ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : จันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี (๔)


ธรรมะเพื่อประชาชน : จันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี (๔)

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

DhammaPP_01.jpg

จันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี (๔)

                 เรามีชีวิตอยู่เพียงชั่วคราว ไม่ช้าต่างต้องจากไป ทรัพย์สมบัติภายนอกที่ต่างทุ่มเทแสวงหา ซึ่งล้วนได้มาด้วยความยากลำบาก ตั้งแต่การแสวงหา จนกระทั่งการเก็บรักษา บางคนทำงานหาสมบัติไปวันหนึ่งๆ จนหมดเวลาของชีวิต แต่แท้ที่จริงเราเกิดมามีเป้าหมาย คือทำพระนิพพานให้แจ้ง ฉะนั้นสิ่งที่ทำผ่านมานั้น ยังไม่อาจทำพระนิพพานให้แจ้งได้

 

 

DhammaPP_02.jpg

                    วันเวลาในโลกนี้มีน้อยนิด หากเราไม่คิดสร้างบารมี เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ชีวิตที่เกิดมาย่อมสูญเปล่า จะจากโลกนี้ไปอย่างไร้คุณค่า วันตายเพียงวันเดียว กลับช่วงชิงสมบัติและสิ่งต่างๆ ที่สะสมมาตลอดชีวิตให้หมดสิ้นไป

 

 

DhammaPP_03.jpg

                    แต่หากหมั่นสั่งสมบุญไว้มากๆ และหมั่นทำใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ เมื่อถึงวันที่จะละจากโลกนี้ไป สามารถนำสมบัติ คือบุญกุศลติดตัวไปได้ จะจากไปแบบยิ่งใหญ่และมีชัยชนะอย่างแท้จริง

 

 

DhammaPP_.03.jpg


                  มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย เอกราชชาดก ว่า

                  "ปนุชฺช  ทุกฺเขน  สุขํ  ชนินฺท
       
            สุเขน  วา  ทุกฺขมสยฺหสาหิ
       
            อุภยตฺถ  สนฺโต  อภินิพฺพุตตฺตา
       
            สุเข  จ  ทุกฺเข  จ  ภวนฺติ  ตุลฺยา


           สัตบุรุษทั้งหลายบรรเทาความทุกข์อันยากที่จะอดทนได้ด้วยความสุข เพราะเป็นผู้มีจิตเยือกเย็นยิ่งนัก ในความสุข และทุกข์ทั้ง ๒ อย่าง ย่อมเป็นผู้มีจิตเป็นกลาง ทั้งในความสุขและทุกข์ "


              ความสุขและทุกข์เป็นโลกธรรม ที่มนุษย์ทุกคนต้องพบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนประสบความสุขมากกว่าทุกข์   บางคนมีทุกข์มากกว่าสุข บัณฑิตนักปราชญ์ผู้พิจารณาเห็นความเป็นจริงของโลก ท่านจะวางใจเป็นกลางๆ กับสุขและทุกข์ที่เกิดขึ้น แม้ประสบทุกข์ก็มีขันติธรรม สามารถรักษาใจให้เยือกเย็นเป็นปกติ ครั้นประสบสุขก็ไม่ลิงโลดใจ คุณธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรฝึกฝนอบรมกันไว้ จะได้เป็นอุปนิสัยในการสร้างบารมีติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ

 

 

DhammaPP_04.jpg


                    วันนี้เป็นตอนสุดท้ายสำหรับเรื่องราวการสร้างขันติบารมีของจันทกุมาร ครั้นพระเจ้าเอกราชได้ฟังจันทกุมารทูลอ้อนวอนขอชีวิต ทรงมีพระทัยอ่อนโยน รับสั่งให้เลิกบูชายัญทันที ส่วนกัณฑหาลพราหมณ์ซึ่งกำลังจัดแต่งพิธีกรรมอยู่ในหลุมบูชายัญ ได้ยินข่าวว่า จันทกุมารและพรรคพวกถูกปล่อยตัว เขารีบขึ้นจากหลุมบูชายัญพลางกราบทูลว่า "ข้าพระองค์ทูลไว้แล้วมิใช่หรือว่า การบูชายัญนี้ทำได้ยาก ให้เกิดความยินดีได้ยาก ทำไมพระองค์จึงทรงทำยัญที่ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้วให้กระจัดกระจาย ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี หรือให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี และชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคตินะ พระเจ้าข้า"

 

 

DhammaPP_05.jpg

                   กัณฑหาลพราหมณ์พยายามใส่ความคิดว่า นอกจากพระราชาจะได้ไปสวรรค์แล้ว เหล่ามเหสี พระโอรสพระธิดา รวมทั้งอำมาตย์ราชบริพารทั้งหลายก็จะได้ไปสวรรค์ด้วย พระราชาผู้บอดเขลาได้ฟังแล้ว เกิดฮึกเหิม เกิดแรงบันดาลใจจากพราหมณ์อีก จึงให้ราชบุรุษไปจับกุมพระราชกุมารทั้งหลายกลับมาอีก

 

 

DhammaPP_06.jpg


                  จันทกุมารทรงเตือนสติพระบิดาว่า "ข้าแต่พระราชา ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย จุติจากโลกนี้ไปสู่เทวโลกดังที่เล่ามาไซร้ ขอพราหมณ์จงบูชายัญก่อน แล้วพระองค์จักทรงบูชาในภายหลัง ถ้ากัณฑหาลพราหมณ์รู้เช่นนี้ เหตุไรจึงไม่ฆ่าบุตร ไม่ฆ่าคนที่เป็นญาติทุกคนและตนเองเล่า ชนเหล่าใดอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่ทุคติทั้งหมด" แม้พระราชกุมารจะให้เหตุผลอย่างไร ก็ไม่อาจทำให้พระบิดาเปลี่ยนพระทัยได้ เมื่อเห็นว่าพระบิดาถูกพราหมณ์ยุยงหนัก หากจะใช้กำลังขัดขวางก็เกรงจะเกิดการเข่นฆ่ากัน อาจถึงกับต้องทำปิตุฆาต พระกุมารจึงได้แต่อดทนอย่างที่สุด

 


         DhammaPP_07.jpg         


                  ฝ่ายกัณฑหาลพราหมณ์คิดว่า "พระราชาพระองค์นี้ใจอ่อน ประเดี๋ยวให้ปล่อย ประเดี๋ยวให้จับพระราชบุตร พระองค์อาจจะปล่อยพระราชบุตรทั้งหลายตามคำของจันทกุมารอีก อย่ากระนั้นเลย เราจะพาพระองค์ไปสู่หลุมบูชายัญในบัดนี้ พราหมณ์จึงรีบกราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์ตระเตรียม พิธีบูชายัญเรียบร้อยแล้ว ขอเดชะ เชิญเสด็จเถิด หากพระองค์ทรงบูชายัญแล้ว จะได้ไปเสวยสุขในสวรรค์"

 

 

DhammaPP_08.jpg


                  พระนางจันทาเทวีผู้เป็นมเหสีของจันทกุมารเห็นดังนั้น คิดว่า "ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราจักกระทำความสวัสดีแก่พระสวามีด้วยกำลังความสัตย์ของเรา" จึงประคองอัญชลี ทรงกระทำ สัจจกิริยาว่า "กัณฑหาละผู้มีปัญญาทรามได้กระทำกรรมอันชั่ว ด้วยความสัจจริงอันใด ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี อมนุษย์เหล่าใดมีอยู่ในที่นี้ ยักษ์ สัตว์ที่เกิดแล้วและสัตว์ที่จะมาเกิดก็ดี ขอจงช่วยเหลือข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามีด้วยเถิด"

 

 

DhammaPP_09.jpg


                  ขณะนั้นเอง ท้าวสักกเทวราชทรงสดับเสียงคร่ำครวญของพระนางจันทาเทวี ทรงทราบเรื่องแล้ว ทรงปรากฏรูปทิพย์ของพระองค์ กวัดแกว่งค้อนเหล็กอันลุกโพลง

 

 

DhammaPP_10.jpg

                  ประทับยืนอยู่กลางอากาศเพื่อขู่พระราชา พลางดำรัสว่า "ดูก่อนราชาผู้โง่เขลา การไปสวรรค์ด้วยการทำปาณาติบาต ท่านเคยเห็นมาจากไหน จงปล่อยพระจันทกุมารและชนทั้งหมดจากเครื่องผูกมัดเดี๋ยวนี้ หากไม่ปล่อย เราจะตีศีรษะของท่านด้วยค้อนเหล็กนี้" พระราชาและพราหมณ์เห็นความอัศจรรย์นั้น รีบปล่อยสัตว์ทั้งหมดจากเครื่องพันธนาการ

 

 

DhammaPP_12.jpg


                  เมื่อสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว มหาชนจึงพากันเอาก้อนดินคนละก้อนทุ่มใส่กัณฑหาลพราหมณ์จนถึงแก่ชีวิตทันที

 

 

DhammaPP_11.jpg

                  ครั้นฆ่าพราหมณ์ชั่วแล้ว เนื่องจากยังมีความโกรธสุดที่จะระงับได้ ต่างเริ่มคิดฆ่าพระราชา จันทกุมารสงสารพระบิดาผู้หลงผิด รีบสวมกอดพระราชบิดาไว้แน่น เพื่อใช้ร่างกายของตนเป็นโล่ป้องกันก้อนหินและไม้

 

 

DhammaPP_13.jpg


                  เมื่อมหาชนไม่สามารถฆ่าพระราชาได้ จึงพร้อมใจกันกล่าวว่า "พวกข้าพระองค์จะให้แต่ชีวิตพระราชาชั่ว แต่จะไม่ยอมให้ฉัตรและที่อยู่อาศัยในเมืองนี้อีกต่อไป" จากนั้นมหาชนช่วยกันถอดเครื่องทรงพระราชาออก ให้สวมใส่เสื้อผ้าของคนจัณฑาลแทน และส่งให้ไปอยู่ที่หมู่บ้านของคนจัณฑาล ต่อจากนั้น ชาวเมืองพร้อมใจกันอภิเษกจันทกุมารให้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชา

 

 

DhammaPP_14.jpg


                  แม้พระบิดาจะถูกขับจากราชบัลลังก์ แต่จันทกุมารยังรักพระบิดาดังเดิม ทรงหาโอกาสนำอาหารไปเลี้ยงดูพระบิดา ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

 

 

DhammaPP_16.jpg

                  จากนั้น พระองค์เริ่มบำเพ็ญทานแด่สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล และปกครองพสกนิกรด้วยทศพิธราชธรรมจนตลอดชีวิต ครั้นละโลกแล้ว พระองค์ได้ไปเสวยสุขในสวรรค์


                  เราจะเห็นว่า การไปสู่นิพพาน ต้องมีขันติธรรมอย่างยิ่งยวด แม้จะถูกประทุษร้ายถึงชีวิตก็ไม่คิดฆ่าตอบ หากขาดขันติความอดทนแล้ว การจะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ ย่อมเป็นเรื่องยาก ความเป็นผู้มีขันติธรรมจะช่วยย่นย่อหนทางในสังสารวัฏให้สั้นลง แล้วก้าวไปสู่จุดหมายปลายทาง คือการตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐได้เร็วขึ้น

 

 

DhammaPP_17.jpg


                 พวกเราก็เช่นกัน เราคือยอดนักสร้างบารมี จะต้องสวมหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์ สร้างบารมีให้เต็มที่ แม้มีปัญหามากเพียงใด ต้องรู้จักอดทน ใช้ปัญญาแก้ไขกันไป เส้นทางสู่ที่สุดแห่งธรรมที่เรากำลังก้าวเดินอยู่นี้ เป็นเส้นทางที่ยาวไกล ต้องใช้กำลังใจที่สูงส่ง ต้องอดทนเข้มแข็ง และต้องทำกันไปเป็นทีม อีกทั้งต้องทุ่มเทเอาจริงเอาจัง เอาชีวิตเป็นเดิมพัน อุปสรรคที่เราจะต้องพบนั้นมีมากมาย แต่ไม่เกินความเพียรพยายามของพวกเรา หากทุกคนเป็นผู้มีขันติธรรม รักษากำลังใจให้เข้มแข็ง ด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่งเป็นประจำ ย่อมจะเป็นผู้มีกำลังใจไม่สิ้นสุด จะไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อรักที่จะสร้างบารมีเพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ให้มีขันติธรรมอยู่ในใจ และหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกๆ วัน จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกคน 

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

มก. จันทกุมารชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๑๖๕

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล