Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ทุกการกระทำอยู่ในสายตาสวรรค์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในจรสูตรว่า ภิกษุใดเที่ยวไปอยู่ ยืนอยู่ นั่งอยู่หรือนอนอยู่ สงบระงับวิตกได้แล้ว ยินดีในธรรมเป็นที่สงบวิตก ภิกษุเช่นนั้นเป็นผู้ควรเพื่อจะถูกต้อง ซึ่งสัมโพธิญาณอันสูงสุด ชีวิตสมณะเป็นชีวิตอันประเสริฐที่สุด เป็นเส้นทางชีวิต ของผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร และเห็นทุกข์เห็นโทษในทางโลก เพราะชีวิตทางโลกเป็นชีวิตของผู้ที่ยังข้องอยู่ ยังวนเวียนอยู่กับภารกิจของการครองเรือน ยังต้องตรึกเรื่องของกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ยากที่จะมีใจน้อมไปเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งได้
ส่วนชีวิตนักบวช เป็นชีวิตของผู้ที่เว้นจากการประพฤติแบบชาวโลก ปรอดจากเครื่องกังวลต่างๆ จะเดิน ยืน นั่ง นอนก็สามารถทำใจให้สงบระงับจากวิตกทั้ง ๓ ได้ คิดแบบพระ พูดแบบพระ ทำแบบพระ สงบเสงี่ยม สง่างาม สั่งสมแต่ศีล สมาธิ ปัญญาให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้เป็นอุปนิสัยปัจจัยในการบรรลุธรรมาพิศมัยต่อไป
ดังนั้นเพศสมณะจึงเป็นเพศที่สูงสุด เป็นภาวะของผู้ได้โอกาส ไม่ใช่ด้อยโอกาส ที่มนุษย์และเทวดาตลอดจนผู้มีบุญ ต้องเคารพกราบไหว้บูชา และรวมเข้าไว้เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย เพศสมณะจึงเป็นเพศอันอุดม ควรแก่การครองผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าสีสุดท้ายของผู้มุ่งประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ต้องปรับทัศนคติกันใหม่ว่า การบวชเป็นพระภิกษุสามเณร ไม่ใช่เป็นเส้นทางของผู้ด้อยโอกาส แต่เป็นเส้นทางของผู้ที่ได้โอกาสอันประเสริฐ ที่จะทำชีวิตให้มีคุณค่าสูงสุดตามแบบอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย แต่บางครั้งผู้บวชเข้ามาในบวรพระพุทธศาสนา ก็ลืมเป้าหมายของตัวเอง ว่าบวชมาเพื่ออะไร ครั้นบวชแล้วก็ขาดกัลยานมิตร คอยแนะนำเส้นทาง สู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน เลยเผลอใจคิดเรื่องความสุขแบบทางโลก อยากไปเป็นอย่างนั้นบ้าง
ความคิดที่ว่า สัพพะทุกขะ นิสสะระณะ นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ มาบวชเพื่อสลัดตน ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ และทำพระนิพพานให้แจ้ง ก็ค่อยๆ ลบเลือนไป เหมือนดั่งเรื่องของภิกษุรูปหนึ่ง ที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ด้อยโอกาส ไม่ได้กิน ไม่ได้เที่ยวสนุกสนาน เพลิดเพลินเหมือนกับฆราวาส แค่ใจคิดเทวดาก็หวั่นไหวแล้วนะจ๊ะ เทวดาทนไม่ได้เลยต้องปรากฏตัวให้เห็น แล้วก็ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ท่าน เพื่อไม่ให้ท่านหลงทางนิพพาน
เรื่องของภิกษุรูปนี้ก็มีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาลได้มีมหรสพในพระนครเวสารี มีการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรีไปทั่วทุกหนทุกแห่ง มหาชนพากันรื่นเริงยินดี ชื่นชมความอลังการของมหรสพ ในขณะเดียวกันมีภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่ง หลังจากบวชแล้วก็ขอลาพระอุปัชฌาอาจารย์ ไปปฏิบัติธรรมอยู่ตามลำพังในป่า คืนนั้นน่ะ ได้นั่งฟังเสียงการขับร้องประโคมดนตรี ได้เผลอปล่อยใจไปตามเสียง จนลืมสมณสัญญา แล้วก็เกิดกามวิตกขึ้น ต่อมาก็ไม่ค่อยใส่ใจในอารมณ์กรรมฐาน มีจิตฟุ้งซ่านถึงกับอยากจะลาสิกขา ไปดื่ม กิน เที่ยวเหมือนอย่างฆราวาส จึงอุทานขึ้นด้วยความเบื่อหน่าย แล้วก็ทอดถอนใจในชีวิตสมณะว่า เราบวชเป็นพระอยู่ในป่าเพียงลำพัง ไม่มีเพื่อนเลยสักคน เหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า ใครเล่าหนอจะน่าสมเพชเวทนาไปยิ่งกว่าเรา ในยามราตรีเช่นนี้
เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในไพรสนแห่งนั้น ได้ฟังถ้อยคำของท่านแล้ว ถึงกับสะดุ้งหวั่นไหวทีเดียว เพราะที่ผ่านมาก็ได้ทำการนอบน้อมภิกษุรูปนี้มาตลอด เพราะคิดว่าท่านเป็นพระนักปฏิบัติธรรม เห็นท่านเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ท่านได้เพียรพยายาม ในการบำเพ็ญกรรมฐานอย่างไม่ลดละ แต่ทำไมคืนนี้น่ะมาคิดเสียอย่างนี้ ว่าแล้วก็สวมหัวใจของเทวดา ยอดกัลยาณมิตรได้เปล่งรัศมีสว่างไสว ต่อหน้าภิกษุรูปนั้น แล้วก็กล่าวให้กำลังใจว่า
ดูก่อนภิกษุท่านถูกพวกที่อยู่ในป่าเบียดเบียนบีบคั้นหรือ ทำไมท่านไม่ยินดีในเพศสมณะ ท่านอยู่ในป่าเพียงผู้เดียว เหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า แต่ถึงกระนั้น คนเป็นอันมาก ย่อมยินดีต่อท่าน เหมือนเหล่าสัตว์นรกชื่นชมยินดีต่อผู้ที่ได้ไปสู่สวรรค์อย่างนั้น จากนั้นก็กล่าวให้ข้อคิดให้ท่านได้สลดใจว่า ดูก่อนภิกษุท่านได้บวชในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนำสัตว์ออกไปจากทุกข์ จะตรึกถึงกามวิตกที่ไม่นำสัตว์ออกไปจากทุกข์ได้อย่างไรเล่า ถึงแม้ท่านจะอยู่คนเดียว ดูเหมือนจะวังเวงไม่มีเพื่อนอยู่ในป่า แต่คนเป็นอันมากย่อมยินดีกับท่านผู้อยู่อย่างนี้ คนเหล่านั้นจะปรารถนา อยากเป็นเหมือนท่านยิ่งนัก เฝ้าครุ่นคิดว่า เมื่อไหร่หนอ จะได้มีโอกาสสละเครื่องผูกในเรือน แล้วออกบวชเหมือนอย่างกับท่าน
เมื่อถูกกล่าวเตือนภิกษุวัชชีบุตร ก็เกิดความละอายใจ เพราะไม่นึกว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้น จะมีเทวดาล่วงรู้ทำให้ท่านน่ะได้สติ จึงรีบน้อมนำใจ กลับเข้ามาสู่อารมณ์กรรมฐานเหมือนเดิม ทำจิตหยั่งลงสู่สมถวิปัสสนา ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ได้เข้าถึงบรมสุขอย่างแท้จริง หลังจากบรรลุธรรมแล้ว ท่านก็ระลึกชาติย้อนหลังไปดูประวัติการสร้างบารมีของท่าน ว่าได้สั่งสมบุญอะไรเอาไว้ จึงได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิ คือได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
เมื่อระลึกชาติไปดูก็พบว่า ภัทรกัปที่ ๙๑ ในยุคสมัยของพระวิปัสสีพระพุทธเจ้า พระเถระได้เกิดเป็นลูกชาวบ้านทั่วไป มีฐานะปานกลาง วันหนึ่งท่านกำลังเล่นอยู่กับเพื่อนๆ ในวัยเด็ก ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระฉวีวรรณดั่งทองคำ มีพระรัศมีเปล่งปลั่ง ก็บังเกิดความเลื่อมใส อยากทำบุญกับพระองค์ แต่มองไม่เห็นไทยธรรมอะไรสักอย่าง บังเอิญว่าหนูน้อยได้เหลือบไปเห็นดอกกฐินอยู่ข้างรั้ว จึงไปเด็ดเอาดอกกฐินนั่นแหละ มัดเป็นพวงและน้อมเข้าไปบูชาพระพุทธองค์ด้วยจิตที่เลื่อมใส เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดำเนินต่อไป หนูน้อยก็เล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนานเหมือนเดิม แต่ในใจนั้นก็ยังคงระลึกนึกถึงบุญ ที่ตัวเองได้ถวายดอกกฐินเป็นพุทธบูชา เมื่อสักครู่
ด้วยบุญนั้นได้ประคับประคองท่านให้เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในสุคติภูมิอย่างเดียว ไม่เคยพลัดตกไปในอบายภูมิเลย ในกัปที่ ๔๕ บุญนั้นยังส่งผลให้ท่านได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่าเรณุ สมบูรณ์ด้วยรัตน ๗ ประการ คือจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้วแล้วบุญนั้นยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้ท่านมามีโอกาสได้บวช และทำพระนิพพานให้แจ้งได้ เห็นไหมจ๊ะ ว่าอันที่จริง ความสุขแบบชาวโลกนั้นน่ะ ท่านก็เคยได้รับมานับภพนับชาติไม่ถ้วน และยังได้เคยเป็นถึงพระเจ้าจักรพรรดิ แต่เพราะถูกภพชาติมาบดบัง ทำให้หลงลืมไปเท่านั้นเอง
ดังนั้นน่ะท่านใดอยากพบกับความสุขที่หาได้ยากในโลก ก็ให้หาโอกาสมาบวช ประพฤติพรหมจรรย์กันดูนะจ๊ะ แล้วเมื่อบวชแล้วหลวงพ่อก็อยากให้บวชกันไปนานๆ บวชให้ได้ตลอดชีวิตยิ่งดี จะได้เป็นเนื้อนาบุญให้กับชาวโลก เป็นอายุพระศาสนา ส่วนท่านใดที่ไม่มีโอกาสได้บวช ก็ยังพอมีทางที่จะบวชภายใน คือทำใจหยุดใจนิ่งให้ได้ จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายภายใน ก็จะได้ชื่อว่าบวชภายในแล้ว ดังนั้นน่ะเมื่อโอกาสดีในชีวิตเป็นของเรา ก็ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งทุกวันอย่างสม่ำเสมอ สมาธิก็จะเจริญขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย แล้วในที่สุดเราก็จะพบความสุขที่แท้จริง ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันนะจ๊ะ
พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)