Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน การรู้จักรักษาตน
เส้นทางในสังสารวัฏนั้นเป็นเส้นทางที่ยาวนาน เป็นความยาวนานเกินกว่าจะคาดเดาว่าจะมากน้อยแค่ไหน แต่ขึ้นกับการดำเนินชีวิตในขณะทีเป็นมนุษย์ ถ้าหากผู้ใดหมั่นสั่งสมบุญเอาไว้มาก เส้นทางยาวไกลของเขาก็สั้นขึ้นมา แต่ถ้าหากพลั้งพลาดไปทำบาปอกุศลเข้า ก็จะทำให้หนทางพระนิพพานยืดยาวนานออกไปอีก
ดังนั้นการประคับประคองชีวิตให้ดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งความดี บนเส้นทางแห่งบุญจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถูกทางที่สุดที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองตัวเราให้ปลอดภัย ทั้งภายในชีวิต ภายในอบายภูมิ และภายในสังสารวัฏ โดยเฉพาะการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อชำระกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์อยู่เป็นประจำ จะทำให้เส้นทางไปสู่อายตนนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางยิ่งใกล้เข้ามาทุกขณะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ขุททกนิกายปัญจกนิบาต ความว่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมฉันบิณฑบาต ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้ เพื่อความเป็นไปแห่งกายนี้ เพื่อบรรเทาความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยคิดว่าเราจะบรรเทาเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่งร่างกายจักมีแก่เรา ความไม่มีโทษและความอยู่สบายจักมีแก่เรา
ด้วยการเสพบิณฑบาตนี้ ความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ทุกคนคือการเป็นผู้ปราศจากโรคาพาธ อยากจะมีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาว สิ่งเหล่านี้ที่มนุษย์ต้องการมักจะสมหวังได้โดยยาก เพราะร่างกายก็เป็นรังแห่งโรค เมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนก็สร้างบารมีได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นผู้รู้ถึงกล่าว
อโรคยา ปรมาลาภา
ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
โดยทั่วไปถ้ารู้จักดูแลเอาใจใส่ร่างกายอย่างดีจะทำให้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคภัยต่าง ๆ ทำให้มีอายุยืนยาว พอมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว จะประกอบธุรกิจการงานอะไรก็คล่องตัว จะประพฤติปฏิบัติธรรม หรือจะเจริญสมาธิภาวนาก็สะดวกสบาย ไม่ต้องห่วงกังวลในเรื่องสุขภาพ สุขภาพที่แข็งแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญ พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญ ถึงเรื่องการขบฉันภัตราหารของพระภิกษุเอาไว้หลายอย่าง
ทรงสอนให้พระภิกษุรู้จักประมาณในการบริโภค บางเรื่องทรงบัญญัติไว้เป็นข้อปฏิบัติ เพราะทรงตระหนักว่าอาหารที่ขบฉันเข้าไปนั้นมีทั้งที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดโทษ สุขภาพจะแข็งแรงหรือว่าทรุดโทรม อาหารที่ขบฉันมีความสำคัญมากทีเดียว เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงให้พิจารณาอาหารก่อนฉันทุกครั้ง ดังที่ตรัสว่าภิกษุทรงพิจารณาบิณฑบาตทุก ๆ คำกลืน ถ้าไม่พิจารณาก่อนฉันต้องอาบัติทุกฏเป็นต้น
นอกจากนี้ในการพิจาณาอาหารก่อนขบฉันของพระภิกษุจะได้มีสติยั้งคิดว่ามิใช่ขบฉันเพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตกแต่ง เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้ของอัตภาพร่างกาย เพื่อบรรเทาความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่าเราจะบรรเทาเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ร่างกายจะได้ดำรงอยู่ได้ตามอัตภาพ ดังที่กล่าวว่า
ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงค่อยขบฉันภัตราหาร
ในครั้งหนึ่งกุลบุตรหนุ่มคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี เมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาสเพราะเห็นโทษภัยในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร จึงได้ไปขออนุญาตมารดาบิดาออกบวช พอบวชแล้วภิกษุรูปนี้ก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม อาศัยอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารโดยเป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ อุปนิสัยของภิกษุหนุ่มรูปนี้เป็นคนทีพิถีพิถันดูแลเอาใจในสุขภาพร่างกายเป็นอย่างดี จะหยิบจะฉันอะไรก็รู้จักพิจารณาก่อนเสมอว่า ของสิ่งนี้เย็นจัด หรือร้อนจัดหรือไม่ ถ้ารู้ว่าเป็นของที่เย็นจัดหรือร้อนจัดท่านก็จะไม่รีบฉันของสิ่งนั้น ถ้าเผ็ดเกินไป เค็มเกินไปก็จะรู้ประมาณในการขบฉัน
ท่านเป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง บางครั้งอาหารบิณฑบาตที่ได้มาเป็นของแสลงต่อร่างกาย ท่านก็จะขบฉันพอประทังชีวิตยอมทนหิวไปบ้างดีกว่าจะต้องตามดูแลรักษาโรคที่เกิดจากการกิน ทำให้ท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ไข้ ซึ่งแตกต่างจากเพื่อนสหธรรมิกที่มักถูกโรคาพาธรุมเร้าต้องเสียเวลาหายามารักษา ทำให้เสียเวลาบำเพ็ญสมณธรรม แม้กระทั่งเรื่องเวลาดินฟ้าอากาศท่านยังกำหนดฤดู กำหนดทิศทางลมก่อนจำวัด รู้ว่าช่วงไหนอากาศหนาวจัด ช่วงไหนอากาศร้อนจัด ท่านก็รู้จักปรับตัวได้เป็นอย่างดี เรื่องกาดรูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพร่างกายของพระภิกษุหนุ่มรูปนี้ได้ร่ำรือไปทั้งวัด
วันหนึ่งขณะที่พวกภิกษุได้นั่งจับกลุ่มพูดคุยกับถึงเรื่องของท่าน พระบรมศาสดาได้เสด็จเข้ามาตรัสถามเรื่องที่กำลังคุยกันอยู่ เมื่อพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่าว่าแต่ในชาตินี้เลยที่ภิกษุหนุ่มรูปนี้ฉลาดและรู้จักรักษาสุขภาพร่างกายของตน แม้ชาติที่ผ่านมาก็ยังเป็นผู้มีนิสัยช่างสังเกต ทำให้สามารถเอาตัวรอดมาได้ เมื่อเหล่าสาวกอยากจะรู้เรื่องราวในอดีตของท่าน พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าให้ฟังว่า
ในอดีตกาลครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ชาตินั้นพระโพธิสัตว์ได้ถือบังเกิดเป็นรุกขเทวดา อาศัยอยู่ที่ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง มีอยู่วันหนึ่งมีนายพรานอุ้มไก่ต่อตัวหนึ่ง พร้อมถือบ่วงออกจากบ้านเดินเข้าไปในป่าได้เที่ยวดักไก่ป่า วันนั้นนายพรานได้เริ่มดักไก่ป่าตัวหนึ่ง ซึ่งไก่ป่าตัวนี้เดิมทีเป็นไก่ของตนมาก่อน แต่ได้หลุดออกจากกรงบินหนีเข้าป่าตามจับไม่ได้
เมื่อนายพรานวางบ่วงและดักแร้วไว้พร้อมแล้ว แต่ไก่ตัวนี้ฉลาดช่างสังเกต ระมัดระวังตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพราะรู้ซึ้งถึงการถูกจับขังมาเป็นเวลาแรมปี ในวันนี้เมื่อมันเห็นสิ่งที่ผิดสังเกตจึงไม่ยอมเข้าไปไก่บ่วง แม้จะมีไก่ที่นายพรานนำมาหลอกล่อก็ไม่สนใจ เมื่อนายพรานเห็นอย่างนั้นจึงหักรวบรวมกึ่งต้นหูกวางและกิ่งต้นสมอพิเภกมากำบังอำพรางตัวแล้วเข้าไปขยับคันแร้วและบ่วง เคลื่อนเข้าไปหาไก่เรื่อย ๆ
แต่ไก่รู้ว่านายพรานอยู่เบื้องหลัง จึงพูดขึ้นว่า “ต้นหูกวางและสมอพิเภกที่ขึ้นอยู่มากมายในป่า เราเองก็เคยพบเห็นมาก่อน แต่มีที่ไหนที่ต้นไม้เหล่านี้จะเดินได้” เมื่อพูดจบก็รีบบินหนีไปที่อื่นทันที นายพรานเมื่อได้ฟังคำพูดของไก่แล้วจึงพูดพึมพำขึ้นว่า “ไก่ตัวนี้มันช่างฉลาดเสียจริง รู้สึกรักษาตัวรอด ก่อนจะบินหนีไปยังมากล่าวเยาะเย้ยเราเสียอีก” วันนั้นนายพรานต้องเดินทางกลับบ้านมือเปล่า
พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า พรานในครั้งนั้นได้เป็นพระเทวทัตในครั้งนี้ ไก่ได้เป็นภิกษุหนุ่มผู้ฉลาดในการรักษาสุขภาพ
เราจะเห็นได้ว่าการดูแลรักษาตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อเรามีชีวิตที่ปลอดภัย มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงแล้วจะประกอบภารกิจอะไรก็สะดวก ต่างจากคนที่มีร่างกายอ่อนแอไม่แข็งแรง จิตใจก็หดหู่ อารมณ์ไม่แจ่มใส และยังเป็นภาระให้กับคนอื่นอีก
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัตก็ต้องรู้จักดูแลรักษาสุขภาพ รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และถูกหลักโภชนาการ อีกทั้งรับประทานพอประมาน ผู้รู้ท่านใช้คำว่า อีกสองสำคำจะอิ่มให้หยุดเสีย แล้วค่อยดื่มน้ำตาม ไม่ควรรับประทานอาหารอิ่มเกินไป อายุขัยจะยืนยาวหรือเสื่อมถอยก็ให้ดูตรงที่รู้จักเลือกรับประทานอาหาร การมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงจะเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการสร้างบารมี เพราะฉะนั้นอย่าได้ดูเบาเรื่องใกล้ตัวจะได้สร้างบารมีกันไปนาน ๆ