Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน เสียงดีเพราะมีบุญ
ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หมดกิเลส ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายกันเรื่อยไป ขณะที่กำลังเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏนั้น เราสามารถกำหนดชะตาชีวิตให้กับตัวเองได้ อยากเป็นอะไรก็ต้องอาศัยการประกอบเหตุทั้งสิ้น โดยเริ่มจากการสั่งสมบุญบารมีเป็นหลัก เพราะบุญเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต มีบุญสำเร็จทุกอย่าง
ถ้าบุญบารมีเต็มเปี่ยม กิเลสอาสวะก็หมดเมื่อนั้น ดังนั้นเราต้องสั่งสมบุญกันทุกอณูวินาที ให้มีจิตใจเยี่ยงพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ที่สร้างบารมีอย่างเต็มที่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ทุกลมหายใจของเราก็ควรมีแต่การสั่งสมบุญบารมีตามเยี่ยงอย่างท่าน ขณะเดียวกันก็หมั่นฝึกใจหยุดนิ่งควบคู่ไปด้วย ใจของเราจะได้ถูกกลั่นให้ใส สะอาด บริสุทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะ รองรับพระรัตนตรัย รองรับนิพพานเบื้องสูงยิ่งๆไป
มีธรรมภาษิตที่มาในเถราปทานว่า “เราอยู่บนเครื่องลาดใบไม้ ณ ภูเขาหิมวันต์ ได้ยังจิตให้เลื่อมใสในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ผุสสะ ผู้กำลังทรงแสดงธรรม ในกัปที่ 92 แต่กัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม”
จากเถรคถานี้ จะเห็นได้ว่า เสียงมีอานุภาพต่อจิตใจ อย่างเช่นพระสุรเสียงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประดุจเสียงจากนิพพาน
การสื่อสารทำให้โลกไร้พรหมแดน แต่การสื่อสารที่มีเสน่ห์มากก็คือการพูดด้วยวาจาไพเราะจับใจ หากใครมีเสียงที่ไพเราะกังวานนุ่มนวล ก็เสนาะหูของผู้ฟัง ใครๆก็อยากได้ยินได้ฟัง เสียงที่ไพเราะเพราพริ้งทำให้เกิดความสบายหูแก่ทุกๆคน ยิ่งถ้าพูดดีก็มีพลานุภาพมากขึ้นไปอีก ดังนั้น เสียงดีจึงมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้ฟังอย่างมาก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำของชาวโลก ที่นำพาสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร พระสุรเสียงของพระองค์มีอานุภาพยิ่งใหญ่ที่สามารถโน้มน้าวใจผู้ฟังให้หยั่งลงสู่กระแสธรรมจนได้บรรลุธรรมาภิสมัย ถ้าใครเอาเสียงดีที่ตนเองได้มาตั้งแต่กำเนิด กล่าวแต่ถ้อยคำที่เป็นมงคลเป็นธรรมภาษิต บุญบารมีก็เพิ่มมากขึ้น ถ้าอยากมีเสียงดี ไพเราะเสนาะหูของผู้คน ก็ต้องรู้จักประกอบเหตุที่มาแห่งเสียงดี คือ ต้องกล่าววาจาสุภาษิตที่ทำให้เกิดกำลังใจในการสร้างบารมี เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ขณะเดียวกันก็ให้รู้จักสั่งสมบุญอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย
ดั่งเช่นพระอรหันต์เถระรูปหนึ่ง ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสงฆ์ในด้านเสียงดี มีนามว่าโสนะ เสียงของท่านไพเราะก้องกันวาน ไม่แหบ ไม่พร่า เสนาะโสตของผู้ฟัง ในยุคสมัยของพระผู้มีพระภาคเข้า ทรงพระนามว่าปทุมุตระ
