ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

วันที่ 11 พย. พ.ศ.2558

ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ


           เมื่อตรัสอธิบายเรื่องคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายจบลงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงสติสัมปชัญญะแก่พระเจ้าอชาตศัตรูว่า "มหาบพิตร อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ" ตรัสดังนี้แล้ว จึงได้ทรงวิสัชนาด้วยพระองค์เองว่า


"มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอยในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม ในการถ่าย
อุจจาระปัสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่นการพูด การนิ่ง มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล"

 

            ตามรูปศัพท์ คำว่า " สติ" หมายถึง ความระลึกได้ นึกได้ อาการที่จิตฉุกคิดขึ้นได้ เช่นฉุกคิดขึ้นได้ว่า ถึงเวลาสวดมนต์แล้วเป็นต้น ดังนั้น " สติ" จึงเป็นอาการที่จิตนึกขึ้นได้ ซึ่งตรงข้ามกับอาการที่เรียกว่า
"เผลอ" หรือ "ลืม"
           ในพระพุทธศาสนา ถือว่า " สติ" เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก กล่าวคือ " สติ" ช่วยไม่ให้งานการเสียหายเพราะลืม ทั้งนี้เพราะการงานบางอย่าง ถ้าลืมเสียย่อมจะเกิดความเสียหายร้ายแรงได้ เช่น หมอลืมให้ยาคนไข้ คนไข้ก็อาจเสียชีวิต พระลืมลงสวดปาฏิโมกข์ก็ต้องอาบัติ เป็นต้น ดังนั้นสติจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากเพราะช่วยไม่ให้เราเผลอ ไม่ให้หลงลืมในสิ่งที่ควรทำหรือต้องทำ ยิ่งกว่านั้นสติยังเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการเจริญภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานต่อไปอีกด้วย

 

          คำว่า "สัมปชัญญะ" หมายถึง ความรู้สึกตัว หรืออาการรู้ตัวในขณะทำอยู่ เช่น รู้ว่าเรากำลังพูดอะไร กำลังคิดอะไร หรือ กำลังทำอะไรพระพุทธศาสนาถือว่า "สัมปชัญญะ" เป็นธรรมที่มีอุปการะมากอีกข้อหนึ่ง โดยทั่วไปจะใช้คู่กับ " สติ"เรียกว่า " สติสัมปชัญญะ" โดยถือว่า " สติ" เกิดก่อนทำ พูด และคิดส่วน "สัมปชัญญะ" เกิดในขณะกำลังทำ พูด และ คิด แต่ธรรมทั้งสองนี้จะเกิดควบคู่กันเสมอใน คัมภีร์อรรถกถา ปาฏิกวรรค ได้แบ่งสัมปชัญญะออกเป็น 4 ประการ คือ


1.สาตถกสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่าสิ่งที่ตนกำลังทำนั้นมีประโยชน์หรือไม่
2.สัปปายสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่าสิ่งที่ตนกำลังทำนั้นเป็นที่ บายหรือเหมาะ มกับตนหรือไม่
3. โคจรสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่าสิ่งที่ตนกำลังทำนั้นเป็นกิจที่ควรทำหรือไม
4. อสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่าสิ่งที่ตนกำลังทำนั้นเป็นความหลงเข้าใจผิด หรืองมงายหรือไม่

 

           การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ" ย่อมหมายความว่า ทุกอิริยาบถที่พระภิกษุกระทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การยืน การเดิน การนอน การพูด การนิ่งไม่พูด หรือการกระทำใดๆ นอกเหนือจากที่กล่าวนี้ พระภิกษุจะกระทำด้วยความรู้สึกตัวเสมอ ไม่มีการลืมหรือเผลอสติสติสัมปชัญญะนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับทุกๆ คน ผู้ที่ย่อหย่อนในธรรม 2 ประการนี้ นอกจากตนเองจะประสบความล้มเหลว ขาดความยกย่องนับถือจากผู้อื่นแล้ว ยังทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของสังคมส่วนรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุด้วยแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสถาบันศาสนาทีเดียว ทั้งนี้เพราะพระภิกษุเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของฆราวาสโดยทั่วไปพระภิกษุที่ย่อหย่อนในธรรมทั้ง 2 ประการ คือสติและสัมปชัญญะย่อมไม่สามารถสำรวมอินทรีย์ได้ไม่สามารถมีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีลได้ หรือไม่สามารถสำรวมระวังในเรื่องโคจรและอโคจรได้ ซึ่งนอกจากเป็นทางก่อให้เกิดอภิชฌาและโทมนัสแก่ตัวพระภิกษุเองโดยตรงแล้ว พฤติกรรมของพระภิกษุที่ปรากฏต่อสาธารณชน ย่อมทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาอีกด้วยภัยอันเกิดจากการเผลอ ตินั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งต่อชีวิต ต่อทรัพย์สิน ทั้งต่อตัวเองและต่อบุคคลอื่น ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสยืนยันว่า ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระองค์จำเป็นต้องประกอบด้วย " สติสัมปชัญญะ"

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031233501434326 Mins