อานิสงส์ของผู้มีศีลและอาจาระ

วันที่ 17 พย. พ.ศ.2558

อานิสงส์ของผู้มีศีลและอาจาระ
 

อานิสงส์ของผู้มีศีลและอาจาระ

 

     เป้าหมายอันสูงสุดของมนุษยชาติในการเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติก็เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง พระบรมโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์และเหล่าพระอริยเจ้าทั้งหลาย ทุกๆ ชาติที่เกิดมาในโลกมนุษย์นี้ ก็ล้วนแต่ตั้งใจสร้างบารมีกันอย่างเต็มที่และเต็มกำลัง ไม่เคยละเลยการฝึกฝนอบรมตนเองเลย ตลอดชีวิตของท่านได้สร้างความดีทุกรูปแบบ ทั้งทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนาอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หมั่นชำระกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาด บริสุทธิ์อยู่เป็นประจำไม่ได้ขาด โดยเฉพาะการทำใจหยุดใจนิ่งนี้ นับเป็นกรณียกิจที่ท่านได้สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จนเป็นอุปนิสัยในภพชาติสุดท้าย ส่งผลให้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตคือหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์


มีวาระบาลีที่ปรากฏอยู่ใน ภัททิตถิกาวิมาน ความว่า
 

“อฏฺฐํคิกํ อปริมิตํ สุขาวหํ
อุโปสถํ สตฺตมุปาวสึ อหํ
กตาวสา กตกุสลา ตโต จุตา
สยมฺปภา อนุวิจรามิ นนฺทนํ
 
     เราได้เข้ารักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ นำมาซึ่งความสุขอันกำหนดไม่ได้เลย
เนืองนิตย์ และได้สร้างกุศลธรรมไว้อย่างบริบูรณ์ ครั้นจุติจากโลกมนุษย์แล้ว
ได้บังเกิดเป็นเทพธิดาผู้มีรัศมีในกายของตัวเอง เที่ยวรื่นรมย์อยู่รอบๆ สวนนันทวัน”

 
     ผลแห่งการกระทำที่เป็นบุญกุศลล้วนๆ นี้ จะมีผลเป็นความสุขและสำเร็จเสมอ ส่งผลให้ผู้กระทำนั้นได้เข้าถึงสุขที่เกินกว่าสุขใดๆ บนพื้นพิภพนี้ เพราะสุขที่กล่าวถึงนั้น เป็นทิพยสุขอันไม่มีประมาณ ในมนุษยโลกจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางแห่งการสร้างความดี เป็นแหล่งที่ประกอบเหตุคือสั่งสมกุศลกรรมบถทุกอย่าง เพื่อให้เกิดผลคือสวรรค์และนิพพาน ใครมีสติมีปัญญามาก ก็ขวนขวายเก็บเกี่ยวเอาบุญไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้น เมื่อได้อัตภาพของความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้โดยยากแล้ว ก็ควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท สร้างบุญกุศลอย่างเดียว ทุกลมหายใจเข้าออกให้เป็นไปเพื่อบุญกุศลล้วนๆ  ชีวิตหลังความตายจะได้มีสุคติโลกสวรรคเป็นที่ไป
 
     นักสร้างบารมีในสมัยก่อนได้สร้างความดีทุกรูปแบบ แม้จะตกระกำลำบากสักเท่าใด ก็ไม่เคยทอดทิ้งการทำความดีงาม เป็นผู้งดงามด้วยความดี เมื่อละจากโลกนี้ไป ได้เห็นผลบุญบังเกิดขึ้น จึงมองย้อนหลังเห็นบุพกรรมของตัวเอง ก็มีมหาปีติบังเกิดขึ้น กล่าวถ้อยคำอันเป็นมงคลให้อนุชนรุ่นหลังตระหนักถึงผลแห่งกรรมดีว่าไม่ได้สูญหายไปไหน เหมือนคำกล่าวของนางเทพธิดาผู้มีบุญมาก  
 
     * เรื่องราวการสร้างบารมีของเทพธิดาท่านนี้ เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลนี้เอง ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามที่ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้าง ในสมัยนั้นมีเมืองหนึ่งชื่อว่า กิมิลนคร มีลูกชายของคหบดีคนหนึ่งชื่อว่า
โรหกะ แม้จะเป็นเด็กวัยรุ่น แต่ก็เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใส มีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนามาก ถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ เป็นผู้ที่พยายามฝึกฝนตนเองให้เป็นคนดีที่ทุกคนต้องการ ในเมืองเดียวกันนั้นก็มีเด็กสาวคนหนึ่ง เป็นลูกสาวของเศรษฐีที่มีฐานะใกล้เคียงกัน เด็กสาวท่านนี้ก็เป็นผู้ที่มีศีลและกิริยามารยาทที่งดงามเช่นเดียวกันชื่อว่า ภัททากุมารี นางก็เป็นคนที่รักในการฝึกตนเช่นเดียวกัน
 
     ในเวลาต่อมา เมื่อเด็กทั้งสองคนเติบใหญ่เต็มที่ หมู่ญาติของทั้งสองฝ่ายก็ได้จัดงานแต่งงานให้กับคนทั้งสอง เพราะเห็นว่าเหมาะสมกันอย่างยิ่ง สองสามีภรรยานั้นอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะต่างคนต่างก็เป็นผู้มีศีลและอาจาระ เป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวตัวอย่างในสมัยนั้นทีเดียว ความงดงามด้วยอาจาระของนางภัททานี้ได้โจษจันปากต่อปาก จนกระทั่งรู้กันทั่วพระนครว่า แม่นางภัททานี้ เป็นผู้ที่มีศีลและอาจาระ งดงามด้วยความดีอย่างแท้จริง ประชาชนทั้งพระนครจึงขนานนามว่า แม่หญิงภัททา
 
     ต่อมาในสมัยนั้น พระอัครสาวกทั้งสองมีภิกษุติดตามรูปละ ๕๐๐ รูป ได้จาริกไปในชนบทจนกระทั่งถึงกิมิลนคร นายโรหกะพอทราบข่าวการมาของพระอัครสาวกจึงเข้าไปหาพระเถระทั้งสอง กราบนิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน เมื่อพระเถระทั้งสองรับนิมนต์แล้ว คหบดีผู้มีศรัทธาเลื่อมใสเป็นทุนอยู่แล้ว ก็เกิดความปีติใจ รีบกระวีกระวาดกลับไปที่บ้านพร้อมกับแจ้งข่าวให้กับภรรยาของตนเองทราบ ทุกๆ คนที่อยู่ในบ้านต่างก็ช่วยกันจัดแจงภัตตาหารเพื่อหมู่สงฆ์
 
     ในวันรุ่งขึ้น พระอัครสาวกทั้งสองพร้อมกับหมู่ภิกษุสงฆ์ได้เดินทางไปที่บ้าน ทั้งสองสามีภรรยาได้ถวายภัตตาหารหมู่สงฆ์ด้วยความปีติเบิกบาน ได้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลทั้งครอบครัว ส่วนแม่หญิงภัททาผู้เป็นภรรยานั้นได้รักษาอุโบสถศีลในทุกวันอุโบสถ และมั่นคงอยู่ในศีลยิ่งนัก ไม่ขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่นิดเดียว ดวงศีลของนางบริสุทธิ์มาก ทำให้เหล่าเทวดาทั้งหลายถึงกับลงรักษา คอยอนุเคราะห์เกื้อกูลนางและครอบครัว 
 
     มีอยู่วันหนึ่ง สามีของนางได้เดินทางไปนครตักกศิลา ในพระนครมีการเล่นมหรสพ เป็นงานที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงมากในยุคนั้น นางภัททาถูกเพื่อนๆ ชักชวนรบเร้าให้ไปเที่ยวงานประจำปีในพระนคร จนนางเกิดความปรารถนาที่จะไปร่วมงาน เหล่าเทวดาที่คอยคุ้มครองรักษาก็นำนางไปเมืองตักกศิลาในทันทีด้วยอานุภาพอันเป็นทิพย์ พอส่งถึงสถานที่อยู่ของสามีแล้ว หลังจากที่อยู่ร่วมหลับนอนกับสามี และเที่ยวงานมหรสพกันพอสมควร เหล่าเทวดาก็รับตัวนางกลับมาไว้ที่กิมิลนครดังเดิม
 
     อาศัยที่ได้อยู่ร่วมกับสามีที่ตักกศิลาทำให้นางภัททาตั้งครรภ์ขึ้น เมื่อครรภ์เริ่มใหญ่ขึ้นทำให้นางตกเป็นที่ครหาของแม่สามีว่า เป็นหญิงที่นอกใจ เพราะไม่รู้ว่านางไปเมืองตักกศิลาด้วยอำนาจเทวดา แม้จะถูกใครๆ ต่อว่าเช่นนี้ ภัททาอุบาสิกาก็ยังดำรงมั่นอยู่ในศีล แล้วก็พยายามชี้แจงเรื่องราวให้กับญาติฝ่ายสามีและทุกๆ คนได้ทราบถึงความจริง ถึงกระนั้นทุกๆ คน ก็ยังไม่ไว้ใจในความบริสุทธิ์ของนางอยู่ดี จนเทวดาที่รักษานางภัททาต้องบันดาลให้เกิดเหตุวิปริต มีนํ้าจากแม่นํ้าคงคาไหลบ่ามาท่วมพระนคร ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกตกใจแก่ชาวเมืองยิ่งนัก
 
     ภัททาอุบาสิกาเห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้ช่วยเหลือชาวเมืองให้พ้นจากภาวะวิกฤติ จึงกระทำสัจจาธิษฐานดังๆ ให้ชาวเมืองได้ยินว่า "ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์กับสามีและดำรงอยู่ในศีล ด้วยอำนาจสัจจวาจานี้ ขอให้เหตุวิบัตินี้จงอันตรธานไปเถิด"  พอจบคำของนาง เหตุการณ์นั้นก็สงบลงทันที จึงทำให้ทุกๆ ฝ่ายเข้าใจถูกต้อง แล้วได้รับการสรรเสริญไปทั่วทั้งแผ่นดินว่า เป็นผู้ที่มีศีลและอาจาระงดงามจริงๆ  พอนางละจากโลกนี้ไปแล้วได้ไปบังเกิดเป็นเทพธิดาผู้มีอานุภาพมากอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 
 
     มีอยู่วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปที่ดาวดึงส์ ทรงทอดพระเนตรเห็นเทพธิดาภัททาผู้มีรัศมีกายสว่างไสวเป็นพิเศษ จึงตรัสถามบุพกรรมของนางท่ามกลางเหล่ามหาพรหมและทวยเทพทั้งหลายว่า “ดูก่อนเทพธิดา ท่านประดับประดาด้วยดอกไม้ทิพย์ที่งดงามมากกว่าเทพเหล่าอื่น วิมานของท่านแวดล้อมด้วยแมกไม้ทิพย์ ท่านได้สร้างบุญอะไรพิเศษเอาไว้”  
 
     ภัททาเทพนารีก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาสมบัติอันเป็นทิพย์นี้บังเกิดแก่หม่อมฉันเพราะเป็นผู้ที่มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ ได้บำเพ็ญบุญกับพระอริยเจ้า จึงได้ครอบครองมหาวิมานที่สวยงามและทิพยสมบัติอันตระการเช่นนี้ ผลบุญนี้น่าอัศจรรย์เหลือเกิน”  พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อสดับอย่างนั้นก็ได้ตรัสอนุโมทนา
 
     เราจะเห็นว่า ผู้งดงามด้วยความดีนี้ จะงดงามทั้งขณะที่มีชีวิตอยู่และละจากโลกนี้ไปแล้ว ผลแห่งการสร้างบุญบารมีนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์แก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย การสร้างความดีจึงมีแต่ผลดีอย่างเดียวเท่านั้น ปลูกถั่วย่อมเป็นถั่ว ปลูกงาก็ต้องเป็นงา จะกลายเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย พุทธศาสนาได้สอนเรื่องกฏแห่งกรรมเอาไว้เช่นนี้  ดังนั้น เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ให้ตระหนักถึงการสร้างบารมีที่เรากำลังกระทำอยู่ สิ่งที่ได้ตั้งใจกันเอาไว้ ให้ใจเกาะเกี่ยวอยู่ในบุญกุศลตลอดเวลา แล้วก็ทุ่มเทกันให้เต็มที่ บุญนี้จะได้เป็นมหัคคตกุศลติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติตราบถึงที่สุดแห่งธรรม

 

พระธรรมเทศนาโดย :  พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๔๘ หน้า ๑๘๗

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0020109335581462 Mins