ปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า การฝึกสมาธิ ไม่เพียงเป็นการช่วยผ่อนคลายความเครียดเท่านั้น ยังช่วยบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย อย่างเช่น ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจได้ ช่วยควบคุมอาการปวดศีรษะของคนที่เป็นโรคไมเกรน ช่วยลดความดันโลหิต ให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติได้ ช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงสามารถบำบัดรักษาโรคมะเร็งได้อีกด้วย
ในวงการแพทย์รวมไปถึงนักจิตวิทยา และพ่อค้านักธุรกิจในบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลก ได้เห็นข้อดีของการฝึกสมาธิ ที่ส่งผลให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น บุคลากรมีคุณภาพมากขึ้น ความเครียดและการกระทบกระทั่งลดลง การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ชีวิตประจำวันมีความสุขเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่งานก็มากเหมือนเดิมแต่ปัญหากลับลดลง การดำรงชีวิตรวมไปถึงสมาชิกในครอบครัวมีความอบอุ่นขึ้น ได้รับความผาสุกทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ทั้งนี้เพราะสมาธิมีส่วนช่วยประสานช่องว่างแห่งความสุขให้เชื่อมต่อกัน ดังนั้นเราจึงควรหันมาใส่ใจในการฝึกสมาธิให้เพิ่มมากขึ้น
มีวาระแห่งพุทธภาษิตที่มาใน ติสสเมตไตยยสูตร ว่า
“บุคคลพึงเห็นโทษในการปฏิบัติผิดทาง ควรศึกษาไตรสิกขา เพื่อละความดำริผิด ควรศึกษาวิเวก และประพฤติวิเวกอันเป็นกิจของพระอริยเจ้า บุคคลผู้ไม่มีความห่วงใยในกามทั้งหลาย ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้โดยยาก”
การปฏิบัติผิดทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเคยผ่านมาแล้ว คือการทรมานร่างกาย และการทำตัวให้พัวพันกับเบญจกามคุณทั้งหลาย ทั้งสองอย่างนี้ไม่อาจทำให้พ้นทุกข์ได้ ท่านจึงหันมาปฏิบัติในทางสายกลาง ดำเนินตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ประพฤติวิเวกหลีกเร้น เพื่อเจริญสมาธิภาวนา จนกระทั่งสามารถล่วงพ้นจากโอฆะ ข้ามกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายได้ เครื่องร้อยรัดอย่างหนึ่ง คือกาม เป็นปฏิปักษ์ต่อสมาธิ
*พระพุทธองค์ทรงปรารภเรื่องนี้ เพราะเหตุมาจากกุลบุตรชาวกรุงสาวัตถี ๕๐๐ คน ได้ออกบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่เนื่องจากยังเป็นผู้ใหม่อยู่ อินทรีย์ยังอ่อน จึงมีกามวิตก คือ ความตรึกในเรื่องกาม
พระบรมศาสดาจึงทรงรับสั่งให้พระอานนท์เถระ ไปนิมนต์ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกัน แล้วมีพระพุทธดำรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอ ปล่อยให้กิเลสครอบงำใจเช่นนี้ ไม่สมควรเลย แม้แต่บัณฑิตในกาลก่อน ยังข่มกิเลสไว้ได้ จนได้บรรลุถึงขั้นปัจเจกโพธิญาณ” ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องในอดีตว่า
