ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๖ สัจจก-นิครนต์ (๒)


ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๖ สัจจก-นิครนต์ (๒)

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

DhammaPP105_.05.jpg

ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๖ 

(ตอนที่ ๒ ชนะสัจจก-นิครนถ์)

                  คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว เป็นสิ่งที่มีค่าเอนกอนันต์ ทุกถ้อยคำที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำสั่งสอน ชี้แนะหนทางสว่าง หากได้นำไปประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว จะส่งผลให้เรามีความสุขความสำเร็จได้ในปัจจุบัน เราจะดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัยทั้งยังส่งผลต่อไปอีก คือ ให้เราได้สมบูรณ์พร้อมทั้งมนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติและนิพพานสมบัติ ชีวิตเราจะก้าวไปสู่ความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเพราะได้ฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ดังนั้น การฟังธรรมและหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จึงเป็นทางมาแห่งรัตนะอันประเสริฐ คือ พระรัตนตรัยนั่นเอง

 

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในวุฏฐิสูตรว่า


         “วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา  อวิชฺชา นิปตตํ วรา
          สงฺโฆ ปวชมานานํ  พุทฺโธ ปวทตํ วโร


                   บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป อวิชชาเป็นเลิศ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์เป็นผู้ประเสริฐสุด บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุด”

 

 

DhammaPP105_.02.jpg


                   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงเป็นเลิศกว่ามนุษย์และเทวดา เป็นผู้มีวาทศิลป์ หรือเป็นนักโต้วาที เพราะพระองค์ทรงโต้วาทะ และแก้ไขปัญหาของผู้แสดงตนว่าเป็นนักปราชญ์ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ เพราะทรงแทงตลอดในทุกๆ ปัญหา สามารถเปลี่ยนความคิดเห็นของชนเหล่านั้น ให้มาศรัทธาในพระพุทธศาสนา หันมาปฏิบัติตามหลักธรรม หลักอริยสัจ ๔ หรือมรรคมีองค์ ๘ ได้ และผู้คนเหล่านั้น ต่างได้บรรลุธรรมาภิสมัยมากมายนับไม่ถ้วน ดังที่พระพุทธองค์โต้วาทะกับสัจจกนิครนถ์ ที่หลวงพ่อจะเล่าต่อจากครั้งที่แล้ว เรื่องมีอยู่ว่า

 

 

DhammaPP105_.06.jpg


                  พระพุทธเจ้าตรัสถามนิครนถ์ว่า “ท่านยังยืนยันขันธ์ ๕ ว่าเป็นอัตตาอยู่หรือไม่”  นิครนถ์ไม่ยอมตอบเพราะเมื่อได้ฟังแนวคิดจากพระผู้มีพระภาคเจ้า เขาเริ่มเข้าใจว่า เบญจขันธ์นี้เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ความคิดของตนนั้นผิด แต่ด้วยทิฐิมานะ จึงนั่งนิ่งๆ  ครั้นถูกพระพุทธองค์รุกถามหนักเข้า จึงกล่าวว่า “พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้”


                 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเราเป็นต้น เป็นไปตามอำนาจเช่นนี้หรือ”

                 “ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ”

 

                “ดูก่อนอัคคิเวสสนะท่านจงทำไว้ในใจเถิด ครั้นทำไว้ในใจแล้วจึงกล่าวแก้ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านกล่าวว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตนของเรา ดังนี้ อำนาจของท่านเป็นไปในเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ว่า เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณของเรา จงเป็นเช่นนั้นเถิด อย่าได้เป็นเช่นนี้เลย มิใช่หรือ” 

                  “ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลยพระโคดมผู้เจริญ”

 

 

DhammaPP105_.14.jpg

                  “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านจงทำไว้ในใจเถิด  ครั้นท่านทำไว้ในใจแล้วจึงกล่าวแก้ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”

                   สัจจกนิครนถ์ทูลว่า “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”

 

 

DhammaPP105_.15.jpg


                  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”

                  “สิ่งนั้นเป็นทุกข์”

 


                  “ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาควรหรือ จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นตนของเรา” 

                  “ข้อนั้นไม่ควรเลยพระโคดมผู้เจริญ”

 


                  พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กลํ้ากลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่านั่นของเรา เราเป็นสิ่งนั้น นั่นเป็นตนของเรา ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปได้มีอยู่บ้างหรือ” 

