Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน เห็นอริยสัจจ์ขจัดทุกข์
ตามธรรมดาเมื่อยังไม่รู้แจ้งเห็นแจ้งในอริยสัจ สรรพสัตว์ก็ย่อมเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏไม่รู้จบสิ้น เหมือนเมื่อยังมองไม่เห็นฝั่ง ผู้ที่ตกในท้องทะเลก็ย่อมว่ายวนอยู่ในห้วงทะเลนั้น โดยไม่มีจุดหมาย ชาวโลกทั้งหลายยังขาดเข็มทิศชีวิตที่จะนำพาตนไปสู่จุดหมายปลายทาง
คืออายตนนิพพานต่อมาได้ต้นทางดวงปฐมมรรค ด้วยการหยุดใจเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 จึงจะได้เข็มทิศชีวิตนำทางไปสู่อายตนนิพพานซึ่งเป็นที่ที่ปราศจากความทุกข์ มีแต่บรมสุขอย่างเดียว ทุกคนที่ปรารถนาเข็มทิศชีวิตที่จะนำทางไปสู่ฝั่งพระนิพพานก็ต้องหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งกัน และความสำเร็จก็จะบังเกิดกับทุกคน
มีพระพุทธพจน์ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ความว่า
ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ , ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ,
ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ, ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ
อริยสัจคือทุกข์ อันเราพึงกำหนดรู้ อริยสัจคือทุกขสมุทัย อันเราพึงละ อริยสัจคือทุกขนิโรธ อันเราพึงทำให้แจ้งอริยสัจคือปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์อันเราพึงบำเพ็ญ” แม่บทหรือแก่นแห่งคำสอนที่สำคัญของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมที่เราควรศึกษาและประพฤติปฏิบัติกันให้ได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอรหันตทั้งหลายที่ท่านหลุดพ้นจากอาสวะกิเลส ก็เพราะพิจารณาเห็นความจริงอันประเสริฐ คืออริยสัจ 4
ข้อแรก คือทุกข์ ถ้าจะเปรียบทุกข์กับโรค ทุกข์ก็คือสภาพที่ป่วยเป็นโรค ทุกคนบนโลกนี้ล้วนแต่มีความทุกข์กันทั้งนั้น เหมือนกับคนป่วยที่ไม่รู้ว่าป่วยจากอะไร อะไรเป็นสาเหตุและจะรักษาให้หายได้อย่างไร ฉะนั้นจึงต้องศึกษาให้เข้าใจ ที่เรามีทุกข์จนถึงทุกวันนี้มีสาเหตุจากอะไร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในความทุกข์ จะเป็นเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐี เป็นพระราชามหากษัตริย์หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ตาม แม้ที่สุดเป็นพระภิกษุก็มีทุกข์ทั้งนั้น ต่างแต่ว่ามากหรือน้อย และมีปัญญาพอที่จะแก้ไขหรือไม่
พระพุทธองค์ได้ทรงแยกแยะให้เห็นว่า ความทุกข์นั้นมีสองลักษณะ ได้แก่ทุกข์ประจำ เป็นความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นสภาพธรรมดาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ซึ่ง เมื่อเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย
พระองค์ทรงเห็นแจ้งแล้วด้วยพระพุทธยาน และชี้ให้เราเห็นว่าการเกิดเป็นทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา พอจะคลอดก็เกิดความทุกข์บีบคั้น เมื่อคลอดออกมาแล้ว สิ่งแรกที่ทารกทำคือร้องไห้สุดเสียง เพราะความเจ็บปวด และการเกิดนี้เองที่เป็นต้นเหตุ เป็นที่มาของความทุกข์อื่นๆอีกมากมาย ถ้าเลิกเกิดได้เมื่อไรก็เลิกทุกข์เมื่อนั้น
อย่างที่สองคือทุกข์จร เป็นทุกข์ที่เกิดจากใจที่เสื่อมคุณภาพ ไม่อาจอดทนต่อเหตุการณ์หรืออารมณ์ภายนอกที่มากระทบได้ ทุกข์จรนี้ก็ได้แก่ ความโศกเศร้าเสียใจ ความกระวนกระวายใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความท้อแท้เบื่อหน่าย ความอาลัยอาวรณ์ ความขุ่นข้องหมองใจ เสียใจจากการประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก โศกเศร้าเมื่อพลัดพรากจากของรัก ความหม่นหมองจากการที่ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น
แต่โดยสรุปเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นก็คือ ความยึดมั่นถือมั่นใจขันธ์ 5 ยึดติดอยู่ในคน สัตว์ สิ่งของ พุทธองค์ทรงเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญโรค สามารถแยกแยะอาการของโรคให้เราดูได้อย่างละเอียดชัดเจน
สมุทัย ก็คือเหตุความทุกข์ทั้งหลาย มนุษย์ทั่วไปหาสาเหตุของความทุกข์ไม่เจอ จึงโทษไปต่างๆนานา เช่น เป็นการลงโทษของพระผู้สูงสุดบ้าง ของผีสางนางไม้บ้าง แต่พุทธองค์ทรงเห็นแจ้งว่าที่เรามีทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้สาเหตุมาจากกิเลสที่อยู่ในใจ ได้แก่ตัณหาความพยายามอยาก อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง อยากให้คนยกย่องชื่นชม สรุปก็คืออยากได้ รูป รส กลิ่ง เสียง สัมผัส และอารมณ์ที่น่าพอใจ ที่ทำให้เราติดอยู่ในกามภพ ส่วนภวตัณหก็นำไปสู่การติดอยู่ในรูปภพ
และวิภวตัณหานำไปสู่ในการติดอรูปภพ ความอยากเหล่านี้ทำให้ติดอยู่ในภพทั้งสาม
นิโรธ คือความดับทุกข์ หมายถึงสภาพใจที่หมดกิเลสแล้ว ทำให้หมดตัณหาความทะยานอยาก พอหมดอยากก็หมดทุกข์ มีใจหยุดนิ่งสงบ ตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย มีแต่ความสุขล้วนๆ เนื่องจากมนุษย์ปฏิบัติไม่ถูกทาง จึงไม่ทราบว่าความดับทุกข์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร
ก็ได้สมมติกันขึ้นมา เช่นว่าการได้ไปอยู่บนสวรรค์กับพระผู้สร้างจะทำให้หมดทุกข์ได้ เหมือนคนหิวข้าวและสร้างมโนภาพว่า อีกหน่อยจะมีผู้วิเศษเอาข้าวมาให้ ปลอบใจตัวเอง แต่ความจริงแม้ว่าจะได้บังเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลกก็ยังต้องเป็นทุกข์อยู่ดี จะหมดทุกข์ได้อย่างแท้จริงต้องหมดกิเลส เข้าสู่อายตนนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น
มรรคคือวิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ ผู้ที่นับถือเทพพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มองเหตุแห่งทุกข์เหล่านี้ไม่ออก จึงเชื่อว่าเป็นการลงโทษของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงแสวงหาวิธีพ้นทุกข์ผิดทาง แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ชัดเจน และก็ตรัสสอนว่า ที่เราเป็นทุกข์ก็เพราะมีตัณหา เปรียบเสมือนเชื้อโรคที่ทำให้โรคร้ายลุกลาม ถ้าต้องการหายจากโรคก็ต้องกำจัดเชื้อโรคนั้นให้หมดไป
พระองค์ทรงชี้แนะหนทางคือมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเปรียบเสมือนยารักษาโรค เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดใจนิ่ง และหลุดพ้นจากเชื้อโรค คือกิเลส โดยอาศัยการฝึกจิตตามหลักพุทธวิธี จะเห็นอาริยะสัจ 4 ได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้วเท่านั้น การเห็นอริยะสัจ4 แปลกกว่าการเห็นอย่างอื่น คือ เมื่อเห็นแล้วจะสามารถทำได้ด้วย
เช่น เห็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ ว่าเกิดจากตัณหา ก็จะเห็นว่าตัณหาควรละ และต้องอาศัยนิโรธเป็นตัวดับตัณหา นิโรธแปลว่าดับหรือหยุด คือหยุดจากความทะยานอยากในตัณหาทั้ง 3 อย่าง เมื่อใจหยุดมรรคจึงเกิด ปฐมมรรคที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะดวงกลมใสภายใน
นี่คือต้นทางไปสู่เส้นทางที่ไม่ต้องเกิด เพราเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน การเห็นอริยะสัจ 4 นี้ เมื่อเห็นข้อใดข้อหนึ่ง ข้อที่เหลือก็จะเห็นไปตามลำดับ เช่น เมื่อเห็นทุกข์ก็จะเห็นสมุทัย นิโรธ มรรค เห็นหมดเพราะไม่ใช่การเห็นด้วยตาหรือการนึกคิด แต่เป็นการเห็นด้วยญาณทัสนะของพระธรรมกาย
ผู้ที่สามารถเห็นอริยะสัจ4ได้คือพระอริยบุคคล และผู้ที่ได้เข้าถึงพระธรรมกาย ได้ศึกษาจนเชี่ยวชาญในวิชาธรรมกาย
เมื่อเราได้เข้าถึงพระธรรมกาย เห็นอริยสัจ4ด้วยญาณทัสดนะของพระธรรมกาย เราก็จะเข้าใจความจริงของชีวิตว่า มีแต่ทุกข์ ที่ว่าสุขนั้นแท้จริงคือช่วงเวลาที่ความทุกข์มันลดน้อยลง เราจะเข้าใจคุณค่าของบุญกุศล เห็นโทษภัยของบาปอกุศล เป็นความเข้าใจในระดับลึกที่มีสัมมาทิฏฐิบริบูรณ์
นอกจากเห็นทุกข์แล้ว ยังรู้วิธีขจัดทุกข์ เพราะต้องหยุดการทำบาปอกุศล และหยุดใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ซึ่งเป็นที่เกิดของปฐมมรรค เมื่อมรรคเกิดขึ้นแล้ว ผลก็จะเกิดขึ้นตามมา กระทั่งได้บรรลุโสดาปติผลเรื่อยไป จนถึงอรหัตผล นี่คือเป้าหมายหลักของชีวิต ที่ต้องมุ่งไปที่กายธรรมอรหัต ถึงกายธรรมอรหัตเมื่อไหร่ ก็หยุดการเวียนว่ายตายเกิดเมื่อนั้น และก็จะได้บรรลุสุขอันเป็นอมตะ