แรงจูงใจและเป้าหมายในการบวช

วันที่ 11 พย. พ.ศ.2558

แรงจูงใจและเป้าหมายในการบวช


             กุลบุตรที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา มิได้บวชเพราะถูกบังคับ แต่เป็นเพราะมีศรัทธาในพระธรรมและมีปัญญาไตร่ตรองถึง ภาวะอันแท้จริงของชีวิต จึงตัดสินใจเข้ามาบวช ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า


"เมื่อพระตถาคตทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม ... คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่งการที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต มัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต..."

 

           จากพระธรรมเทศนาที่ยกมานี้ จะเห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะแสดงให้พระเจ้าอชาตศัตรูเข้าพระทัยว่า แรงจูงใจที่เป็นเหตุให้บุรุษเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้นมี 3 ประการ คือ
1. มีศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. มีปัญญาตรองเห็นโทษภัยในชีวิตฆราวาสว่า ทั้งคับแคบ และเป็นที่มาของกิเลส
3. มีปัญญาตรองเห็นคุณของชีวิตนักบวชว่า มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ได้เต็มที่ด้วยแรงจูงใจเช่นนี้ จึงตัดสินใจเข้ามาบวช ดังนั้นการบวชของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจึงเป็นการบวชที่มีเป้าหมายสูงส่งและดีงาม
จากแรงจูงใจข้อ 2 และ 3 ย่อมกำหนดเป็นเป้าหมายในการบวชได้ 2 ประการ คือ
1. บวชเพื่อละบาปอกุศลทั้งปวง หรือบวชเพื่อละกามนั่นเอง
2. บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อันเป็นการสั่ง มบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตฆราวาสเป็นที่ประชุมแห่งบาปอกุศลก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า


"ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี"
"ฆราวาสคับแคบ" หมายความว่า การใช้ชีวิตแบบฆราวาส นั้น ต้องเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ด้วยเรื่องกาม ฆราวาส ทั้งหลายจึงตกอยู่ในอำนาจของกาม หรือตกเป็นทาส ของกาม

 

"กาม" คืออะไร กามประกอบด้วยองค์ 2 คือ
1. กิเลสกาม
2. วัตถุกาม


1. กิเลสกาม คำว่า "กิเลส " โดยรูปศัพท์ หมายถึง ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์ "กาม" หมายถึง ความใคร่ ความอยาก หรือสิ่งที่น่าปรารถนา ดังนั้น "กิเลสกาม"จึงหมายถึง ความชั่วที่แฝงอยู่ในใจแล้วผลักดันให้ทำสิ่งที่ผิด เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ปรารถนากิเลสกามแบ่งออกเป็น 10 อย่าง คือ
1) โลภะ ได้แก่ ความโลภ อยากได้ของผู้อื่นในทางผิด
2) โทสะ ได้แก่ ความคิดประทุษร้ายผู้อื่น เบียดเบียนรังแกผู้อื่น
3) โมหะ ได้แก่ ความหลง หรือความไม่รู้ตามความเป็นจริง
4) มานะ ได้แก่ ความถือตัวสำคัญว่าตัวดีกว่า เหนือกว่าผู้อื่น
5) ทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็นผิดๆ ดื้อดึง เมื่อ "ทิฏฐิ" รวมกับ "มานะ" เป็น "ทิฏฐิมานะ" จึงหมายความว่า "ดื้อรั้นอวดดี หรือดื้อดึงถือตัว"
6) วิจิกิจฉา ได้แก่ ความลังเลสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย
7) ถีนะ ได้แก่ ความหดหู่ ความท้อแท้ถดถอย
8) อุทธัจจะ ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน ขาดความสงบในจิตใจ
9) อหิริกะ ได้แก่ ความไม่ละอายต่อความชั่วทั้งหลาย
10) อโนตตัปปะ ได้แก่ ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว


2. วัตถุกาม หมายถึง วัตถุอันน่าใคร่ น่าปรารถนา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กามคุณ กามคุณ แบ่งออกเป็น 5 อย่าง คือ
1) รูป คือสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นได้ด้วยตา
2) เสียง คือ เสียงต่างๆ ที่เราได้ยินได้ด้วยหู
3) กลิ่น คือ กลิ่นต่างๆ ที่เราดมได้ด้วยจมูก
4) รสคือ รส ต่างๆ ที่เรารับรู้ได้ด้วยลิ้น
5) โผฏฐัพพะ คือสัมผั ที่เรารับรู้ได้ด้วยผิวกาย


           จะเห็นว่า "กิเลสกาม" นั้นเป็นลักษณะของใจคนเราที่เกิดความคิดชั่วขึ้นได้เองอยู่แล้ว ถ้าเราปล่อยปละละเลย ไม่อบรมขัดเกลา ก็มีแต่จะพอกพูนทวีมากขึ้นๆ ครั้นเมื่อกิเลส กามมากระทบกับวัตถุกามใจคนเราซึ่งมีโลภะและโมหะเป็นเชื้อสำคัญอยู่แล้ว ย่อมจะเกิดความรู้สึกว่า วัตถุกามต่างๆ ล้วนน่าใคร่น่าปรารถนาไปหมด ถ้าได้วัตถุกามเหล่านั้นมาสมใจตนเองย่อมจะรู้สึกเป็นสุข จึงเกิดความเพียรพยายามแสวงหาวัตถุกามมาไว้ในครอบครองให้มากเท่าที่จะมากได้ ในที่สุดก็กลายเป็นความหลง ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับวัตถุกามนั้นๆในทำนองกลับกัน ถ้าพลาดหวังในวัตถุกามที่ตนปรารถนา คนเราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ หากไม่เกิดความรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ หรือผิดหวังอย่างรุนแรง จนถึงกับทำลายตนเองด้วยวิธีการต่างๆ ไปเสียก่อน โทสะ โมหะทิฏฐิมานะ ตลอดจนความไม่ละอาย และความไม่เกรงกลัวต่อความชั่วและบาปทั้งหลาย ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในใจคนเราตลอดเวลานั้น ก็จะกระตุ้นหรือหันเหความรู้สึกเป็นทุกข์นั้น มาเป็นความคิดประทุษร้าย เบียดเบียนรังแกผู้อื่นโดยประการต่างๆ จึงเกิดการสั่งสมบาปให้แก่ตนเอง ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาโดยแท้ นี่คือทางมาแห่งธุลี หรือกิเลส ประการหนึ่งไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสุขหรือทุกข์ อันเนื่องมาจากวัตถุกามหรือกามคุณ 5 ล้วนมีแต่โทษภัยต่อใจคนเราทั้งสิ้น ตราบใดที่คนเรายังมีความคิดว่า กามคุณ 5 เท่านั้นที่จะทำให้มีความสุข คนเราก็ย่อมจะตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่กามสุขเรื่อยไปโดยไม่หยุดยั้ง ทั้งไม่รู้จักสอนใจตนเองได้ว่า จุดที่ "พอ" นั้นอยู่ตรงไหน เมื่อมุ่งหน้าแสวงหาต่อไปเรื่อยๆ ไม่วันใดวันหนึ่งก็จะต้องประสบปัญหา เพราะแต่ละคนก็มุ่งแสวงหาในสิ่งเดียวกัน จึงเกิดการเผชิญหน้ากันหรือเกิดการแข่งขันแย่งชิงกันขึ้น


           ครั้นแล้ว กิเลสกามก็จะสอนให้แต่ละฝ่ายนำกลยุทธ์ออกมาใช้ในการต่อสู้กัน ชิงชัยกันทุกรูปแบบ
เพื่อความเป็นผู้ชนะ ดังปรากฏให้เห็นอยู่ในโลกปัจจุบัน นับตั้งแต่การชิงไหวชิงพริบกันในด้านเศรษฐกิจระหว่างบุคคลหรือระหว่างประเทศ การคดโกงและการแก้แค้นกัน ไปจนถึงสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน เหล่านี้ล้วนเป็นทางมาแห่งธุลีหรือกิเลส ทั้งสิ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเรื่องโทษของกามไว้มากมาย เป็นต้นว่า "กามทั้งหลาย ตระการหวานชื่นใจ ย่อมย่ำยีจิตโดยรูปต่างๆ"จากที่ได้พรรณนามาทั้งหมดนี้ น่าจะพอเป็นแนวทาง ชี้ให้เห็นได้แล้วว่า การใช้ชีวิตแบบฆราวาสนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของกาม อันเป็นบ่อเกิดแห่งบาปอกุศลทั้งปวงส่วนชีวิตนักบวชนั้น มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตรัสว่า "ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย"สิ่งแรกที่ควรพิจารณาก็คือ คำว่า "บรรพชา"


             คำว่า "บรรพชา" โดยรากศัพท์เดิมแปลว่า เว้นความชั่วทุกอย่าง หรือการทำให้ถึงซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐ แต่เดิมทีเดียวคำว่า "บรรพชา" หมายความว่า บวช เช่นสิทธัตถราชกุมารเสด็จออกบรรพชาเป็นต้น แต่ในปัจจุบันคำว่า "บรรพชา" หมายถึงบวชเป็นสามเณร ถ้าบวชเป็นภิกษุใช้คำว่า "อุปสมบท" และมักจะใช้ควบกันว่า "บรรพชาอุปสมบท" หรือโดยทั่วไปมักนิยมพูดกันว่า "บวช" เมื่อบวชแล้วก็ได้ชื่อว่า"บรรพชิต" บรรพชิตทั้งหลายที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ก็เพื่อเว้นความชั่วทุกอย่าง ในขณะเดียวกัน
ก็ต้องพยายามปฏิบัติตนให้ถึงซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐ ด้วยการสร้างบุญกุศลทั้งปวงให้ยิ่งๆ ขึ้นไปการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง" นั้นหมายความว่า บรรพชิตหรือพระภิกษุย่อมมีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ง่าย เมื่อเทียบกับฆราวาส หรือผู้ครองเรือน ทั้งนี้เพราะโดยพระวินัยแล้ว การเลี้ยงชีพของพระภิกษุต้องขึ้นอยู่กับฆราวาส ดังนั้น พระภิกษุจึงไม่ต้องกังวลด้วยเรื่องการทำมาหากินแบบฆราวาส ทำให้สามารถทุ่มเทเวลาและชีวิตเพื่อการศึกษา และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้โดยบริบูรณ์ กรณีเช่นนี้ย่อมเอื้ออำนวยให้พระภิกษุห่างไกลจากกามคุณได้มากทีเดียวซึ่งจะยังผลให้การประพฤติพรหมจรรย์นั้นบริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชีวิตนักบวชมีโอกาสร้างบุญกุศลทั้งปวงสะดวกกว่าชีวิตฆราวาส มากนัก


               อนึ่ง พระธรรมเทศนานี้ย่อมเป็นการบอกพระเจ้าอชาตศัตรูโดยนัยว่าสาวกของพระพุทธองค์ล้วน
มีเป้าหมายในการบวชทั้งสิ้น มิใช่บวชโดยไร้เป้าหมาย หรือบวชเพื่อหากินดังเช่น นักบวชบางจำพวก ทั้งนี้
ย่อมเป็นการยกศรัทธาของพระเจ้าอชาตศัตรูต่อภิกษุสงฆ์ให้สูงยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001324717203776 Mins