Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน โปริสาท ตอนที่ 04
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในขุททกนิกายธรรมบท ว่า
สุขกามานิ ภูตานิ
โย ทณฺเฑน วิหึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน
เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ
ผู้ใดแสวงหาความสุข เพื่อตนเบียดเบียนสัตว์ ผู้ต้องการความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นละโลกไปแล้ว ย่อมไม่ได้ความสุข
สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนต้องการความสุขหลีกหนีความทุกข์ จึงแสวงหาความสุขใส่ตัว ในขณะแสวงหาความสุขใส่ตัวนั้น หากเราหลงไปเบียดเบียนผู้อื่น จนทำให้เขาต้องได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีใด ผลกรรมอันเผ็ดร้อนก็จะตามติดส่งผล เพียงแต่ขึ้นอยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น
แต่ที่แน่ๆการแสวงหาความสุขบนความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นสิ่งที่พระอริยะเจ้าไม่สรรเสริญ เพราะจะนำทุกข์มาสู่ตนเองในภายหลัง จะส่งผลเป็นวิบากกรรมอันทุกข์ทรมานในปรโลกอีกยาวนาน เหมือนดังเรื่องของพระเจ้าพรหมทัตที่ชอบเสวยเนื้อมนุษย์จนเป็นสาเหตุให้มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น ทำให้ชาวพระนครได้รับความเดือดร้อนไปตามๆกัน
ต่อจากคราวที่แล้วคนทำต้นเครื่องได้สารภาพว่าทำไปเพราะคำสั่งของพระเจ้าพรหมทัต ท่านเสนาบดีจึงต้องทำคดีด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ จึงได้ปล่อยคนทำครัวไปทำงานตามที่พระราชารับสั่ง ส่วนตัวเองก็ได้คอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของพระราชาอยู่ห่างๆ
หลังจากเฝ้าสังเกตอยู่หลายวันก็พบความจริงว่าพระราชาเสวยเนื้อมนุษย์ตามที่พ่อครัวกล่าวหาจริงๆ
หลังจากรวบรวมหลักฐานได้ครบถ้วนแล้ว รุ่งเช้าจึงนำเจ้าหน้าที่และมหาชนเข้าเฝ้าที่ท้องพระโรงพร้อมกับพยานคือพ่อครัวเข้ามาด้วย เสนาบดีทูลถามว่า “ข้าแต่มหาราช ได้ยินว่าพระองค์ทรงใช้คนทำเครื่องต้นไปฆ่าคนมาปรุงเป็นอาหาร พระองค์ทรงเสวยเนื้อมนุษย์เป็นความจริงหรือพระเจ้าค่ะ”
พระราชาตรัสตอบโดยไม่สะทกสะท้านว่า “ใช่แล้วท่านกาฬ เป็นอย่างนั้นจริงๆ” คำสารภาพของพระ
ราชาทำให้คนทั้งเมืองถึงกับขนลุก หวาดเสียวไปตามๆกัน เพราะนึกไม่ถึงว่าฆาตกรกินเนื้อมนุษย์จะเป็นพระราชาของตัวเอง
ท่านเสนาบดีดำหริว่า การตัดสินลงโทษผู้ปกครองแผ่นดินนั้นไม่ใช่ของพอดีพอร้าย เพราะมีผลกระทบ
ต่อความมั่นคงของประเทศ จึงกราบทูลห้ามปรามว่า “ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้เสวยเนื้อมนุษย์เลย ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของพสกนิกรต่อไปเถิด”
พระราชาตรัสว่า “ท่านกาฬหัตถี เราไม่อาจอดเนื้อมนุษย์ได้แม้จะต้องตายก็ไม่อาจอดได้จริงๆ” เสนาบดีประสงค์จะให้ท้าวเธอกลับพระทัยเสียใหม่ จึงนำเรื่องในอดีตมาเล่าถวายว่า
ในอดีตกาลมหาสมุทรแห่งหนึ่งมีปลาใหญ่อยู่หกตัว ชื่ออานนท์ อุปนันทะ อัชโฌหาร ปลาใหญ่สามตัวนี้
ยาว ๕๐๐ โยชน์