ในครั้งที่พระตถาคตเสวยพระชาติเป็นช่างปั้นหม้อได้ยังชีพด้วยการปั้นหม้อขายเลี้ยงบุตรและภรรยา ครั้งนั้นได้มีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า เนมิราช ในมิถิลาราชธานี เช้าวันหนึ่ง เมื่อท้าวเธอเสวยเสร็จแล้ว ก็เสด็จออกประทับที่ช่องพระแกล ได้แลเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่ง คาบชิ้นเนื้อบินขึ้นไปในอากาศ ขณะนั้นมีหมู่สกุณชาติทั้งกาและนกตะกรุม รุมกันแย่งชิ้นเนื้อนั้นไปจากเหยี่ยว เหยี่ยวตัวนั้นถูกรุมจิกตีได้รับความเจ็บปวด จึงต้องปล่อยชิ้นเนื้อไปด้วยความอาลัยอาวรณ์
พระเจ้าเนมิราชทรงเห็นอาการเช่นนี้ จึงทรงพระดำริว่า กามคุณทั้งหลายเปรียบเหมือนกับชิ้นเนื้อ ย่อมนำความทุกข์มาให้แก่ผู้ที่ติดข้องอยู่ ส่วนตัวเราก็ยังมีบริวารเป็นเครื่องข้อง มีเบญจกามคุณล้อมรอบ แวดล้อมด้วยหญิงงามหมื่นหกพันนาง ควรที่เราจะละกามคุณเสีย แล้วแสวงหาสุขที่ประเสริฐยิ่งกว่า เมื่อทรงดำริอย่างนี้ ก็ทรงพิจารณาไตรลักษณญาณ เจริญวิปัสสนา ก็ได้สำเร็จปัจเจกโพธิญาณ ณ ที่ตรงนั้นเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงตรัสเล่าเรื่องต่อไปว่า ยังมีกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ทุมมุขะ ในกบิลนคร อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์เสวยพระกระยาหารในเวลาเช้าแล้ว ก็เสด็จออกประทับในระหว่างท่ามกลางขุนนาง ทรงทอดพระเนตรลอดช่องพระแกล ได้แลเห็นคนเลี้ยงโคเปิดประตูคอก ปล่อยให้โคออกไปเที่ยวหากิน โคตัวผู้เมื่อออกจากคอกแล้ว ได้พากันวิ่งตามนางโคตัวหนึ่ง และได้เกิดขวิดกันขึ้นจนไส้ทะลักล้มตายลง
เมื่อพระเจ้าทุมมุขะได้ทอดพระเนตรเห็น จึงทรงพระดำริว่า แม้แต่เหล่าสัตว์ดิรัจฉานก็เกิดทุกข์ใหญ่เพราะอาศัยกามเป็นเหตุ เหมือนกับโคตัวผู้ที่ตายนั้นเป็นตัวอย่าง ตัวเราควรจะหาอุบายเครื่องละกิเลสกามเสีย จึงจะเป็นการดี ครั้นดำริอย่างนี้ ก็พิจารณาไตรลักษณญาณ เจริญวิปัสสนา ก็ได้สำเร็จปัจเจกพุทธญาณ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในทันที
ครั้นอยู่มาวันหนึ่งเมื่อยามเช้าพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จออกจากเงื้อมเขานันทมูลกะ ได้ชำระพระโอษฐ์ และสรงสนานพระวรกายในสระอโนดาต แล้วเสด็จขึ้นประทับยืนห่มจีวร อยู่บนพื้นมโนศิลา ทรงครองจีวรและถือบาตร เหาะไปลงในที่ใกล้หมู่บ้านตำบลหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับประตูพระนครพาราณสี เสด็จดำเนินเข้าไปบิณฑบาตภายในราชธานี
นายช่างหม้อคนที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น เห็นแล้วเกิดศรัทธา จึงถวายภัตตาหารด้วยความเคารพ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้ว นายช่างหม้อจึงกล่าวว่า “การบรรพชาของท่านผู้ประเสริฐดูงดงามยิ่งนัก อินทรีย์ของท่านก็ผ่องใส ผิวพรรณของท่านก็หาที่เปรียบมิได้ ท่านผู้มีอินทรีย์สงบสำรวมได้เห็นเหตุประการใด จึงได้พากันออกบรรพชา”
พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์แรกก็ได้ตรัสว่า “เราได้เห็นนกการุมกันจิกตีเหยี่ยวตัวหนึ่งซึ่งคาบชิ้นเนื้อบินไป เพราะอาศัยความทุกข์ที่เกิดจากแย่งชิงชิ้นเนื้อนั้นเป็นเหตุ เราจึงได้ออกบรรพชา” ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งก็ตรัสว่า “เราได้เห็นโคผู้ตัวหนึ่งอยู่ในระหว่างฝูงโค ที่มีร่างกายกำยำ มีกำลังมาก ได้ขวิดโคผู้ตัวหนึ่งให้ถึงแก่ความตาย เพราะความรักใคร่ในนางโคเป็นเหตุ เมื่อเราได้เห็นจึงได้ออกบรรพชา”
เมื่อช่างหม้อได้ฟังพระคาถาแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตการครองเรือนไปหลายวัน ครั้นอยู่ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อบริโภคอาหารเช้าแล้ว จึงเรียกภรรยามาเล่าเรื่องให้ฟังว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่เดิมท่านทรงสมบูรณ์พร้อมในมนุษย์สมบัติ แต่ท่านได้สละราชสมบัติออกบรรพชา ส่วนตัวเราเป็นเพียงคนใช้แรงงาน หาเลี้ยงชีพด้วยการปั้นหม้อขายเท่านั้น เราไม่ควรจะยินดีด้วยฆราวาสวิสัยเลย ขอเธอจงเลี้ยงดูบุตรและดูบ้านเรือนเถิด ฉันจะออกบวช"
เมื่อภรรยาได้ฟังถ้อยคำของสามีแล้วจึงกล่าวว่า “ถึงข้าพเจ้าก็ไม่ปรารถนาจะอยู่ครองเรือนอีกต่อไป” ครั้นกล่าวอย่างนี้กับสามีแล้ว จึงนิ่งสักครู่แล้วกล่าวต่อไปว่า “เมื่อท่านไม่อยู่ จากนี้ไปก็ไม่มีผู้สั่งสอนข้าพเจ้าอีก เพราะฉะนั้น เมื่อข้าพเจ้าพ้นจากการปกครองของท่านแล้ว จะต้องอยู่คนเดียวเหมือนกับนางนกซึ่งอยู่เหงาหงอยตามลำพัง” เมื่อสามีได้ฟังดังนั้นก็ไม่ว่าอย่างไร ส่วนภรรยานั้นปรารถนาจะบวช จึงคิดจะลวงสามีชิงบวชเสียก่อน จึงบอกว่า “ข้าพเจ้าจะไปที่ท่าน้ำขอให้ท่านดูบุตรด้วย” ว่าแล้วก็ถือเอาหม้อน้ำทำเป็นจะไปตักน้ำ แล้วก็หนีไปบวชอยู่ในสำนักของดาบสิณี
ฝ่ายสามีจำเป็นต้องอยู่เลี้ยงดูลูก จนกระทั่งบุตรเติบโตพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้แล้ว จึงนำลูกไปฝากไว้กับหมู่ญาติ แล้วก็ออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในที่ใกล้พระนครพาราณสี ทั้งสองได้ตั้งหน้าประพฤติพรหมจรรย์จนได้ฌานสมาบัติ พอหมดอายุขัยในภพชาตินั้น ก็ไปสู่สุคติภูมิตามกุศลกรรมที่สั่งสมไว้ดีแล้ว
เราจะสังเกตเห็นว่า การประพฤติพรหมจรรย์ นอกจากจะทำให้เราได้รับความสุขที่ยิ่งกว่าความสุขที่เกิดจากเบญจกามคุณทั้งหลายแล้ว ยังเป็นเหตุให้ได้บรรลุฌานสมาบัติ สามารถรอดพ้นจากทุคติไปสู่สุคติภูมิ และก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุดอีกด้วย
การรู้จักจับแง่คิดจากสภาพแวดล้อมใกล้ตัว นับเป็นความชาญฉลาดในการดำรงชีวิต เหมือนดังเรื่องที่หลวงพ่อนำมาเล่าเมื่อสักครู่นี้ ต้องถือว่า "เพียงแค่ดู ก็เป็นครูเราได้" ในขณะที่เราทำมาหากินอยู่นี้ จะต้องรู้จักช่างสังเกต โดยเฉพาะสังเกตเห็นความไม่เที่ยงของสังขารร่างกาย หลวงพ่ออยากให้ทุกท่านตระหนักเสมอว่า สังขารแม้โรยรา แต่บารมีต้องแก่รอบ อายุขัยแก่ลง บารมีต้องแก่ตาม เราจะต้องสั่งสมบุญ เพิ่มเติมบุญบารมีให้สมกับอายุขัยที่แก่ลงไปเรื่อยๆ
การเจริญสมาธิภาวนา เป็นทางมาแห่งการเพิ่มเติมบุญบารมี เป็นยาวิเศษที่รักษาโรคทางใจ กระทั่งรักษาชีวิต ให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยในสังสารวัฏ นำพาไปสู่อายตนนิพพาน ดังนั้นควรที่เราทุกคนจะต้องขยัน เจริญสมาธิภาวนากันให้มาก เพื่อความสุขสมหวังในชีวิตของพวกเราทุกๆ คน
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๓๔๔