Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน ไม่ควรดูหมิ่นบุญ
ชีวิตมนุษย์ที่เกิดมาเป็นชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆในโลก เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก หลายคนอาจจะมองไม่เห็นว่ามันยากตรงไหน แต่ความเป็นจริงแล้วยากมากๆ เพราะบรรดาสรรพสัตว์ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์น้ำ สัตว์มีเท่ามาก มีเท้าน้อย แม้กระทั่งสัตว์ไม่มีเท้า
ล้วนมีจำนวนมากยิ่งกว่ามนุษย์ในโลกนี้หลายเท่าอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นการยากอย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะรักษาอัตภาพร่างกายของเรานี้ให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงและใช้การได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะร่างกายนี้เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งในการทำความดีสร้างบารมีทุกอย่าง
สุขภาพร่างกายภายนอกต้องถนอมรักษาไว้ให้ดี ไม่เอาไปทำร้ายด้วยอบายมุขต่างๆ ส่วนภายในร่างกายที่เป็นที่อาศัยของใจก็ต้องทะนุถนอมด้วยการหมั่นชำระให้บริสุทธิ์ด้วยทาน ศีล ด้วยการภาวนา ด้วยการทำความดีหรือหาแต่สิ่งที่ดีๆ เข้ามาสู่จิตใจ โดยเฉพาะการเจริญภาวนา เพราะจะทำให้ใจบริสุทธิ์ผ่องใส
มีพุทธพจน์บทหนึ่งใน ขุททกนิกาย ธรรมบท กล่าวไว้ว่า
บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญ ว่าบุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาทีละหยดได้ฉันใด บุคคลผู้มีปัญญาสั่งสมบุญแม้ทีละน้อย ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น
การสั่งสมบุญเป็นเรื่องหลักของชีวิตนักสร้างบารมี เราเกิดมาสร้างบารมีก็ต้องสร้างบารมีให้แก่กล้าให้บารมี ๓๐ ทัศครบถ้วนบริบูรณ์ ซึ่งต้องอาศัยการสั่งสมบุญอย่างต่อเนื่อง โดยย่อคือให้หมั่นทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เราต้องสั่งสมไปจนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยม
บุคคลผู้มีกาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสอาสวะเท่านั้น ถึงจะหลุดพ้นเข้าสู่อายตนนิพพานได้ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายของทุกๆ ชีวิต คือ อายตนนิพพานนั่นเอง การสร้างบารมีในแต่ละภพแต่ละชาติ เราทำได้ไม่มากนัก
เพราะเวลาในโลกมนุษย์มีอยู่จำกัด ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง พระพุทธองค์จึงทรงอุปมาชีวิตว่า เป็นเหมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้า พอถูกแสงอาทิตย์สาดส่องไม่นาน ก็เหือดแห้งหายไป
ชีวิตของเรามีการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ไม่นาน ก็ต้องจากไป เพราะฉะนั้นการสร้างบารมีในแต่ละชาติจึงสร้างได้ไม่มาก แค่บริหารขันธ์ ๕ ก็หมดเวลาไป ๑ ใน ๓ แล้ว ทำมาหากินอีก ๑ ใน ๓ และนอนหลับพักผ่อนอีก ๑ ใน ๓ ของชีวิต ดังนั้นเวลาสำหรับสร้างบารมีจึงเหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาพึงรีบสั่งสมบุญ แม้เป็นบุญเพียงเล็กน้อยก็ต้องทำ ทำกันตลอดเวลาทุกอนุวินาที สักวันหนึ่ง บารมีจะเต็มเปี่ยมเอง เหมือนน้ำหยดลงมาทีละหยด ยังสามารถเติมตุ่มให้เต็มได้ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้ดูหมิ่นในบุญ แม้จะทำบุญเพียงนิดเดียว เช่น ตักข้าวใส่บาตรเพียงทัพพีเดียว ก็ยังส่งผลให้ไปบังเกิดในสวรรค์ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรดูถูกบุญว่าเล็กน้อย
