ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : น่าติเตียนลาภสักการะ


ธรรมะเพื่อประชาชน : น่าติเตียนลาภสักการะ

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

DhammaPP138_01.jpg

น่าติเตียนลาภสักการะ

                ในทุกยุคทุกสมัยมนุษย์ส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่โลกธรรม ๘ ประการคือ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสุขมีทุกข์ มีสรรเสริญมีนินทา สิ่งนี้เป็นของคู่โลก ผู้ที่ยังติดข้องอยู่ในโลก ก็ต้องตกอยู่ในโลกธรรมนี้ทั้งนั้น ส่วนพระบรมศาสดาและพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านได้กล่าวถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตแล้ว ได้บรรลุกายธรรมอรหัตแล้ว จึงไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลาย ใจท่านมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ อยู่เหนือสภาวะอารมณ์ของปุถุชนทั้งหลาย พระองค์ทรงประกาศอมตะธรรมไปยังสรรพสัตว์ ผู้มีธุลีกิเลสในดวงตาน้อย ให้ได้ดื่มรสแห่งอมตะธรรม ให้ได้รับรู้ว่ารถแห่งธรรมเลิศกว่ารถทั้งปวง ทำให้มีอริยสาวกที่เป็นอนุพุทธ ตรัสรู้ตามพุทธองค์อีกมากมายนับไม่ถ้วน ท่านเหล่านั้นก็ได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง และความเต็มเปี่ยมของชีวิต ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่มีใจอยู่เหนือโลกธรรมและปฏิบัติธรรมจนได้เข้าถึงธรรม ก็จะได้รับรถแห่งธรรมและชีวิตก็จะมีแต่ความสุขและความสำเร็จตลอดไปนะจ๊ะ 


                มีเนื้อความที่ปรากฏใน ลาภครหิกชาดก ความว่า 

                            ไม่ใช่คนบ้าก็ทำเป็นเหมือนคนบ้า 
                            ไม่ใช่คนส่อเสียดก็ทำให้เหมือนคนส่อเสียด 
                            ไม่ใช่นักฟ้อนรำแต่ทำเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ 
                            ไม่ใช่คนตื่นข่าวก็ทำเป็นเหมือนคนตื่นข่าว 


                การกระทำเช่นนั้นย่อมจะได้ลาภในหมู่คนหลงงมงาย มนุษย์ส่วนมากในโลกนี้ อยากจะเป็นคนมีลาภสักการะ มีเกียรติยศชื่อเสียงเงินทองด้วยกันทั้งนั้น เพราะใจยังข้องเกี่ยวอยู่ในโลกธรรม ๘ ประการ แต่หนทางที่จะทำให้ได้มาซึ่งลาภยศของแต่ละคนนั้น อาจไม่เหมือนกัน คนที่ไม่มีศีลธรรมประจำใจ ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ก็จะคิดหาวิธีการต่างๆ นานา เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภยศของตน โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม ส่วนบุคคลที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ จะไม่ทำวิธีการอย่างนั้น ลาภยศที่ได้มาต้องถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรมและเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนดีทั้งหลาย เมื่อใครรู้ใครเห็นเข้าก็จะยอมรับนับถือ ตามปกติบัณฑิตนักปราชญ์ จะติเตียนวิธีการที่ได้ลาภยศมาอย่างไม่บริสุทธิ์ และเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจของบัณฑิตทั้งหลาย เหมือนดังเรื่องราวที่จะเล่าให้ได้รับฟังกันในวันนี้นะจ๊ะ 


                 ในครั้งพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งพักอาศัยอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร พระภิกษุรูปนี้ เป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ มีอยู่วันหนึ่งพระภิกษุรูปนี้เกิดปัญหาสงสัยในเรื่องลาภสักการะ จึงได้เข้าไปหาพระสารีบุตรเถระ ไหว้แล้วได้นั่งที่อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามถึงวิธีการที่ได้ลาภว่า ท่านผู้เจริญขอท่านช่วยบอกวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้ลาภสักการะ เพื่อดับสติปัญญากับผมหน่อยเถิด กระผมควรทำอย่างไรดี ถึงจะได้มีปัจจัย ๔ เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ให้มีจีวรเอาไว้ใช้สอยบ้าง 


                       เมื่อพระสารีบุตรเถระ ฟังคำของสัทธิวิหาริกแล้ว จึงกล่าวตอบไปว่า 

                                  ดูก่อนอาวุโส ลาภสักการะเป็นสิ่งที่ไม่ควร ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุที่ประกอบเหตุ ๔ อย่างนี้คือ
                                       ๑. พึงทำลายหิริโอตัปปะภายในตนและละสมณสัญญาเสียแม้ไม่บ้าก็ทำตนเหมือนเป็นคนบ้า
                     
                 ๒. พึงกล่าววาจาส่อเสียด
                     
                 ๓. พึงเป็นเช่นกับนักฟ้อนรำ 
                     
                 ๔. พึงเป็นคนเอิกเกริกมีวาจาไม่สมควร


                เมื่อภิกษุได้ฟังคำแนะนำของพระสารีบุตรเถระแล้วก็รู้สึกสลดใจ แล้วตำหนิติเตียนวิธีการปฏิบัติ ที่ให้ได้มาซึ่งลาภสักการะ ต่อมาภายหลังพระสารีบุตรเถระก็ได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระภิกษุสัทธิวิหาริกของตน ให้พุทธองค์ทรงทราบ 


                พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตรไม่ใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้น ที่ภิกษุรูปนี้ ติเตียนลาภสักการะ แม้ชาติที่ผ่านมา เธอก็เคยติดเตียนอย่างนี้มาแล้วเหมือนกัน เมื่อพระสารีบุตรเถระได้ฟังพระดํารัสเช่นนั้นแล้ว จึงใคร่อยากจะรู้ เรื่องราวในอดีตชาติของสัทธิวิหาริกของท่าน จึงกราบทูลอาราธนา พระบรมศาสดา ให้ทรงตรัสเล่าให้ฟัง 


                พุทธองค์จึงตรัสให้ฟังว่า ในอดีตกาลครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ ในเมืองพาราณสี ชาตินั้นพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ เมื่อเจริญเติบโตมีอายุเพียงแค่ ๑๖ ปีเท่านั้น ก็สามารถเล่าเรียนจนจบไตรเพท และศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการได้สำเร็จทุกอย่าง หลังจากที่เล่าเรียนจนจบแล้ว ก็ได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สอนศิลปศาสตร์กับมาณพถึง ๕๐๐ คน ที่มาขอเป็นลูกศิษย์ของตน ในกลุ่มมาณพทั้งหมดนี้ ยังมีมาณพอยู่คนหนึ่ง เป็นคนที่เรียบร้อย มีศรีลาจารวัฏงดงาม


              วันหนึ่งมาณพคนนี้ ก็ได้เข้าไปหาอาจารย์แล้วถามขึ้นว่า ขอท่านอาจารย์จงบอกวิธีการที่จะให้ได้ลาภสักการะเกิดขึ้น กระผมใคร่อยากจะรู้ปฏิปทาของผู้มีลาภว่าเป็นอย่างไร เมื่อพระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ ได้ฟังคำพูดของมาณพแล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า

                     ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ลาภย่อมเกิดขึ้นกับบุคคลผู้ประกอบด้วยเหตุทั้ง ๔ อย่างนี้คือ 

๑. ไม่ใช่คนบ้า ก็ทำเป็นเหมือนคนบ้าไม่ทำบาปกรรมทุกอย่างมีความละอายใจและต้องไม่กลัวความทุกข์ในนรก 
๒. ไม่เป็นคนส่อเสียด ก็ทำเป็นเหมือนคนส่อเสียด เที่ยววิภาควิจารณ์ผู้อื่น เพื่อให้ได้รับความนิยมจนเป็นที่กล่าวขวัญ
๓. ไม่ใช่นักฟ้อนรำ ก็ทำเหมือนเป็นนักฟ้อนรำ คือมีมายาแสดงได้สมบทบาท เพื่อเรียกร้องความสนใจ เพื่อให้ได้ทรัพย์มา
๔. ไม่ใช่คนตื่นข่าว ก็ทำเป็นเหมือนคนตื่นข่าวคือต้องประโคมข่าวให้คนตื่นตาตื่นใจโดยไม่สนใจว่าข่าวนั้น จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าคนให้ความสนใจแล้วก็จะได้ลาภอย่างแน่นอน

                        

                เมื่อมาณพได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้ว จึงกล่าวขึ้นว่า ท่านอาจารย์น่าติเตียนความประพฤติของบุคคล ผู้มีความต้องการอยากได้ลาภสักการะ เพราะการได้ลาภสักการะมานั้น ไม่ประกอบด้วยธรรมเลย สู้การออกบวชไม่ได้จะได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างประเสริฐ เพราะการแสวงหาธรรม ประเสริฐกว่าการแสวงหาโดยไม่ชอบธรรม เมื่อมาณพดำหริถึงตนในการออกบวชแล้ว หลังจากนั้นไม่นานจึงได้ออกบวชเป็นฤาษี แล้วเมื่อบวชแล้วก็เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ แสวงหาโดยชอบธรรมและได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านได้อาศัยความขยันหมั่นเพียร ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่นานนักก็สามารถทำอภิญญาสมาบัติให้บังเกิดขึ้นได้  และได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ด้วยอำนาจแห่งฌานสมาบัติ 


                เราจะเห็นได้ว่าบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย ท่านไม่ยินดีในการแสวงหาลาภสักการะ เกียรติยศชื่อเสียเงินทอง แต่ยินดีในการแสวงหาธรรมะภายใน เพราะการได้มาซึ่งลาพสักการะและยศถาบรรดาศักดิ์นั้น ถ้าไม่มีความรู้เรื่องกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะขาดหิริโอตัปปะ ไม่ละอายหรือเกรงกลัวต่อบาปกุศล หรือกลัวต่อความทุกข์ยากในอบายภูมิ เพราะธรรมดาของผู้ต้องการลาภยศนั้น จิตใจก็จะมุ่งกระทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะให้ได้มา โดยลืมคำนึงถึงความชอบธรรม ใจมุ่งแต่จะเอาให้ได้อย่งเดียว ลืมนึกถึงวิบากกรรม ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า 


                เพราะฉะนั้นการได้ลาภยศมาด้วยวิธีการที่ไม่บริสุทธิ์ บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายท่านจึงไม่ยกย่องสรรเสริญ แต่ถ้าหากได้มาโดยชอบธรรมจึงเป็นการดี จะได้เอามาใช้ในการสร้างบารมี ทำให้บารมีของเราเต็มเปี่ยม จะได้หมดกิเลสเข้าพระนิพพาน ดังนั้นเมื่อเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องพินิจพิจารณาดูกันให้ดี อย่ามองแต่ได้อย่างเดียวโดยไม่มองเสีย อย่าให้ความปรารถนานำหน้าความชอบธรรม แล้วเราจะได้ไม่ต้องมาเดือดร้อนใจในภายหลังกันนะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี

หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล