อานิสงส์เลือกทำทานถูกเนื้อนาบุญ

วันที่ 17 พย. พ.ศ.2558

อานิสงส์เลือกทำทานถูกเนื้อนาบุญ
 

อานิสงส์เลือกทำทานถูกเนื้อนาบุญ

 

     การเจริญสมาธิ ภาวนา เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข เป็นทางมาของสติปัญญา ที่จะทำให้เรามีความเฉลียวฉลาด ตลอดจนปฏิภาณไหวพริบแกล้วกล้า สามารถศึกษาเล่าเรียน และประกอบกิจการงานทุกด้านได้อย่างเชียวชาญ บังเกิดผลสำเร็จเป็นอัศจรรย์ และเมื่อเราเจริญภาวนาจนกระทั่งใจหยุดนิ่งดิ่งลงศูนย์กลางกาย อันเป็นแหล่งแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ ใจของเราจะผ่องใส เป็นเหตุแห่งความสุขและความสำเร็จทั้งมวล และยังช่วยให้เราสามารถรอดพ้นจากภัยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภัยในอบายหรือภัยในสังสารวัฏ 


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
 
 
   “บุคคลให้ทานในเขตใดแล้วมีผลมาก พึงเลือกให้ทานในเขตนั้น  การเลือกให้
พระสุคตทรงสรรเสริญ ทานที่บุคคลให้แล้วในทักขิไณยบุคคลทั้งหลายย่อมมีผลมาก
เหมือนพืชที่หว่านลงในนาดีฉะนั้น”

 

     ทาน หมายถึงการให้ การสงเคราะห์ช่วยเหลือแบ่งปัน เป็นเรื่องดีงาม เพราะการให้เป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลระหว่างชีวิตต่อชีวิต เป็นพื้นฐานความดีของมนุษยชาติ เป็นการสร้างความดีที่ง่ายที่สุด แต่ส่งผลดีให้แก่ชีวิตเรามากมายมหาศาล
 
     พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการเลือกให้ คือก่อนจะให้ ควรเลือกของที่จะให้ว่า สมควรหรือไม่ โดยเลือกให้แต่ของที่ดี ของที่ประณีต ของนั้นต้องได้มาด้วยความสุจริต ถ้าให้ของดียิ่งกว่าที่ตนใช้ เวลาบุญส่งผลก็จะได้ของที่ดีเลิศ หรืออย่างน้อยควรให้ของในระดับเดียวกับที่ตนใช้อยู่ และต้องดูด้วยว่าจะให้กับใคร ทานนั้นจึงจะมีผลมาก ถ้าให้กับผู้เป็นเนื้อนาบุญ ผลบุญก็จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล เหมือนชาวนาผู้ฉลาดในการทำนา ต้องคัดพันธุ์ข้าวที่ดี หว่านข้าวลงในนาดี มีนํ้ามีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ เมื่อทำเช่นนี้ เขาย่อมได้รับผลผลิตที่คุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยาก ดังเรื่องของเทพบุตรผู้ที่ฉลาดในการเลือกให้ทาน
 
     * ในสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้เสด็จโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะที่พระองค์ประทับ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทรงมีพระรัศมีแผ่กว้างครอบคลุมหมู่เทวดาทั้งหลาย เทพบุตรพุทธมารดาเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ประทับในที่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ อังกุรเทพบุตรนั่งอยู่ในที่ข้างซ้าย แต่เมื่อเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทยอยกันมาเฝ้าพระพุทธองค์ อังกุรเทพบุตร ก็ต้องถอยห่างออกไปเรื่อย ๆ ถอยไปจนถึงท้ายสุดในที่ประชุมนั้น ไกลถึง ๑๒ โยชน์ ขณะที่เทพบุตรอีกองค์หนึ่ง ชื่ออินทกเทพบุตร มานั่งเช่นไรในตอนแรก ก็คงนั่งอยู่ในที่เดิมเช่นนั้น
 
     พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเทพบุตรทั้งสองแล้ว มีพระประสงค์จะประกาศความแตกต่างระหว่างทานที่บุคคลถวายแด่ทักขิไณยบุคคลในศาสนาของพระองค์ กับทานที่บุคคลให้แล้วแก่โลกียมหาชน จึงตรัสถามอังกุรเทพบุตรว่า
 
     “ดูก่อนอังกุระ ท่านให้ทานมาเป็นเวลานานถึง ๑๐,๐๐๐ ปี ก่อเตาหุงข้าวยาวเป็นแถวถึง ๑๒ โยชน์ทุกวัน แต่เมื่อมาสู่สมาคมของเรา ท่านกลับต้องนั่งห่างออกไปถึง ๑๒ โยชน์ ไกลกว่าเทพบุตรทั้งปวง นั่นเป็นเพราะเหตุใด”
 
     อังกุรเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้บริจาคทานมากในสมัยที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นทานที่ให้แก่มหาชนทั่วไป  คือให้ทานในเวลาที่ปราศจากทักขิไณยบุคคล ส่วนอินทกเทพบุตรนี้ แม้ถวายทานเพียงน้อยนิดเพียงข้าวทัพพีเดียว แต่เพราะทำถูกทักขิไณยบุคคล จึงรุ่งเรืองกว่าข้าพเจ้า เหมือนดวงจันทร์รุ่งเรืองกว่าหมู่ดาวฉะนั้น”
 
     พระบรมศาสดาจึงตรัสถามอินทกเทพบุตรผู้นั่งอยู่ที่เดิมโดยมิได้เคลื่อนย้ายไปไหนเลย อินทกเทพบุตรจึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ถวายทานแด่ทักขิไณยบุคคล ดุจหว่านพืชแม้น้อยในเนื้อนาดี ผลย่อมงอกงามไพบูลย์” และเพื่อจะประกาศความสำคัญของทักขิไณยบุคคล  จึงกราบทูลต่อไปว่า “พืชแม้มากที่บุคคลหว่านลงในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ชาวนาเองก็ไม่ปลื้มใจฉันใด ทานแม้มีมากที่บุคคลให้แล้วในผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทายกก็ไม่ปลื้มใจฉันนั้น ส่วนพืชแม้น้อยที่หว่านแล้วในนาดี ย่อมมีผลไพบูลย์ ชาวนาก็ปลาบปลื้มฉันใด ทานเล็กน้อยที่บุคคลทำในเขตบุญ ในท่านผู้มีศีลมีธรรมที่มั่นคง ย่อมอำนวยผลไพบูลย์ ให้ทายกชื่นชมยินดี ฉันนั้น”
 
     ทำไมอินทกเทพบุตรจึงพูดเช่นนี้ เพราะอินทกเทพบุตรนั้น เมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ ได้ถวายข้าวเพียงทัพพีเดียวแด่พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญนี้ย่อมมีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตรเคยทำแล้วในอดีตชาติ คือได้ก่อเตาไฟหุงข้าวเป็นแถวยาว ๑๒ โยชน์ เพื่อบริจาคในทุกๆ วันแก่คนธรรมดาทั่วไปถึง ๑๐,๐๐๐ ปี เมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลแล้ว พระบรมศาสดาจึงตรัสกับอังกุรเทพบุตรว่า
 
     “ธรรมดาการให้ทาน ควรพิจารณาก่อนแล้วจึงให้ ทานนั้นย่อมมีผลมาก เหมือนการหว่านพืชในนาดี แต่เธอหาได้ทำเช่นนั้นไม่ เหตุนั้นทานของเธอจึงมีผลไม่มาก ทานที่บุคคลให้แล้วในเขตใดมีผลมาก ควรพิจารณาให้ในเขตนั้น การให้ด้วยพิจารณา ตถาคตสรรเสริญ ทานที่ให้แล้วในทักขิไณยบุคคลย่อมมีผลมาก เหมือนหว่านพืชที่บุคคลหว่านลงในนาดี ฉะนั้น”
 
     จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ทานจะให้ผลไพบูลย์ได้ ต่อเมื่อถวายแก่ผู้รับที่บริสุทธิ์ เป็นทักขิไณยบุคคล ผู้รับจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ทานนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ให้
 
     ในพระไตรปิฎก เราได้พบเห็นเรื่องราวของคนยากจนหรือบุคคลที่ตกทุกข์ได้ยาก ได้ทุ่มเททำทานอย่างสุดกำลัง บางครั้งถึงกับสละอาหารมื้อสุดท้ายถวายแด่ทักขิไณยบุคคล แล้วได้เสวยผลอันยิ่งใหญ่ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแบบอย่างให้เรา ซึ่งเกิดในยุคปัจจุบันมีความเข้าใจและมีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทกันต่อไป 
 
     ดังนั้นเราควรทำทานให้บริสุทธิ์ ครบองค์ประกอบของการให้ทั้ง ๓ ประการ คือ วัตถุบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ ทั้งก่อนให้ กำลังให้ และหลังให้แล้ว และบุคคลบริสุทธิ์ทั้งผู้รับและผู้ให้ย่อมได้ผลบุญมาก
 
     พอเราถวายทานตัดขาดจากใจเท่านั้น ศูนย์กลางกายของเราจะมีอายตนะของบุญเกิดขึ้นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ คอยรองรับบุญใหญ่เกิดขึ้นเลย เมื่อถวายทานขาดจากใจ ใจก็เป็นกุศล ความสว่างบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้น ปุญญาภิสันทา ท่อธารแห่งบุญก็ไหลจากอายตนนิพพานมารวมเป็นจุดเดียวกัน มาจรดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของพวกเราทุกๆ คน ตามความบริสุทธิ์ของใจที่หยุดนิ่ง ตามกำลังของความปีติ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย
 
     ถ้าเลื่อมใสมากก็สว่างมาก เลื่อมใสน้อยบุญก็ลดหย่อนกันลงไป แล้วกระแสบุญที่ใสสว่างบริสุทธิ์ จะเป็นต้นเหตุแห่งความสุข และความสำเร็จในชีวิต เช่น ทำให้เราได้มีรูปสมบัติที่งดงาม แข็งแรง ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้ อายุยืน ถ้าหากบารมีเต็มที่ ก็งามไม่มีที่ติ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ถ้าบารมีลดหย่อนลงมา รูปสมบัติของเราก็หย่อนลงมาตามลำดับ  อีกทั้งเป็นผู้ที่แข็งแรง มีโรคน้อย จนกระทั่งปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและอายุยืนยาว ความงามของรูปกายนั้น เป็นรูปสมบัติที่สามารถน้อมนำให้ผู้พบเห็นเกิดความนิยมชมชอบ และเมื่อจะชักนำใครให้มาสร้างความดี ก็จะเป็นเครื่องยังใจบุคคลทั้งหลายให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส เช่นเดียวกัน  
 
     บุญนั้นยังทำให้เกิดทรัพย์สมบัติ จะเป็นทรัพย์สมบัติที่มีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครองเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นจากบุญดลบันดาลให้เกิด กระแสแห่งบุญนี้จะไปดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลายเข้ามาหาตัวเรา  เอาไว้สำหรับหล่อเลี้ยงสังขาร หล่อเลี้ยงพวกพ้องบริวาร และเพื่อการสร้างบารมี
 
     นอกจากนี้บุญยังก่อให้เกิดคุณสมบัติ ความเฉลียวฉลาดต่างๆ ความรู้ ความสามารถ ไหวพริบปฏิภาณคล่องแคล่ว เอาไว้สำหรับใช้สอย คุณสมบัติก็เกิดขึ้น เพื่อใช้ในการปกครองตน ปกครองคน ปกครองงาน และการสร้างบารมี รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ เกิดขึ้นมาเพราะกระแสแห่งบุญนี้ดลบันดาลให้เกิดขึ้น ดึงดูดให้เกิดขึ้น  
 
    ความสมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผล นิพพาน ก็เกิดขึ้นด้วยกระแสแห่งบุญนี่แหละ เพราะฉะนั้นบุญนี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่สำคัญทีเดียว จะต้องสร้างบุญให้เกิดขึ้นให้มากๆ ยิ่งมากเท่าไหร่ ความสุขความสำเร็จก็จะยิ่งเกิดขึ้น ยิ่งยุคของผู้ที่มีบุญ คือคนมีบุญมาเกิดรวมกัน ความอัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้นอย่างที่เรานึกไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราต้องสั่งสมบุญกันให้มากๆ และให้ใจอยู่ในแหล่งของบุญ คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  ให้อยู่ ตรงนี้ตลอดเวลา

 

พระธรรมเทศนาโดย :  พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๓๑๑

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035442852973938 Mins