เมื่อทำบุญด้วยใจที่ผ่องใส ทำถูก เนื้อนาบุญ อานิสงส์ผลบุญย่อมยิ่งใหญ่ไพศาล นับประมาณไม่ได้ ในสมัยพุทธกาล ชาวเมืองสาวัตถีพากันถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข วันหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงกระทำอนุโมทนาตรัสแก่ชาวเมืองทั้งหลายว่า
บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เขาย่อมได้โภคทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติในที่ที่ตนบังเกิดแล้ว บางคนไม่ให้ทานด้วยตนเอง แต่ชักชวนคนอื่น เขาย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้โภคทรัพย์สมบัติในที่ที่ตนบังเกิดแล้ว บางคนไม่ให้ทานด้วยตนเองและไม่ชักชวนคนอื่น
เขาย่อมไม่ได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ ในที่ที่ตนบังเกิดแล้ว บางคนให้ทานด้วยตนเองและชักชวนคนอื่นด้วย เขาย่อมได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติในที่ที่ตนบังเกิดแล้ว
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาจบ อุบาสกท่านหนึ่งมีความปรารถนาจะได้บุญใหญ่ เขาได้กระทำเหตุที่เป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ จึงกราบทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันพรุ่งนี้ขอพระองค์ได้โปรดรับภิกษาของพวกข้าพระองค์เถิด"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า "ต้องการพระภิกษุจำนวนเท่าไร" เขาตอบว่า "ต้องการทั้งหมดพระเจ้าข้า"พระพุทธองค์ทรงเมตตารับการอาราธนาของเขา อุบาสกนั้นเดินประกาศข่าวบุญแก่ชาวเมืองเชิญชวนมหาชน ทั้งหลายให้มาถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระสงฆ์สาวก
โดยมีการรวบรวมข้าวปลาอาหารหวานคาวทุกชนิด และมาช่วยกันจัดเตรียมภัตตาหารในที่เดียวกัน เมื่ออุบาสกประกาศข่าวบุญไปเช่นนั้น ชาวเมืองจำนวนมากพากันนำอาหาร และจตุปัจจัยไทยธรรมมาร่วมบุญด้วย
อุบาสกทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรด้วยใจที่เบิกบาน เขาเดินประกาศข่าวบุญไปจนถึงหน้าร้านของเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีความตระหนี่ เมื่อเศรษฐีเห็นอุบาสกมาบอกบุญที่หน้าร้าน ของตน
ก็รู้สึกขัดเคืองว่า ทำไมไม่นิมนต์พระให้พอเหมาะแก่กำลังของตน มาเที่ยวรบกวนชาวบ้านอย่างนี้ ทำให้คนอื่น เดือดร้อน แต่เศรษฐีก็ร่วมบุญด้วยเล็กน้อยเพราะกลัวเสียหน้า โดยใช้นิ้วมือ ๓ นิ้ว หยิบข้าวสารและถั่ว รินเนยใสและน้ำอ้อยให้อีกนิดหน่อย อุบาสกก็รับของเหล่านั้นและขออนุโมทนาบุญด้วยความเบิกบานใจ โดยใส่ในภาชนะต่างหากไม่ปะปนกับของคนอื่น
เศรษฐีเห็นอุบาสกทำเช่นนั้น จึงเกิดความสงสัย ได้ส่งลูกน้องของตนติดตามอุบาสกนั้นไป เพื่อดูว่าเขาจะเอาสิ่งของของตนไปทำอะไร อุบาสกได้นำของที่ท่านเศรษฐีให้มา ผสมรวมกับของชาวเมือง และกล่าวว่า
ขอให้ท่านเศรษฐีได้อานิสงส์แห่งบุญใหญ่ ในการร่วมบุญครั้งนี้ด้วย เมื่อลูกน้องเศรษฐีได้เห็นและได้ฟังดังนั้น ก็รีบกลับไปรายงานเศรษฐี แต่เศรษฐียังระแวงอีกว่า อาจจะถูกอุบาสกนั้นประจานตนเอง ในท่ามกลางพุทธบริษัท เพราะตนบริจาคทานอย่างเสียไม่ได้
รุ่งขึ้น เศรษฐีพกมีดเดินตรงไปยังบ้านของอุบาสก และเดินติดตามอุบาสกตลอดเวลา หมายจะแทงอุบาสกทันทีที่อุบาสกประกาศว่าตนเป็นคนตระหนี่ ฝ่ายอุบาสกเมื่อถวาย ภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ชักชวนมหาชนมากมายมาร่วมกันถวายทานในครั้งนี้ ทุกคนก็ให้สิ่งของต่างๆ มากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังของตน ขออานิสงส์ที่จะบังเกิดขึ้น จงมีแก่มหาชนเหล่านั้นทุกคนเทอญ" เศรษฐีฟังดังนั้นเกิดความร้อนใจ คิดว่า เรามาในวันนี้ เพื่อจะทำร้ายอุบาสก
แต่เขากลับให้เราได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่ แม้เราจะให้ทานเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่เขาไม่ได้ดูหมิ่นในทานของเราเลย ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เทวดาจะต้องลงโทษเราแน่ คิดดังนั้นแล้ว เศรษฐีจึงหมอบลงแทบเท้าอุบาสก และขอให้อุบาสกยกโทษให้ อุบาสกจึงถามว่า "มีอะไรเกิดขึ้นหรือ" เศรษฐี จึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง
พระพุทธองค์ทรงรู้เหตุการณ์ทั้งหมด จึงตรัสกับอุบาสกว่า "ขึ้นชื่อว่าบุญ อันใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย บุคคลถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ไม่ควรดูหมิ่นบุญว่าเล็กน้อย"
"เพราะว่าบุคคลผู้ฉลาดในการทำบุญ ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญโดยลำดับ เปรียบเหมือนภาชนะที่เปิดฝา ย่อมเต็มไปด้วยน้ำ ฉะนั้น" เพราะฉะนั้น ให้ทุกคนตั้งใจสั่งสมบุญ ไม่ว่าจะเป็นบุญอะไรก็ตาม ถ้ามีโอกาส ต้องทำให้เต็มที่ อย่าดูหมิ่นบุญ แม้บุญนั้นจะเป็นบุญเล็กบุญน้อย
แต่เมื่อเราสั่งสมบ่อยๆ ย่อมจะกลายเป็นบุญใหญ่ได้ ถ้าอยากได้บุญมาก ก่อนทำบุญเราต้องทำใจของเราให้หยุดนิ่ง กลั่นใจให้ใสบริสุทธิ์ เมื่อถึงคราวสมบัติเกิดขึ้น ความวิบัติจะเข้ามาปะปนไม่ได้ แต่ถ้าทำบุญด้วยความหงุดหงิด ถึงคราวสมบัติเกิดขึ้น จะนำความวิบัติติดมาด้วย บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม
อย่าขาดในการบำเพ็ญบุญ นักสร้างบารมีที่ชาญฉลาด จะต้องทำบุญให้ถูกเนื้อนาบุญและทำด้วยใจที่ผ่องใส รู้จักเลือกเก็บเกี่ยวอารมณ์ที่ดีๆ ไว้เป็นเครื่องสนับสนุนในการสร้างบารมีให้เต็มที่ เพราะในการบำเพ็ญบุญกุศลทุกครั้ง จะเป็นการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาก็ตาม หากจิตใจของเราผ่องใส จะเป็นเหตุให้กระแสธารแห่งบุญอันบริสุทธิ์ ไหลผ่านกระแสใจของเราตลอดเวลา ทำให้เราเป็นผู้มีบุญมาก และบุญนี้จะตามส่งผลไปทุกภพทุกชาติ
ดังนั้น ทุกครั้งที่เราจะให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา ให้ทำด้วยใจที่เบิกบานผ่องใสเสมอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้รักษาใจให้หยุดนิ่ง ไม่หงุดหงิดงุ่นง่านฟุ้งซ่านรำคาญใจ ต้องให้ใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญกุศลล้วนๆ โดยทำใจของเราให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ผลบุญย่อมจะเกิดขึ้นกับเราทุกๆ คนอย่างเต็มที่