ผู้ขออาจไม่เป็นที่รัก

วันที่ 08 ธค. พ.ศ.2558

ผู้ขออาจไม่เป็นที่รัก

         สาเหตุที่ตรัสชาดก พระทศพลประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ ทรงปรารภภิกษุผู้มากด้วยการขอ ทรงติเตียนแล้วตรัสถึงโบราณกบัณฑิตไม่ยอมขอเพราะคิดว่าการขอของรักย่อมไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของชนเหล่าอื่น จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้..

         กาลครั้งหนึ่ง มีบรรพชิตผู้ทรงศีลรูปหนึ่ง ได้ออกจากป่าเข้าสู่เมือง พระราชาทรงทราบว่ามีฤาษีมาอยู่ในอุทยาน จึงเสด็จมาพบฤาษี ทรงเลื่อมใสได้ปวารณาต่อฤาษีว่า หากประสงค์สิ่งใดก็ขอให้บอกได้ทุกอย่าง พระองค์จะจัดหาให้ทุกสิ่งดังประสงค์ แต่พระฤาษีกลับไม่เคยทูลขออะไรเลยมาตลอดเวลา พระราชาทรงอยากจะพระราชทานสิ่งต่างๆ ให้ฤาษีอย่างเหลือเกิน แต่ทรงมิรู้ว่าฤาษีต้องการอะไรพระองค์ทรงเฝ้ารอคอยแล้วคอยเล่า หากขืนรอคอยต่อไป ชาตินี้คงมิได้ถวายอันใดให้ได้ดั่งใจพระฤาษีพระองค์อดพระทัยรอต่อไปไม่ไหว ตรัสถามฤาษีว่า..

 

"ข้าแต่ท่านฤาษี! พวกวณิพกยาจกทั้งหลายล้วนพากันมาหาโยมเพื่อขอสิ่งที่ต้องการแต่เหตุไฉน พระคุณเจ้าจึงไม่ขออะไรกะโยมเลย"

"ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ให้ส่วนผู้ให้เมื่อไม่ให้สิ่งที่เขาขอ ก็ไม่เป็นที่รักของผู้ขอ ฉะนั้นอาตมภาพจึงไม่ขออะไรๆ เลย ขอแค่ความบาดหมางใจอย่าได้มีแก่อาตมภาพเลย"

ฤาษีทูลตอบ
"ก็ผู้เลี้ยงชีพด้วยการขอ แต่ไม่ขอ ผู้นั้นปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้บุญ ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ไม่ได้ธรรมดาผู้มีปัญญาเห็นผู้ขอแล้วไม่ขึ้งเคียดเลย พระคุณเจ้าเป็นที่รักของโยม ประสงค์สิ่งใดก็ขอให้บอกโยมเถิด"

พระราชาตรัส

"ขอถวายพระพร มหาราช! การขอนี้เป็นของพวกคฤหัสถ์ที่บริโภคกามประพฤติกันมาจนชินมิใช่ธรรมเนียมของบรรพชิตส่วนบรรพชิตตั้งแต่บวชเข้ามาควรมีอาชีพบริสุทธิ์ด้วยการสังวรทวารทั้ง 3 ผู้มีปัญญาจะไม่ออกปากขอเลย พระอริยเจ้าทั้งหลายยืนเจาะจงอยู่ที่ใด นั่นแหละคือการขอ"


      จากนั้น พระฤาษีให้โอวาทแด่พระราชา ให้ทรงหมั่นทำทาน รักษาศีล ต่อมาไม่นาน ฤาษีก็ยังฌานให้เกิดขึ้นได้ ละโลกนี้แล้ว ก็ไปพักต่อที่พรหมโลก..

"เกิดเป็นคน ควรให้ มิใช่ขอ เอาแต่ขอ รอให้ ไร้ศักดิ์ศรีไม่จำเป็น อย่าขอ ได้เป็นดี นักสร้างบารมี นี้ควรให้ ไม่ขอเอย"

ประชุมชาดก
       พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า ราชาในครั้งนั้นมาเป็นพระอานนท์ส่วนฤาษีมาเป็นตถาคตแลจากชาดกข้างต้น จะเห็นว่าความเกรงใจ มีมารยาท การรักษาน้ำใจกัน เป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกัน เพราะมีผลมากต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ความคุ้นเคยจนสิ้นมารยาทหมดความเกรงใจกัน อาจทำมิตรภาพให้ขาดสะบั้นได้ทันทีการปฏิบัติตนเป็นผู้ให้ จะทำให้ตนเองเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งยังมีน้ำใจกว้างขวางดังที่กล่าวแล้วในนิสัยหมวดแห่งทานบารมีส่วนผู้ขอพร่ำเพรื่อจะทำให้มิตรภาพร้าวฉาน หากไม่สำรวมระวังใจตนจนโลภมากคิดแต่จะขอ แต่ให้ใครไม่เป็น นอกจากเสียมิตรแล้วยังเสียนิสัยได้ด้วยในระหว่างหน่วยงานที่ต้องปฏิสัมพันธ์กัน การปฏิบัติตนเป็นผู้ให้มีผลให้หน่วยงานนั้นๆเจริญขึ้นรวดเร็วอย่างยิ่ง การให้สิ่งใดไป ในเบื้องต้นอาจรู้สึกว่าต้องสูญเสีย แต่ผลแห่งทานย่อมผันเป็นผลานิสงส์ในอนาคตแน่นอน อยู่ที่ว่าหน่วยงานตนจะยอมทนลำบากไปก่อนได้ไหม หากกลัวลำบากก็จะหวงใส่กันแทนที่จะเกื้อกูลกัน กลับยิ่งทำให้หน่วยงานของตนและหมู่คณะล่าช้าที่จะเติบโต ถ้าทุกหน่วยงานพร้อมใจกันมีแต่ให้ ไม่มีหน่วยใดคิดเอาเปรียบ ยอมลำบากกันทุกหน่วยเพื่อความรุ่งโรจน์ขององค์กรและเพื่ออนาคตสดใสของหน่วยงาน การให้นั้นก็จะเป็นการถ่ายเททรัพยากรให้กันและกันไม่สิ้นสุด "นิสัยเกรงใจ, รู้จักละอาย, มีมารยาท และถนอมน้ำใจกัน" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในศีลบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015634497006734 Mins