อีกสามตัวชื่อติมิงคละ ติมิรมิงคละ มหาติมิรมิงยาวตัวละพันโยชน์แยกกันอาศัยอยู่ตัวละฟากฝั่งมหาสมุทร กล่าวถึงเฉพาะปลาอานนท์ซึ่งอยู่ด้านหนึ่งของมหาสมุทร เป็นเจ้าแห่งมัจฉา คอยป้องกันภัยต่างๆที่มารบกวนปลาบริวาร
อยุ่มาวันหนึ่ง ปลาอานนท์กินหินและสาหร่ายอยู่ข้างภูเขา กินปลาตัวหนึ่งโดยไม่รู้สึกว่าเป็นปลา คิดว่า
เป็นสาหร่าย เนื้อปลานั้นแผ่ไปทั่วสรีระจึงคิดว่านี่เป็นอาหารอะไร ช่างอร่อยเหลือเกิน
จึงคายออกมาดูเห็นเป็นชิ้นปลา คิดว่าตั้งแต่นี้ไปจะไม่กินสาหร่ายอีกแล้ว ปลาเล็กๆเหล่านี้ที่คอยอุปฐากบำรุงเราจะเป็นอาหารอันโอชะของเราตลอดไป เมื่ออกุศลเข้าสิงจิตเพราะความติดในรสบังเกิดขึ้นแล้ว ปลาอานนท์จึงหาอุบายที่จะฆ่าปลาบริวารวันละตัวสองตัวเป็นอาหารโดยไม่ให้ปลาที่เหลือรู้
เพราะถ้ากินอย่างเปิดเผยปลาตัวอื่นก็จะไม่กล้าเข้ามาใกล้ ตรงกันข้ามอาจจะหนีไปกันหมด ปลาอานนท์จึงต้องหาอุบายที่แนบเนียนที่สุดด้วยการจับปลาที่มาแสดวงความเคารพหลังสุด ทำให้ฝูงปลาเริ่มลดน้อยลงทุกขณะ
ครั้นนานปีเข้าฝูงปลาได้ลดลงมากผิดปกติ ฝูงปลาจึงไปร้องทุกข์กับปลาอานนท์ให้ช่วยตามหาญาติที่หายไป แต่ปลาอานนท์แสร้งทำเป็นทองไม่รู้ร้อนขอให้ไปตามหากันเอาเอง
พวกหมู่ญาติที่หายไปนั้นอาจติดกับดักติดบ่วงแหของมนุษย์ก็เป็นได้ พอผิดหวังจากการขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าจึงพากันว่ายไปตามสถานที่ต่างๆที่คิดว่าหมู่ญาติจะพลัดหลงจากฝูงออกไป แต่ก็ไม่พบเห็นร่องรอย
ขณะนั้นมีปลาฉลาดตัวหนึ่งคิดว่าปลาอานนท์มีกริยาอาการที่แปลกๆ ไม่องอาจสง่างามเหมือนเมื่อก่อน จึงคิดที่จะจับพิรุธ พอฝูงปลาไปเคารพปลาอานนท์เหมือนที่เคยทำเป็นประจำ ปลาฉลาดตนนี้ก็ได้แฝงตัวเข้าไปอยู่ในใบหูของปลาอานนท์
ได้เห็นพฤติกรรมอันเหี้ยมโหดของหัวหน้าจึงรีบไปบอกพวกของตน ฝูงปลาบริวารครั้นรู้ว่าปลาอานนท์เป็นฆาตกรจึงพากันอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น ไม่ยอมมาอุปฐากปลาอานนท์อีกต่อไป ตั้งแต่นั้นมาปลาอานนท์ก็ไม่ได้โอกาสจับปลาบริวารกินอีก
ด้วยความที่ติดในใจเนื้อปลาเสียแล้วจึงแสดงธาตุแท้ออกมาด้วยการว่ายออกหาฝูงปลาบริจาร ซึ่งตอนนี้ได้ไปแอบซ่อนอยู่ที่ภูเขาลูกหนึ่ง เมื่อตามมาพบเข้าด้วยความที่มีรูปร่างใหญ่โตมาก จึงว่ายวนโอบภูเขาใหญ่ใต้มหาสมุทรแห่งนั้น ไล่จับกินปลาเล็กๆได้อย่างสบาย
ในขณะที่ว่ายโอบภูเขาปลาอานนท์มองเห็นหางตัวเองนึกว่าเป็นหางปลาบริวารจึงฮุบหางและเคี้ยวกิน
แต่คราวนี้ไม่ได้รู้สึกอร่อยรู้สึกเหมือนมีปลาตัวอื่นกำลังกัดหางตัวเอง ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส พวกฝูงปลามาชุมนุมกันเพราะกลิ่นเลือดจึงรุมทึ้งกินเนื้อปลาอานนท์เป็นอาหารอันโอชะบ้าง ปลาอานนท์พลิกตัวกลับไม่ได้เพราะกำลังว่ายอยู่ในช่องแคบๆจึงไม่สามารถป้องกันตัวได้เมื่อทนเจ็บปวดไม่ไหว เลือดไหลไม่หยุด สุดท้ายก็ต้องตายสาสมกับกรรมที่ได้ฆ่าฝูงปลามากมาย
เมื่อเสนาบดีเล่าเรื่องปลาอานนท์จบแล้ว จึงกราบทูลต่อไปว่าปลาอานนท์ติดอยู่ในรสของปลาทุกชนิด แสวงหาความสุขบนความทุกข์ของปลาตัวอื่น สุดท้ายก็ต้องถึงความพินาศ ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด อย่ายินดีในการเสวยเนื้อมนุษย์เลย หากพระองค์ไม่เลิกละความอยากในเนื้อมนุษย์ ความพินาศจะบังเกิดกับพระองค์ เหมือนกรรมตามสนองปลาอานนท์