                  “จะพึงมีได้เพราะเหตุไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระเจ้าข้า”
                 


                  “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ  เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์อยู่แล้ว กลํ้ากลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่านั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ดังนี้ มิใช่หรือ”

                     นิครนถ์ฟังแล้วก็ยอมรับ

 

DhammaPP105_.16.jpg


                  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกอุปมา ตรัสอธิบายให้นิครนถ์เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนบุรุษต้องการแก่นไม้ ได้แสวงหาแก่นไม้อยู่ ถือขวานที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่านั้น มีต้นตรงยังกำลังรุ่น ไม่คด เขาตัดต้นกล้วยที่โคนต้น ตัดยอดริดใบออก เขาไม่พบแม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้แต่ที่ไหน

 

 

DhammaPP105_.11.jpg


                 “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เราซักไซ้ไล่เลียงท่าน สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็พบกับความว่างเปล่า ท่านเคยกล่าวว่า “เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ผู้ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ ที่สามารถโต้ตอบกับเราได้ ดูก่อนอัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด หยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่มแล้วตกที่พื้น ส่วนเหงื่อในกายของเราเดี๋ยวนี้ไม่มีเลย” ว่าแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเปิดพระวรกาย มีพระฉวีดังทองให้สัจจกนิครนถ์ได้เห็น เป็นมงคลแก่จักขุประสาท พระพุทธเจ้าของเรา ทรงรุกสัจจกนิครนถ์อย่างหนัก เพราะทรงทราบว่า  บุคคลผู้นี้มีทิฏฐิมาก  เพราะฉะนั้นเมื่อนิครนถ์เห็นพระวรกายแล้ว ก็นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้าไร้ปฏิภาณ

 

 

DhammaPP105_.12.jpg


                   แต่ถึงกระนั้น  เมื่อหยุดชะงักไปสักครู่ เนื่องจากยังมีทิฐิมานะมาก จึงถามต่อไปว่า “ด้วยเหตุไร สาวกของพระโคดมจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ปราศจากความแคลงใจอันเป็นเหตุให้กล่าวว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร เป็นผู้ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดาตน”

 

 

DhammaPP105_.07.jpg


                  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณอันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังมาไม่ถึง ทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา”

 

 

DhammaPP105_.08.jpg


                  นิครนถ์ได้ฟังแล้วก็เกิดศรัทธามากทีเดียว ได้ถามอีกว่า “ข้าแต่พระโคดม ด้วยเหตุไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์”

                  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบว่า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ อันใดอันหนึ่งทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึง ทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ก็เป็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเราดังนี้ จิตจึงพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น อัคคิเวสสนะ ด้วยเหตุเท่านี้แหละ ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีสัญโยชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษดีแล้วเพราะความรู้ยิ่ง”

 

 

DhammaPP105_.09.jpg


                 นิครนถ์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดม ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจาได้สำคัญถ้อยคำของพระโคดมว่า ตนอาจรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน บุรุษมาปะทะช้างซับมันเข้าก็ดี เจอกองไฟอันกำลังลุกโพลงก็ดี ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่มาเจอพระโคดมเข้าแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีทางเอาตัวรอดได้เลย ข้าแต่พระโคดม ข้าพเจ้าเลื่อมใสขอพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้นด้วยเถิด

 

 

DhammaPP105_.10.jpg


                 จะเห็นว่า ในที่สุดสัจจกนิครนถ์ก็ต้องยอมแพ้ในพระปัญญาธิคุณอันไม่มีประมาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เพราะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปัญญาของนิครนถ์กับสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็เป็นเสมือนแสงหิ่งห้อยในยามราตรีที่ไม่อาจเทียบกับแสงตะวันได้ ท่านถึงกล่าวเอาไว้ว่า พุทฺโธ ปวทตํ วโร บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุด  เพราะฉะนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายต้องศึกษาพุทธวจนะเอาไว้ จะได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและต่อโลกอย่างแท้จริง เพราะพระพุทธองค์ทรงมีพุทธิปัญญารู้แจ้งโลกทั้งหมด ทรงมีความบริสุทธิ์ที่สุดและมีมหากรุณามากที่สุด เราจึงควรเคารพกราบไหว้บูชา เทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้า ให้เป็นที่พึ่งที่ระลึกของเราตลอดไป

 

พระ ธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. เรื่องนางจิณจมาณวิกา เล่ม ๑๙ หน้า ๘๑

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล