ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๘ พกาพรหม (๒)


ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๘ พกาพรหม (๒)

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

DhammaPP109_01.jpg

ชัยชนะครั้งที่ ๘ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

(ตอนที่ ๒ ชนะพกาพรหม)

                ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก เราไม่มีเวลามากพอที่จะมาเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ เพียงแค่เราตามดูจิตของเราให้รู้เท่าทันกิเลส ไม่ให้ใจตกอยู่ในอารมณ์ของความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้จิตฟุ้งซ่านขุ่นมัว แค่นี้ก็หมดเวลาไปวันหนึ่งๆ แล้ว  เพราะฉะนั้น อย่ามัวเสียเวลา อย่าไปถือสาในความไม่สมบูรณ์ของผู้อื่น อะไรที่ให้อภัยได้ เราควรให้อภัยกัน ถ้าเรารู้จักปลดปล่อยวาง ใจของเราจะปลอดโปร่ง เบาสบาย เป็นเหตุให้เข้าถึงพระธรรมกายได้โดยง่าย การปฏิบัติธรรมที่จะให้ได้ผลดี ต้องรักษาใจให้สงบเยือกเย็น มีเมตตาจิตในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้มีอารมณ์ดี อารมณ์สบายตลอดเวลา  เมื่อมีอะไรมากระทบ แทนที่จะมัวเสียเวลา เสียอารมณ์กับเรื่องราวหรือบุคคลเหล่านั้น เราควรนำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน ให้ใจอยู่กับพระรัตนตรัยตลอดเวลา
 
 
 
DhammaPP109_02.jpg
 
                พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน สาสปสูตร ว่า
 
                        “นครที่ทำด้วยเหล็ก ยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่ง ออกจากนครนั้น โดยล่วงไป ๑๐๐ ปีต่อ ๑ เมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น พึงถึงความสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่ามากนัก ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไป ๑ กัปยาวนานอย่างนี้แล บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้วมิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สังสารวัฏกำหนดที่สุดของเบื้องต้นท่ามกลางและเบื้องปลายไม่ได้ ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวที่เธอจะเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด เพื่อให้พ้นทุกข์”
 
 
 DhammaPP109_03.jpg
          ในโลกนี้ มีคำถามมากที่ยังไม่พบคำตอบ ความลี้ลับของโลกและชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ยากจะเปิดเผยให้เข้าใจได้ทั้งหมดในเวลาอันสั้น การเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ยากจะหาที่สุดได้ เพราะสัตวโลกถูกความมืด คือ อวิชชาครอบงำจิตใจไว้ ทำให้ไม่เห็นแสงสว่างแห่งพระสัทธรรม เหมือนคนตาบอดไม่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงแทงตลอดหมดทั้งโลกธาตุ ความลี้ลับทั้งหลายที่มีอยู่จึงได้เปิดเผยออกมา พระพุทธองค์ทรงเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์อุทัยที่ขจัดความมืดมิดของโลกให้หมดสิ้นไป
 
 
 
 DhammaPP109_04.jpg
                     เมื่อครั้งที่แล้ว หลวงพ่อได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จไปพรหมโลกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไปสู่พรหมโลกด้วยกายเนื้อ เพื่อโปรดพกาพรหมผู้เป็นสัสสตทิฏฐิ มีความเห็นผิดว่า พรหมโลกเป็นภพที่เที่ยงแท้ที่สุด พระพุทธองค์ทรงเปิดเผยให้รู้ว่า พรหมโลกไม่ได้ยั่งยืนอย่างที่เข้าใจ เพียงแต่มีอายุยืนนานเป็นกัปๆ เท่านั้น มีเพียงพระนิพพานเท่านั้นที่เที่ยงแท้ เป็นบรมสุขอย่างแท้จริง ซึ่งการเสวยสุขในพรหมโลกนั้น แม้พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกหลายพระองค์แล้ว พวกพรหมก็ยังไม่จุติเลย
 
 
 
