไม่อย่างนั้นหากมัวแต่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ เขาจะได้แต่เงิน เราจะได้แต่งาน แต่ว่าไม่ได้ใจกัน ถ้าจะให้ได้ใจกันละก็ ต้องเข้าไปครองใจกันอย่างนี้ โดยถือว่าเขาเป็นลูก ถือว่าเขาเป็นน้อง แล้วประคับประคอง สร้างงาน สร้างบุญ สร้างความดี กันไป