พระอรหันต์ท่านนี้ได้เคยเป็นเศรษฐีที่มั่งคั่ง อาศัยอยู่ในหังสวดีนคร และได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายท่ามกลางมหาสมบัติอันโอฬาร วันหนึ่งท่านมีบุญได้เห็นพระบรมศาสดา ซึ่งแวดล้อมไปด้วยพระขีณาสพ หนึ่งแสนองค์ กำลังเสด็จเจ้ามาในเมืองด้วยพุทธลีลาอันน่าเลื่อมใน เมื่อได้เห็นดังนั้นท่านก็เกิดความปิติเลื่อมใน ขนลุกขนพองถึงกับอยู่นิ่งไม่ได้ ท่านได้ยืนพนมมือรับเสด็จพระพุทธองค์พร้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์จนหมดขบวน
เช้าวันนั้นท่านเศรษฐีได้ชักชวนบริวารไปวัดเพื่อฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ท่านได้เห็นพระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในด้านผู้มีเสียงดี มีถ้อยคำไพเราะ ท่านเศรษฐีอยากได้ตำแหน่งนั้นบ้าง จึงตั้งใจว่าในอนาคตกาลในภพชาติสุดท้ายที่ข้าพเจ้าเกิด ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้เลิศทางด้านเสียงดี เหมือนอย่างท่านอรหันตเถระรูปนี้
เมื่อท่านเศรษฐีฟังพระธรรมเทศนาจบก็ได้เข้าไปกราบอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์ทั้งวัดให้ไปฉันท์ภัตราหารที่คฤหาสถ์ของตนเอง ครั้งถวายครบ ๗ วัน จึงได้กราบทูลขอพรว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนายกของโลก ด้วยอานิสงค์แห่งบุญนี้ ขอข้าพระพุทธองค์เป็นเลิศด้านเสียงดี มีวาจาไพเราะเสนาะโสต เหมือนอย่างพระภิกษุที่เลิศด้านเสียงดี ที่ได้รับการสถาปนาแต่งตั้งจากพระพุทธองค์ด้วยเถิด”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูด้วยญาณทัศนะแล้วจึงตรัสพยากรณ์ว่า “ในอนาคตกาล ในยุคสมัยของพระสมณะโคดมพุทธเจ้า เธอจักได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านเสียงดี มีถ้อยคำอันไพเราะ” เมื่อท่านเศรษฐีได้ฟังคำพยากรณ์เช่นนั้น ก็มีความปราบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างมาก แม้ตำแหน่งที่ได้รับยังอยู่อีกหลายกัป
แต่ท่านกลับรู้สึกว่าจะได้รับตำแหน่งอันเลิศนั้นในวันรุ่งขึ้นทีเดียว และหลังจากนั้นท่านก็ขวนขวายทำบุญสั่งสมบารมี ทับทวีเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะบุญคือการพูดแต่ถ้อยคำสุภาษิต และคำพูดที่ก่อให้เกิดกำลังใจ ในการทำพระนิพพานให้แจ้ง เป็นคำพูดที่ชักนำให้แสวงบุญ สร้างบารมี
ท่านขวนขวายทำให้มากเป็นพิเศษกว่าบุญอย่างอื่นจนตลอดชีวิต ด้วยผลบุญในชาตินั้นได้ส่งผลให้ท่านเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสุคติภูมิอย่างเดียว บาปอกุศลซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่ทุคติไม่มีโอกาสได้ช่องเลย
ต่อมาในยุคของพระวิปัสสีพุทธเจ้า ท่านได้มาเกิดสร้างบารมีและออกบวชเพื่อบ่มเนกขันมะบารมี ซึ่งบุญที่ท่านปลื้มเป็นพิเศษในขณะบวชเป็นพระในชาตินั้นคือ ได้เย็บจีวรถวายเพื่อนพระภิกษุ การเย็บจีวรในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องจักร ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ดังนั้นท่านจึงปลื้มปิติในบุญนี้มากเป็นพิเศษ
ต่อมาท่านได้มาบังเกิดในยุคที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น แต่ด้วยบุญที่ท่านสั่งสมเอาไว้มาก จึงได้พยุงให้ท่านดำเนินชีวิตอยู่แต่ในหนทางแห่งการสร้างความดี และยังส่งผลให้ท่านได้รับบุญซ่อมคันกดถวายแต่พระปัจเจกพระพุทธเจ้าด้วย
ครั้นมาถึงยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านได้มาเกิดเป็นลูกเศรษฐีในกุรรฆรนคร ประจำรัฐอวันตี ญาติพี่น้องตั้งชื่อให้ท่านว่าโสณกุฎิกัณณ เพราะท่านมีตุ้มหูที่มีราคาแพงถึง ๑ โกฏิ (ประมาณ สิบล้านบาทในยุคนี้)
เมื่อท่านเติบโตเป็นหนุ่ม ระหว่างที่คนใช้พานั่งรถชมเมือง บุญก็ได้นำมาให้มาพบกับพระมหากัจจายนเถระ จึงมีโอกาสฟังธรรมจากท่าน ครั้นฟังแล้วก็เกิดความศรัทธา เลื่อมใสอย่างแรงกล้า ได้สมาธานศีลและยังได้ปวารณาตัวเป็นโยมอุปัฏฐากอีกด้วย ต่อมาเศรษฐีหนุ่มเกิดเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส
จึงขอบรรพชาเป็นสามเณร แต่ยังไม่สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ เพราะในสมัยนั้นการนิมนต์พระภิกษุมามานั่งอันดับถึง20รูป เพื่อเป็นสักขีพยานในการอุปสมบทนั้นหาได้ยากมาก เนื่องจากยุคต้นๆของพุทธกาล เมืองอวันตีรัฐไม่ค่อยมีพระภิกษุ หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็ปฏิบัติธรรมอยู่กับพระเถระอยู่ระยะหนึ่งจากนั้นก็ได้กราบลาไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์
พระบรมศาสดาทรงทราบว่าท่านโสณะเป็นผู้ที่สั่งสมบุญมาดี จึงได้นิมนต์มาให้พำนักอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระองค์ ให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านได้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำน้ำเสียงที่ไพเราะมาก หลังจากได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จึงได้รับการสถาปนาจากพระพุทธองค์ ในตำแหน่งเอตทัคคะ ผู้เลิศกว่าภิกษุด้วยกัน ในด้านมีน้ำเสียงไพเราะ สมปรารถนาดังที่ตั้งเอาไว้ เมื่อแสนกัปปีที่แล้ว
จะเห็นว่าผู้มีปัญญาจะตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ข้ามชาติ การจะไปให้ถึงเป้าหมายดังที่ตั้งใจเอาไว้นั้น ต้องมีฉันทะ มีความเพียรพยายาม จากนั้นต้องหมั่นประกอบเหตุให้ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เหมือนชีวิตการสร้างบารมีของท่านโสณะ ที่ท่านเป็นเลิศทางด้านเสียงกว่าใครๆเพราะได้ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจน
ดังนั้นทุกคนควรรู้จักประกอบเหตุแห่งการมีเสียงไพเราะเอาไว้ ซึ่งเหตุที่จะทำให้เสียงดี นอกจากแรงอธิษฐานแล้ว ก็ต้องมีวาจาสุภาษิต พูดจริง มีประโยชน์ ประกอบไปด้วยเมตตา เป็นวาจาไพเราะและพูดถูกการณ์ ประการสำคัญ ทุกถ้อยวาจาที่พูดควรเป็นวาจาที่สร้างสรรค์ น้อมนำใจผู้ฟังให้หยั่งลงสู่กระแสธรรม เป็นวาจาที่เป็นไปเพื่อการทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อพูดได้อย่างนี้จึงถือว่าเป็นวาจาที่สูงส่งและสมบูรณ์ที่สุด