 
DhammaPP109_05.jpg
                  อายุในพรหมโลกของผู้ได้ปฐมฌานยืนนานถึง ๑ กัป ทุติยฌาน ๘ กัป ตติยฌาน ๖๔ กัป จตุตถฌาน ๕๐๐ กัป ในบรรดาพรหมผู้บรรลุจตุตถฌาน หากเจริญสมาบัติมีอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น จนไปถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ จะมีอายุยืนถึง ๘๔,๐๐๐ กัปทีเดียว พวกพรหมเสวยสุขยาวนานมาก ยาวนานกว่าชาวสวรรค์มากมายหลายเท่า ส่วนมนุษยโลกของเราไม่ต้องพูดถึง ชีวิตสั้นเช่นเดียวกับหยาดนํ้าค้างบนปลายยอดหญ้าฉะนั้น
 
 
 
 DhammaPP109_06.jpg
                เมื่อพกาพรหมได้ฟังธรรมเช่นนั้นก็กล่าวว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ เพราะท่านรู้ว่านิพพานที่สัตว์ถึงไม่ได้โดยความเป็นอย่างนั้น ถ้อยคำของท่านอย่าได้ว่างเสียเลย นิพพานอันผู้บรรลุพึงรู้แจ้งได้ เป็นอนิทัสสนะ คือ เห็นไม่ได้ด้วยจักษุวิญญาณ เป็นอนันตะไม่มีที่สุดหรือหายไปจากความเกิดขึ้นและเสื่อมไป มีรัศมีในที่ทั้งปวง อันสัตว์ถึงไม่ได้ โดยความที่ดินเป็นดิน โดยความที่น้ำเป็นน้ำ โดยความที่ไฟเป็นไฟ โดยความที่ลมเป็นลม โดยความที่เหล่าสัตว์เป็นเหล่าสัตว์ หรือโดยความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง ถ้าท่านรู้มากกว่าเรา หรือเก่งกว่าเราแล้วละก็ เราจะหายตัวไปจากท่าน หากท่านมีอานุภาพจริง ก็จงตามหาเราให้พบ”
 
 
 
 DhammaPP109_07.jpg
                พระบรมศาสดา ทรงรับคำท้าว่า “เอาเถิด หากท่านหายตัวได้ ก็จงหายตัวไปเถิด” เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่า แม้พกาพรหมจะหายตัวไปหลบอยู่ที่ไหน ก็ไม่อาจพ้นจากทัสนะของพระพุทธเจ้าได้  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “เอาล่ะ เราจะหายตัวไปจากท่านบ้าง” พกาพรหมกล่าวว่า “ถ้าท่านหายตัวได้ ก็จงหายตัวไปเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์หายไป พวกพรหมจึงมองไม่เห็นพระองค์ ได้ยินแต่เสียงของพระองค์ที่กำลังตรัสอยู่ใกล้ๆ ว่า “เราเห็นภัยในภพและเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหา ที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย ทั้งไม่ยังความยินดีให้เกิดขึ้นด้วย”
 
 
 
 
DhammaPP109_09.jpg 
                   จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเล่าชีวประวัติของพกาพรหมเพิ่มเติมว่านานมาแล้ว พกาพรหมได้เกิดเป็นมนุษย์ เห็นโทษในกามทั้งหลาย ได้ออกบวชเป็นฤๅษี ทำสมาบัติให้เกิดขึ้น ได้ไปสร้างศาลาอยู่ที่ริมฝั่งแม่นํ้าคงคา ท่านปรารถนาจะให้น้ำเป็นทานแก่คน และสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จึงได้บันดาลให้ท่อนํ้าพุ่งขึ้นจากแม่นํ้าคงคา ให้ตรงไปในทางที่กันดารแห่งหนึ่ง ซึ่งพวกพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่ม และโคเทียมเกวียนกำลังอัตคัดขาดแคลนนํ้าในขณะนั้น
 
                นอกจากนั้น พกาพรหมยังได้ช่วยคนและสัตว์ ให้พ้นจากอำนาจของมหาโจร  ด้วยฤทธิ์ของตน อีกทั้งได้ช่วยมหาชนให้พ้นจากอำนาจของพญานาคราชที่ดุร้าย ในชาติที่เป็นฤๅษีมีชื่อว่า เกสวฤๅษี ซึ่งพระองค์ได้เกิดเป็นกัปปะฤๅษี ผู้เป็นศิษย์ของเกสวะฤๅษี และชื่นชมอาจารย์ว่า เป็นผู้มีวัตรดี “ดูก่อนพกาพรหม เราย่อมรู้อายุของท่าน อายุของท่านไม่ได้ยืนนานอะไรเลย ท่านยังต้องมีการจุติและการเกิดอีก อายุของท่านไม่ได้มากอย่างที่คิดเลย”
 
 
 
 DhammaPP109_10.jpg
                พวกพรหมทั้งหลายต่างอัศจรรย์ใจที่เห็นพุทธานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า พากันกล่าวชมเชยสรรเสริญพระพุทธองค์ และก็ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด ไม่มีใครยิ่งกว่า ขณะนั้น มารเห็นว่าพวกพรหมจะล่วงวิสัยของตน ก็เข้าสิงพรหมปาริสัชชาอีกผู้หนึ่ง พลางกล่าวห้ามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์  เมื่อท่านรู้อย่างนี้ก็อย่าแนะนำ อย่าสั่งสอน อย่าแสดงธรรมแก่สาวกหรือบรรพชิตทั้งหลาย เชิญท่านเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด อย่าได้สั่งสอนสัตว์เลย เชิญท่านเป็นผู้มักน้อย ตามประกอบความอยู่สบายในชาตินี้เถิด เพราะการไม่พูดเป็นความดี ท่านอย่าสั่งสอนสัตว์เลย”
 
 
 
 DhammaPP109_11.jpg
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนมาร เรารู้จักเล่ห์ของท่าน ท่านอย่าคิดว่าเราไม่รู้ ท่านเป็นผู้ไม่มีจิตอนุเคราะห์เกื้อกูล จึงได้ห้ามเราแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นตามที่เราตรัสรู้ เพราะเกรงว่าจะล่วงอำนาจของท่านไป เราชื่อว่าตถาคตเป็นพระพุทธเจ้า  เมื่อแนะนำแสดงธรรมแก่สาวก ก็ต้องแนะนำแสดงธรรมตามที่เรารู้มา” พกาพรหมได้ฟังเรื่องที่พระบรมศาสดาตรัสเล่าถึงอดีตของตน ก็ระลึกชาติได้ตามที่พระพุทธองค์ทรงเล่าให้ฟัง จึงทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง มีอานุภาพมากจริง เป็นผู้เสด็จมาดีทำให้พรหมโลกสว่างไสวด้วยแสงธรรม” จึงยอมละความเห็นผิดที่มีมาแต่เดิมได้
 
 
 
 
DhammaPP109_12.jpg
 
                เราจะเห็นว่า การที่พระพุทธองค์ทรงทำให้พกาพรหมละความเห็นผิดนี้ นับเป็นชัยชนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ทำให้เรารู้ว่า พรหมโลกนี้ยังไม่เยี่ยม ที่เยี่ยมกว่านั้นยังมีอยู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม พระพุทธองค์ทรงเป็นครูของทั้งมวลมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย กระทั่งพรหมและอรูปพรหม หมู่สัตว์ในกามาวจรภูมิทั้งหมดต้องฟังพระพุทธองค์ ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า เพราะผู้ที่สามารถสั่งสอนสัตว์โลก หรือฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ดีที่สุดคือพระพุทธเจ้า ขอให้พวกเราอย่ามัวเสียเวลาไปแสวงหาครูบาอาจารย์ที่ไหน หรือแสวงหาที่พึ่งอื่น นอกจากพระรัตนตรัย เราเดินมาถูกทางแล้ว ให้มุ่งหน้าเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา สักวันหนึ่งเราจะถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างแน่นอน
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. พรหมนิมันตนิกสูตร เล่ม ๑๙ หน้า ๔๔๑

 

 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล